posttoday

เตือนระวังถูกหลอกเรื่อง ‘สเต็มเซลล์’ นพ.เวสารัช เวสสโกวิท

21 กุมภาพันธ์ 2558

ฉบับนี้ นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ฉบับนี้ นพ.เวสารัช เวสสโกวิท ประธานฝ่ายจริยธรรม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง จะมาแนะนำให้รู้จักกับการใช้ “สเต็มเซลล์” ในการรักษาโรค

คุณหมอเวสารัช บอกว่า สเต็มเซลล์หรือเซลล์ต้นกำเนิด คือเซลล์ที่สามารถแบ่งตัวได้เรื่อยๆ โดยไม่มีขีดจำกัด และสามารถเปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อชนิดต่างๆ ได้หลากหลาย โดยมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.เซลล์ที่มาจากตัวอ่อน (Embryo) และ 2.มาจากสิ่งมีชีวิตหลังคลอด ซึ่งเมื่อได้เซลล์ต้นกำเนิด จะต้องมาเพาะเลี้ยงในจานเพาะเลี้ยงเซลล์ ซึ่งก็มีกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อน และบางกรณีจะใช้น้ำเหลืองจากวัวมาผสมในน้ำเลี้ยงเซลล์ ตลอดจนต้องใช้เซลล์พี่เลี้ยงที่เป็นเซลล์มาจากหนู ซึ่งทั้งหมดนี้เลี้ยงยาก ตายง่าย รวมถึงนำมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ยาก

การใช้เซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาโรคในปัจจุบัน การรักษามาตรฐานมีเพียงโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดหรือภาวะโลหิตจางจากโรคทาลัสซีเมีย ซึ่งก็ไม่ได้การันตีผลการรักษาว่าจะหายขาดเสมอไป และการใช้เซลล์ต้นกำเนิดรักษาโรคยังอยู่ในสถานะการวิจัย ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการวิจัยและจริยธรรมฯก่อนว่ามีความเหมาะสมที่จะวิจัย ตลอดจนจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ป่วยเป็นลายลักษณ์อักษร แสดงความจำนงว่าจะเข้าร่วมการศึกษาวิจัย ซึ่งจะไม่เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา

ส่วนที่มีการโฆษณาว่า ดาราหรือคนในสังคมชั้นสูงใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษาโรค หรือเปิดคลินิกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดนั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าส่วนใหญ่เป็นการแอบอ้าง โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย เช่น มีการอ้างศาสตราจารย์ชาวเยอรมันว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการชะลออายุ แต่เมื่อตรวจสอบกลับไป ก็ไม่พบสถานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และใช้ช่องว่างทางกฎหมายจดทะเบียนตั้งสมาพันธ์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้วยตัวเอง เพื่อหลอกลวงคนไข้ต่างชาติที่รู้ไม่เท่าทัน

นอกจากนี้ คุณหมอเวสารัชบอกว่ายังพบการแอบอ้างว่ามีการใช้เนื้อเยื่อของแกะ เพื่อผลิตเซลล์ต้นกำเนิดจากประเทศเยอรมนีและสวิตเซอร์แลนด์ โดยเปิดเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ควบคู่กับสถานพยาบาล และเปิดเป็นแพ็กเกจให้คนไข้ชาวไทยสามารถไปรักษา แต่จากการตรวจสอบก็พบว่าฟาร์มแต่ละแห่งไม่ได้มีการระบุถึงข้อมูลเซลล์ ไม่ระบุระยะเวลาที่รักษา รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ประจำสถานพยาบาลก็ไม่ได้ตีพิมพ์แนวทางการรักษาในวารสารทางการแพทย์ ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการใช้เนื้อเยื่อสัตว์ในการรักษานั้น ร่างกายอาจปฏิเสธเนื้อเยื่อ ซึ่งเมื่อเนื้อเยื่อเข้ากันไม่ได้ อาจจะเกิดปัญหาใหม่ตามมา เช่น อาจมีการทำลายเซลล์

นพ.เวสารัช กล่าวย้ำว่า ไม่มีการศึกษาวิจัยที่ได้มาตรฐาน สำหรับการใช้เซลล์ต้นกำเนิดในด้านผิวหนัง ความงามและชะลออายุ การทำการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด นอกจากโรคทางโลหิตวิทยาถูกควบคุมด้วยข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม เรื่อง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษา พ.ศ. 2552 หากมีผู้ใดชักชวนให้ท่านรับการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิดในโรคที่ไม่ใช่ทางโลหิตวิทยา กรุณาแจ้งมาที่แพทยสภาโดยด่วน