posttoday

‘นักพากย์เกม’ เทรนด์ฮิตเด็ก Gen Me

09 มีนาคม 2558

อาชีพใหม่ รวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับเด็ก Gen Me ที่ผู้ใหญ่เจเนอเรชั่นอื่นๆ อาจไม่เข้าใจ เช่น เกมแคสเตอร์ หรือนักพากย์เกม, Streamer

โดย...วราภรณ์

อาชีพใหม่ รวมทั้งธุรกิจใหม่ๆ ที่เติบโตมาพร้อมๆ กับเด็ก Gen Me ที่ผู้ใหญ่เจเนอเรชั่นอื่นๆ อาจไม่เข้าใจ เช่น เกมแคสเตอร์ หรือนักพากย์เกม, Streamer หรือผู้แข่งขันเกมให้คนดูแบบเรียลไทม์, Youtuber หรือผู้ที่สร้างคลิปบนยูทูบ รวมทั้งดีเจท็อก ท็อก หรือดีเจบนโลกออนไลน์ ที่สร้างเม็ดเงินให้ธุรกิจมากมาย ก็เกิดมาพร้อมกับเด็ก Gen Me หรือผู้ที่เกิดในช่วงปี 1980-2000 หรือเกิดมาในยุค Tech Savvy คือมีพฤติกรรมคุ้นเคยเกิดมากับเทคโนโลยี แอพพลิเคชั่นอะไรมาใหม่ หากพวกเขาสนใจ เขาจะเรียนรู้และศึกษาด้วยตัวเองจนรู้ลึกและใช้งานได้จริง

หนึ่งอาชีพที่ Gen Me เทใจให้มากที่สุดต้องยกให้ “นักพากย์เกม” หรือ “เกมแคสเตอร์” ที่เป็นเหมือน “เน็ตไอดอล” ที่เขาศึกษาเกมจนสามารถตัดต่อคลิปการเล่นเกมแล้วพากย์เสียงใส่ลงไปตัดต่อเป็นคลิปใส่เสียงเอฟเฟกต์ และอัพโหลดลงยูทูบสร้างรายได้ บางรายสร้างรายได้ตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี และอายุไม่เกิน 20 ปี สามารถทำรายได้ได้มากกว่าพนักงานประจำที่อยู่ในระดับซีเนียร์ คือตกราวๆ เดือนละ 6 หมื่น-1 แสนบาท และต้องมีผู้จัดการส่วนตัวเพื่อรับงาน จัดหมวดหมู่พวกเขาสู่การทำธุรกิจอย่างเป็นระบบที่มากขึ้น

“เด็กทุกคนเรียนรู้ทุกอย่างได้จากยูทูบค้นเอง ฝึกเอง พอเด็ก Gen Me เรียนรู้เทคโนโลยีเยอะก็เป็นการเปิดช่องทางให้มีอาชีพได้เยอะขึ้น และไปในแนวทางที่ผู้ใหญ่คาดไม่ถึง เพราะพ่อแม่ยุคนี้เลี้ยงลูกด้วยแท็บเล็ต ผมคิดว่าในอนาคตจะส่งผลให้เด็กรุ่นหลังจากนี้ไป เราจะแบ่งเด็กได้เป็น 2 แบบ คือ เกิดมาพร้อมเทคโนโลยีใช้เป็น ใช้จริงและพัฒนาได้ด้วย กับเพียวยูสเซอร์ คือใช้อย่างเดียว แต่ไม่ต่อยอด” พาทิศ มหากิตติคุณ โปรดักต์ แมนเนเจอร์ บริษัท ทรู ไอคอนเท้นท์ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านเกมทางสื่อออนไลน์ กล่าว

‘นักพากย์เกม’ เทรนด์ฮิตเด็ก Gen Me

‘เกมแคสเตอร์’ ดึงดูดเด็กรุ่นใหม่

จิรัฐติกาล สุทธิวรรณารัตน์ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายพับบลิเคชั่น บริษัท ทรู ไอคอนเท้นท์ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับเกมมีเดีย เน็ตเวิร์ก ครบวงจร กล่าวว่า หากพูดถึงธุรกิจเกมสมัยก่อนคนจะมองเป็นธุรกิจ
สีเทา คือไม่ค่อยให้อะไรกับเด็ก แต่ปัจจุบันเกมเริ่มพัฒนาเป็นอาชีพ เกิดธุรกิจแข่งเกมมีรายได้เป็นล้านๆ บาท เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในอุตสาหกรรมเกม หลายธุรกิจจึงเข้ามาจับธุรกิจเกมยูทูบ เพื่อเป็นเวทีให้เด็กกล้าแสดงออก ได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ เพราะอาชีพนี้เด็กๆ ต้องรู้โปรแกรมตัดต่อ เข้าใจภาษาอังกฤษ และกล้าแสดงออก ตรงนี้จะกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังจะบูม

“เมืองไทยมีเด็กประกอบอาชีพด้านเกมออนไลน์ไม่เยอะมาก เพราะยังเป็นช่วงต้นของธุรกิจ แต่มีเด็กๆ สมาชิกของเราลงทะเบียนกับเว็บไซต์ของเราเพื่อเป็นเกมแคสเตอร์อยู่ราวๆ 2,000 คน ต่อไปนี้เราจะไม่ใช่แค่รู้จัก โมเม แพรี่พาย ด้านบิวตี้ แต่เด็กๆ จะทำหมวดหมู่ของเกมกันหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น” จิรัฐติกาล กล่าวและว่า ปัจจุบันเทรนด์เด็กๆ เปลี่ยนไปแล้ว เพราะเขาอยู่กับแท็บเล็ต คอมพิวเตอร์มากขึ้น โดยไม่ดูทีวีกันแล้ว เพราะเขามีโลกส่วนตัวสูง

“สิ่งสังเกตว่าเทรนด์เด็กไทยกำลังก้าวไปสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น คือเวลาเราจัดงานอีเวนต์เกมออนไลน์จะมีเด็กจำนวนเป็นแสนๆ คนรอเข้างาน แสดงว่าเรื่องเกมเป็นสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจ เช่น อาชีพการพากย์เกม และด้วยเกมแคสเตอร์นิยมมากๆ สินค้าที่พยายามเจาะกลุ่มเด็ก Gen Me ก็มาจ้างเกมแคสเตอร์ ตัดต่อคลิปพูดแสดงผ่านเกม ตัดต่อเป็นเรื่องราว ซึ่งคลิปบางคลิปมีคนเข้าไปดูมากถึง 2 แสนคน มีคนดูในยูทูบก็มี”

‘นักพากย์เกม’ เทรนด์ฮิตเด็ก Gen Me

‘เกมแคสเตอร์’ ผู้โด่งดังในไทย

“เกมแคสเตอร์” อายุน้อยที่สุดเพียง 19 ปี และถือว่าโด่งดังที่สุด คือ อิ๊คคิว-อรรถพลแก้วอาศา เจ้าของฉายาในวงการเกม คือ XCROSZ กำลังศึกษาต่อ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) แต่เขาเริ่มเป็นแคสเตอร์เกม อัพโหลดลงยูทูบตั้งแต่อายุเพียง 16 ปี และเขาถืออยู่ในรุ่นบุกเบิกเมื่อ 5 ปีที่แล้วในยุคที่โซเชียล ยูทูบกำลังบูม

“จากที่ผมชอบเล่นเกมพูดไปบ่นไป พอโตขึ้นผมเริ่มศึกษาจะพัฒนาสิ่งที่เราชอบคือ ชอบเล่นเกมให้เป็นอาชีพได้ไหม ผมก็รวมตัวกับเพื่อนๆ 10 คน ทำเป็นคอมมูนิตี้เล็กๆ เริ่มศึกษากันว่าเราน่าจะมีรายได้จากยูทูบโดยตรง แต่ยุคนั้นประเทศไทยยังไม่มียูทูบไทยแลนด์ เราจึงต้องไปหานายหน้าเอเยนซีจากสิงคโปร์ เพราะเวลาอเมริกาจะจ่ายเงินให้กลุ่มครีเอเตอร์เล็กๆ จะจ่ายผ่านสิงคโปร์ แต่ตอนนี้เราดิวกับอเมริกาโดยตรง เขาจะให้รายได้เรามาจากการที่เราอัพโหลดคลิปเล่นเกมแล้วพากย์ลงยูทูบ แล้วเขาจะนำโฆษณามาลงข้างๆ คลิปเรา เราจึงมีค่าโฆษณาสร้างรายได้ให้เรา กลายเป็นรายได้ในยุคแรกๆ”

อีกหนึ่ง “เกมแคสเตอร์” ที่กำลังได้รับความนิยมรองลงมาคือ  เจ-เอกอนันต์ เลิศพงษ์อนุกูล วัย 22 ปี กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย คณะครุศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ศึกษา เอกอนันต์เป็นเกมแคสเตอร์ราว 4 ปี ฉายาของเขาคือ “Maser Gamer” ถนัดเกมแนว MOBA คือ เกมแนว “มัลติ เพลเยอร์ ออนไลน์” และ “แบทเทิล อารีน่า” เป็นเกมแนวที่ต้องเล่นเป็นทีมเวิร์ก 5 คน จึงต้องมีทักษะการวางแผนและเล่นเป็นทีม สิ่งดึงดูดที่ทำให้เขาอยากก้าวเข้าสู่เกมแคสเตอร์ เริ่มจากเขาสนใจเล่นเกมจีทีเอ แนวเดียวกับโมบ้าซึ่งเป็นเกมฮิตไปทั่วโลก เล่นไปลองพากย์แนวฮาๆ ไปแล้วก็โหลดคลิปตัวเองลงยูทูบ ปรากฏผลตอบรับดีมาก

“เดิมคนเล่นเกมจีทีเอไม่เยอะจริงๆ แค่ผมอยากอัพคลิปลงเพื่อชักชวนเพื่อนๆ มาเล่นกันเยอะ ปรากฏผลตอบรับดีมากๆ เพราะผมพูดเป็นตัวของตัวเอง ทำให้คลิปแรกคนดูประมาณ 4 แสนคน จากนั้นผมเริ่มทำคลิปจริงจัง แล้วคิดว่าเราต้องมีสังกัด พี่ๆ ออนไลน์ สเตชั่น ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ทำธุรกิจสื่อครบวงจรเกี่ยวกับเกม มีหน้าที่ป้อนงาน คอยหาคลิป คอยแนะว่าผมควรทำคลิปอะไรป้อนลงยูทูบบ้าง อะไรกำลังฮิต ตอนนี้ผ่านไป 4 ปี ผมทำคลิปอัพโหลดลงยูทูบราว 400 คลิป มียอดวิวรวมประมาณ 65 ล้านยอดวิว”

ในวงการเกมแคสเตอร์ จำนวนผู้หญิงมีน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงไม่ค่อยกล้าแสดงออก และขี้อายมากกว่าผู้ชาย แต่ แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์ วัย 24 ปี ศึกษาจบปริญญาตรี คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เข้าสู่วงการเกมแคสเตอร์ไม่ถึงหนึ่งปี จากยอดวิวคนคลิกเข้าไปชมคลิปของเธอปัจจุบันราว 8 หมื่นครั้ง ถือว่าเป็นเกมแคสเตอร์ผู้หญิงที่น่าจับตามอง

แป้ง กล่าวว่า เสน่ห์ของเกมแคสเตอร์ผู้หญิงอยู่ตรงเสียงกรีดร้องเวลาเธอโชว์เล่นเกมแนวสยองขวัญ การดัดเสียงพากย์ให้เป็นตัวการ์ตูนต่างๆ อีกทั้งเพิ่มเสน่ห์ให้ผู้ชมได้เห็นความรู้สึกสีหน้า แววตาขณะเล่นเกมแล้วพากย์ด้วยการติดกล้องโคลสอัพไปที่ใบหน้า ก็ยิ่งช่วยเพิ่มอรรถรสในการรับชมให้กับผู้ดูผู้ฟังมากขึ้น นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เธอมีแฟนคลับเป็นคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสำคัญมากๆ ที่เกมแคสเตอร์ต้องหาจุดเด่นของตัวเอง เพื่อให้ผู้ชมจดจำและติดตาม

‘นักพากย์เกม’ เทรนด์ฮิตเด็ก Gen Me

 

‘เกมแคสเตอร์’ รายได้ไม่ธรรมดา

ในวงการเกมแคสเตอร์ระดับโลก แฟนคลับส่วนใหญ่ต้องรู้จักนักพากย์เกมชื่อดังอย่าง PewDiePie หรือ Felix Arvid Ulf Kjellberg ชาวสวีเดนวัย 24 ปี เป็นเกมเมอร์คนหนึ่งที่มีผู้ติดตามเยอะที่สุดในโลก ด้วยจุดเด่นคือสร้างความฮา มีเสียงกรี๊ดที่ดึงดูด อีกทั้งเขาชอบทำหน้าฮาๆ ทำให้คนดูแล้วมีความสุขและรู้สึกฮาไปเขาด้วย

แฟนคลับพันธุ์แท้พิวดี้พาย อย่าง ตะวัน ผูกพันธ์ วัย 18 ปี นักเรียนเกรด 12 แห่ง Sir Winston Churchill Secondary School เล่าว่า เพื่อนชาวต่างชาติแนะนำให้ดูหนุ่มคนนี้เล่นเกม ด้วยลีลาการเล่นเกมและพากย์เกมแบบหลุดโลก ทำให้พิวดี้พายมีแฟนคลับทั่วโลก ที่เข้าไปชมคลิปพากย์เกมของเขานับ 35 ล้านคน เป็นจำนวนที่สูงที่สุดของยูทูบที่มียอดซับสไครบ์หรือลงชื่อเป็นสมาชิก ซึ่งทำให้พิวดี้พายสามารถทำรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และเขายังมีรายได้จากจำนวนผู้ติดตามเขาบนยูทูบที่มีเพิ่มขึ้นทุกปี และการจำหน่ายสินค้า กระเป๋า หมวก เสื้อ ฯลฯ ด้วยแบรนด์ตัวเองอีกด้วย

ด้าน เอกอนันต์ คลื่นลูกใหม่ กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่เขาอยู่ในวงการเกมแคสเตอร์ เขามีรายได้จาก 3 ทางหลัก ได้แก่ จากต้นสังกัดออนไลน์ สเตชั่น แคสเตอร์ และงานพิเศษสตรีมเมอร์คือเล่นเกมโชว์ตามอีเวนต์ต่าง ๆ ตกราวๆ 6-8 หมื่น/เดือน

ส่วน อรรถพล หนึ่งในตัวเกมแคสเตอร์ระดับตัวท็อป เขามีแหล่งรายได้จากการเป็นเกม แคสเตอร์ แบ่งเป็นรายได้มาจากค่าโฆษณาที่ทางยูทูบอเมริกาจ่ายให้ตกเดือนละ 2-3 หมื่นบาท นอกจากนี้เขายังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอีกหลายๆ ทาง คือจากสปอนเซอร์ร้านเกมที่เวลามีเกมใหม่ๆ ก็จะมาลงโฆษณาคู่กับคลิปแคสเตอร์เกมของเขา เป็นรายได้กินเปล่า ราวๆ 7,000 ถึง 1 หมื่นบาท/เดือน

และล่าสุดเมื่อเข้าเซ็นสัญญามีค่ายสังกัดแล้ว พี่ๆ ที่เหมือนเป็นผู้จัดการส่วนตัวก็จะหางานโชว์ตัวให้ตกราวๆ 3,000-5,000 บาท/ครั้งในการเล่นเกมโชว์ในงานอีเวนต์เกมต่างๆ และยังช่วยสร้างสรรค์โปรดักต์ต่างๆ โดยมีโลโก้เป็นรูปหน้าของอรรถพล เช่น เสื้อยืด กระเป๋า หมวก ฯลฯ ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำรวมทั้งผลิตพ็อกเกตบุ๊กเรื่องราวของอรรถพลกว่าจะมาเป็นเกมแคสเตอร์ ที่โด่งดังตีพิมพ์ครั้งที่ 2 แล้ว และตีพิมพ์มากกว่า 1 หมื่นเล่ม/ครั้ง ทำให้อรรถพลมีรายได้อย่างต่ำเดือนละ 5 หมื่นบาท บางเดือนเกือบ 1 แสนบาท/เดือนเลยทีเดียว

‘นักพากย์เกม’ เทรนด์ฮิตเด็ก Gen Me

‘เกมแคสเตอร์’ จะฮิตอีกนานแค่ไหน

ตะวันให้ทัศนะว่า ปัจจุบันมีผู้ที่อยากมาทำอาชีพในธุรกิจเกมออนไลน์เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็น “เกมแคสเตอร์” “สตรีมเมอร์” “ยูทูบเบอร์” แต่จะมีเพียง 0.01% เท่านั้นที่จะทำความฝันให้เป็นจริง เพราะต้องอาศัยปัจจัยดังจริงและมีเสน่ห์ของตัวเอง ที่จะชักจูงคนมาดูเขา

“นักพากย์เกมเก่งๆ พอเขาทำไปสักพักก็ต้องเกษียณตัวเองหากมีคนที่เล่นเกมเก่งกว่าเขาขึ้นมาฉายแวว เพราะเล่นเกมเก่งต้องมีรีเอ็กซ์กับเกมที่เร็ว ถ้าคนดูไปเจอคนเล่นเกมที่เก่งกว่าคนเก่า แฟนคลับก็เปลี่ยนไปติดตามคนใหม่เป็นธรรมดา คนเก่าก็จะเสื่อมความนิยมไปในที่สุดหากไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง”

ด้านเมืองไทยปัจจุบันมีเกมแคสเตอร์เยอะมากๆ เพราะเขาทำกันเป็นงานอดิเรก แต่มีคนที่ติดตามเยอะๆ สัก 5 หมื่นครั้ง มีราว 100 คน ระดับท็อปๆ ที่มีคนเข้าไปคลิกชมเกิน 1 แสนครั้งราว 20 คน แต่เมืองไทยมีเกมแคสเตอร์ที่โดดเด่นเพียง 6-7 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก แต่ก็มีแนวโน้มว่าน้องๆ รุ่นใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะเร็วๆ นี้ ยูทูบ ไทยแลนด์ เพิ่งเปิดตัวในไทย ก็น่าจะเพิ่มยอดคนดูเยอะขึ้น

เอกอนันต์ กล่าวว่า การจะมาเป็นเกมแคสเตอร์ที่มีผู้คนนิยมคลิกเข้าไปชมเป็นเรื่องยาก แม้ปัจจุบันมีเกมแคสเตอร์อัดคลิปลงยูทูบเยอะมาก แต่หากเราไม่มีคอนเทนต์ดีๆ มีทักษะการพูดที่เป็นจุดเด่น ผู้ชมก็จะเลือกชมของคนอื่นที่เกมแคสเตอร์เหมือนๆ กัน แต่มีลีลาที่ดีกว่า

“เป็นธรรมดาที่คนจะเลือกดูคลิปของคนที่ตลกกว่า เล่นเกมเก่งกว่า ดังนั้นจะเป็นเกม แคสเตอร์ที่มีผู้ชมนิยมก็ต้องหมั่นพัฒนาตัวเอง อัพคลิปใหม่ๆ ลงบ่อยๆ ควรต้องฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสที่มากขึ้นด้วย”

ด้าน อรรถพล กล่าวทิ้งท้ายว่า น้องๆ สามารถเล่นเกมได้ แต่ผู้ปกครองก็ควรจัดสรรเวลาสำหรับลูกหลานให้เล่นเกมได้ในเวลาที่จำกัด แบ่งเวลาลูกให้ชัดเจน ฝึกนิสัยเขาตั้งแต่เด็กๆ ว่าเวลาไหนควรเล่นและไม่ควรเล่นเกม ตรงนี้เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องดูแลลูกหลานอย่างใกล้ชิดด้วย