posttoday

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น

30 มีนาคม 2558

การสืบสาน พัฒนา สืบทอด ต่อยอดงานหัตถศิลป์ของช่างไทย

โดย...พริบพันดาว

การสืบสาน พัฒนา สืบทอด ต่อยอดงานหัตถศิลป์ของช่างไทย ผ่านฝีมือของคนรุ่นใหม่ที่นับวันจะถอยห่างจากงานหัตถกรรมประณีตศิลป์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ด้วยต้องใช้ความฝึกฝนและอดทนเพื่อให้เกิดทักษะความชำนาญจนมีฝีมือ รวมถึงทัศนคติที่มองว่าเป็นงานของคนรุ่นเก่าที่เชยและไม่เข้ากับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่

การรื้อฟื้นและปลุกจิตวิญญาณหัตถศิลป์ช่างไทย เพื่อคัดเลือกช่างฝีมือรุ่นใหม่ๆ ที่มีใจรักและพัฒนาศักยภาพงานศิลปหัตถกรรม ภายใต้การผสมผสานงานหัตถกรรมดั้งเดิมพร้อมนำมาต่อยอดทางความคิด พัฒนารูปแบบ ลวดลาย ให้มีความทันสมัย สามารถเพิ่มมูลค่าและช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมส่งเสริมการสร้างงานอาชีพและรายได้ ตลอดจนจะช่วยอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เอกลักษณ์งานหัตถกรรมดั้งเดิมที่สืบทอดผลงานจากบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบไปได้เดินทางมาถึงปีที่ 3 เข้าไปแล้ว 

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น

 

แนวคิดที่จะรักษางานหัตถกรรมของไทย ผ่านโครงการ “เชิดชูทายาทช่างศิลปหัตกรรม” ปี 2558 จึงเป็นความน่าสนใจในการสานสายใยแห่งวัฒนธรรม คัดสรรผู้สืบทอดและอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยจำนวน 10 คน จากทั่วประเทศ

คุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือก คือ เป็นผู้สืบสายเลือดโดยตรงจากครูช่างหรือช่างศิลป์ หรือบุคคลภายในครอบครัว หรือลูกศิษย์ที่สืบสานงานศิลปหัตถกรรม ใน 9 สาขา คือ สาขาเครื่องไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องทอ เครื่องรัก เครื่องโลหะ เครื่องหนัง เครื่องกระดาษ และเครื่องเงิน และต้องดำรงกิจการ หรือประกอบการงานศิลปหัตถกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาผลงานใน 4 มิติ คือ 1.มิติด้านการอนุรักษ์และสืบสานงานหัตถศิลป์ไทย 2.มิติด้านฝีมือ องค์ความรู้ และนวัตกรรมเชิงภูมิปัญญา 3.มิติด้านสังคม (การเป็นที่ยอมรับด้านตัวบุคคล และ/หรือ ผลงาน) 4.มิติด้านความร่วมสมัย

มาคุยกับบางคนที่ได้รับการเชิดชูเป็นทายาทช่างหัตถกรรมไทยที่โดดเด่น

ความรักความผูกพัน ‘ผ้าไหมแพรวา’

ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม (เครื่องทอ) จิตนภา โพนะทา ซึ่งสืบทอดจิตวิญญาณของผ้ายกดอกลายไหมแพรวา หัตถศิลป์ถิ่นกาฬสินธุ์

“ความรักความผูกพันในผ้าไหมแพรวาเกิดจากการที่เห็นคุณแม่ (วรรณิภา โพนะทา) ทำ ก็ทำตาม ตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหมจนถึงการขิด และทอออกมาเป็นผืน รู้สึกว่าผ้าไหมแพรวา เป็นผ้าที่มีลวดลายวิจิตร มีความละเอียดอยู่ในตัว จึงต้องการจะอนุรักษ์ผ้าทอของไทยที่สวยงามแบบนี้ให้อยู่กับคนไทยไปนานๆ”

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น จิตนภา โพนะทา

วิธีที่เธอจะทำให้ผ้าไหมแพรวาอยู่คู่สังคม จิตนภาบอกว่า ต้องพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน ผู้ใช้สามารถนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันได้

“ปรับการออกแบบลวดลายผ้าไหมแพรวาจากสิ่งรอบตัวและธรรมชาติมาไว้ในผ้า รวมถึงการประยุกต์ลายผ้าใหม่ๆ ขึ้นมา โดยมีการนำลายผ้าออกบางส่วน เช่น ลายคั่นเพื่อความสะดวกในการตัดเย็บ การสร้างลายจะวาดลงกระดาษกราฟก่อน แล้วนำไปลงสีโดยใช้คอมพิวเตอร์มาช่วย หลังจากนั้นจะเก็บลายในผ้าแซ่ว (ผ้าต้นแบบของผ้าไหมแพรวา) จึงเริ่มย้อมสีไหม กวักไหม ค้นไหม และสืบไหม เพื่อที่จะนำมาลงกี่ทอผ้า สมัยก่อนจะเป็นสีเดียวล้วน แต่เดี๋ยวนี้มีการนำสีมาผสมในแบบต่างๆ เช่น สีพาสเทล สีฟ้าผสมขาว ทำให้ถูกใจผู้ใช้งาน โดยเฉพาะผู้หญิงยุคปัจจุบัน”

เธอบอกว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไหมแพรวามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง รวมไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้าน เนื่องจากมีรายได้เสริมจากการทอผ้าไหมนอกเหนือจากการทำไร่ทำนา จึงอยากให้คนรุ่นหลังอดทนกับงานศิลปหัตถกรรม เพื่อสืบทอดงานการทอผ้า เพราะปัจจุบันมีคนทอผ้าน้อยลง แต่ราคาสูงขึ้น ทำให้คนรุ่นใหม่เริ่มหันกลับมาทอผ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนของเธอจะเห็นได้ชัด ทำให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาผ้าไหมแพรวา ความฝันของเธอคืออยากให้คนต่างชาติที่มาเมืองไทยซื้อสินค้าหัตถศิลป์กลับไป เหมือนกับที่คนไทยไปซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมจากต่างประเทศ

‘เสื่อเกลียวจักสาน’ โด่งดังไกลถึงญี่ปุ่น

 จักสานเสื่อกก ภูมิปัญญาแห่งบ้านนาหว้า นครพนม พัชร หนานพิวงศ์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม (เครื่องจักสาน) ที่มองว่าถ้าวันหนึ่งงานที่ทำอยู่ต้องเลือนหายไป ก็คงเสียใจ เพราะงานแบบนี้เหมือนงานศิลปะที่มีความสวยงาม

 “งานจักสานเมื่อขายไม่ค่อยได้ เราก็ต้องพัฒนารูปแบบให้ถูกตาต้องใจตลาดมากที่สุด ผมเห็นแม่ (เรืองยศ หนานพิวงศ์) ทำงานสานมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังไม่ได้ช่วยแม่ทำอย่างจริงจัง จนกระทั่งเมื่อตอนที่ผมอยู่ ป.5 พ่อของผมได้เสียชีวิตลง เมื่อไม่มีเสาหลักผมจึงคิดหาทางแบ่งเบาภาระของแม่ จึงได้ลองทำเสื่อเป็นครั้งแรก”

พัชรบอกว่า ตอนที่เขาฝึกจักสานนั้น ยังเป็นแค่ลวดลายพื้นๆ และไม่มีสีสันตามขนบชาวบ้านที่เคยเป็นมา

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น พัชร หนานพิวงศ์

 

“ต่อมาผมมานั่งคิดว่า หากมีสีสันก็คงจะดีไม่น้อย จึงได้เริ่มพัฒนาการทำเสื่อที่มีสีสันด้วยการย้อมสีแดง สีเขียว สีเหลือง แล้วสานสลับลาย สานเป็นลายน้ำ ลายหมากรุก ตอนนั้นสานเป็นผืนใหญ่แล้วนำไปขาย ปรากฏว่าขายได้ราคาแต่ยังขายได้ไม่มากนัก”

การแก้ปัญหา ก็คือ ลองทำผืนเล็กซึ่งขายง่ายกว่า ทำให้ผมเริ่มมีกำลังใจมากขึ้น เพราะเริ่มมีการสั่งซื้อเข้ามาจนทำแทบไม่ทัน

“กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนกรุงเทพฯ ที่เห็นสินค้าของผมแล้วจะรู้สึกตื่นเต้น และมองว่าเป็นของแปลกใหม่สวยงาม ทุกวันนี้สินค้ายังไปได้ดี เพราะเสื่อของที่นี่จะแตกต่างจากของคนอื่น คือ นุ่ม นอนสบาย ไม่ร้อน และเน้นความขาว ลูกค้าจึงชอบ ส่วนใหญ่ผมจะเป็นคนผลิต และให้แม่กับพี่นำไปขายทั้งในงานแฟร์และห้างสรรพสินค้า”

ปัจจุบันนอกจากการพัฒนาที่ตัวผลิตภัณฑ์แล้ว สินค้าที่มีชื่อเสียงโดยที่ได้อิทธิพลมาจากเทคนิคการจักสานแบบญี่ปุ่น ก็คือ เสื่อเกลียวจักสาน ที่ถูกส่งออกไปขายที่ญี่ปุ่นเองอีกด้วย

“ผมพยายามทำงานให้มีความหลากหลาย มีความละเอียด ประณีต ตรงใจลูกค้าซึ่งจะเป็นการต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าสูงขึ้น หลักสำคัญสินค้าของผมต้องดีจริงจึงจะทำให้ลูกค้าบอกปากต่อปากซึ่งความเชื่อมั่นของลูกค้าและการบอกต่อผมว่าสำคัญมาก”

‘ฝ้ายย้อมคราม’ สู่ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่

สายใยผ้าไทย ฝ้ายย้อมครามสกลนคร สุขจิต แดงใจ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม (เครื่องทอ) กับผลงานที่เธอภาคภูมิใจ คือ ได้รับเชิญจัดแสดงแฟชั่นโชว์ INDIGO-The blue that binds ในงานจอร์จ ทาวน์ เฟสติวัล ที่ ปีนัง มาเลเซีย

 “ผ้าฝ้ายย้อมครามเป็นงานที่เรารัก ถ้าหากต้องหายไปก็คงเสียดายอย่างมาก ในปัจจุบันเราจึงพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้งานคงอยู่ เพราะงานศิลปะที่แท้จริงมันไม่จำเป็นที่ต้องแขวนอยู่บนผนังเฉยๆ แต่มันต้องสามารถตอบสนองความต้องการคนในยุคนี้ได้อย่างดี ด้วยเหตุนี้เราจึงได้พยายามพัฒนางานที่คนรุ่นเก่าคิดค้นขึ้น โดยนำมาประยุกต์ให้มันมีฟังก์ชั่นมากขึ้น สามารถสวมใส่หรือใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม”

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น สุขจิต แดงใจ

 

สุขจิตบอกว่า ผ้าฝ้ายย้อมครามคืองานของคุณแม่ (ประไพพันธ์ แดงใจ) และครอบครัว เป็นงานที่เธอรักมากและไม่ต้องการแค่เฉพาะสืบทอดเพียงเท่านั้น แต่ต้องพัฒนางานต่อเพื่อให้ “ผ้าฝ้ายย้อมคราม” นั้นอยู่ได้ โดยยังคงขั้นตอนการทำทุกอย่างเหมือนกับที่บรรพบุรุษทำไว้

“กระบวนการย้อมใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เช่น กล้วย มะขามเปียก การล้างผ้าเราก็ล้างที่คลองหน้าบ้านซึ่งไม่ทำลายระบบนิเวศ เพราะทุกขั้นตอนเป็นวิธีทำจากธรรมชาติทั้งสิ้น จุดสำคัญที่ทำคือลวดลาย ที่มีการปรับเปลี่ยนให้มีพื้นผิวแบบต่างๆ เช่น สลับเส้นฝ้ายให้มีความนูนสูงต่ำต่างกันออกไป มีการนำหลักสถาปัตยกรรมมาใช้ เพื่อให้ได้รูปทรงเรขาคณิตหรือรูปทรงที่ทันสมัย ลวดลายทอที่ออกแบบจะได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ลายในหยวกกล้วยพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก”

นอกจากนี้ เธอยังพัฒนาจากการทอผ้าผืนมาเป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ผ้าย้อมครามอื่นๆ ในนาม “ฑีตา” ที่ยังคงความเป็นดั้งเดิมของผ้าย้อมครามที่มีเรื่องราวมาตั้งแต่สมัยคุณทวด คุณยาย คุณแม่ จนถึงตัวเธอในปัจจุบัน

‘เครื่องทองอยุธยา’ ขึ้นเวทีมิสเวิลด์ 2014

ผลงานที่ทำให้ภูมิใจของ ประเสริฐ ยอดคำปัน ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม (เครื่องโลหะ) คือ เครื่องทองชุด “อโยธยาศรีนคร” ที่ เมญ่า-นนทวรรณ ทองเหล็ง มิสไทยแลนด์เวิลด์ใส่ขึ้นประกวดมิสเวิลด์ 2014 ที่ผ่านมา ทำการเน้นย้ำให้เห็นถึงงานทองอยุธยา มรดกล้ำค่าที่ต้องสืบสาน

“อยากให้คนรุ่นหลังหันมาอนุรักษ์งานเครื่องทองอยุธยาไว้มากกว่า เพราะต่อไปอาจจะไม่มีงานแบบนี้ให้เห็นแล้วก็ได้ การอนุรักษ์งานเครื่องทองอยุธยาไว้ให้เป็นมรดกของชาติจึงนับว่ามีความสำคัญอย่างมาก”

สายใยหัตถศิลป์ช่างไทย สืบจิตวิญญาณรุ่นสู่รุ่น ประเสริฐ ยอดคำปัน

 

การสืบทอดงานหัตถศิลป์ของประเสริฐค่อนข้างแปลก เพราะเขารับมาจากน้องชายซึ่งทำงานเครื่องทองอยุธยาอยู่แล้วแม้จะเป็นสายเลือดเดียวกันแต่ไม่ใช่จากรุ่นต่อรุ่น แต่เป็นคนรุ่นเดียวกัน

“ผมเป็นคนที่สนใจงานศิลปะ และแรงบันดาลใจที่สำคัญในการหันมาศึกษาเครื่องทองอยุธยา ก็คืออยากทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง เพราะงานเครื่องทองอยุธยาเป็นงานศิลปะที่มีกระบวนการ และขั้นตอนการทำที่ต้องใช้เวลาและความอดทนสูง ต้องมีใจรักจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะทำไม่สำเร็จ”

ในปัจจุบัน ประเสริฐบอกว่า ช่างทองอยุธยาแทบจะหาไม่ได้แล้ว เขาจึงอยากจะอนุรักษ์งานแขนงนี้ไว้ และพัฒนางานให้มีรูปแบบทันสมัยมากยิ่งขึ้น โดยยังคงใช้เทคนิคอยุธยาดั้งเดิม เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในยุคปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตามสิ่งที่นำมาพัฒนาต่อยอดจะไม่ทำลายรูปแบบทั้งการดัดลวด วางไข่ปลา การเชื่อมบัดกรี แต่จะมีเพียงการปรับเปลี่ยนรูปแบบบางอย่างให้เหมาะสมเท่านั้น ชิ้นงานที่ผมมีความภาคภูมิใจมากที่สุด คือ งานเครื่องทองชุด ‘อโยธยาศรีนคร’ ที่ใช้เวลาในการทำ 6 เดือนเต็ม ต้องใช้ความพยายามและใจรักมากจึงจะสำเร็จ”

ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของความฝัน ความหวัง ของการอนุรักษ์สืบทอดหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในสังคมไทยและประกาศออกสู่ชาวโลก ถึงฝีมือและความงดงามที่ถูกพัฒนาให้ร่วมสมัยเข้ากับวิถีชีวิตคนรุ่นปัจจุบัน

‘10 ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558’

จิตนภา โพนะทา ทายาทผู้สืบสานการทอผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

สืบทอดและต่อยอดด้วยการเพิ่มลวดลายให้มีความแตกต่างจากรูปเลขาคณิตในสมัยก่อน เพิ่มความโค้งมน และเพิ่มอรรถรสในการใช้งานให้มีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งทอผ้าซิ่นแพรวา อนุรักษ์ลวดลายผ้าแบบดั้งเดิมไว้ แต่เพิ่มรูปแบบให้มีการใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น

อรษา  คำมณี ทายาทช่างทอผ้าฝ้ายและผ้าไหมยกดอกแห่งเมืองลำพูน

สืบทอดการทอยกดอก ให้ความสำคัญกับการทอผ้าทุกขั้นตอน จนได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าไหมยกดอกเชิงหัวท้าย โดยใช้ชื่อว่า “ลายสุริยะฉาย”

สุขจิต  แดงใจ ทายาทช่างทอผ้าฝ้ายย้อมคราม สกลนคร

สืบทอดทอผ้าฝ้ายย้อมคราม โดยการเปลี่ยนฟอร์มของเก่าให้กลายเป็นของใหม่ด้วยการออกแบบให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ผลงานที่ภาคภูมิใจ คือ ได้รับเชิญจัดแสดงแฟชั่นโชว์ INDIGO-The blue that binds ที่เมืองจอร์จ ทาวน์ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย

คมกฤช  บริบูรณ์ ทายาทช่างจักสานไม้ไผ่ แห่งพนัสนิคม

สืบสานรักษามรดกภูมิปัญญาจักสานไม้ไผ่และส่งเสริมการถ่ายทอดฝีมือ มรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นไว้ให้คงอยู่คู่กับชาวพนัสนิคม อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของงานหัตถศิลป์

พัชร หนานพิวงศ์ ทายาทช่างจักสานกก จากนครพนม

พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีลวดลายใหม่ๆ จนติดตลาด ลูกค้ายอมรับ ทำการออกแบบลวดลาย โทนสีที่ทันสมัย มีความสามารถในการสานลายใหม่ตลอดเวลา

ณิฐ์ภาวรรณย์  แตงเอี่ยม ทายาทผู้สืบทอดเครื่องเบญจรงค์แห่งดอนไก่ดี สมุทรสาคร

พัฒนาลวดลายเบญจรงค์ โดยมีแนวคิดคือการนำเอาทองที่มีคุณค่าน้ำทองคำแท้ๆ มาลงลายเพื่อให้เกิดทองนูนและนำเอาศิลปะเบญจรงค์ลงไปด้วยได้ความผสมผสานกลมกลืน

นริสา  เชยวัดเกาะ ทายาทช่างเครื่องทองสกุลสุโขทัย

พัฒนาต่อยอดทักษะภูมิปัญญาจากเดิม ด้วยการติดลายลงไปบนแผ่นทอง แล้วนำไปฉลุและลงยา และมีการต่อยอดโดยการเพิ่มมิติลงไปในชิ้นงานมากขึ้นให้ดูทันสมัย ซับซ้อน และประณีตมากขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งลวดลายดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของงานทองสุโขทัย

ณัฐวุฒิ พลเหิม ทายาทช่างเครื่องเงินสกุลสุโขทัย

งานเครื่องเงินสุโขทัยเป็นงานที่มีเสน่ห์และมีคุณค่า ร่วมสืบสาน พัฒนา และสืบทอด ด้วยผลงาน 3 รูปแบบหลักๆ คือ งานเครื่องเงินสุโขทัยดั้งเดิม งานเครื่องเงินสุโขทัยประยุกต์ และงานเครื่องเงินประยุกต์

ประเสริฐ  ยอดคำปัน ทายาทช่างทองโบราณ นนทบุรี

แนวคิดที่จะช่วยอนุรักษ์รักษาและพัฒนางานทองโบราณเทคนิคอยุธยา คือ สลับซับซ้อน พลิ้ว โปร่ง และเบา ทรงคุณค่า น่าค้นหา และสร้างสรรค์

อังคาร  อุปนันท์ ทายาทช่างเครื่องเงินบ้านกาด เชียงใหม่

ออกแบบและพัฒนาเครื่องเงินโบราณให้สอดคล้องกับการใช้งานใหม่ๆ ให้ร่วมสมัยในปัจจุบัน ด้วยการใช้วัสดุใหม่ๆ ในชิ้นงานเป็นการเพิ่มมูลค่าของชิ้นงานมูลค่าอย่างทองคำ อัญมณี