posttoday

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

02 มีนาคม 2558

โปรดตอบอย่างซื่อสัตย์ว่าสารคดีเรื่องสุดท้ายที่ได้ดูคือเรื่องอะไร และเป็นของชาติไหน ถ้าหากคำตอบเป็น ชาติไทย

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

โปรดตอบอย่างซื่อสัตย์ว่าสารคดีเรื่องสุดท้ายที่ได้ดูคือเรื่องอะไร และเป็นของชาติไหน ถ้าหากคำตอบเป็น ชาติไทย โปรดรู้ไว้ว่าคุณได้ดูสารคดีส่วนน้อยที่มีอยู่เพียง 20% ในตลาดรวม

ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าเนื้อหาหรือสารคดีจากต่างประเทศมากถึง 80% ซึ่งเท่ากับว่าเราได้เสียเงินซื้อลิขสิทธิ์ให้ต่างชาติจำนวนมาก ผู้ชมสารคดีทางโทรทัศน์น่าจะสังเกตได้ว่าสารคดีส่วนใหญ่ที่รับชมนั้นเป็นพากย์ไทย และมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ รอบโลก ยกเว้นเนื้อหาในไทย แต่ถ้าถามว่าอยากให้มีสารคดีที่ผลิตโดยคนไทยและเจาะลึกไปที่ประเทศไทยไหม ลองตอบในใจดู

วงการโทรทัศน์ไทยกำลังตระหนักในเรื่องนี้ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่า รูปแบบรายการโทรทัศน์ไทยปัจจุบันมีสัดส่วนของความบันเทิง เช่น ละคร เกมโชว์ มากถึง 70-80% ที่เหลืออีก 20-30% เป็นข่าว รายการเด็ก และสารคดี

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

 

ขณะเดียวกัน ทางมูลนิธิสำรวจโลก องค์กรที่ดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะโดยไม่แสวงหากำไร เล็งเห็นว่าสาเหตุหลักที่ไทยมีสารคดีของตัวเองจำนวนน้อยนั้นเพราะ ขาดแคลน ผู้ผลิตรายการด้านสาระความรู้ในอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ มูลนิธิสำรวจโลกจึงได้ทำโครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการระดับท้องถิ่น ชื่อเต็มคือ โครงการพัฒนาผู้ผลิตรายการระดับท้องถิ่นและภูมิภาค และผลิตรายการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เกิดการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค แค่ชื่อโครงการก็อธิบายวัตถุประสงค์เรียบร้อย

ทางโครงการได้จัดอบรมระดับท้องถิ่นใน 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ชลบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี มีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 237 คน จากนั้นแบ่งกลุ่มตามภูมิภาคออกเป็น 50 กลุ่มแล้วผลิตสารคดีในท้องถิ่นของตน ปรากฏว่ามีสารคดีที่อยู่ในระดับเกรดเอ 7 เรื่อง ซึ่งจะได้ไปออกอากาศในทีวีดิจิทัล ผลงานของแต่ละกลุ่มช่วยให้เกิดการส่งผ่านวัฒนธรรมข้ามภูมิภาค ทว่าแต่ละภูมิภาคนำเสนอเรื่องอะไร ด้านไหน และมีแนวคิดการทำสารคดีแบบคนรุ่นใหม่อย่างไร ขอนำเสนอ 3 เรื่อง 3 ภาค ได้แก่ เชียงใหม่ โคราช และชุมพร สารคดีเกรดเอที่อาจพลิกวงการสารคดีไทย

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

พิพิธภัณฑ์มีชีวิต จ.เชียงใหม่

คุณตีความคำว่าพิพิธภัณฑ์ว่าอย่างไร สำหรับกลุ่มแบ็ค ซีน กรุ๊ป นำทีมโดย ปฏิญญา ปัญญายศ มองพิพิธภัณฑ์ว่าเป็นมากกว่าสถานที่เก็บของเก่า เขาจึงเล่าชีวิตของโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ทำหน้าที่เหมือนพิพิธภัณฑ์ คล้ายกับทำสารคดีชีวประวัติ ทว่าเป็นที่มาของสถานที่ผ่านการบอกเล่าของคนที่เกี่ยวข้อง

ปฏิญญาเล่าถึงสารคดีว่า เนื้อเรื่องจะกล่าวถึงคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า คนตัวเล็กกับการอนุรักษ์ ในเชียงใหม่ พวกเขาได้เข้าไปอนุรักษ์วิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุก จ.ลำปาง โดยการเข้าไปหาชุมชน ช่วยกันคิดร่วมกับชุมชนว่าจะอนุรักษ์วิหารนี้อย่างไร “ทุกขั้นตอนมีการโต้ตอบกับชาวบ้านตลอด” เขากล่าว

“ลักษณะนี้มันเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพราะทุกคนร่วมมือกันทำ โดยที่ไม่ได้เอาของมาตั้งๆ วางๆ แล้วบอกว่าของชิ้นนี้มาจากยุคนั้นยุคนี้ แต่ที่แห่งนี้คือสถานที่ที่ทุกคนสามารถใช้ได้เหมือนเดิมอย่างในอดีตที่เคยใช้มา”

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

 

สารคดีมีความยาว 50 นาที จัดทำโดยทีมงาน 5 คน ภายในระยะเวลา 1 เดือน ความเห็นจากคณะกรรมการต่อผลงานชิ้นนี้คือ ชื่นชมวิธีเล่าเรื่องและการวางจังหวะของภาพ ซึ่งตรงกับความตั้งใจของทีม
งานที่อยากนำเสนอความแปลกใหม่ในด้านนี้ เพราะสารคดีไม่จำเป็นต้องดำเนินเรื่อง 1-10 แต่สามารถสลับเหตุการณ์โดยที่ไม่เสียโครงเรื่อง ลองทิ้งจังหวะ ลองฉีกกฎเกณฑ์เดิมๆ แม้ว่ามันจะยากกว่าการทำตามแพตเทิร์นธรรมดาก็ตาม

นอกจากวิธีการเล่าเรื่อง การนำเสนอประเด็นก็สำคัญ “คนไทยมักติดภาพสารคดีฝรั่ง” ปฏิญญากล่าว “เราชอบมองให้เป็นสากล เราพยายามทำให้เหมือนเขา เราจึงติดบล็อกจนทำให้ไม่โดดเด่น ดังนั้นคนไทยต้องหาสิ่งที่แตกต่างจากที่เขาเคยทำ ซึ่งนั่นก็คือทำอะไรที่เป็นไทยจริงๆ ให้คนต่างประเทศเขาเห็นบ้าง”

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

ปฏิญญาเป็นคนเชียงใหม่ อาศัยอยู่ใกล้เวียงกุมกามซึ่งเป็นเมืองโบราณ เขาจึงรู้สึกเข้าถึง (อิน) เรื่องของของเก่าพอสมควร และเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์เป็นอย่างดีว่ามันไม่ใช่เป็นเพียงวิธีปฏิบัติ แต่ยังหมายถึงความรู้สึกและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นด้วย

สารคดีได้ส่งสารเรื่องการอนุรักษ์ออกไป “เราอยากถ่ายทอดความคิดว่า ชาวบ้านและทีมงานคนตัวเล็กฯ ไม่ได้แค่นำของเก่ามาวางไว้ แต่คนรุ่นต่อไปสามารถใช้ของพวกนี่ได้อยู่ตลอด และพอเขาได้ใช้ก็จะเห็นประโยชน์ซึ่งจะกลายเป็นการอนุรักษ์ที่แท้จริง” ปฏิญญากล่าวทิ้งท้าย และหวังว่าคนปิดทองหลังพระกลุ่มนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนออกมาทำประโยชน์เพื่อชุมชน

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

โนนวัด สุสานสร้างชีวิต จ.นครราชสีมา

กลุ่มมวลต่อมวลกระจายความรู้ใหม่ให้คนไทยทั้งชาติด้วยสารคดีเรื่องโนนวัด สุสานสร้างชีวิต เรื่องเก่าแต่ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในชุมชนโนนวัด อ.เนินสูง จ.นครราชสีมา ที่ว่าเป็นแหล่งชุมชนโบราณที่สุดในประเทศไทย ด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จากการคำนวณอายุโครงกระดูกและเครื่องใช้ที่ขุดค้นพบในบริเวณดังกล่าว สามารถฟันธงได้ว่าโนนวัดเคยเป็นชุมชนโบราณอายุมากกว่าบ้านเชียง ซึ่งรู้หรือไม่ว่า นักวิจัยต่างชาติได้เข้ามาขุดเพื่อศึกษาเรื่องชาติพันธุ์มนุษย์มาเนิ่นนานแล้ว ปัจจุบันโครงกระดูกและของโบราณทั้งหมดถูกนำไปเก็บที่พิพิธภัณฑ์พิมาย สิ่งที่ชุมชนโนนวัดมีอยู่ตอนนี้คืออาคารพิพิธภัณฑ์ที่แสดงของจำลองและไร้ผู้เข้าชม

ธนินท์รัฐ ศักดาพิศิษฏ์ หัวหน้ากลุ่มมวลต่อมวล กล่าวถึงเป้าหมายของสารคดีว่า ต้องการให้คนทั่วไปรู้จักชุมชนจึงทำสารคดีเป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน และอยากให้คนไทยทราบประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตนผ่านแหล่งเรียนรู้จริงๆ มิใช่จากงานวิจัยของต่างชาติ

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

เมื่อประเด็นน่าสนใจแต่จะผลิตสารคดีอย่างไรให้น่าสนใจด้วย เขากล่าวถึงการใช้ “สัญลักษณ์” แทนคำบรรยาย หมายถึงถ้าเล่าเรื่องด้วยภาพได้ชัดเจนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีคำบรรยายภาพ ซึ่งการถ่ายภาพแทนคำพูดนั้นต้องคิดอีกมุมมอง “คนทำสารคดีต้องหาแง่มุมที่แตกต่างจากคนอื่นในแง่เดียวกัน” เขากล่าว หลายคนพูดไว้ว่าอย่าคิดแทนคนดู แต่สุดท้ายมันจะตอบโจทย์ใคร ถ้าสารคดีไม่นำเสนอภาพที่คนดูอยากดูหรือประเด็นที่คนดูอยากรู้

นอกจากนี้ หัวใจสำคัญของการนำเสนอคือ ความจริง เพราะสารคดีไม่เหมือนละครที่จะหยิบยกความจริงบางส่วนมาสร้างเรื่องให้ดูน่าตื่นเต้น ดังนั้นทุกคำทุกภาพที่นำเสนอออกไปต้องเป็นความจริงทั้งหมด ส่วนความคิดเห็นจะมาจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสะท้อนหลากหลายมุมมองในเรื่องเดียวกัน อย่างไรก็ตามจะทำอย่างไรให้ความจริงเป็นเรื่องสนุก ทางออกคือเทคนิคการตัดต่อ ธนินท์รัฐ กล่าวว่า “เราต้องทำสารคดีที่ดูสนุก เพราะนิสัยของคนไทยชอบแบบนั้น ถ้ามีกลุ่มคนทำสารคดีที่สนุกเยอะ ผู้ชมก็จะเปลี่ยนทัศนคติมองสารคดีว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป จากนั้นก็จะบริโภคสารคดีมากขึ้น กลายเป็นว่ามีซัพพลายมาก ดีมานด์ก็จะเร่งผลิต สปอนเซอร์ก็จะเข้ามา” วงการสารคดีไทยก็จะกระเตื้อง และคนไทยจะได้ชมสารคดีที่ดีมากขึ้น

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

ไก่ชน ชุมพร

เปิดใจรับมุมมองใหม่ของการตีไก่กับสารคดีเรื่อง ไก่ชน โดยทีมฟายด์ ทิงค์ ดิสคัฟเวอร์ (Find Think Discover-F.T.D.) ประเชิญ เสือใหญ่ ลงพื้นที่สัมผัสชีวิตคนเลี้ยงไก่ชนใน อ.สวี จ.ชุมพร เพื่อนำเสนอเรื่องที่คนในวงกว้างมองไม่เห็น คือ ความรักความผูกพันระหว่างคนกับไก่ ซึ่งจะมองข้ามความรุนแรง การทารุณสัตว์ การพนัน และข้อถกเถียงประเด็นบ่อนไก่ถูกกฎหมายที่ยังไม่จบสิ้น

หลังเวทีไก่ชนอันดุเดือดยังมีมุมมองในแง่ของวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมา “สารคดีเรื่องนี้ไม่หวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงว่าข้อถกเถียงที่มีมานานนั้นจะได้ข้อสรุป” เขากล่าว แต่อยากให้คนทั่วไปมองเห็นความผูกพันระหว่างคนกับไก่ เพราะไก่ชนนั้นไม่ใช่ไก่ตัวไหนก็ได้ แต่ต้องถูกดูแลประคบประหงมอย่างดีจากผู้รู้ และต้องฝึกวิธีการต่อสู้จากผู้รู้อีกเช่นกัน การเลี้ยงไก่ชนจึงไม่ต่างกับโค้ชและนักมวยที่ยิ่งอยู่ด้วยกัน สายสัมพันธ์ก็ยิ่งแน่นแฟ้น

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

ประเชิญได้ยกคำพูดของอาจารย์มากล่าวว่า “เนื้อเรื่องการทำสารคดีสมัยนี้ไม่ใช่จะเน้นให้ความรู้อัดเข้าไปอย่างเดียว มันต้องมีอารมณ์และความดราม่าให้คนดูตื่นเต้นและลุ้นตามไปกับเรื่อง” เหมือนกับผู้ชมจะได้ซาบซึ้งในความรักของเจ้าของไก่ ขณะเดียวกันก็ลุ้นไปว่าไก่ตัวต้นเรื่องนั้นจะชนะหรือไม่

เขายังกล่าวด้วยว่า สารคดีในเมืองไทยมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อยเกินไป “สารคดีมันเป็นแค่ส่วนประกอบของรายการ” เขาตั้งข้อสังเกต ทำให้ตลาดไม่กว้าง นอกจากนี้ผู้ผลิตสารคดีก็มีจำนวนน้อยซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ

 

“บ้านเรามีคอนเทนต์เยอะ มีเรื่องราวเยอะ แต่ละภาคก็มีเอกลักษณ์ต่างกันไปจนต่างชาติสนใจเข้ามาเจาะลึกทำเป็นสารคดีก็มาก แต่คนไทยกลับไม่มีสารคดีเนื้อหาดีๆ ออกไปขายต่างชาติ” ประเชิญกล่าวในขณะที่กำลังทำสารคดีเกี่ยวกับหนังตะลุงอีกเรื่อง

วงการสารคดีไทยยังพอมีหวังที่จะเติบโตอย่างมีคุณภาพจากกลุ่มคนทำสารคดีรุ่นใหม่เหล่านี้ แผนในอนาคตที่คาดว่าจะลดการนำเข้าสารคดีต่างประเทศให้เหลือ 50% อาจเป็นจริงไปพร้อมๆ กับจำนวนรายการบันเทิงที่ลดลง และความหวังสูงสุดที่จะเห็นสารคดีไทยถูกส่งออกไปสร้างความอะเมซิ่งให้ถึงหน้าจอนานาประเทศอาจเกิดขึ้นจริง...ในอีกไม่นาน

เปิดใจ นักผลิตสารคดีรุ่นใหม่ ไทยดี ไทยทำ