posttoday

แค่คิดจะเที่ยวก็สุขแล้ว

01 มีนาคม 2558

ประเทศญี่ปุ่นเตรียมออกกฎหมายให้พนักงานต้องลาพักร้อนอย่างน้อยปีละ 5 วัน เพื่อบรรเทาความเครียด

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

ประเทศญี่ปุ่นเตรียมออกกฎหมายให้พนักงานต้องลาพักร้อนอย่างน้อยปีละ 5 วัน เพื่อบรรเทาความเครียด หลังกระทรวงแรงงานญี่ปุ่นสำรวจพบว่า ในปี 2556 พนักงานใช้วันลาพักร้อนเพียง 9 วัน จากสิทธิวันลาเฉลี่ย 18.5 วัน และยังมีข้อมูลชี้ว่า 1 ใน 6 ของพนักงานญี่ปุ่นไม่ใช้วันลาเลย การทำงานหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการเจ็บป่วยทั้งกายและใจ โดยในปีที่ผ่านมามีคนญี่ปุ่นเสียชีวิตจากความเครียดและการฆ่าตัวตายมากขึ้น จนมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ คำว่า Karoshi แปลว่า ตายจากการทำงานหนัก ไว้ในพจนานุกรม แต่คนญี่ปุ่นจะหายเครียดและมีความสุขขึ้นได้ถ้า “วางแผนเที่ยว”

แค่วางแผนท่องเที่ยวในวันหยุดก็สามารถสร้างความสุขได้ เรื่องนี้ ดร.เยรึน นาวยิน อาจารย์อาวุโสด้านการท่องเที่ยวจาก NHTV Breda University of Applied Science ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ศึกษาและพบว่า ผู้ลาพักร้อนจะมีระดับความสุขก่อนการเดินทางสูง (Pre-trip Happiness) เพราะพวกเขาต่างรอคอยอย่างคาดหวังกับวันพักร้อนที่จะมาถึง และหลังจากกลับมาแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ยังรู้สึกมีความสุขมากกว่าผู้ที่ไม่ได้ลาพักร้อน

นอกจากนี้ ดร.เยรึน ยังศึกษาระดับความสุขของผู้พักร้อนระหว่างการเดินทางด้วยว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรเมื่อถึงเวลาเดินทางจริง สามารถแบ่งได้ 3 ระดับตามระยะเวลา ได้แก่ ระยะเวลาพักร้อนที่เหมาะสมที่สุดคือ 8-13 วัน เพราะผู้พักร้อนจะมีความสุขตั้งแต่วันที่ 2 ของการเดินทางและยังคงมีความสุขมากจนถึงวันสุดท้าย แต่หากพักร้อนน้อยกว่า 7 วัน วันแรกๆ จะมีความสุขแต่ระดับนั้นจะลดลงเรื่อยๆ และหากพักร้อนนานกว่า 14 วัน ช่วงแรกจะรู้สึกเฉยๆ แต่จะเริ่มมีความสุขเมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการเดินทาง

มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับพนักงานผู้หญิงว่า ช่วงก่อนวันพักร้อนพวกเธอจะโหมทำงานหนักและอาจทำให้ร่างกายไม่พร้อมเดินทางได้ ซึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเดินทาง คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าวันหยุดพักร้อนที่รอคอยนั้นจะมีความสุขหรือไม่

ดร.เยรึน กล่าวด้วยว่า เหตุผลหลักที่ผู้คนมักมีความสุขกับการหยุดพักร้อน เพราะความรู้สึกเป็นอิสระ เขาใช้คำว่า Autonomy ซึ่งแปลตรงๆ หมายถึงการปกครองตัวเอง ปราศจากการพันธนาการจากสังคม ดังนั้นเขาจึงแนะนำว่า หากยังไม่มีวันหยุดพักร้อนยาวๆ ก็ให้หนีออกจากใต้อำนาจเดิมแบบง่ายๆ เช่น ออกไปรับประทานอาหารกลางวันกับเพื่อนที่รู้ใจ หรือไปคาเฟ่ที่ชื่นชอบในวันศุกร์หลังเลิกงาน เป็นต้น

ดร.เซบาสเตียน ฟิเลป ผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินทางและภาวะที่เป็นสุข มหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย เผยว่า ความสุขจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่กระบวนการจองตั๋วเดินทางเพื่อการพักผ่อน จากนั้นคนจะจดจำถึงการเดินทางที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้อารมณ์เบิกบาน เขายังเชื่อว่าการเที่ยวพักผ่อนจะช่วยบำบัดผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้แม้ว่าหมอจะไม่สามารถเขียนใบสั่งยาให้ไปเที่ยวได้ก็ตาม

ความสุขจากการท่องเที่ยวถือเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง แต่ก็มีคนจำนวนมหาศาลยินดีแลกกับความสุขนั้น องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) คาดว่าในปีนี้จะมีนักเดินทางทั่วโลกมากกว่า 120 ล้านคน และในปี 2020 จะมีนักเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ มากถึง 1,600 ล้านคน เป็นคนในกลุ่มอาเซียนประมาณ 160-200 ล้านคนฃ