posttoday

โมน สวัสดิ์ศรี (ไม่อยากเป็น) ลูกไม้ใต้ต้นวรรณกรรม

24 กันยายน 2552

โดย...มัลลิกา นามสง่า [email protected]

โดย...มัลลิกา นามสง่า [email protected]

ในแวดวงวรรณกรรม หากเอ่ยชื่อของ “สุชาติ สวัสดิ์ศรี” และ “ศรีดาวเรือง” (ชื่อจริงวรรณา ทรรปนานนท์) น้อยคนนักที่ไม่รู้จัก คนแรกเป็นนักวรรณกรรมใหญ่ ผู้ก่อตั้งรางวัลช่อการะเกด อีกคนเป็นศรีภรรยา และเป็นนักเขียนที่ฝากผลงานไว้มากมายตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี

ทว่าชื่อนี้ “โมน สวัสดิ์ศรี” แม้จะยังสดใหม่ในวงวรรณกรรมหากเทียบกับผู้เป็นบิดาและมารดาที่ฝากผลงานไว้มาก แต่นักเขียนหนุ่มก็ยังมีอนาคตอีกยาวไกลบนเส้นทางนี้ ตามรอยเท้าผู้บังเกิดเกล้า

15 ปี เป็นครึ่งชีวิตของ โมน ที่ใช้ไปในการสร้างสรรค์งานเขียน ในช่วงแรกๆ เขียนบทความ และตามมาด้วยเรื่องสั้น ส่งผลงานไปยังนิตยสารหนังสือพิมพ์ต่างๆ มีทั้งได้รับการตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์ และได้นำมารวมเล่มแล้ว 3 เล่มด้วยกัน คือ “บันทึกของโมน” เมื่อปี 2539 “ชานชาลาที่สอง” ปี 2544 และเล่มล่าสุด “รอยเท้าในสวน”

โมนเล่าถึงผลงานของเขาว่า “สองเล่มแรกเขียนเกี่ยวกับพ่อ พ่อเป็นนักวรรณกรรม ก็มีโอกาสได้ฟังพ่อเล่าเรื่องวรรณกรรม ญาติน้ำหมึก แต่เล่มนี้ (รอยเท้าในสวน) เขียนเกี่ยวกับแม่ เป็นเรื่องใกล้ตัว ธีมจะแคบลง การได้ทำสวนกับแม่คือ ธีมหลัก ไม่ใช่ประเด็นเรื่องวรรณกรรมเป็นประเด็นใหญ่เหมือน 2 เล่มที่ผ่านมา เล่มนี้เรามองอะไรที่เล็กๆ น้อยๆ แล้วขยายผลไปสู่อันใหญ่ อย่างเช่น ต้นไม้เปรียบได้กับสังคม เราจะหาทางเปรียบเทียบกับสังคมใหญ่ยังไง เป็นเรื่องบังเอิญตอนเขียนเรื่องนี้ได้ลาออกจากงานประจำ มาพักที่บ้านอยู่ 2 ปี และช่วงนั้นเป็นวิกฤตสังคมการเมือง ก็นำข้อเปรียบเทียบเหล่านี้มาเป็นบทสรุปของการเขียน โดยใช้บรรยากาศของการทำสวน ใช้ธีมเรื่องเกี่ยวกับสวน และข้อคิดจากแม่เอามาใส่”

โมนเป็นลูกชายคนเดียวของสุชาติและศรีดาวเรือง คำว่า “ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” ใช้ได้ดีกับเขา แต่โมนบอกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า เขาไม่อยากเป็นลูกไม้ใต้ต้น เพราะลูกไม้ใต้ต้นไม่สามารถที่จะเติบใหญ่ภายใต้ต้นบังเกิดเกล้าได้ แต่เขาเชื่อมั่นว่า แม้จะอยู่ไกลต้นแต่ไม้พันธุ์เดียวกันอย่างไรเสียก็ไม่เป็นอื่น ดังเช่นที่เขาเขียนเกี่ยวกับพ่อไว้ใน “บังเกิดเกล้า” (รอยเท้าในสวนหน้า 27)

“ไม่ว่าจะเป็นงานบรรณาธิการ เรื่องสั้นหรือบทความ แม้จะพยายามเรียนรู้วิธีการทำงานจากพ่อ ทว่าการเรียนรู้ของผมจำเป็นต้องสร้างระยะห่าง”

ครอบครัววรรณกรรมเล็กๆ แต่มักมีเรื่องเล่าที่ยิ่งใหญ่เล่าสู่กันฟังเสมอ นอกจากหนังสือที่มีในบ้านนับเป็นหมื่นเล่มที่โมนบอกว่าพยายามอ่าน แต่ทั้งชีวิตนี้ก็คงอ่านได้ไม่หมด ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายที่พ่อนำมาเล่าให้ฟัง ทั้งเรื่องเก่าเรื่องใหม่

“เวลาพ่อมีมุมมองอะไรเรื่องสังคมพ่อก็มาเล่าให้ฟัง เหมือนครอบครัวทั่วๆ ไป แต่ของเราพ่อแม่ลูกทำงานวรรณกรรม เรื่องเล่าต่างๆ จากพ่อแม่ก็ถ่ายทอดลงมาที่เราเต็มๆ ยิ่งเขาเป็นนักเขียนเราก็ได้อ่านงานของเขาอยู่แล้ว อย่างหนังสือด้วยความที่มีจำนวนมาก พ่อผมจะกรุณาอย่างหนึ่งจะช่วยจัดหนังสือเป็นหมวดหมู่ อยากศึกษางานแบบไหนควรอ่านอะไร”

ในการสร้างงานวรรณกรรมปฏิเสธไม่ได้ว่า โมนได้รับอิทธิพลมาจากพ่อและแม่ ทว่าเนื้อในที่ต้องการสื่อสารกับผู้อ่านล้วนมาจากเขา พ่อแม่เพียงแค่ตบๆ แต่งๆ ให้ออกมารสดีเท่านั้นเอง

“พ่อแม่ก็ดูอยู่ห่างๆ หรือดูตอนที่ตีพิมพ์แล้ว ก็เป็นความตั้งใจของผมที่จะกันตัวเองออกมา แต่ไม่ได้ห้ามดู ห้ามแตะต้อง เพราะเรื่องที่ตีพิมพ์แล้วเขาก็ดูทุกครั้งและวิจารณ์ทุกครั้ง อย่างมีครั้งหนึ่งผมเขียนข้อมูลผิดพลาดพ่อก็จะบอกจะเตือน หรือแม้แต่สำนวนก็จะมาชี้ให้ดูว่าอันไหนดีไม่ดี ส่วนแม่จะไม่วิจารณ์แต่จะแก้ไขเลย เหมือนเป็นบรรณาธิการส่วนตัว แต่แม่ไม่ได้ขัดเกลาสำนวนภาษา จะดูตรรกะเลยอันแรก ข้อล่างผิดข้อเท็จจริงกับข้างบนนะ ผมเองไม่อยากโดนพ่อแม่ครอบทั้งหมด เหมือนลูกไม้ที่หล่นใต้ต้นก็ไม่โต อยากให้มีระยะห่างสักหน่อย ถ้าอยู่ใต้ต้นไม่ได้เกิดแน่ๆ”

แน่นอนว่ามีนามสกุล “สวัสดิ์ศรี” ต่อท้ายชื่อ ทำให้ “โมน” เป็นที่สนใจของผู้คนได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็เป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น เพราะหลังจากนั้น โมนจะต้องพิสูจน์ตัวเอง “ก็รู้จักคนในแวดวงวรรณกรรมเยอะ ชื่อ นามสกุลเป็นใบเบิกทางได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ในฐานะที่เรามีแต้มต่อในการรู้จักคนอื่น รู้เรื่องการส่งต้นฉบับยังไง การเข้าถึงหนังสือดีๆ แต่การรู้จักนี้ไม่ได้ทำให้เราเป็นนักเขียนมืออาชีพ ตอนเด็กๆ เคยรู้สึกกดดันที่มีพ่อแม่เก่ง แต่ตอนนี้ไม่แล้ว มันไม่เกี่ยวว่าพ่อทำงานนามธรรมแล้วจะต้องตามพ่อทุกอย่าง เพราะคำวิจารณ์เป็นของคนอื่น การทำงานเป็นเรื่องของเรา เรื่องของเราจะสร้างงานยังไง ไม่ต้องเทียบกับใครเลย”

ชายหนุ่มเล่าต่อว่า ชีวิตของเขาอาจจะต่างหรือไม่ต่างกับลูกนักเขียนคนอื่นๆ มากนัก ซึ่งในชีวิตของเขานั้น แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้เอื้อนเอ่ย แต่เขาก็รับทราบด้วยใจว่า พ่อแม่หวังให้เขาดำเนินรอยตาม “หลายๆ คนได้รับการถ่ายทอด ได้รับความหวังให้เป็นนักเขียน บางคนเป็นได้บางคนไม่อยากเป็น แต่ของผมพ่อแม่หวังอยู่แล้ว ผมรู้สึกได้ และผมก็อยากเป็นอย่างนั้น มันเป็นโดยธรรมชาติ มันซึมซาบเข้ามาเอง สิ่งแวดล้อม หนังสือเต็มบ้าน ตรงนี้ผมไม่กดดันเลยที่ต้องเดินตามรอยเท้าพ่อแม่ เพราะผมอยากเป็นนักเขียน”

โมน สวัสดิ์ศรี ลูกไม้วรรณกรรม ผู้ที่เชื่อมั่นว่าต้องเติบใหญ่และมีชีวิตเป็นของตัวเอง