posttoday

จุดเริ่มต้นเพลงดังอยู่ในมุมสมาธิ ของ 'วสุ ห้าวหาญ'

21 กุมภาพันธ์ 2558

แน่นอนว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักบทเพลงชื่อดังอย่าง “คนบ้านเดียวกัน” ของศิลปิน ไผ่ พงศธร

โดย...พลพัต สาเลยยกานนท์

แน่นอนว่าไม่มีใครที่ไม่รู้จักบทเพลงชื่อดังอย่าง “คนบ้านเดียวกัน” ของศิลปิน ไผ่ พงศธร และอีกหลากหลายบทเพลงที่โด่งดังฮิตติดกระแสซึ่งได้ถูกกลั่นกรอง ถ่ายทอดด้วยปลายปากกาจากปลายมือของ “วสุ ห้าวหาญ” หรือที่รู้จักกันในนาม “อาจารย์วสุ ห้าวหาญ” ในวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทย

ทุกบทเพลงที่ถ่ายทอดมาจาก “มุม” ที่เรียกว่า “มุมต่างๆในชีวิต” พื้นที่ด้านในเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของแง่มุม ความคิดผ่านเรื่องราว และประสบการณ์มากมายที่ผ่านมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของ “มุมโปรด” ของนักแต่งเพลงอันดับหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทย

“วสุ ห้าวหาญ” บ้านเกิด จ.อุดรธานี เรียนจบจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ด้วยความชอบในงานเพลง เริ่มสนใจงานแต่งเพลงตั้งแต่สมัยเรียนหลังจากที่ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ เล่นดนตรีที่ร้านหลังมหา’ลัย จนเรียนจบได้มีโอกาสเสนองานและเริ่มเป็นศิลปินคู่นักแต่งเพลงกับค่ายรถไฟดนตรี ไม่นานนัก “อาจารย์วสุ” ได้แต่งเพลงแรกให้กับ อ้อยกระท้อน กับบทเพลง นึกเสียว่าสงสาร ซึ่งบทเพลงนี้ทำให้ครูสลา แห่งแกรมมี่ โกลด์ ชวน “อาจารย์วสุ” เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักแต่งเพลงที่ แกรมมี่โกลด์

จุดนี้ถือเป็นจุดกำเนิดนักแต่งเพลงมือทอง ที่ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งเมืองไทยได้มีบทเพลงที่ถูกสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างโดนใจผู้ฟังทั้งบทเพลงที่ฟังง่าย ภาษาเขียนที่สละสลวยความหมายที่เปี่ยมล้นความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็น “คนบ้านเดียวกัน”ศิลปิน ไผ่ พงศธร, “คิดฮอด” ศิลปิน ตูน บอดี้สแลม, “แฟนเก็บ”ศิลปิน ตั๊กแตน, “รักคนโทรมาจังเลย” ศิลปิน พี สะเดิด และในปัจจุบัน “อาจาย์วสุ ห้าวหาญ” คือโปรดิวเซอร์และนักแต่งเพลงของค่ายสหภาพดนตรี ที่ส่งผลงานเพลง “ผัวทิ้ง” ศิลปิน กล้วยคลองหอยโข่ง ที่โด่งดังไม่แพ้ใคร

จุดเริ่มต้น

ทุกอย่างเริ่มจากความชอบ ชอบอ่าน ชอบเขียน  อยากที่จะบอกเล่าเรื่องราวสิ่งต่างๆ ที่ได้เจอในแต่ละวัน และทุกสิ่งที่ผ่านเข้ามา จนกลายเป็นประสบการณ์ที่ได้ถูกบันทึกอยู่ในความทรงจำ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีไม่ใช่แค่ผมแต่จะหยิบเรื่องราวเหล่านั้นขึ้นมาถ่ายทอดด้วยปากกาหรือไม่ต่างหาก บางคนถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานเขียนต่างๆ กันไป  นิยายวรรณกรรมกลอน บทความ หรือแม้กระทั่งรูปภาพ  แต่สำหรับเราเลือกที่จะถ่ายทอดความทรงจำเหล่านั้นออกมาในรูปแบบของงานเพลง

ทุกมุมที่ได้ไป

จริงๆ แล้วทุกที่ที่ไปไม่ว่าจะเป็นนอกบ้านหรือที่ไหนๆ ก็ตามแค่เพียงเงียบบวกกับมีสมาธิ  จะเรียกว่า “มุมส่วนตัว”และเป็น “มุมโปรด” เสมอ ไม่ได้ตีกรอบว่าจะต้องเป็นมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น มันก็เหมือนความคิด ยิ่งปล่อยให้โล่งเท่าไหร่ยิ่งมีอิสระมากเท่านั้น เรายิ่งได้ค้นเจอสิ่งใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอัตโนมัติทุกที่เราสามารถเขียนเพลงได้หมด ยิ่งตอนไหนที่มีสมาธิและได้อยู่ในมุมที่เงียบที่ทำให้เรามีสมาธิต่อเนื่องในการทำงานด้วยแล้วยิ่งดี ส่วนมากมุมที่ชอบที่สุดก็จะเป็นมุมในร้านกาแฟเพราะร้านกาแฟจะเป็นอารมณ์นั่งชิล นั่งคิดไปเรื่อยๆ ไม่มีใครกวนใจ และมันทำให้เวลาที่เราเขียนเพลงสมองจะมีสมาธิ อย่างเพลง คนบ้านเดียวกัน ก็เกิดจาก “มุมชีวิต” ที่มาจาก“มุมส่วนตัว” ที่เป็น “มุมโปรด” ที่เรามีสมาธิกับมันจนกลายเป็นบทเพลงนี้ขึ้นมา

จุดเริ่มต้นเพลงดังอยู่ในมุมสมาธิ ของ 'วสุ ห้าวหาญ'

 

เคล็ดลับอยู่ที่สมาธิ

เคล็ดลับในการเขียนเพลงให้ออกมาดีที่จะให้ผู้ฟังได้รับรู้เข้าใจในสิ่งที่เราจะสื่อสารออกไป คำที่จะทำให้คนฟังเกิดความชอบในภาษาที่เขียนออกไป ความน่าสนใจใน 1 เพลง มีส่วนผสมหลายอย่างมีทั้งช่วงเวลาหรืออารมณ์ สถานที่ที่ไปเป็นส่วนที่ทำให้สมาธิที่เรามีความลื่นไหลมากขึ้น เพราะแนวคิดเพลงเรามีอยู่แล้วยิ่งได้มุมที่สบายๆ ในตอนทำงาน ไม่มีเสียงอะไรวุ่นวายรบกวน มันจะเป็นการทำงานที่มีความสุข ไม่เครียด และสามารถแตกความคิดไปได้เรื่อยๆ

“สมาธิ” คู่ “ความตั้งใจ”

ต้องมีตั้งใจที่จะเขียนก่อน ให้ใจของเรากับสิ่งที่จะทำ แล้วเราจะเกิดแรงบันดาลใจ จากนั้นเขียนให้ได้อย่างที่ใจคิดไว้ ซึ่งใช้พรสวรรค์ที่มี ขาดไม่ได้คือทักษะและประสบการณ์ที่เรามีนำมารวมกัน เพื่อจัดการไอเดียหนึ่งๆ โดยการลงมือเขียนออกมาด้วยความรู้สึกเพื่อให้ได้อารมณ์ของคำที่เรียงร้อยเป็นบทเพลงและให้กลายเป็นเพลงที่ตรงใจเราที่สุดเป็นอันดับแรก

ที่สำคัญ คนเราหากมีสมาธิในการลงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องราวของไอเดียนั้นๆ สิ่งที่ตามมาคือคุณภาพของผลงานคือมุมจะมีส่วนช่วยเราได้ในส่วนความสงบได้ใช้ความคิดอย่างเต็มที่ มุมจึงเป็นสถานที่ที่เราเลือกใช้สมาธิเพื่อให้คิดงานออกอยู่ในความเงียบหรือในการจัดการงานในช่วงเวลาหนึ่งและถึงจะไม่แต่งเพลง เราก็ชอบมานั่ง อ่านหนังสือ นั่งดูนั่นนี่ อยู่แล้วคือเป็นแค่มุมโปรดที่เรานั่งแล้วรู้สึกดี สมองปลอดโปร่ง

นอกจากนี้ หลังจากทำงานเป็นนักแต่งเพลงดังให้ศิลปินหลายๆ คน อีกทั้งเป็นหัวหน้าทีมวิทยากรฐานแต่งเพลง ของค่ายเพาะเมล็ดพันธุ์วรรณกรรมศิลปินครูบ้านป่าสลา คุณวุฒิมาหลายพื้นที่ อาจารย์วสุ จึงได้เปิดคอร์สการแต่งเพลงแบบวสุ ห้าวหาญ หลากหลายเทคนิค แนวทางวิธีการเขียนเพลง กระบวนการคิดให้เกิดเพลง การสร้างจุดเด่นเพลง การเขียนเพลงเพื่อสื่อสารถึงกลุ่มคนฟังได้ตรงประเด็น ใส่กันแบบเต็มอิ่มเพื่อเสริมทักษะสำหรับผู้ที่เริ่มเขียนเพลงหรืออยากปรับปรุงฝีมือเพื่อการเขียน

“เชิญมาม่วนและได้ความรู้กันเด้อ” ... วสุ ห้าวหาญ กล่าวทิ้งท้าย