posttoday

นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ข้อเท็จจริงเรื่องสเต็มเซลล์

07 มีนาคม 2558

ฉบับนี้ นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยาหัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ฉบับนี้ นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยาหัวหน้าศูนย์วิจัยเซลล์ต้นกำเนิดและเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะมาเล่าให้ฟังถึงข้อเท็จจริงการใช้สเต็มเซลล์ในปัจจุบันว่าคืออะไรและสามารถใช้อะไรได้บ้าง

คุณหมอนิพัญจน์ บอกว่า สเต็มเซลล์ คือเซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่จำกัดและยังไม่เจริญจนกลายเป็นเซลล์ที่โตเต็มวัย สเต็มเซลล์มีหลายชนิดแต่ละชนิดคุณสมบัติที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีการนำไปใช้ต่างกันด้วย

 “เมื่อไข่ผสมกับอสุจิ ถ้าเราแยกเซลล์จากตัวอ่อนระยะเริ่มแรกมาเพาะเลี้ยงเพิ่มจำนวนในหลอดทดลอง เราเรียกเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งมีคุณสมบัติที่กลายเป็นเซลล์ได้ทุกชนิดในร่างกาย แต่เมื่อตัวอ่อนเริ่มมีรูปร่างแม้ยังอยู่ในครรภ์ เซลล์ที่มีคุณสมบัติเหมือนเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนจะหายไปจากร่างกายและอวัยวะส่วนใหญ่จะมีสเต็มเซลล์ของตัวเอง”

หลังจากนั้นจะมีการสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นๆ เช่น สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์ประสาท สเต็มเซลล์ในไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือด เซลล์จากสายสะดือทารกก็ใช้สร้างเซลล์เลือด สเต็มเซลล์จากอวัยวะหนึ่งไม่สามารถสร้างเซลล์ของอีกอวัยวะหนึ่งได้เมื่อโตขึ้นอีกสเต็มเซลล์ในหลายๆ อวัยวะจะหายไป หรือมีจำนวนน้อยลงมาก ยกเว้นในอวัยวะที่ต้องมีการสร้างเซลล์สม่ำเสมอทุกทุกวัน เช่น สเต็มเซลล์เลือดที่พบในไขกระดูก ที่อยู่ของสเต็มเซลล์ในร่างกายเป็นที่ ที่มีความพิเศษที่ทำให้สเต็มเซลล์คงคุณสมบัติอยู่ได้ สเต็มเซลล์เลือดจะอยู่ในไขกระดูกไม่ออกมาในเลือด เว้นแต่จะฉีดยากระตุ้น

ส่วนการนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคมี 3 แนวทางใหญ่ คือ 1.ปลูกสเต็มถ่ายเซลล์แทน สเต็มเซลล์ที่ไม่ทำงาน ในอวัยวะที่ต้องมีการสร้างเซลล์สม่ำเสมอ เป้าหมายคือให้สเต็มเซลล์หลังปลูกถ่ายไปแล้วสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้นๆ ไปอีกหลายปีหลังปลูกถ่าย ด้วยเหตุผลทางเทคนิคอวัยวะที่ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้ยังมีจำกัด ที่เป็นการรักษามาตรฐานในประเทศและทั่วโลกมีเพียงนำสเต็มเซลล์จากไขกระดูกไปรักษาโรคระบบเลือดเท่านั้น ส่วนการเพาะสเต็มเซลล์ผิวหนังเพื่อรักษาแผลไฟไหม้ และการเพาะสเต็มเซลล์กระจกตามีใช้ในหลายประเทศแต่ยังไม่เป็นการรักษามาตรฐานในไทย  

2.การนำสเต็มเซลล์ไปสร้างเซลล์ชนิดจำเพาะก่อนนำมาปลูกถ่าย เช่น เซลล์ประสาทที่สร้างสารโดปามีนสำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน เซลล์ตับอ่อนที่หลั่งอินซูลินสำหรับรักษาโรคเบาหวานยังอยู่ในขั้นการทดลอง เนื่องจากข้อจำกัดทางคุณสมบัติของเซลล์ต้นกำเนิดร่างกายในอวัยวะต่างๆ ที่มีไม่ครบทุกอวัยวะ สร้างเซลล์ได้ไม่ครบทุกชนิดและเพิ่มจำนวนได้จำกัดในหลอดทดลอง

ขณะที่เซลล์ที่เป็นความหวัง คือ เซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อนและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนเซลล์ร่างกายกลับสู่สเต็มเซลล์ที่เรียกว่า Induced pluripotent stem cells ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลในปี 2012  และ 3.การปลูกเซลล์หวังให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สร้างเซลล์ เช่น หวังว่าเซลล์ที่ปลูกถ่ายจะหลั่งสารกระตุ้นการซ่อมแซมการร่างกาย การศึกษาในลักษณะนี้แม้มีจำนวนไม่น้อยในบางโรค อย่างไรก็ดีข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่แสดงว่ามีประสิทธิภาพมากเพียงพอหรือแตกต่างกับการฉีดยาหลอก ยังไม่มีสมาคมทางการแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับเป็นการรักษามาตรฐานจนกว่าจะมีข้อมูลสนับสนุนมากกว่านี้