posttoday

วันที่ป่าไร้เสือ

01 กุมภาพันธ์ 2558

ในยุคที่ผู้คนเริ่มบุกเบิกผืนป่าแทบทุกแห่งในทวีปนี้เพื่อเข้าไปตั้งรกราก บุกร้างถางป่าเป็นพื้นที่ทำกิน

โดย...ธเนศน์ นุ่มมัน

ในยุคที่ผู้คนเริ่มบุกเบิกผืนป่าแทบทุกแห่งในทวีปนี้เพื่อเข้าไปตั้งรกราก บุกร้างถางป่าเป็นพื้นที่ทำกิน ก่อนขยายเป็นแต่ละชุมชน สิ่งที่พวกเขาจะได้รับเป็นคำเตือนจากรุ่นสู่รุ่น คือ การเข้าป่า หรือ
ใช้ชีวิตในป่า ต้องพร้อมเผชิญกับสารพัดอันตรายที่มาจากสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์ผู้ล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารอย่าง “เสือ”

การแย่งชิงพื้นที่ป่าระหว่างคนกับเสือ มีเรื่องเล่าถึงวีรกรรมการต่อสู้ในหลายพื้นที่ ใครที่ล่าหรือเป็นพรานสังหารเสือได้ ถูกยกย่องให้เป็น “ผู้พิชิต” ขณะที่เสือ กลายเป็น “อสุรกาย” ที่เล่าขานถึงความร้ายกาจกันไม่รู้จบ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ความน่าสะพรึงกลัวที่ซ่อนตัวอยู่ในป่าลึก เรื่องราวของพวกมัน ลงเอยไปกับสองแนวคิด คือ ยำเกรงจนหลีกหนี และกลายเป็นเครื่องมือท้าทายความกล้า ชีวิตพวกมันกลายเป็นเป้าหมายของการกำจัด ชิ้นส่วนจากร่างที่ไร้ชีวิต กลายเป็นสัญลักษณ์ของการครอบครองพลังอำนาจจากเสือ

จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใด ปัจจุบันมันถูกกำราบด้วยอาวุธที่ร้ายกว่าของมนุษย์ จนในพื้นที่ป่าหลายแห่งเหลือเพียงชื่อและตำนาน คาดการณ์กันว่า ในเวลาช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียเสือไปแล้วประมาณ 97% ของจำนวนที่เคยมีนับแสนตัว ปัจจุบันทั้งโลกมีประชากรเสือโคร่งเหลืออยู่เพียงราว 3,200 ตัวเท่านั้น

ดร.โรเบิร์ต สไตน์เมทซ์ หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ กองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) สำนักงานประเทศไทย เล่าว่า รายงานอาชญากรรมสัตว์ป่าของ WWF ที่เผยแพร่ล่าสุด ระบุว่า ในแต่ละปีมีการตรวจยึดซากเสือได้มากกว่า 200 ตัว ขณะที่ประเทศที่เป็นทั้งแหล่งกำเนิด ทางผ่าน และประเทศปลายทางซึ่งเป็นตลาดค้าเสือ ยังเพิกเฉยในการต่อต้านขบวนการลักลอบการล่าและการค้าสัตว์ป่า โดยเฉพาะจีนและเวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังมีอุปสงค์ ความเชื่อต่อสรรพคุณในผลิตภัณฑ์ที่ได้จากซากเสือค่อนข้างสูง

“เป็นที่น่าเสียใจ ที่เราได้รับรายงานอีกเช่นกัน ว่าผืนป่าในประเทศอื่นของภูมิภาคนี้ อย่าง กัมพูชา พม่า ไม่เหลือเสือในประเทศแล้ว ยังพบอยู่บ้างเพียงไม่กี่ตัวในประเทศลาว ประเทศไทยถือเป็นพระเอกในเรื่องนี้ เพราะมีเสือโคร่งในพื้นที่ป่าตามธรรมชาติอยู่มากที่สุด แต่ก็ไม่ได้มีอยู่ในป่าทุกแห่ง ที่พบเห็นมากก็คือ ในผืนป่าตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ป่าแก่งกระจาน ขณะที่ผืนป่าพื้นที่มรดกโลกอย่างเขาใหญ่นั้นไม่มีเสืออาศัยอยู่แล้ว ทั้งประเทศไทยมีประมาณ 200 ตัว ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยังถือว่าสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ โดยไม่สามารถนับรวมจำนวนตัวเลขเสือเลี้ยงซึ่งมีมากกว่าหลายเท่า เสือกลุ่มนี้ไม่สามารถชดเชยเสือในป่าจริงๆ ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขในการดำรงชีวิตที่ต่างกันแทบทุกด้าน” ดร.โรเบิร์ต กล่าว

หัวหน้าฝ่ายชีววิทยาการอนุรักษ์ ของ WWF ยังระบุอีกว่า นอกจากการตามล่าจากมนุษย์แล้ว กว่าเสือโคร่งในป่าแต่ละตัวจะมีชีวิตรอดจนเติบโตขึ้นขยายเผ่าพันธุ์ได้นั้น พวกมันต้องฟันฝ่ากับอุปสรรคมากมาย เสือนั้นมีอาณาเขตอาศัยเป็นของตัวเอง ในพื้นที่ที่มีเหยื่ออุดมสมบูรณ์ มันครอบครองพื้นที่หากิน แตกต่างกันไป เช่นในอุทยานแห่งชาติจิตวัน ประเทศเนปาล เสือตัวเมียครอบครองอาณาเขตราว 10-20 ตารางกิโลเมตร และ 30-70 ตารางกิโลเมตร สำหรับเสือตัวผู้ ขณะที่รัสเซียมีความหนาแน่นของเหยื่อน้อยกว่า และมีอาณาเขตกว้าง 200-400 ตารางกิโลเมตร สำหรับเสือตัวเมีย และ 800-1,000 ตารางกิโลเมตร สำหรับเสือตัวผู้

รายงานของ WWF ยังระบุด้วยว่า เสือซึ่งอยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหาร ดำรงชีพด้วยการกินสัตว์ขนาดใหญ่ อย่างเช่น หมูป่า กวาง เก้ง และกระทิง ตัวเต็มวัยแต่ละตัวสามารถกินเนื้อได้ถึง 40 กิโลกรัมในหนึ่งครั้ง เท่ากับต้องกินเก้งถึง 3 ตัว/สัปดาห์ จึงจะพอเพียงต่อความต้องการของร่างกาย หากกินกวาง 1 ตัว อาจอยู่ได้ทั้งสัปดาห์ หากเป็นกระทิงก็อาจจะอยู่ได้โดยไม่ต้องล่าเหยื่ออีกภายใน 2 สัปดาห์

นอกจากนี้ ยังระบุเช่นกันว่า การล่าเหยื่อแต่ละครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย สัตว์ที่เป็นเหยื่อไม่ได้ยืนอยู่เฉยๆ  ให้เสือเข้าไปกิน เหมือนในสวนสัตว์ การล่าจึงประสบความสำเร็จเพียงอาจจะแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่กลับต้องสูญเสียพลังงานไปมากมาย มันอาจจะล่าได้แต่เหยื่อขนาดเล็ก เช่น เก้ง ก็ทำให้ไม่ได้รับพลังงานมากพอหรือมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์พอที่จะผสมพันธุ์ นอกจากนี้ ในป่ามันยังต้องล่าแข่งกับนักล่าคู่แข่งอย่างหมาใน เสือดาว และเสือดำ ซึ่งต่างก็กินเหยื่อชนิดเดียวกับที่เสือโคร่งกิน เว้นก็แต่ กระทิง ที่มีขนาดใหญ่เกินกว่าที่สัตว์ชนิดอื่นจะกินได้ ดังนั้น ในการที่สังคมสัตว์ผู้ล่าที่ประกอบด้วย เสือโคร่ง เสือดาว เสือดำ และหมาใน จะอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องมีสัตว์ที่เป็นเหยื่อหลายชนิด

แน่นอนที่สุด เผ่าพันธุ์เสือตามธรรมชาติ จะอยู่รอดไปได้อีกนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของป่าและระบบนิเวศที่พวกมันอาศัยอยู่ในอดีต การฆ่าเสือในป่าลึกได้ เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเอาชนะธรรมชาติ แต่ดูเหมือนว่า ปัจจุบันเมื่อสังคมมนุษย์พัฒนาเทคโนโลยีจนการขยายถิ่นอาศัยของมนุษย์เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่าย ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ทั้งหมดกลายเป็นต้นทุนที่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียสิ่งแวดล้อมที่เข้าขั้นวิกฤต เงื่อนไขการเอาชนะธรรมชาติในปัจจุบัน จึงไม่ใช่การฆ่าเสือ แต่เป็นการรักษาชีวิตพวกมันไว้ โดยมีธรรมชาติและอนาคตของพวกเราทั้งหมดเป็นเดิมพัน