posttoday

AP Thinking Space พื้นที่แห่งการรีแลกซ์

24 มกราคม 2558

หลังจากเข้ามาร่วมปลุกปั้นแบรนด์ “เอพี” ให้มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย และมีสีสันมากขึ้นมาร่วม 4 ปี

หลังจากเข้ามาร่วมปลุกปั้นแบรนด์ “เอพี” ให้มีภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย และมีสีสันมากขึ้นมาร่วม 4 ปี พร้อมกับร่วมปรับโฉมชั้น 23ของอาคารโอเชี่ยน ทาวเวอร์ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่เช่าในส่วนของบริษัท เอพี(ไทยแลนด์) ให้กลายเป็น “AP Thinking Space” (เอพี ติงกิ้ง สเปซ)ที่เป็นทั้งพื้นที่พักผ่อน มุมระดมความคิดอย่างไม่เป็นทางการ มุมพบปะสังสรรค์ จึงไม่แปลกที่หนึ่งในมุมโปรดของ วิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์)จะอยู่ที่ “AP Thinking Space” ด้วย

วิทการ เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของ AP Thinking Space ว่า เดิมทีชั้น 23 เป็นชั้นเทรนนิ่ง เซ็นเตอร์สำหรับฝึกอบรมต่างๆ และในช่วงที่มีแผนจะปรับปรุงพื้นที่ของชั้นนี้อยู่แล้ว ในทีมมาร์เก็ตติ้งก็มีไอเดียว่า น่าจะมีพื้นที่ที่ทุกคนสามารถมารีแลกซ์ร่วมกันได้ คุยกันเรื่องงานได้แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งจากประสบการณ์ทำงานหลายครั้งจะเห็นได้ชัดเจนเลยว่า มีโอกาสสูงมากที่เวลาคุยกันซีเรียสในห้องประชุมแล้วไม่ค่อยได้ข้อเสนอ แต่จะได้ข้อสรุปที่ลงตัวนอกห้องประชุม โดยเฉพาะในมุมที่ไม่เป็นทางการมาก

“เราเลยมาคุยกับทีมเอชอาร์ที่ดูแลภาพรวมของบุคลากรในบริษัทว่าน่าจะมีพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ทั้งการประชุมแบบจริงจังก็ได้ ไม่จริงจังก็ได้ พร้อมๆ กับมุมนั่งพักผ่อน
เลยเป็นที่มาของการปรับโฉมชั้น 23 ให้กลายเป็นพื้นที่ลักษณะดังกล่าว”

AP Thinking Space พื้นที่แห่งการรีแลกซ์

 


สำหรับ AP Thinking Space มีพื้นที่ทั้งหมด 950 ตารางเมตร (ตร.ม.) แบ่งเป็น 4 โซน เริ่มด้วยโซนแรกที่คนจะมองเห็นพอเข้ามาที่ชั้น 23 ในส่วนที่เป็นพื้นที่ของเอพี จะเจอกับ“Welcome Area” (เวลคัม แอเรีย) ซึ่งเป็นพื้นที่จอดจักรยาน ซึ่งนอกจากจะมีไอเดียที่มาจากไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่แล้ว ยังมีไอเดียมาจากการที่เวลาเอเยนซีโฆษณา หรือบรรดาครีเอทีฟที่ต้องมาร่วมประชุมกับเอพีที่ชั้น 23 นิยมขี่จักรยานมา แล้วไม่มีที่จอด จึงออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ไว้เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ต้องมาชั้น 23แห่งนี้

พอถัดจากโซนเวลคัม แอเรียแล้วจะพบกับอุโมงค์แผนที่ใจกลางเมืองกรุงเทพฯ ที่ถูกตั้งชื่อว่า “Locality Portal”(โลคอลลิตี้ พอร์ทัล) ซึ่งนอกจากผนังทั้ง 2 ด้านจะเป็นภาพแผนที่ พร้อมด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับการขี่จักรยาน และโครงการที่อยู่อาศัยในเครือเอพีแล้ว พื้นด้านล่างยังเป็นพรมที่สั่งทำพิเศษให้เป็นแผนที่ล้อไปกับผนังด้านข้างด้วย

พ้นจากอุโมงค์แผนที่แล้ว จะพบกับโซนพักผ่อน Thinking Cafe (ติงกิ้ง คาเฟ่)ที่เป็นมุมเครื่องดื่มร้อน เย็น และขนม ส่วนโซนสุดท้าย คือ ThinkingCapsule (ติงกิ้ง แคปซูล) จะคล้ายกับห้องประชุมขนาดย่อมๆ เพียงแต่มีความรีแลกซ์มากกว่า

AP Thinking Space พื้นที่แห่งการรีแลกซ์

 

วิทการ เล่าอีกว่า ด้วยความที่มีประชุมค่อนข้างเยอะ เรียกว่าใช้เวลาอยู่กับที่ทำงานเป็นส่วนใหญ่ พอมี AP Thinking Space เกิดขึ้น เลยชอบมาใช้เวลานั่งผ่อนคลายที่นี่ รวมถึง มองผู้คน ผู้ร่วมงาน ผู้ท่ี่มาใช้พื้นที่นี้ มีโอกาสทักทายคนที่ผ่านไปผ่านมา ซึ่งมุมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดไอเดียหลายๆ อย่างในการทำงาน และอย่างที่พูดไปเมื่อช่วงต้นๆ แล้วว่า บางทีไอเดียดีๆ ไม่ได้เกิดขึ้นบนโต๊ะทำงาน หรือห้องประชุมเสมอไป แต่มักจะเกิดตรงเคาน์เตอร์ของมุม Thinking Cafe


“มุมนี้ในช่วงเวลาประมาณ 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงพระอาทิตย์ตก ยังเป็นช่วงที่สวยที่สุดด้วย จะเกิดเงาตกกระทบ แสงที่ค่อยๆ สาดส่องเข้ามา เคลื่อนตัวไปตามตึกตามๆ ทำให้ผ่อนคลายจากการคิดงานมาทั้งวันได้ดี ซึ่งหลายครั้ง ผมจะหยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่ายรูปช่วงเวลาแบบนี้”


นอกจากมุมโปรดที่ AP Thinking Space แล้ว นักการตลาดอย่างวิทการ เล่าว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของสถานที่ แต่จะมีเรื่องเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยส่วนตัวชอบช่วงเวลาประมาณ 4-5 โมงเย็นมากที่สุด เพราะมองว่าเป็นช่วงเวลาที่รีแลกซ์ที่สุด และชอบความเงียบๆ บางทีการอยู่เงียบๆ กับกล้องถ่ายรูปสักตัว ก็จะทำให้เกิดแรงบันดาลใจมากมาย หรือนั่งอยู่บ้านเฉยๆ แต่งภาพไปเรื่อยเปื่อยก็จะทำให้จมไปกับเรื่องที่ชอบ และสนใจ ลืมความเครียดจากงานได้ดีมากๆ

วิทการ ยังกล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ทุกวันนี้คงในวงการมาร์เก็ตติ้งทำงานหนักมาก ต้องหาวิธีผ่อนคลายให้ตัวเอง ปัญหาถ้ามันคิดไม่ออกก็หาโมเมนต์ที่ไม่ต้องคิดถึงมัน เพราะความไม่เครียดในชีวิตมีไม่มาก ต้องใช้ให้มีประโยชน์สูงสุดด้วยการให้โมเมนต์นั้นๆ ไม่ต้องเครียดเลยดีกว่า