posttoday

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

05 เมษายน 2558

วันนี้คอข่าว รู้จัก “ชื่อ” นักข่าวภาคสนาม “มนตรี อุดมพงษ์” และไม่เพียงแค่นั้น ยังรู้จัก “หน้า”

โดย...นกขุนทอง

วันนี้คอข่าว รู้จัก “ชื่อ” นักข่าวภาคสนาม “มนตรี อุดมพงษ์” และไม่เพียงแค่นั้น ยังรู้จัก “หน้า” จากการรายงานข่าวผ่านหน้าจอโทรทัศน์ ในรายการข่าว 3 มิติ ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ไม่เพียงเป็นเทปบันทึกเท่านั้น แต่หลายคนรู้จักเขามากขึ้นในการรายงานข่าวสด จากสถานที่เกิดเหตุ

แต่ก่อนที่จะถึงวันนี้ นักข่าวผู้ถือไมค์ออกหน้า เป็นเพียงนักข่าวที่หลายคนอาจจะรู้จักแค่ชื่อ คุ้นเสียง แต่หน้ายังไม่ชิน แต่ถ้าจะมีคนที่ยังไม่ลืมเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ เมื่อปี 2547 คงจะพอจำได้ว่า นักข่าวหัวเห็ดลูกอีสานคนนี้ ได้ปรากฏตัวต่อผู้ชมทั่วประเทศ รายงานสดส่งตรงจาก จ.ปัตตานี

ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง 11 ปี แต่มนตรียังเล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นให้ฟังราวกับมันเพิ่งเกิดขึ้น

แน่นอนล่ะว่า การทำงานที่เสี่ยงตาย หรือเรียกให้ถูกต้อง คือ “เฉียดตาย” ห้วงเวลานั้นใครเล่าจะลืมลง

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

มนตรี อุดมพงษ์ รายงาน

มนตรีเริ่มเข้าสู่สนามข่าวหลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อปี 2544 เป็นเวลา 2 ปีที่เขาประจำอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ในฐานะนักข่าวไอทีวี ก่อนจะถูกเรียกตัวมาประจำที่กรุงเทพฯ แต่ยังอยู่ในส่วนข่าวภูมิภาค

ในช่วง 2-3 ปีแรก ชีวิตนักข่าวยังดำเนินไปอย่างราบเรียบ ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันทั่วๆ ไป แต่เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2547 มีเหตุการณ์ปล้นปืนที่ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส ชีวิตนักข่าวภาคสนามของเขาก็เปลี่ยนไป

“นักข่าวยกโขยงกันไปเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่ไปตามเหตุการณ์ แต่เมื่อประเด็นข่าวเริ่มแผ่ว ความสนใจของผู้คนเบาบางลง นักข่าวเริ่มถอนกำลังกลับ แต่ของเรา (ไอทีวี) กลายเป็นทีมหลักที่ยังฝังตัว ยังมีรถดาวเทียมถ่ายทอดสดอยู่ หาข้อมูลอยู่ที่นั่น แม้เหตุการณ์จะผ่านไปหลายวัน จนหลายเดือน อยู่จนถึงเดือน เม.ย.

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

หลังเหตุการณ์ปล้นปืน การขัดแย้งไม่จบ วันดีคืนดียังมีการดักฟันคอพระเวลาเดินบิณฑบาต ดักฆ่าตำรวจชิงปืน เผากุฏิ ผมได้เห็นพัฒนาการของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เหตุการณ์ตอนนั้น นึกย้อนไปแล้ว
ถ้าเทียบกับตอนนี้มันน่ากลัวมาก เมื่อก่อนมีระเบิดครั้งเดียว ยิงปะทะก็ไม่มี ลักษณะเหมือนโจรนินจา ไม่ปรากฏตัว ดักยิงไม่เห็นตัว ไร้ร่องรอย เจ้าหน้าที่ตายเป็นใบไม้ร่วง มีระเบิดสักลูกหนึ่งก็เป็นเรื่องใหญ่ ใครกันมาท้าทายได้ขนาดนี้ ใครกันกล้ายิงบุกฐานทหาร เมื่อก่อนไม่รู้”

ในตอนนั้นมนตรีทำข่าวส่งมาส่วนกลาง ยังไม่มีทักษะในการรายงานสด แต่ถ้าคำว่า “วิกฤตสร้างโอกาส” มนตรีก็ได้เรียนรู้ครั้งใหญ่จากเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ

“พวกเรากินนอนอยู่ที่โรงแรมที่ จ.ปัตตานี ต้องพร้อมออกไปทำข่าวเสมอ นอนต้องใส่รองเท้าผ้าใบ เกิดเหตุลุกได้เลย จนเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 มีเหตุการณ์ 241 (...บุกยิงและปะทะกับทหารหลายจุด) ใน 3 จังหวัดภาคใต้ เราเป็นทีมเดียวที่อยู่ที่นั่น แต่ตอนเช้ามืดยังไม่สว่าง เราออกไปไม่ได้ เราวางแผนกันว่าจะเอาข่าวมาออกอากาศหกโมงเช้าให้ได้ แต่เราจะไปอย่างไรให้ปลอดภัย ทำไงให้ได้ภาพ ปลุกทุกคนเตรียมพร้อมตั้งรถถ่ายทอดสด เราตัดสินใจไปโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ปลอดภัยที่สุด อย่างน้อยต้องเอาภาพคนเจ็บออกอากาศ

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

วันนั้นมีการปะทะกันหลายจุด ทั้งรอยต่อกับ จ.สงขลา ที่ยะลา แต่สายๆ เหตุการณ์เริ่มสงบ ยกเว้นที่มัสยิดกรือเซะ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่เรารายงานสด เรามุ่งหน้าไป ตอนนั้นกดดันมาก ภาพที่เห็นคือ เจ้าหน้าที่ล้อมมัสยิด ส่วนชาวบ้านเริ่มออกมามุงดู และกลายเป็นเหมือนวงล้อมชาวบ้าน ล้อมรอบเจ้าหน้าที่อีกชั้นหนึ่ง ในมัสยิดนั้นปรากฏมีคนถืออาวุธยิงออกมาต่อเนื่อง มีเสียงเจ้าหน้าที่ประกาศผ่านลำโพง มีการใช้อาวุธ รถหุ้มเกราะ ในตอนนั้นมีทีมเรากับนักข่าวท้องถิ่นเท่านั้น ส่วนกลางยังมาไม่ถึง ทีมส่วนใหญ่มาถึงก็บ่ายสอง

กลายเป็นว่าภาพที่ได้และใช้กันมาจากทีมเรา ที่สำนักข่าวต่างประเทศใช้ก็ภาพจากเรา เราได้ภาพในมัสยิดเป็นครั้งแรกที่ผมรายงานสดโดยไม่มีสคริปต์ สิ่งที่ซ้อมไว้ในการทำงานใหม่ๆ ได้ใช้งาน ต้องสดทุก 30 นาที สิ่งที่จดไว้มีแค่ตัวเลข ชื่อของบุคคลที่ต้องอ่านให้ถูกต้อง นอกนั้นเป็นการเล่าเหตุการณ์ สองเบรกแรกตื่นเต้นมาก ต้องเกาะติดสถานการณ์ เพราะทุกคนต้องการดูข่าวนี้ เราเป็นที่เดียวที่สื่อสารออกไปได้ ทำเนียบรัฐบาลในขณะนั้นก็รอดูข่าวนี้ เพราะเป็นสิ่งเดียวที่สามารถถ่ายทอดจากในพื้นที่เพื่อให้ส่วนกลางประเมินว่าจะตัดสินใจปัญหานี้อย่างไร”

อย่าว่าแต่อ่านสคริปต์สดเลย รายงานสด มนตรี อุดมพงษ์ ในวัยนั้นก็ยังมือใหม่มากๆ แต่เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ก็ให้ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต และถึงตอนนี้มันยังเป็น “ครั้งเดียว” อยู่

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

“คืนวันนั้นพี่กิตติ (กิตติ สิงหาปัด-ไอทีวี) ก็ลงไปทำรายการสดที่กรือเซะ ผมก็ไปด้วย เป็นครั้งแรกที่รายงานสดอย่างเต็มวัน หนักที่สุด ไม่มีสคริปต์ และเป็นครั้งแรกที่ทำสกู๊ปข่าวแบบสดๆ ปกติจะมีการตัดต่อ ลงเสียง แต่ตอนนั้นทำไม่ทัน ทำได้แต่เพียงว่า ให้พี่กิตติรายงานสด เอาภาพมาให้ตัดต่อ เป็นสคริปต์การทำรายการพิเศษ บทเขียนเหมือนสกู๊ป แต่อ่านสคริปต์สดๆ ตอนนั้นคนดูดูไม่รู้ เพราะพี่กิตติยืนอยู่ แต่ผมนั่งอ่านกับพื้น ให้เสียงกับภาพที่ตัดไว้ตรงกัน ตอนนั้นอ่านไม่ผิด แต่เป็นการอ่านสคริปต์ที่มีลักษณะรายงานพิเศษ แบบสดๆ ครั้งเดียวในชีวิต หลังจากนั้นยังไม่เคยทำอีกเลย”

แม้จะทำงานข่าวมา 3 ปี แต่ยังไม่เคยเผชิญกับสถานการณ์รุนแรง ไม่ได้ยินเสียงปืน เสียงระเบิดชัดขนาดนี้มาก่อน

“เหตุการณ์เริ่มคลี่คลายตอนบ่ายสองโมง เป็นอะไรที่เหนื่อยล้า เพลีย สะเทือนใจ สังคมช็อก เกิดอะไร นั่นเป็นครั้งแรกที่ปรากฏตัวบุคคลที่ชาร์จเจ้าหน้าที่ จากที่เจ้าหน้าที่ขับรถไปเจอระเบิดหาตัวการไม่เจอ ครั้งนี้ประชันหน้ากัน ตอนนั้นยอมรับว่ากลัว เคยเห็นภาพแบบนี้จากข่าวต่างประเทศ แต่นี่มันเกิดตรงหน้าเรา แล้วมีหนึ่งคนที่ถูกยิงตายในมัสยิด คือคนขับรถมาส่งหนังสือพิมพ์ที่โรงแรมที่เราพักเป็นประจำ ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าคนก่อเหตุไม่ใช่คนไกลตัวเรา ตอนนั้นกลัวถึงขั้นจะมีการบุกยึดโรงแรมไหม มีกลุ่มคนถืออาวุธไหม เอาอาวุธจากไหนมาปะทะได้ ก็เครียดอยู่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร”

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

ชีวิตมี 100% ยามนอนหลับในโรงแรม

“เราคุยกันในทีม ชีวิตเรา 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ทันทีที่เราก้าวออกจากโรงแรม ชีวิตเราเหลือเท่าไหร่ไม่รู้”

มนตรีเล่าถึงความกดดันในการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ที่แวดล้อมไปด้วยอันตราย จะว่าเป็นไปด้วยวัยหนุ่มที่ทำให้เขามีไฟในการทำงานอย่างไม่หวาดกลัว หรืออาจจะมีลูกกล้าบ้าบิ่น แต่เหนืออื่นใด คือ “หน้าที่” เมื่อสวมวิญญาณ “นักข่าว” ต้องสื่อสารสิ่งที่สังคมควรมีสิทธิได้รับรู้ออกไป แม้ว่าจะอันตราย กลัวไหม... “กลัว” แต่ให้ถอยหลังกลับไหม ตอบหนักแน่นว่า “ไม่”

ตูม! เสียงระเบิดแสวงเครื่องดังสนั่นอยู่ข้างหน้า ไม่ไกลจากจุดที่ยืนอยู่มากนัก วินาทีนั้นแม้มนตรีจะตกใจมาก แต่เมื่อควันฝุ่นบางเบาลง ก็ตั้งสติทำงานต่อ ถึงเมื่อยามกลับเข้าที่พักภาพเหตุการณ์นั้นจะยังติดตาอยู่ ทว่าเมื่อได้นอนหลับหนึ่งตื่น ก็พร้อมลุยงานต่อ นาทีเฉียดตายไม่สามารถฉุดดึงเข้ากลับได้

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

“ในช่วงเดือน ต.ค. 2547 ได้ยินคำว่าเซคคั่น บอมบ์ (Second Bomb) เป็นครั้งแรก ที่หน้าโรงเรียนอนุบาลปราณีต จ.ยะลา ตอนนั้นทีมเราอยู่ที่ จ.ปัตตานี ห่างกัน 60 กม. เราไปถึงเจ้าหน้าที่กำลังเคลียร์พื้นที่ มีชาวบ้านมุง นักข่าวก็กรูกันเข้าไป แต่มีเจ้าหน้าที่คอยกัน เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะปลอดภัยไหม แต่เหตุเกิดตอนสิบโมงเช้า เวลานั้นก็เกือบบ่ายโมงแล้ว ก็คิดว่าไม่น่าจะมีอะไร เจ้าหน้าที่เดินวงกลมไปหาเป้าหมาย วงแรกเป็นหน่วยอีโอดี วงที่สองเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน วงที่สามเป็นพนักงานสอบสวนรวมถึงกลุ่มนักข่าว จังหวะที่ทุกคนเดินรุมเข้าไป ก็เกิดการระเบิดลูกที่สองขึ้นมา ไม่น่าเชื่อว่าเวลา 2 ชม.จะหาไม่เจอ และก่อนหน้านั้นก็ไม่เคยมีระเบิดซ้อน 2 ลูก

จุดที่ผมอยู่ห่างจากระเบิดประมาณ 50 เมตร คนทั้ง 3 แถวล้มกันหมด รู้สึกถึงเส้นผมปลิว ตอนนั้นผมช็อกนะ หูอื้อ มองเห็นภาพเจ้าหน้าที่ที่ล้มลงลุกขึ้นมาเดินเซ สะบัดไล่ฝุ่นควัน คนที่เหลือคลานออกมา เหตุการณ์นั้นไม่มีคนตาย แต่มีเจ้าหน้าที่พิการเสียดวงตา ในแถวที่สามที่ผมอยู่ไม่มีใครเป็นอะไร แต่มันก็ช็อกนะ เพราะเป็นครั้งแรกที่เจอระเบิดต่อหน้าต่อตาและใกล้มาก”

ทุกเหตุการณ์ยิ่งเข้าใกล้อันตราย ยิ่งต้องเรียนรู้ เพื่ออยู่ให้รอดปลอดภัย

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

“การมีระเบิดลูกที่สอง ได้เป็นมาตรฐานของเจ้าหน้าที่ ถ้าเกิดระเบิดขึ้นไม่ควรเข้าไปทันทีทันใด ในอีกหลายเดือนถัดมาก็มีเธิร์ดบอมบ์ (Third Bomb) หรือระเบิดลูกที่สามที่วางซ้อนกัน ระเบิดลวง มีการก่อเหตุที่ซับซ้อนขึ้นอีก นักข่าวเราก็ต้องเรียนรู้ว่า ถ้ามีระเบิดสองลูกเราจะปลอดภัยหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุเราจะไม่เดินดุ่มเข้าไป ต้องมองดูว่าตรงนั้นมีกล่อง มีมอเตอร์ไซค์ไหม เราได้เห็นเทคนิควางระเบิดล่อ เห็นความดุเดือด ทำข่าวแบบนี้ต้องเข้าใจ ต้องระมัดระวังอะไรบ้าง แล้วทุกคนต้องรู้เท่ากันนะ ช่างภาพ ผู้ช่วย นักข่าว”

แม้ว่าทุกการตัดสินใจจะต้องคิดถ้วนถี่รอบคอบให้มากที่สุด แต่ในบางเหตุการณ์ความอยากได้ภาพได้ข่าว ก็ทำให้กล้าบุกไปในถิ่นที่อันตราย แต่ก็นั่นล่ะ เขาได้บทเรียนคืนกลับมาเช่นกัน

“มีรถเจ้าหน้าที่ถูกยิงจนพรุนในป่าลึก จ.ยะลา ผมตัดสินใจเอารถดาวเทียมฝ่าเข้าไป ซึ่งตอนนั้นยอมรับว่าเสี่ยง เพราะมันไกลมาก และรถดาวเทียมคันใหญ่เป็นเป้าหมายได้ง่าย แล้วมีอีกหลายชีวิตที่เราพาไป ตอนนั้นกลับออกมาคิดเลยว่า มันเสี่ยงมาก ต่อไปจะไม่ทำอะไรแบบนั้นอีกแล้ว แต่พอผ่านไป วันใหม่ก็อยากไปอีก คืออยากได้งาน แต่ในการทำงานของเราจะใช้วิธีถกเถียงกัน เราก็รับประกันไม่ได้ว่าจะปลอดภัยได้ 100% แต่ถ้าเราไม่ไปเราไม่ได้งาน เราจะคุยกัน ประเมินสถานการณ์ สถานที่เราไปได้แค่ไหน คุยกับทีมงานเราเอาแค่นี้ได้แค่นี้ ก็มีบางจุดที่ในทีมไม่อยากไป แต่ผมพาไป ก็เข้าใจเขานะ แต่เราก็มั่นใจว่าถ้าไปไม่มีอันตราย ก็คุยกันตลอด ไม่มีทะเลาะกันรุนแรง”

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

มนตรีเล่าต่อว่า ตอนย้ายมาอยู่ช่อง 3 ใหม่ๆ ทำสกู๊ปข่าว “ลมหายใจปลายด้ามขวาน” ลงพื้นที่ไปตากใบ ขับรถผ่านไปไม่ถึง 5 นาที เกิดระเบิดตามหลัง ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่เขาเฉียดระเบิด อย่างเช่นไปกับทีมเจ้าหน้าที่ รถข่าวผ่านไป 2 นาทีรอด แต่รถที่ตามหลังมาคือรถเจ้าหน้าที่โดนไปเต็มๆ แต่ก็มีเหมือนกันที่รถกลายเป็นเป้าระเบิด เพราะไปพร้อมขบวนเจ้าหน้าที่ยามวิกาล หากแต่รอดมาได้เพราะความไม่เสถียรของระบบระเบิดแสวงเครื่อง

“แบบนี้จะหวาดเสียวกว่า เป็นปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ อย่างในกรณีระเบิดอยู่ข้างหน้าถ้าเราไม่เดินเข้าไปเราก็รอด แต่อันนี้การขับรถผ่านเส้นทางอยู่ที่ดวง วิธีที่เรารอดมาได้ มันมีเทคนิค ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่าไปพร้อมตำรวจ จงไปก่อนหรือไปหลัง เพราะถ้ามีการก่อเหตุจุดใด อีกแป๊บเดียวเจ้าหน้าที่มุ่งตรงมาแน่ เวลากลับมาถึงที่พักหลังโดนระเบิด ก็มาทบทวนตัวเอง วันนี้เกือบไปแล้ว”

นอกจากระเบิด หวุดหวิดลูกกระสุนก็เคยมาแล้ว แต่ไม่บ่อยเท่าระเบิด เพราะยิงปืนเล็งเป้าหมายชัดเจน

“อันตรายจากการยิงเสี่ยงน้อยที่สุด ยิงเป้าหมายต้องชัดเจน จะยิงใคร ตอนนี้นักข่าวยังไม่ใช่เป้าหมาย อย่างเราไปในหมู่บ้าน ไปกันเอง ถ้าเขาจะเอาชีวิตเราก็เอาได้ แต่เราจะเสี่ยงก็ตอนไปกับคณะ ก็เคยเจอการปะทะกันเราอยู่ในกลุ่มด้วย”

ฝ่าห่ากระสุน ดงระเบิด ชีวิตนักข่าว 3 จังหวัดใต้

 

นักข่าว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การใช้ชีวิตในดินแดนที่ไม่เคยอยู่ มิหนำซ้ำผู้คนส่วนมากที่มองจากภายนอกเข้าไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นล้วนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “น่ากลัว” แต่สำหรับนักข่าวที่เดินทางล่องใต้อยู่บ่อยครั้ง ตลอดระยะเวลานับ 10 ปี ในการทำงานสายนี้ ในช่วงแรกเรียกได้ว่าแทบจะฝังตัวเสียด้วยซ้ำ ความน่ากลัวเปลี่ยนเป็นความน่าพิสมัย ดินแดนใต้มีเสน่ห์ให้น่าค้นหา

“โชคดีที่ช่วงอยู่ไอทีวี ช่างภาพในทีมเป็นมุสลิม เป็นคนในพื้นที่ ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ชีวิต การพูดคุยกับเขาเป็นอย่างไร ต้องทำให้เขาเกิดความไว้ใจ ผมซื้อหนังสือมาหัดท่องพูดภาษามลายู นับหนึ่งถึงสิบ ท่องคำทักทายง่ายๆ เพื่อเป็นใบเบิกทางไปคุยกับเขา ให้มีประเด็นได้สนทนากัน และเพื่อให้ได้ประเด็นอื่นตามมา ซึ่งภาษาเป็นอุปสรรคหนึ่งในการสื่อสาร การพูดคุยกับชาวบ้านลำบากมาก แม้เขาจะพูดไทยได้แต่ก็มีทัศนคติไม่ดีต่อหน่วยงานของรัฐ เห็นนักข่าวคิดว่าเราเป็นคนของรัฐ หรือเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ สายสืบ”

จากจุดเริ่มต้นการทำงานข่าวที่ภาคใต้เมื่อปี 2547 ทำให้การทำงานบนเส้นทางสายนี้สำหรับมนตรี ไม่น่ากลัวมากนัก การปรับตัว การเรียนรู้ ได้เกิดขึ้น จนถึงวันนี้ภาพนักข่าวที่สันทัดกรณีเหตุการณ์ทางภาคใต้ ต้องมีชื่อ “มนตรี อุดมพงษ์” ติดหนึ่งในนั้น

“จากเหตุการณ์ปล้นปืนได้เป็นพื้นให้ในอีก 10 ปีต่อมา ให้ผมทำงานข่าวได้อย่างมั่นใจ ในการลงพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เรารู้ว่าทำอย่างไรจะปลอด เช่น หมู่บ้านนี้เข้าตอนกลางวันไม่ได้กลางคืนเข้าได้ ถนนบางเส้นไปได้ตอนเที่ยง เก้าโมงเช้าไปไม่ได้ เส้นนี้หลังบ่ายสามไม่ควรไป ถนนบางเส้นต้องวิ่งตรงกลาง บางเส้นวิ่งไหล่ทาง ที่เรารู้เพราะสถิติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราจะรู้จากความสนใจของเรา เราไปทำข่าวบ่อย เราสัมภาษณ์คนนั้นคนนี้สิ่งที่เขาวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลให้เรา ทำไมถนนสายนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นบ่อย เพราะเป็นเส้นทางการเดินทางของครู ถนนเส้นนี้เป็นลูกรังง่ายต่อการฝังระเบิด ถ้าขับรถกลางคืนไปเป็นขบวน ต้องห่างกันอย่างน้อย 40 เมตร ไม่เปิดไฟหน้า เปิดแค่ไฟหรี่”

มนตรีไม่ได้สนใจแค่เหตุการณ์ที่จะนำมาเป็นข่าว ในการทำงาน แต่เขาได้สนใจวิถีชีวิต วัฒนธรรมของคนใต้ด้วย

“หัวหน้าต้องคอยปรามว่า ผมอยู่ใต้นานไปแล้ว คือผมอยากรู้เรื่องมลายูศึกษา อยากรู้เชิงอื่น มีประวัติศาสตร์อะไร จุดนี้ทำให้ผมสนใจ เริ่มเบี่ยงทิศทางไปทำข่าววิชาการมากขึ้น ไปงานเสวนาต่างๆ ผมอยู่ที่นั่นได้เห็นว่า วิถีชีวิตกลางคืนเขาก็คึกคัก ได้เห็นวัฒนธรรมการกิน มันมีเสน่ห์ ในอีกมุมหนึ่งก็ได้เห็นมิตรภาพคนภายนอกมักคิดว่า พวกเขามีการบาดหมางกัน ที่จริงเขาปกติกันมาก เขาอยู่กันได้ ต้องบอกคนภาคอื่นเขาอยู่กันได้

มีช่วงที่ทำงานให้ลาพักร้อนได้ ผมก็ไม่รู้จะไปไหน ก็นั่งรถไปสุไหงโก-ลก ก็ยังเลือกอยู่ที่ใต้ แต่ผมไม่ได้ทำข่าว ไปเที่ยว มีครั้งหนึ่งผมได้กลับไปทำข่าวที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส ตอนนั้นปี 2549 ได้เจอเด็กผู้หญิงเป็นฝาแฝดน่ารักมาก แต่พ่อแม่เด็กไม่อยากให้เด็กคุยกับเรา ผมก็สงสัย แต่ผมก็ได้เข้าไปคุยกับยายของเด็ก ผมกลับมากรุงเทพฯ ก็ได้ส่งรูปที่ถ่ายไว้ไปให้ เวลาผมไปทำข่าวที่ใต้ก็แวะไปเยี่ยม จนครอบครัวเขาเริ่มไว้ใจ ต้อนรับมิตรภาพของเรา ช่วงปีแรกๆ เพื่อนบ้านก็มองมาแปลกๆ ว่า ทำไมครอบครัวนี้สนิทกับคนแปลกหน้า แต่จนปีนี้เพื่อนบ้านก็รู้ว่าผมสนิทกับครอบครัวนี้”

มนตรีทำงานที่ภาคใต้ รวมเวลาต่อเนื่องอยู่ 5 ปี อยู่ 5-6 เดือน ก็เปลี่ยนมาพักทำข่าวในกรุงเทพฯ บ้าง 2 อาทิตย์ แล้วลงไปใหม่ เสมือนการให้พักและผ่อนคลายจากงานข่าวที่เครียดและอันตราย ในทุกวันนี้มนตรีก็ยังลงไปทำข่าวที่ใต้ตามวาระ และมีที่ต้องลงไปทำเป็นประจำทุกปี คือ สกู๊ปลมหายใจปลายด้ามขวาน

“วิธีลงสนามไปที่นั่นต้องไม่มีอาวุธ มีอาวุธยิ่งทำให้เราใจร้อน ใจกล้า เราไม่ได้มาต่อสู้กับใคร ถ้าเรารู้สึกไม่ปลอดภัยเราไม่ต้องไป ก็มีหลายคนลงไปทำข่าวพกปืนไปด้วย แต่สำหรับผมไม่ ในบางสถานการณ์เรามีแค่การใส่เสื้อเกราะ ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลอยู่แล้ว อย่างเหตุการณ์ชุมนุมในกรุงเทพฯ นักข่าวต้องใส่ แต่เหตุการณ์ภาคใต้ เราสามารถประมวลวิเคราะห์ได้ว่า เราไม่ใช่เป้าหมายหลัก ตอนนี้เต็มที่แค่ลูกหลง จากการไม่ระมัดระวัง อาวุธเราไม่มี เสี่ยงมากไปเราไม่ต้องเข้า เพราะคนที่ตายทั้งหลายคือคนมีอาวุธด้วยซ้ำ”

การทำงานที่หวุดหวิดเกือบเอาชีวิตไม่รอด การทำงานที่พาตัวเองเข้าไปสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย นั่นคือ สิ่งที่เขาเลือกจะไม่ปฏิเสธ ทว่าการทำงานอย่างระมัดระวัง ทำงานอย่างเข้าใจ นำพาให้เขารอดพ้นจากอันตรายที่คาดการณ์ไม่ได้ มนตรีบวชเรียนมาตั้งแต่สมัยมัธยม แต่เวลาเกิดเหตุคับขันเขาไม่ได้เฝ้าภาวนาสวดมนต์ หรือห้อยพระดังแต่อย่างใด แต่ประสบการณ์สอนให้เขาประเมินสถานการณ์

เรื่องราวผ่านมานานหลายปี แต่มนตรียังเล่าได้เป็นฉากๆ ภาพเหตุการณ์ต่างๆ ผุดขึ้นมาอย่างแจ่มชัด ในวัยที่เพิ่มขึ้น เขาความจำดี จำแม่น อย่างนั้นหรือ... ไม่เกี่ยวหรอก หากแต่เรื่องราวมันฝังใจ สะเทือนใจ ประทับใจ จนยากจะลืมเลือน...