posttoday

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

28 กุมภาพันธ์ 2558

สถานที่อันเงียบสงบ อยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” สวนรถไฟ กรุงเทพฯ

โดย... กองบรรณาธิการ

สถานที่อันเงียบสงบ อยู่ในใจกลางกรุงเทพมหานคร หรือที่เรียกว่า “หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ” สวนรถไฟ กรุงเทพฯ น่าแปลกที่พื้นที่แห่งนี้เมื่อได้ย่างกรายเข้ามาเยือนเกิดความสงบขึ้นอย่างน่าฉงน ทั้งที่ไม่กี่นาทีก่อนเพิ่งแหวกว่ายหนีจำนวนรถยนต์มหาศาลบนท้องถนนเมืองหลวงที่วุ่นวายปนคึกคัก

หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุ อินทปัญโญ หรือ “สวนโมกข์กรุงเทพ” คือสถานที่ดังว่า ที่เงียบสงบ หลายคนบ้างนั่งสมาธิ บ้างหยิบหนังสือธรรมะขึ้นมาอ่าน บ้างใช้เวลาของตัวเองอยู่เงียบๆ คนเดียว

กระนั้นเมื่อเข้าไปถึงสถานที่ “บุญ” กลับเกิดข้อสงสัยต่างๆ นานาขึ้นในความคิด พลันให้นึกสวนทางว่า “บุญ” ที่ว่าเอาไว้จะเกิดได้อย่างไรกับสถานที่แห่งนี้ ทั้งที่ไร้ทั้งพระหรือหาใช่วัดไม่

หนำซ้ำเมื่อพบเห็นบุคคลที่ทำหน้าที่ปฏิบัติ หลายคนในหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ก็ตอกย้ำความสงสัยขึ้นไปอีกว่า กลุ่มคนเหล่านี้เป็นใคร เข้ามาทำอะไร อยากได้บุญนักหรือถึงปลีกเวลาส่วนตัวมาช่วยงานสังคม ทำงานให้หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ อย่างแข็งขัน

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

นพ.บัญชา พงษ์พานิช หัวเรือใหญ่ที่ดูแลหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ขันอาสาให้คำตอบกับ @weekly

“สถานที่แห่งนี้คือมูลนิธิ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อบริหารงานบุญ เป็นการกุศล เราไม่ใช่วัด แต่เป็นเครือข่ายของวัดป่าธารน้ำไหล หรือสวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานี เราเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าพื้นที่บุญ หรือบุญนิยม ที่ต้องการให้คนรู้สึกถึงบุญอย่างถูกต้อง” นพ.บัญชา อธิบายด้วยรอยยิ้ม

บุญที่ว่าถูกหลักประกอบด้วย 4 อย่างในหลักพุทธศาสนา คือ 1.ทาน 2.ศีล 3.สมาธิ และ 4.ภาวนา ด้วยต้นแบบความคิดจากพุทธศาสนาโดยตรง ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ยึดเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ใช่เพียงแค่การทำทานเพื่อหวังบุญอย่างที่เป็นอยู่ในยุคปัจจุบัน และข้อคิดแห่งความไม่ถูกต้อง หลายวัดได้ยึดถือกลายเป็นพุทธพาณิชย์อย่างที่เห็นกันจนชาชิน เพราะใช้กลเม็ดอ้างบุญ อ้างผลตอบแทน เพื่อเรียกเม็ดเงินของคนให้แห่มาทำบุญ

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

นพ.บัญชา อธิบายว่า การทำบุญไม่ใช่เพียงแค่ทำทานกับวัดหรือกับพระเพียงอย่างเดียว แต่กับสังคม และเพื่อนมนุษย์ก็เป็นบุญเช่นกัน การรักษาศีล การสมาธิ การภาวนาเพื่อใคร่ครวญถึงปัจจุบันของตนเองก็ถือเป็นบุญ และเชื่ออีกอย่างคือในสังคมแล้วทุกคนอยากเป็นคนดี อยากทำบุญ หากแต่ไม่เกิดเพราะไร้ซึ่งพื้นที่แสดงออกในการทำบุญตามแรงปรารถนา

หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ จึงถือกำเนิดเป็นจุดศูนย์กลางเพื่อเป็นพื้นที่แห่งบุญ ให้คนได้นิยมทำดี ตามแนวคิดที่เรียกว่า “ธรรมภาคี” หรืออีกมุมที่เข้าใจง่ายคือจิตอาสา ที่ลงแรงกาย ลงแรงทุน ลงแรงความคิดเพื่อสาธารณประโยชน์

“ผมเชื่อว่าคนต้องการทำดีทุกคน แต่สถานที่ไม่เอื้ออำนวย จริงอยู่ที่ว่าทำดีแล้วจะได้บุญได้กุศล ทำที่บ้านหรือภายในครอบครัวก็ได้ บางคนทำแล้วแต่อยากทำเพื่อสาธารณะ หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ จึงเกิดเป็นจุดศูนย์กลางให้เกิดบุญสำหรับคนที่ต้องการ จึงเป็นที่มาของจิตสาธารณะที่มาช่วยงานกันเพื่อให้เกิดคุณแก่สังคม เป็นบุญต่อทุกคน และเป็นบุญต่อตัวเอง”

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

งานบุญที่ว่าต้องมีจิตอาสาเป็นรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งถอดเทปคำสอนของพุทธทาสภิกขุ หรือของพระอาจารย์ท่านอื่นๆ มาเป็นบทความแจกจ่ายให้คนได้อ่านได้นำไปปฏิบัติ หรือการนำกิจกรรมทำบุญในรูปแบบต่างๆ ทั้งสมาธิ เจริญจิต9ภาวนา สวดมนต์ ทั้งหมดล้วนถูกเรียกว่าการบริหารบุญ และกำลังของจิตอาสาเป็นตัวหลักที่ขับเคลื่อนบุญของหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ

นพ.บัญชา ขยายความถึง “ธรรมภาคี” หรือจิตอาสา ว่า มีคนหลากหลายรูปแบบที่ต้องการเข้ามาช่วยงานบุญ ทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและคนที่เดินดินธรรมดา แต่ทุกคนล้วนมาด้วยใจที่จิตสาธารณะเพื่อสังคม กระนั้นก็ตามต่างคนต่างมีเงื่อนไขแห่งการทำบุญนั้นๆ บ้างทำได้ทุกอย่าง ทุกรูปแบบ บ้างต้องการเพียงแต่งานที่ตนถนัด แต่ทุกรูปแบบที่ว่าล้วนเป็นที่ต้องการของหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ทั้งสิ้น

ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปีเศษที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ถูกตั้งขึ้นมา ชั่วยามนี้มีจิตอาสาที่พร้อมจะช่วยงานมากมายนับหมื่นคน โดยเกือบทั้งหมดมาด้วยใจเพื่อบุญอย่างแท้จริง ไม่เรียกร้องอามิสสินจ้างเป็นเงินตราเพื่อแลกกับการทดแทนทั้งแรงกาย แรงใจ และแรงทุน

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

นพ.บัญชา บอกว่า คนที่เข้ามาร่วมทำงานอาสาสมัครที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ แรกเริ่มจากการขยับขยายปฏิบัติเข้มข้น โดยเฉพาะสายสวนโมกข์ ก่อนนำไปสู่การปฏิบัติที่เข้าถึงคนทั่วไปและมีความเปิดกว้างมากขึ้น กระทั่งเมื่อเข้าสู่ขวบปีที่ 2 เราพบว่ามีอาสาสมัครที่หลากหลายออกไปทำงานเพื่อสังคม และจำนวนมากที่เริ่มเป็นอาสาสมัครจากที่แห่งนี้ นั่นแสดงว่า หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ สามารถสร้างอาสาสมัครจากความเป็นตัวเองได้ชัดเจน ตรงกับรูปแบบที่เรียกอาสาสมัครว่า “ธรรมภาคี” หรือผู้งอกงามในธรรม

หากแต่จะให้ย้อนไปยังคำถามข้างต้นแล้ว เหตุใดบุญตามแนวคิดของหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ จึงไม่จำเป็นจะต้องทำกับวัด หรือกับพระสงฆ์องคเจ้า อย่างที่เราคุ้นชินเสียล่ะ หรือบุญเฉกเช่นนั้นมันไม่ถูกต้อง คำตอบจากแนวคิดที่ว่าบุญไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัดของ นพ.บัญชา อธิบายเป็นคำตอบจากคำถามนี้ว่า “บุญนั้นจำเป็นต้องที่วัดอย่างเดียวหรือ?”

ถ้าจะถามว่า ทำไมหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ จึงให้กำเนิดอาสาสมัครได้ หรืออะไรที่ทำให้อาสาสมัครมีความสุข เห็นความหมายของชีวิต พร้อมสำหรับช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น สิ่งที่ทำให้ค้นพบคำตอบที่ว่า ก็คงเป็นเพราะหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ นั่นเอง ที่มีลักษณะเด่นอยู่ 3 ประการ คือ

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

1.ความเรียบง่าย ทั้งในเรื่องของสถาปัตยกรรมอาคาร ที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบาย ไม่ถูกกดทับด้วยรูปเคารพบูชา มีพิธีกรรมที่กระชับ บทสวดมนต์ได้แปลเพื่อให้รู้ซึ้งถึงความหมายเกิดความเข้าใจกับผู้คน รวมทั้งวิถีที่ไม่เคร่งครัดเหมือนกับวัด ทำให้คนหนุ่มสาว วัยรุ่น หรือครอบครัวรุ่นใหม่เข้าร่วมได้อย่างสบายใจ

2.การไม่ยึดติดกับครูบาอาจารย์สายใดสายหนึ่ง เปิดกว้างให้ผู้สนใจปฏิบัติธรรมได้ลองแนวปฏิบัติที่แตกต่าง ไม่ยึดติดกับการภาวนาแบบเดิม หากแต่สร้างสรรค์รูปแบบใหม่ที่หลากหลาย ประยุกต์เอาทั้งศิลปะ ดนตรี และกิจกรรม มาเป็นกระบวนการในการเจริญสติภาวนา

3.การเผยแพร่ที่ถึงแก่นของศาสนา สะท้อนจากปัญหาที่พบว่าหลายคนหันเข้าหาวัดเพราะตัวเองนั้นมี “ทุกข์” แต่หลายคนที่ว่าก็กลับพบว่ายังไม่ใช่ทาง ไม่ถูกจริต หรือดับทุกข์ไม่ได้ แต่ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ ไม่เพียงมีแต่ความหลากหลายหรือเปิดกว้าง แต่ทุกกิจกรรมยังแฝงไปด้วยแก่นของธรรมแห่งพุทธศาสนา

ทั้งหมดคือสิ่งที่เกิดขึ้นภายในหอจดหมายเหตุพุทธทาสภิกขุฯ และเป็นคำตอบแห่ง “บุญ” อีกทางเลือกที่ไม่เหมือนเดิม

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

จุดเปลี่ยนศึกษาพุทธศาสนา

นที เอกวิจิตร หรือ อุ๋ย บุดด้า เบลส นักร้องผู้มีภาพลักษณ์ในทางธรรมะชัดเจนคนหนึ่ง จึงไม่แปลกที่มักได้รับเชิญให้ร่วมกิจกรรมธรรมะและศาสนาตามที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จัดขึ้นเนืองๆ ในฐานะผู้ร่วมเสวนาบ้าง วิทยากรบรรยายธรรมบ้าง ร้องเพลงเล่นดนตรีภาวนาบ้าง และหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ สวนรถไฟ กรุงเทพฯ ก็เป็นสถานที่หนึ่งที่นักร้องหนุ่มผู้มีบุคลิกสดใสได้ร่วมกิจกรรมด้วยมาหลายปีจนถึงปัจจุบัน

อุ๋ย บุดด้า เบลส คุ้นเคยกับการทำบุญและเข้าวัดตั้งแต่เด็ก โดยมีคุณแม่เป็นกัลยาณมิตร ปฏิบัติตนในฐานะชาวพุทธที่ดี พอโตเป็นหนุ่มก็มีปัจจัยผลักดันให้ชีวิตต้องหันมาเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมะและศาสนา โดยที่ไม่คิดมาก่อนด้วยการไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม และจากจุดนี้ทำให้รู้สึกว่าได้เข้าใจธรรมะและพระพุทธศาสนาที่เปลี่ยนไป ต่างจากสมัยเด็กที่แม่มักจะพาเข้าวัดทำบุญขอพรอยู่เรื่อยมา

“จุดเปลี่ยนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว บ้านถูกไฟไหม้ คุณแม่ทุกข์มาก ผมไม่อยากให้ท่านเครียด คิดว่าทำอย่างไรให้ท่านหายเครียด เลยไปปฏิบัติธรรมที่ยุวพุทธิกสมาคมฯ ซึ่งท่านก็อยากให้ผมไปนานแล้ว ปรากฏไปแล้วเห็นความเปลี่ยนแปลงเยอะ ไม่เคยนั่งสมาธิถึง 3 นาที ก็นั่งได้เป็นครึ่งชั่วโมง ได้รู้แก่นของพุทธศาสนา ต่างจากตอนเด็กที่คุณแม่พาไปไหว้พระขอพรที่ไหนก็ไป อันไหนได้บุญมากก็ทำ แต่พอศึกษา ทั้งอ่านหนังสือและปฏิบัติก็รู้ว่าบุญแบบนั้นเป็นแค่เปลือก ไม่ใช่แก่น ยิ่งพอมาบวชพระกับหลวงพ่อวิริยังค์ ได้เรียนหลักสูตรครูสมาธิ ยิ่งเข้าใจธรรมะมากขึ้น และรู้วิธีการสอนสมาธิให้คนอื่นอีกด้วย”

นักร้องหนุ่มเล่าต่อว่า หลังลาสิกขามีจิตอาสาที่จะช่วยงานและกิจกรรมที่เกี่ยวกับธรรมะ ศาสนาและสังคมที่องค์กรหรือหน่วยงาน ต่างๆ จัดและเชิญไป เช่น ร่วมเสวนา บรรยายธรรมให้ความรู้ เล่นดนตรี เป็นต้น ที่ไหนเรียกให้ไปช่วยถ้าไม่ติดงานไม่เคยปฏิเสธ เช่น งานของเสถียรธรรมสถานที่ร่วมกับ สสส.ก็ไป ที่วัดผาณิตาราม จ.ฉะเชิงเทรา ก็ไปบรรยายให้กับเยาวชนฟัง แต่ที่ขาดไม่ได้คือสวนโมกข์ ที่สวนรถไฟ มาร่วมตลอดและทำมาหลายปี

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

 

เขากล่าวต่อว่า ที่สวนโมกข์นอกจากได้ร่วมหลายกิจกรรมแล้ว ยังได้ร่วมทำบางโปรเจกต์ให้กับสวนโมกข์ และที่ทำอยู่ตอนนี้คือดนตรีภาวนากับพระอาจารย์นวลจันทร์ โดยได้แต่งเพลงเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงทุกข์ทุกวัน โดยเอาคำเทศน์ของพระอาจารย์ที่มักสอนญาติโยมว่าทุกข์ทุกวันนั่นแหละมาแต่งเป็นเพลง แล้วถ้าสวนโมกข์หรือทางพระอาจารย์จัดงานที่ไหน หากไม่ติดธุระก็จะไปร่วมเล่นดนตรีด้วย

“อยากจะบอกว่าดนตรีภาวนานั้นส่วนใหญ่เป็นเพลงที่พี่ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ ทำเป็นหลัก เนื้อหาเพลงเป็นแนวปรัชญาชีวิต ฟังง่าย สบายๆ มีคณะประสานเสียงไพเราะมาก ศิลปินที่มาร้องก็สับเปลี่ยนกันไปมากหน้าหลายตาจากค่ายต่างๆ และวงดังๆ ของไทย ชื่อว่าคนที่เครียด มองไม่เห็นปัญหาที่ตนเองประสบ ฟังแล้วจะค่อยๆ คิดได้ และมองเห็นทุกข์และสามารถหาทางออกของปัญหาได้” 

 

วัดป่าในเมือง

นักร้องหนุ่มพูดถึงสวนโมกข์ว่า เปรียบเสมือนวัดป่าในเมือง และจริตของคนเมืองก็เหมาะกับการที่จะเข้าไปหาความสุข ความสงบทางด้านจิตใจในสวนโมกข์อย่างยิ่ง ซึ่งถือเป็นสัปปายสถานในเมืองที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย เช่น อยากนั่งสมาธิก็มีที่ให้นั่ง มีหนังสือให้อ่าน การแต่งตัวก็ไม่ได้จำกัด จะใส่ขาสั้นก็เข้ามาได้ 

“ผมว่าวัดบ้านเยอะแล้ว วัดในเมืองต่างๆ ทุกวันนี้แทบจะกลายเป็นแหล่งซื้อบุญ พูดง่ายๆ ว่าซื้อบุญซะมากกว่า แล้วคนเมืองจะไปหาวัดป่าในกรุงเทพฯ ก็ยาก ดังนั้น สวนโมกข์จึงเปรียบเสมือนวัดป่าในเมืองที่ทุกคนเข้าไปง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตอง นุ่งขาสั้น แต่งตัวยังไงไปก็ได้ เด็กวัยรุ่นก็ได้ไปไม่ต้องซีเรียส เดินในสวนก็มีธรรมะดีๆ เขียนไว้ตามที่ต่างๆ ให้อ่าน มีห้องให้นั่งสมาธิ ทุกอย่างมีพร้อมสบายๆ เหมาะกับจริตคนเมืองที่ไม่ต้องมีพิธีรีตองมากมาย”

เมื่อพูดถึงโครงการและกิจกรรมของสวนโมกข์นักร้องหนุ่มเล่าว่า จำไม่ค่อยได้ว่ามีอะไรบ้างต้องไปไล่เรียง เพราะสวนโมกข์จัดโครงการและกิจกรรมดีๆ ออกมาตลอด เท่าที่จำได้ก็มี เช่น ดนตรีภาวนา หรือวันเสาร์หรือวันอาทิตย์มีกิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรมที่ฉายทั้งหนังไทยและต่างประเทศ “กิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม คนที่ดูจะได้ข้อคิดเชิงธรรมะกลับไปทุกคน ไม่ใช่ดูจบแล้วจบเลยหรือดูเพื่อบันเทิงอย่างเดียว เพราะถ้าอย่างนั้นไม่ต้องมาสวนโมกข์ก็ได้ สำหรับผมธรรมะมีอยู่ในทุกที่และธรรมะได้สอดแทรกในศิลปะทุกแขนง ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในเพลงหรืออะไรก็ตาม แต่มันอยู่ในทุกที่ โดยเฉพาะกับตัวเรา ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะมองยังไงให้เข้าใจและเข้าถึงตัวเอง”

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

 

โอเอซิสของคนกรุง 

นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา ดาราสาวคนหนึ่งผู้มีภาพลักษณ์ของคนเข้าวัดและสนใจธรรมะ เป็นคนเข้าวัดทำบุญตั้งแต่เด็ก ในฐานะชาวพุทธคนหนึ่งและมาสนใจธรรมะตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่จุดเริ่มของการศึกษาธรรมะและนำธรรมะมาใช้อย่างจริงจังก็ในช่วงที่เข้าวงการบันเทิงหรือเป็นนักแสดง

เธอเล่าว่า ชีวิตในวัยเด็กเข้าวัดทำบุญตามปกติ แต่มาสนใจธรรมะตอนเรียนมหาวิทยาลัย เช่น ชอบอ่านหนังสือธรรมะ แล้วพอเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิง ถ่ายหนังถ่ายละครใหม่ๆ เวลาสุขก็สุขเร็วมาก เช่น ได้คำชมมากมายจากคนที่ชอบในบทบาทการแสดง แต่ขณะเดียวกันเวลาทุกข์ก็ทุกข์เร็วมากจนตั้งตัวไม่ทัน เช่น เจอคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ทั้งคำด่า จนบางครั้งรู้สึกว่าสังคมช่างโหดร้ายเกิน

“ตอนเข้าวงการใหม่ๆ ตอนนั้นอยู่กรุงเทพฯ คนเดียว พอเจอทุกข์ที่มาเร็วก็ตั้งตนไม่ทัน ไม่รู้จะไประบายทุกข์หรือปรึกษากับใคร เลยหาหนังสือธรรมะมาอ่าน เล่มแรกที่อ่านก็คือตัวกูของกูของท่านพุทธทาส นี่เป็นจุดเริ่มต้น และทำให้รู้ว่าธรรมะนั้นเป็นมากกว่าการเข้าวัดขอพร สะเดาะเคราะห์ แต่มีบางอย่างที่ทำให้เราสามารถแก้ปมแห่งความทุกข์ได้ นี่คือจุดเริ่มต้น”

เธอเล่าว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นตรรกะและพิสูจน์ได้จริง จากนั้นก็อ่านหนังสือธรรมะมากขึ้น และศึกษาธรรมะในอีกแนวทางที่ต่างจากตอนเด็ก จนรู้แนวทางการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับตัวเองในปัจจุบัน โดยธรรมะที่นำมาใช้อยู่เสมอมีหลายข้อ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ที่นำมาใช้ตลอด คือการยึดหลักธรรมะ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

“นุ่นเปรียบสวนโมกข์เหมือนโอเอซิสที่อยู่ในกรุงเทพฯ จะเห็นว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนเยอะ วุ่นวาย ทั้งความคิด การเดินทาง ประชากร แต่การมาอยู่สวนโมกข์ที่สวนรถไฟได้ทั้งความสงบนิ่ง ความสุข ไม่มีความวุ่นวาย ชอบไปบ่อยๆ โดยจุดเริ่มที่เข้าไปช่วยงานของสวนโมกข์คือ การมีโอกาสไปร่วมรายการพื้นที่ชีวิต ตอนนั้นออกช่องไทย พีบีเอส ซึ่งถ่ายทำที่สวนโมกข์ จากนั้นก็ยาวและเป็นอาสาที่สวนโมกข์มาตลอด”

เธอเล่าว่า การมาช่วยสวนโมกข์แล้วแต่โอกาส ถ้าไม่ติดงานก็จะมาช่วยตลอด เช่น บรรยาย เป็นแขกรับเชิญเล่าประสบการณ์ชีวิตที่เคยผ่านความทุกข์มาให้กับคนฟังที่มีหลากหลายวัย รวมถึงการไปร่วมกิจกรรมต่างๆ เช่น งานวัดลอยฟ้า ตักบาตรวันเกิด ซึ่งจัดทุกวันเสาร์-อาทิตย์แรกของแต่ละเดือน และกิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรม เนื่องจากเป็นคนที่ชอบดูหนังอยู่แล้ว

สวนโมกข์ บุญกลางกรุง 4 ปี ผลิต "ธรรมอาสา" นับหมื่น

 

งานคุณค่าขัดเกลาจิตใจ

อ้อม-สุนิสา สุขบุญสังข์ ดีเจแห่งคลื่นชิล 98 และพิธีกรรายการ 4 มิติ ทางทีวีดิจิตอล ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ภาพลักษณ์ของคนธรรมะธัมโม โดยผ่านการบวชชี ศึกษาธรรมะมาแล้ว ชีวิตของเธอนอกจากทำงานแล้ว เธอจะอุทิศตนอาสาให้กับงานทางศาสนา ธรรมะ จิตใจ ซึ่งเธอมองว่าเป็นงานที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจของเธอเป็นอย่างดี

อ้อม เล่าว่า จำไม่ได้จริงๆ ว่าเข้าไปช่วยงานสวนโมกข์ตั้งแต่ตอนไหน แต่ช่วงวาเลนไทน์ของปีหนึ่ง (จำไม่ได้) มีโอกาสได้พูดคุยกับ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ที่พระธาตุ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้เกิดประทับใจในวิธีคิดวิธีสอนของคุณหมอ ที่ถ่ายทอดธรรมะและงานของท่านพุทธทาสได้อย่างงดงามและลึกซึ้ง เลยปวารณาไว้กับคุณหมอ ถ้าทางสวนโมกข์เห็นว่าเธอน่าจะช่วยทำประโยชน์ได้ก็ขอให้เรียกใช้ได้เลย

“ตอนนั้นอ้อมทำฟรีแมกกาซีนให้กับเสถียรธรรมสถาน แล้วต้องสัมภาษณ์คุณหมอ ก็ไปสัมภาษณ์ท่านที่นครศรีธรรมราช คุณหมอเล่าเรื่องท่านพุทธทาสและถ่ายทอดธรรมะของท่านพุทธทาสได้ประทับใจมาก รู้สึกชื่นชมกับวิธีคิดวิธีสอนของคุณหมอ เลยบอกท่านว่าถ้ามีอะไรที่เป็นประโยชน์อยากให้ช่วยบอกได้เลย หลังจากนั้นก็มีโอกาสได้ไปทำงานเป็นจิตอาสาที่สวนโมกข์เรื่อยมา”

เธอเล่าว่า ส่วนใหญ่จะไปช่วยในฐานะพิธีกรดำเนินรายการในกิจกรรมต่างๆ มากกว่า เช่น ช่วงปีใหม่ก็ไปช่วยทุกปีใน 2-3 ปีมานี้ นอกจากนี้ ก็มีกิจกรรมดูหนังหาแก่นธรรมที่จัดมาตั้งแต่ปลายปี 2557 ทุกวันอาทิตย์ที่ 1 ของทุกเดือน ซึ่งมีการเชิญบุคคลจากวงการต่างๆ มาร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุยธรรมะจากการดูภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ กิจกรรมก็มี เช่น กิจกรรมปฏิบัติบูชาถวายสมเด็จพระสังฆราชที่สวนโมกข์จัดขึ้นทุกวันเพ็ญเต็มดวงเป็นเวลา 1 ปี ตั้งแต่ปี 2557 ที่สวนป่าวัดปทุมวนาราม ก็ไปช่วยอยู่ 6 ครั้ง จาก 12 ครั้ง บางครั้งก็ไปในฐานะแขกรับเชิญบ้าง”

สำหรับกิจกรรมที่สวนโมกข์ ดีเจสาวหัวใจธรรมะ เล่าว่า ค่อนข้างหลากหลาย ถ้าใครไปที่สวนโมกข์ประจำจะรู้เพราะมีเขียนในตารางประจำวันบอกไว้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมสวดมนต์หรืออะไรก็ตาม หรือใครอยากปฏิบัติกรรมฐานก็จะมีตารางบอกไว้ว่า เช่น วันเสาร์ที่หนึ่งของทุกเดือนจะสอนตามวิธีปฏิบัติของอาจารย์นั้นๆ เช่น ของหลวงพ่อเทียนบ้าง ของหมู่บ้านพลัมบ้าง เป็นต้น ถ้าอยากเรียนรู้ธรรมะจากเรื่องราวของครูบาอาจารย์ หรือบุคคลต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์จะมีให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปฟังได้