posttoday

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

14 มีนาคม 2558

แพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือสกายดอกเตอร์ อาชีพที่น้อยคนจะรู้จัก นพ.สุระ เจตน์วาที

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ... กิจจา อภิชนรจเรข สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง

แพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือสกายดอกเตอร์ อาชีพที่น้อยคนจะรู้จัก นพ.สุระ เจตน์วาที ผู้จัดการฝ่ายลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ บริษัท สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง (Siam Land Flying) หนึ่งในสกายดอกเตอร์แถวหน้าของประเทศ สำรวจเส้นทางบินของสกายดอกเตอร์คนเก่ง เพื่อจะพบว่าความเป็นและความตายคือเส้นบางๆ ที่คั่นเอาไว้

สกายดอกเตอร์คืออะไรกันแน่ นพ.สุระในวัย 38 ปียิ้มอย่างอารมณ์ดีก่อนจะตอบว่า คือผู้ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินที่เริ่มตั้งแต่การรับรู้ถึงภาวะฉุกเฉิน จนถึงการนำส่งผู้ป่วยจนพ้นไปจากภาวะฉุกเฉินนั่นเอง กรณีเป็นปฏิบัติการทางอากาศก็ย่อมต้องใช้อากาศยานเป็นพาหนะ นั่นหมายความว่าแพทย์ผู้ปฏิบัติการ นอกจากจะต้องมีความรู้ด้านการกู้ชีพชั้นสูงแล้ว ก็จะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องของเวชศาสตร์การบิน

“นอกเหนือไปจากนี้ก็คือ ความรู้ด้านโลจิสติกส์ เซอร์วิสมายด์ ขาดไม่ได้คือความใจเย็นและความรอบคอบ แต่สำคัญที่สุดคือการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว ภารกิจจึงจะลุล่วง”

ความท้าทายในแต่ละเที่ยวบินนั้น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าสูงแค่ไหน เพราะแต่ละวินาทีคือความเป็นความตายของผู้ป่วย ผิดพลาดเพียงนิดอาจหมายถึงชีวิตที่ไม่อาจกู้กลับมาได้ หากความท้าทายที่สูงระดับเสียดฟ้า ไม่ใช่แลกมาด้วยความบ้าบิ่น แต่คือมาตรการความปลอดภัย ซึ่งสกายดอกเตอร์ทุกคนถือเป็นมาตรการหลักอันดับหนึ่ง

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

 

ก่อนขึ้นบินคือสิ่งที่เรียกว่า พรี-ไฟลต์ (Pre-Flight) ได้แก่ การวางแผนการกู้ชีพ แพทย์ฉุกเฉินทางอากาศที่จะทำการบิน ต้องทราบถึงประวัติคนไข้ก่อน เป็นต้นว่ามีภาวะวิกฤตอะไรอยู่แล้ว ปอดแตก ตับแตก หรือมีภาวะเลือดออก ฯลฯ ต้องวางแผนตั้งแต่ก่อนลำเลียง มีการประสานกับหน่วยโอปอเรชั่น ประสานงานนักบิน ประสานเส้นทางการบิน แพทย์ต้นทาง แพทย์ปลายทาง

“ทุกอย่างต้องอยู่ในแผน หากในความเป็นจริงก็ไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทันทีที่ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินเริ่มต้นขึ้น ก็ไม่มีอะไรง่าย ไม่มีสูตรตายตัว มีแต่สถานการณ์ที่พลิกเปลี่ยนตลอดเวลา นี่ยังไม่ได้พูดถึงสภาพอากาศนะ”

จุดแข็งของการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ คือความสามารถในการย่นระยะทางและระยะเวลา จากแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่หากลำเลียงผู้ป่วยทางรถยนต์ อาจใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง แต่หากเป็นเฮลิคอปเตอร์ใช้เวลาแค่ 50 นาทีเท่านั้น ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ถือเป็นเมดิคอลฮับในย่านนี้ ดร.สุระนั้นเรียกได้ว่าบินไปทั่วเพื่อลำเลียงผู้ป่วยในทุกภูมิภาคทั่วโลก

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

 

ครั้งหนึ่งเคยเดินทางไปหมู่เกาะมัลดีฟส์ รับผู้ป่วยชาวต่างประเทศ เพื่อบินกลับมารับการรักษาต่อในประเทศไทย การเดินทางมีทั้งต่อเครื่องบิน ต่อรถ และต่อเรือ เพื่อไปยังจุดเป้าหมาย ลำเลียงผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุจากการตกหน้าผาจนใบหน้าแตกยับเยิน แถบซ้ายของร่างกายทั้งแถบเคลื่อนไหวไม่ได้ ถือเป็นเคสยากที่ลุล่วง ผู้ป่วยเดินทางมารับการรักษาที่ประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ

เคสยากกว่านี้ก็มี (ฮา) นพ.สุระเล่าว่า จริงๆ แล้ว ทุกเคสเป็นเคสหนัก เพราะผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์เคลื่อนย้าย หรือลำเลียงทางอากาศย่อมอยู่ในภาวะวิกฤตอยู่แล้ว แต่ครั้งึ่งในชีวิตเคยเครียดถึงที่สุด เมื่อผู้ป่วยวิกฤตหนักรายหนึ่งต้องการเดินทางไปรับการรักษาที่ฮ่องกง ผู้ป่วยจมน้ำทะเล มีภาวะน้ำท่วมปอดทั้ง 2 ข้าง สมองกระทบกระเทือน ใส่เครื่องช่วยหายใจ ในกระแสเลือดมียาหลายตัว

“เคสนี้มีแผนบิน 10.00 น.ของวันรุ่งขึ้น ผมมาเตรียมคนไข้ตั้งแต่ 16.00 น.ของวันก่อนหน้า เพื่อให้ได้เครื่องช่วยหายใจที่เหมาะสมที่สุด ต้องเปลี่ยนเครื่องช่วยหายใจถึง 3 เครื่อง คนไข้ขยับตัวเพียงเล็กน้อย ออกซิเจนในเลือดก็ตก 60-70% ต้องให้ยากล่อมประสาท เพื่อให้คนไข้นิ่งเท่าที่จะนิ่งได้ เป็นเคสที่ท้าทายผมมาก”

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

 

นพ.สุระเล่าถึงเคสหิน จะทำอย่างไรเพื่อการลำเลียงที่นุ่มนวลที่สุด และเครื่องช่วยหายใจที่ต้องเข้ากับคนไข้มากที่สุด ตัดสินใจนอนค้างโรงพยาบาลเพื่อเฝ้าอาการ เครียดมาก แรงขับดันมาจากภรรยาคนไข้ที่ขู่จะฟ้องร้องหากเกิดความผิดพลาดขึ้น การวางแผนทำอย่างละเอียดแล้ว แต่คนไข้มีจุดเปราะบางที่ทำให้มีอาการแย่ลงทุกครั้งที่ขยับเขยื้อน ต้องแก้ไขกันในทุกจุดระหว่างเคลื่อนย้ายกว่าจะถึงตัวเครื่องบิน

“จากที่ขู่จะฟ้อง ก็กลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันไปเลย เนื่องจากเขาประทับใจมากกับมิชชั่นอิมพอสซิเบิลที่เป็นไปได้ มีการส่งข่าวให้เราทราบเป็นระยะๆ ว่าการรักษาเป็นยังไงแล้ว ปลอดภัยแล้ว มีเคสแบบนี้อีกเยอะครับ ผมได้รับจดหมายขอบคุณจากญาติผู้ป่วยแบบนี้ 50 ฉบับเป็นอย่างน้อย”

6-7 ปีกับบทบาทของสกายดอกเตอร์ คุณหมอคนเก่งลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศมาแล้วนับหลายร้อยราย คุณหมอบอกว่า ทำได้เพราะใจรักในงาน ปัจจุบันทำงานที่สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง ผู้ให้บริการเครื่องเช่าเหมาลำสำหรับลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ (Medical Wings) บริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย ถือเป็นผู้นำตลาดระดับต้นๆ ของเออีซี ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

 

“ช่วงกลางวันผมทำงานที่สยามแลนด์ฯ ตื่น 6 โมงเช้า พอ 9 โมงเช้าต้องเตรียมบินแล้ว ส่วนใหญ่ทุกวันก็จะมีเคสบินลำเลียงผู้ป่วยเป็นปกติ เมื่อวานไปออสเตรเลีย พอ 5-6 โมงเย็นก็บินกลับไทย พักผ่อนเล็กน้อยแล้วไปเข้าเวรโมบายไอซียูที่โรงพยาบาลกรุงเทพฯ ช่วง 2 ทุ่มถึง 6 โมงเช้า ตื่นวันรุ่งขึ้นก็เตรียมบินต่อ พรุ่งนี้ไปรัสเซียครับ”

ค่าตอบแทนเป็นเลข 6 หลัก แต่ก็หลายครั้งที่กินแกลบมาแล้ว (ฮา) หลายคนคงจำได้ถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นพ.สุระเป็นหนึ่งในทีมปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉิน บ้านตัวเองก็ท่วมแถวลำลูกกา หลังอพยพภรรยาเพิ่งคลอด (1 อาทิตย์) กับหมาอีก 2 ตัวไปไว้ที่ปลอดภัยได้ คุณหมอก็ตั้งหลักลุยปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินตอบโต้ภัยพิบัติ ช่วงนั้นทิ้งงานประจำไปลุยงานช่วยชาติ ได้ค่าตอบแทนเป็นมาม่าและข้าวกล่อง กินนอนอยู่ในศูนย์ลำเลียงหลายเดือน หากคุณหมอบอกว่าเป็นช่วงที่มีความสุขมาก

“คือคำคำ หนึ่งของแม่ แม่พูดกับผมตอนผมเป็นหมอใหม่ๆ ว่า ลูกเป็นลูกคนจน ลูกต้องไม่ทิ้งคนจนนะ”

นอกจากบทบาทของสกายดอกเตอร์ คุณหมอเล่าถึงอีกหนึ่งบทบาทที่ทำด้วยความสุขนั่นคือการเป็นครู ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ นอร์ตเทิร์น สกาย ดอกเตอร์โมเดล คือความสำเร็จในเบื้องแรก ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่ซึ่งทุ่มเทการฝึก อีกส่วนหนึ่งคือผู้บังคับบัญชาของ นพ.สุรอง ที่อนุญาตให้คุณหมอได้ใช้เวลาทำในสิ่งที่รัก

สำรวจเส้นทาง(บิน) สกายดอกเตอร์มือหนึ่ง นพ.สุระ เจตน์วาที

 

“บุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ๆ สกายดอกเตอร์รุ่นต่อๆ ไป จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าผู้บังคับบัญชาของผมไม่เห็นความสำคัญและไม่ร่วมเสียสละด้วย” นพ.สุระเล่า

ความฝันคือสกายดอกเตอร์ของไทยที่จะต่อยอดขยายจำนวนในทุกจุดทั่วประเทศ และอีกความฝันหนึ่งคือชีวิตส่วนตัวที่อยากเกษียณแล้ว (ฮา) ในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า เพื่อไปใช้ชีวิตเรียบง่ายกับครอบครัว ภรรยาและลูกสาว น้องเอมี่ ทำฟาร์มเกษตรออร์แกนิกในต่างจังหวัด ยึดหลักความพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชีวิตนี้ภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ชีวิตนี้ภูมิใจที่ได้มีโอกาสรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท

เส้นทางชีวิตสกายดอกเตอร์

วันเด็กของทุกปี ด.ช.สุระจะรบเร้าขอมารดาไปนั่งค็อกพิทบนเครื่องบินที่ทหารเปิดให้เด็กๆ ขึ้นไปนั่งเสมอ เอาเป็นว่า 10 ปีติดต่อกันไปเที่ยววันเด็กที่กองทัพอากาศ แค่คิดขึ้นมาดวงตาก็ฉายวับ ไม่รู้เป็นอยา่งไรอยากบินได้อยากเป็นนักบนิ ความร้สู กึ ขณะควบคุมอากาศยานคงมีความสุขมาก นี่คือความรักและความทรงจำที่ติดอยู่ในซอกหนึ่งของหัวใจเสมอ

ส่วนเส้นทางสู่การเป็นสกายดอกเตอร์ นพ.สุระจบแพทยศาสตร์จากโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จากนั้นเพราะความสนใจส่วนตัว ได้เข้าเรียนเวชศาสตร์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช จบแล้วต่อด้านเวชศาสตร์การบิน หลักสูตรเวชศาสตร์การบิน สถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศรวมทั้งหลักสูตร Doctor Helicopter Chiba HokusoHospital ที่ Nippon Medical school ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยวิกฤตFCCS ประเทศสหรัฐ หลักสูตรการช่วยชีวิตขั้นสูงในผู้ใหญ่ (ACLS) หลักสูตรการดำรงชีพในป่า (JungleSurvival) และหลักสูตรการดำรงชีพในทะเล (SeaSurvival) ฯลฯ ล่าสุดปีที่ผ่านมา เข้าอบรมหลักสูตรHelicopter Rescue AREU Como ประเทศอิตาลีHoist helicopter doctor หรือ การโรยตัวลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในกรณีที่เครื่องลงจอดไม่ได้ เช่น หน้าผา หรือที่ทุรกันดาร