posttoday

คนขี้ร้อนกับโรคออฟฟิศซินโดรม

28 มีนาคม 2558

สภาพอากาศบ้านเราทุกวันนี้เรียกได้ว่ามีสภาพอากาศร้อนตลอดแทบทั้งปี การคลายร้อนนั้นก็มีสารพัดวิธี เช่น ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ อาบน้ำ เปิดพัดลม เปิดแอร์ เป็นต้น

โดย... แพทย์จีนอรุณ ผุยหนองโพธิ์ คลินิกหัวเฉียวไทย-จีน แพทย์แผนไทย สาขาโคราช

สภาพอากาศบ้านเราทุกวันนี้เรียกได้ว่ามีสภาพอากาศร้อนตลอดแทบทั้งปี การคลายร้อนนั้นก็มีสารพัดวิธี เช่น ดื่มเครื่องดื่มเย็นๆ อาบน้ำ เปิดพัดลม เปิดแอร์ เป็นต้นแต่คนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าความเย็นจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศนั้น แม้สามารถช่วยคลายร้อน แต่ก็สามารถก่อให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นกับเราได้โดยที่เราไม่รู้ตัวก็คืออาการของโรคออฟฟิศซินโดรม

อาการของโรคนี้คือปวดเมื่อยตึงบ่าคอ สะบัก แขน เอวในรายที่เป็นมากส่วนใหญ่พบมีอาการปวดรุนแรงหรือมักมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน แขนมือนิ้วชา ถ้าเป็นเรื้อรังอาจก่อให้เกิดอาการกระดูกคอเคลื่อนหรือผิดรูปได้

ทำไมความเย็นจึงทำให้เกิดอาการปวดเกร็งตามส่วนต่างๆของร่างกายได้ ก็เพราะความเย็นเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปจับที่กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นนั้นเกร็งและหดตัวจนเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นมา คนที่ต้องสัมผัสกับแอร์บ่อยๆ นานๆ ไม่ว่าจะในห้องทำงาน ห้องนอน หรือในรถยนต์ก็ตาม แล้วไม่รักษาความอบอุ่นของร่างกายให้ดีจะมีโอกาสเกิดอาการของโรคนี้ขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ชอบรับประทานอาหารจำพวกของหวาน อาหารมันๆ ของทอด ของเผ็ด เพราะอาหารเหล่านี้เมื่อรับประทานแล้วจะทำให้ภายในร่างกายร้อน เมื่อภายในร้อนก็จะยิ่งชอบคลายร้อนด้วยการเปิดแอร์หรือพัดลมใส่ตัวเพื่อให้หายร้อนเร็วๆ หรือให้เหงื่อแห้งไวๆ ความเย็นจึงเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการดังกล่าวข้างต้น

เมื่อมีอาการของโรคนี้แล้วบางคนอาจจะไปนวดหรือทำการรักษาด้วยการฝังเข็ม รมยา ครอบแก้ว กัวซาอื่นๆ ซึ่งสามารถทำให้อาการปวดเกร็งลดลงได้ แต่ไม่นานก็จะกำเริบขึ้นได้อีก เพราะไม่ทราบถึงสาเหตุหลักของโรค และไม่ได้แก้ไขที่ต้นเหตุนั่นเอง

การป้องกันสามารถปฏิบัติได้ดังนี้ คือ ทำตามหลัก 5 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลัง อิริยาบถ และอบอุ่น

1.อาหาร รับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายถ้าร่างกายร้อนควรลดการรับประทานของหวาน มัน เผ็ด ทอดพลังงานสูง งดน้ำเย็นของเย็น ลดเนื้อสัตว์ รับประทานผักสดผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 8-10 แก้ว

2.อารมณ์ ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขันบ้าง หรือทำสมาธิให้ใจสงบ

3.ออกกำลัง ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับร่างกาย เช่น เดิน วิ่ง แอโรบิก โยคะ เดินจงกรม เป็นต้น

4.อิริยาบถ พยายามอย่าอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ควรขยับร่างกายหรือลุกขึ้นเดินไปเดินมาบ้างทุกๆ 20 นาที

5.อบอุ่น รักษาความอบอุ่นของร่างกาย หลีกเลี่ยงการเปิดแอร์หรือพัดลมใส่ตัว มือ เท้า แขนขา หรือศีรษะ ขณะที่กำลังรู้สึกร้อนอย่ารีบถอดเสื้อ เปิดแอร์ พัดลมใส่ตัว หรืออาบน้ำทันที ควรนั่งพักสักครู่ให้ร่างกายค่อยๆ คลายร้อน รอให้เหงื่อแห้งแล้วจึงอาบน้ำ ถ้าอาบน้ำอุ่นไม่ควรเข้าห้องแอร์เย็นๆทันทีหลังอาบน้ำเสร็จ เพราะร่างกายปรับตัวไม่ทัน ควรกระชับรูขุมขนด้วยน้ำอุณหภูมิธรรมดาก่อนจึงเช็ดตัวให้แห้ง ไม่ควรเปิดแอร์เย็นเกินไปทั้งในห้องทำงานหรือห้องนอน

บางทีการเปลี่ยนแปลงตัวเองเพียงเล็กน้อยนี้จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคออฟฟิศซินโดรมได้