posttoday

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

18 กุมภาพันธ์ 2558

ไม่ต้องเสียเวลาบินไกลไปถึงปักกิ่งก็ได้เต็มอิ่มกับงานหัตถศิลป์ที่ส่งตรงมาจากเมืองหลวงจีนแผ่นดินใหญ่ World Tour of Ditan Cultural Temple Fair

โดย...แจนยูอารี ภาพ ทวีชัย ธวัชปกรณ์     

ไม่ต้องเสียเวลาบินไกลไปถึงปักกิ่งก็ได้เต็มอิ่มกับงานหัตถศิลป์ที่ส่งตรงมาจากเมืองหลวงจีนแผ่นดินใหญ่ World Tour of Ditan Cultural Temple Fair งานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนได้ทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมไว้ให้จดจำมากมาย หนึ่งในนั้นคือ 4 สุดยอดงานหัตถศิลป์อันเอกอุที่เรามีโอกาสสัมผัสด้วยตาและอิ่มเอมด้วยใจ

‘เซิ่งซีฝู’ โลกของหมวก

คนรักหมวกได้สมใจอยาก เพราะนี่คือโลกของหมวก “เซิ่งซีฝู” ผู้ริเริ่มทำหมวกมาตั้งแต่ปี 1911 ณ เทียนจิน ก่อนจะขยับขยายเป็นอุตสาหกรรมทำมือที่เติบใหญ่ก้าวไกลเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ลูกค้าระดับเอลิสต์ ผู้นำของโลกย่านเอเชียล้วนมาสั่งตัดหมวกจากที่นี่ ประธานเหมาเจ๋อตง ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซูฮาร์โต สมเด็จเจ้านโรดม สีหนุ แห่งกัมพูชา และอีกมากมายคนดังจีนแผ่นดินใหญ่และเกาะฮ่องกง

“ฟู่เฉียง” ตัวแทนจากเซิ่งซีฝู เล่าให้ว่า ที่หมวกของเซิ่งซีฝูได้รับความนิยม ก็เพราะความใส่ในทุกการผลิต ทำด้วยมือทุกใบ ทำด้วยใจทุกชิ้น เทคโนโลยีแทบไม่มีความจำเป็น หมวกทุกใบตัดเย็บอย่างประณีต

“ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราเองก็ต้องเปลี่ยนไปตามกระแสโลก เดิมมีหมวกไม่กี่แบบหรอก หมวกขนสัตว์ หรือฉิวผี จะได้รับความนิยมสูงในช่วงหน้าหนาวและราคาก็ขึ้นอยู่กับว่าใช้ขนสัตว์ชนิดไหนทำ ส่วนหมวกที่ถือเป็นหมวกคลาสสิกที่ผู้นำประเทศนิยม ก็คือหมวกไอวีกับหมวกปานามา”

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

 

ไล่เรียงจนมาถึงปัจจุบัน เซิ่งซีฝูออกแบบหมวกให้มีความหลากหลายมากขึ้น รองรับคนทุกเพศทุกวัย มากกว่านั้นยังครอบคลุมถึงทุกชนชั้น ราคาสัมผัสได้ ไม่แพงเกินไป อาทิ เอ๋งถง-หมวกสำหรับเด็ก หมาช่าว-หมวกที่ทำจากปอ ฉือจวง-หมวกทำจากผ้า เจินจือ-หมวกไหมพรม

“หมวกที่ดีต้องมีอายุการใช้งานนาน แล้วก็ต้องทำจากวัสดุที่พร้อมจะทนต่อสภาพอากาศ อย่างบางทีขนสัตว์ใช้ของไม่ดี ไม่มีคุณภาพ มันก็ใช้งานไม่ได้นาน หรือแม้แต่ผ้าก็ต้องคำนึงถึงรูปทรงอบหมวกด้วย ผ้าบางอย่างสวย แต่พอมาตัดเย็บแล้วทรงไม่สวย ใช้แล้วเสียทรง ก็ไม่เหมาะที่จะนำมาทำหมวก”

จากความนิยมยุคก่อนมาสู่ยุคใหม่ โลกของหมวกยังคงเดินคู่ขนานกันไปกับโลกแฟชั่น ตัวแทนจากร้านหมวกระดับตำนานย้ำว่าหมวกคือแอกเซสซอรี่ที่ไม่มีวันตาย ความนิยมยังจะมีต่อ เช่นเดียวกับลมหายใจของช่างทำหมวก ก็ยังจะไม่มีลมหายตายจากง่ายๆ

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

‘ฉือหยาง’ เทพแห่งการตัดกระดาษ

ตัดกระดาษ ฟังดูก็ธรรมด๊า ธรรมดา ยิ่งถ้าไม่เห็นและรู้ว่ามันคือศิลปะขั้นเทพ ก็คงเฉยๆ “ฉือหยาง” คุณลุงวัย 66 โชว์ลีลาและทักษะตัดกระดาษอย่างคล่องแคล่ว ไม่น่าเชื่อว่าเขาจะทำได้ไว แป๊บเดียวกระดาษสีแดงก็กลายเป็นรูปดอกไม้ รูปเทพ รูปเซียน มอบเป็นของขวัญในช่วงเทศกาลสุดพิเศษ

เขาเรียนรู้ ฝึกเอง ไม่มีใครสอน พ่อแม่ หรือต้นตระกูลเขาไม่ได้เป็นช่างตัดกระดาษ แต่เพราะรักที่จะทำงานหัตถศิลป์แขนงนี้ ฉือหยางจึงมุ่งมั่นกับศาสตร์วิชาจนเก่งกาจตั้งแต่วัย 20

“สมัยนั้นคนทำงานตัดกระดาษยังมีน้อยมากครับ ตอนนี้ก็เริ่มมีคนสนใจเยอะขึ้น ไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียวล่ะ แต่ส่วนใหญ่คนที่มาทำงานตัดกระดาษก็ยังเป็นคนสูงวัย ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่” 

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

 

 

หงจื่อ หรือกระดาษสีแดง อันเป็นสีมงคลของคนจีนถูกนำมาตัด รูปร่าง ลวดลาย ที่ปรากฏนั้นก็มีความหมายไปในทางที่ดี ส่งเสริมและนำทางให้เกิดความรุ่งโรจน์ในชีวิต ใครเชื่อ หรือนับถือสิ่งใด เทพ หรือเซียน รวมทั้งสัตว์ สิ่งของ ก็สามารถนำมาตัดเป็นรูปร่างและลวดลายได้ โดยความยากช่างตัดกระดาษรายนี้บอกว่าอยู่ที่การพับ บวกกับความชำนาญในการจรดกรรไกร ยิ่งชั่วโมงบินสูงก็ยิ่งง่าย

“เทศกาลตรุษจีนคนจีนจะนิยมนำกระดาษตัดมาแปะไว้ในบ้าน เพื่อเป็นสิริมงคลในชีวิต บ้างก็เชื่อว่าจะทำให้ชีวิตเจอแต่สิ่งดีๆ ตลอดปีใหม่ เป็นการขจัดสิ่งชั่วร้ายออกไปจากชีวิต ตรงนี้นี่แหละครับที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ผมหันมาสนใจลองฝึกตัดกระดาษ ซึ่งมันก็เลี้ยงชีพผมมาจนถึงทุกวันนี้ได้”

 

‘หลิวซินเฉียง’ คือหัตถาครองพิภพ

นิ้วก้อยเรียวยาวของเขากำลังตวัดหมึกสีดำลงบนเฟรมกระดาษสีขาว ไม่นานภาพก็ค่อยๆ ปรากฏอย่างเด่นชัด เขาไท่ซานอันศักดิ์สิทธิ์ของจีน น่าอัศจรรย์ใจจริง เพราะใครเล่าจะคิดว่านิ้วก้อยจะแปลงร่างเป็นพู่กัน

“หลิวซินเฉียง” ในวัย 22 อวดฝีมือการวดภาพด้วยนิ้วก้อย สีหน้าและแววตาเขานิ่งมาก สมาธิไม่วอกแวกกับเสียงรัวชัตเตอร์ของช่างภาพ เขาบอกทำงานศิลปะแขนงนี้แค่มีพื้นฐานศิลปะกับจินตนาการยังไม่พอ แต่สมาธิคือเรื่องสำคัญ

“ผมเรียนรู้จากพ่อผมครับ ซึ่งพ่อผมเป็นช่างวาดภาพด้วยนิ้วที่สืบทอดมาจากคุณปู่อีกที มาถึงผมก็เป็นทายาทรุ่นที่ 3 แล้วละครับ”

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

 

ทายาทรุ่นใหม่สนใจการวาดภาพด้วยนิ้วตั้งแต่เยาว์วัย  ความที่ได้คลุกคลีกับผู้เป็นพ่อนำไปสู่การฝึกฝนอย่างจริงจัง ถึงอย่างนั้นเขาก็ถ่อมตัวว่ายังไม่เก่งเท่าผู้พ่อ ต้องฝึกฝนอีกมากในกระบวนยุทธ โดยเฉพาะเทคนิคการใช้สี

“ตอนนี้ผมวาดได้แค่หมึกดำเท่านั้น ภาพที่ผมวาดส่วนใหญ่ก็จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์ และที่นิยมมากๆ คือภูเขาทั้ง 5 ของจีน จำพวกสีสันยังไม่สามารถครับ ต้องฝึกอีกเยอะครับ แต่พ่อผมสามารถลงสีได้ทุกสี ภาพที่ออกมามันจึงสวยงามมากกว่าสีดำอย่างเดียว ซึ่งความยากของมันจะอยู่ที่การควบคุมน้ำหนักนิ้ว”

การวาดภาพด้วยนิ้วถือเป็นศาสตร์หัตถศิลป์ที่มีความหมายต่อคนจีน และมันจะมีความหมายยิ่งขึ้นในหมู่เลือดมังกรเจเนอเรชั่นใหม่ที่หันมาสืบสานต่อจากคนรุ่นพ่อและสร้างสรรค์ต่อไป เช่น ตัวเขา หลิวซินเฉียงทิ้งท้ายอย่างนั้น

‘เกาตงฉิง’ สร้างภาพในขวดยานัตถุ์

ถ้าใช้ผิดที่ผิดทาง คำว่าสร้างภาพอาจดูไม่ดี แต่ครานี้คำว่าสร้างภาพของช่างศิลป์ “เกาตงฉิง” ดูจะน่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เมื่อเขาลงมือเริ่มใช้พู่กันจิ๋วแหย่ลงไปในขวดยานัตถุ์ เพื่อแต่งแต้มสีสันและตัวอักษรขนาดเล็กมาก

 เกาตงฉิงเล่าย้อนประวัติการก่อเกิดศิลปะแขนงนี้ว่า มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง เป็นงานศิลปะชั้นสูงที่ทำขึ้นถวายจักรพรรดิและขุนนาง จากไอเดียของช่างศิลป์ที่อยากเปลี่ยนขวดยานัตถุ์เปล่าเปลือยให้มีลูกเล่นแพรวพราว ใส่สีสันและภาพประกอบ คนเห็นเป็นที่โปรดปรานจนได้รับความนิยมและแพร่กระจายสู่ช่างพื้นบ้าน

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร

 

“ตัวผมเองมาทำจริงจังตอนปี 1983 ฝึกครับ ฝึกอย่างหนัก เพราะมันไม่ใช่การวาดภาพเหมือนที่เห็นทั่วๆ ไป แต่มันคือการวาดโดยใช้พู่กันขนาดเล็กมากๆ แล้วก็วาดในขวด ไม่ใช่วาดนอกขวด”

ความยากของการสร้างภาพในขวดยานัตถุ์ย่อมมีมากเป็นทวี นั่งดูช่างรายนี้วาดภาพเหล่าเซียน ไหนจะตัวอักษรจีน ซึ่งมีขนาดจิ๋วมากกกกก ต้องขอซูฮกให้ในฝีมือ ข้าน้อยขอคาราวะ

ภาพแต่ละภาพที่อัดแน่นในขวดยานัตถุ์ใบเล็ก เรียกว่าโคตรละเอียด แถมยังลงสีได้สวยราวกับภาพต้นฉบับ ทำได้ไง

“รูปคนจะยากสุดครับ เพราะรายละเอียดมันค่อนข้างเยอะกว่าอย่างอื่น หน้าตา ทรงผม เสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องประดับ มันต้องใช้ความละเอียดสูง ผมเคยวาดภาพเด็ก 100 คนในขวด นานครับกว่าจะเสร็จ พอเสร็จผมก็ภูมิใจมากๆ ที่สามารถวาดมันจนกลายเป็นชิ้นที่สมบูรณ์ที่สุด”   

วัย 50 เกาตงฉิงยังคงสนุกกับการสร้างภาพในขวดยานัตถุ์ แล้วเขาก็ไม่ลืมที่จะถ่ายทอดเคล็ดวิชานี้ให้แก่ผู้สนใจ ซึ่งเขาก็หวังว่าศิลปะในขวดยานัตถุ์ยังจะได้รับความนิยมไม่เสื่อถอย

“ราคาก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของภาพ ภาพไหนที่ละเอียดก็แพงหน่อย อาจสูงถึงชิ้นละหมื่น หรือแสนบาท แต่ผมว่านั่นคงไม่ได้สำคัญเท่าความสุขที่คนทำงานพึงจะได้ในฐานะผู้สืบสานภูมิปัญญาโบราณเอาไว้” 

หัตถศิลป์ถิ่นมังกร