posttoday

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

20 มกราคม 2558

ตั้งแต่จำความได้ ผมเป็นเด็กที่อยู่อาศัยในบ้านไม้มาโดยตลอด จนวันหนึ่งบ้านไม้ที่ผมเคยอยู่อาศัยกลับกลายเปลี่ยนแปรเป็นบ้านปูน

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร

ตั้งแต่จำความได้ ผมเป็นเด็กที่อยู่อาศัยในบ้านไม้มาโดยตลอด จนวันหนึ่งบ้านไม้ที่ผมเคยอยู่อาศัยกลับกลายเปลี่ยนแปรเป็นบ้านปูน และผมก็อยู่กับบ้านปูนนั้นมาเรื่อยๆ จนลืมไปแล้วว่า ความหอมของกลิ่นไม้เวลาฝนตกมันเป็นอย่างไร

จนวันที่ผมได้มีโอกาสทำความรู้จักกับสามหนุ่มสถาปนิกชาวเหนือเท่ง-เดโชพล รัตนสัจธรรม อายุ 29ปี ดล-รุ่งโรจน์ ตันสุขานันท์ อายุ 27ปี และ ภูผา-พงศธร สวัสดิ์ชัชวาล อายุ 28 ปี ผู้มีความเชี่ยวชาญในงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ที่รวมตัวกันในนาม ยางนาสตูดิโอ (ผมแอบเรียกพวกเขาว่า สล่า อ่านว่า สะหล่า เป็นภาษาเหนือ แปลว่า ช่างหรือผู้เชี่ยวชาญ)ผู้ซึ่งหลงใหลในคุณค่าของเนื้อไม้และภูมิปัญญาของบรรพบุรุษช่างไม้ที่สืบทอดกันมา ผมถึงหวนระลึกถึงกลิ่นหอมของไม้ได้ขึ้นมาอีกครั้ง

เดโชพล บอกเล่าให้ผมฟังว่า เขาทั้งสามคนสนใจในเรื่องเดียวกัน นั่นคือสนใจในไม้ และการนำเอาภูมิปัญญาเชิงช่างไม้ในอดีตมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมทั้งการต่อยอดภูมิปัญญานั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

“เราเป็นนักออกแบบที่ทำงานร่วมกับช่างไม้ท้องถิ่น ซึ่งเป็นช่างที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน เราไม่ได้มองว่าเราคือผู้ออกแบบ ชี้เอาแบบนี้ ต้องได้แบบนี้ แต่เราคือลูกคือหลานของช่างไม้ ที่ต่างแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันเราใช้วิธีการทำงานร่วมกับช่างไม้ คือเราไม่ฝืนความถนัดของเขา แตเ่ รานำความถนัดในการใช้สิ่วใช้ขวานในการทำบ้านมาต่อยอด พอสองสิ่งนี้มาเจอกันเรามองว่าสถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นจากภูมิปัญญา และเป็นการก้าวไปข้างหน้าด้วยการเรียนรู้ที่เรานำไปใช้”

ผมถามรุ่งโรจน์ด้วยความสนใจว่าลักษณะของการออกแบบบ้านไม้ในรูปแบบของเขาทั้งสามเป็นอย่างไรบ้างรุ่งโรจน์ตอบผมด้วยรอยยิ้มว่า การออกแบบในรูปแบบของเขาทั้งสาม คือหนึ่ง ออกแบบบ้านไว้คร่าวๆ ว่าสัดส่วนคร่าวๆ ของบ้านเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ไปหาเสาหาไม้จากบ้านหลังเก่าที่เขาขาย หรือบางบ้านที่รื้อบ้านไม้เพื่อสร้างบ้านอิฐบ้านปูน ซึ่งต้องเช็กดูว่าขนาดของเสาตรงกับที่ออกแบบไหมถ้าตรงก็ซื้อมาใช้งาน กับ สอง ซื้อไม้เก่าเก็บไว้ แล้วออกแบบตามขนาดของไม้เก่าที่ซื้อมา

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

“ไม้เก่าๆ มันมีเสน่ห์ของมันนะเรามองว่าไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่เมื่อเราได้เขามา เราต้องมองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติของเขาจริงๆ ไม่งั้นเหมือนเราไปกำราบเขา ไปทำให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการ ไม่ได้เชิดชูคุณค่าของเขาที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นหัวใจหลักในการทำงานของเรา คือ มองเห็นคุณค่าของไม้ และทำให้ไม้นั้นมันมีคุณค่ามากขึ้นไปอีก”

พงศธร บอกเล่าให้ผมฟังว่า ไม้มีหลายประเภทและคุณสมบัติของไม้แต่ละประเภทก็แตกต่างกัน “อย่างไม้สัก เหตุผลที่คนเอามาทำเฟอร์นิเจอร์หรืองานแกะสลัก เพราะไม้สักนั้นเนื้ออ่อน น้ำหนักเบา สีสวย กลิ่นหอม และหาง่ายในภาคเหนือนี้ ส่วนงานในระดับโครงสร้างมักใช้ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้เหล่านี้มีน้ำหนักค่อนข้างสูง เสี้ยนถี่ทำให้หักยาก”

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ศาลา วิหารหรือหอไม้ สล่าหนุ่มทั้งสามลงมือทำมาหมดแล้วทั้งสิ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่การออกแบบของเขาอ้างอิงจากภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยไม่ใช้นอตหรือตะปู แต่หากบ้านที่เขาทั้งสามออกแบบนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยง เช่น ตั้งอยู่บนเนินเขาที่ลมแรง เขาทั้งสามก็จำเป็นต้องใช้นอตหรือตะปู

สำหรับการสร้างบ้านด้วยไม้หลายคนคิดว่ามันย่อมมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เดโชพลเผยถึงสิ่งที่เขาอยากสื่อสารหรือทำความเข้าใจว่า ไม้ในป่าที่มักตัดเอามาทำบ้าน หลักๆ ก็มีไม้เต็ง ไม้รัง ไม้สัก ไม้ประดู่ ไม้แดงไม้มะค่า ซึ่งเมื่อตัดไม้ออกมาแล้วก็ปลูกไม้เหล่านี้ทดแทน “อย่าลืมว่าไม้เป็นวัสดุที่ทดแทนได้ ค่อยๆ ปลูก ค่อยๆใช้กันไป ซึ่งเมื่อเราตัดไม้มาใช้แล้วสิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องเห็นคุณค่าของไม้ ไม่ไปทำลายคุณค่าของมัน”

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

เดโชพล ขยายความว่า เขาเคยออกแบบบ้านให้คนที่อยากสร้างบ้านไม้ แต่ก็อยากได้วิวไปด้วย ซึ่งพออยากได้วิว บ้านหลังนี้จำเป็นต้องขยับไปรับแสงแดดแบบเต็มๆ ทำให้บ้านร้อนเมื่อบ้านร้อนก็ต้องติดตั้งแอร์คอนดิชันเนอร์ ซึ่งทำให้เจ้าของบ้านหลังนี้ไม่ได้สัมผัสคุณค่าของเนื้อไม้จริงๆ มันเป็นความน่าเสียดายที่น่าเศร้าใจ

“บางคนอยากทำบ้านไม้แล้วติดแอร์ เราก็ต้องคุยกันยาวหน่อยเพราะมันไม่ส่งผลดีกับเขา เราอยากสร้างบ้านไม้ให้คนที่เห็นคุณค่าของไม้ และได้รับประโยชน์จากไม้และการออกแบบให้มากที่สุด หรือบางคนเขาอยากได้บ้านหลังใหญ่ ใช้ไม้ท่อนใหญ่ๆผมเลยชวนเขาไปทำความเข้าใจกับวิถีของไม้ พอเขาเข้าใจ เขาก็ปล่อยเราทำเต็มที่ไปในแบบของเรา”

สำหรับไอเดียหรือแรงบันดาลใจในการออกแบบของสล่าหนุ่มทั้งสาม รุ่งโรจน์บอกเลา่ ว่า เขาทั้งสามได้ติดตาม อ.จุลพร นันทพานิช ไปเดินป่า โดยข้ามน้ำจากเชียงของ เข้าลาวผ่านห้วยทราย เข้าเวียดนามเหนือแล้วเข้าซาปา

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

“พวกเราได้เห็นถึงการตั้งถิ่นฐานการทำมาหากินของผู้คนในท้องถิ่นนั้นทำให้เราได้แนวคิดการใช้วัสดุของเขาวิธีการสร้างบ้านในรูปแบบของเขา อีกทั้งเรายังนั่งรถไฟไปฮานอย ไปดูบ้านดิน ซึ่งหมู่บ้านของเขาตั้งอยู่ในที่ที่ไม่มีทรัพยากรป่าไม้มากเพียงพอ เขาเลยใช้ดินมาก่อเป็นบ้าน ซึ่งมันเลยเกิดความงามที่เป็นธรรมชาติ

นอกจากนี้ เรายังพบเจออาคารทำพิธีกรรมที่สูงมาก ซึ่งโครงสร้างไม่ได้ถูกออกแบบมาให้สวย แต่ถูกออกแบบมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยเราพบว่าเขาใช้วิธีการมัดด้วยหวายไม่ได้ใช้นอต ความงามมันเลยเกิดตามมาโดยภูมิปัญญาของเขาเอง หากเราเข้าใจและมองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ เราจะประยุกต์สิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เกิดความโมเดิร์นกับบ้านของเราอย่างสวยงาม มีคุณค่า และทรงพลัง”

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

เดโชพล บอกเล่าเพิ่มเติมว่า เขาทั้งสามเคยไปเชียงตุงตอนเหนือ แล้วพบเจอบ้านหลังใหญ่ ซึ่งมีครอบครัวกะเหรี่ยงอยู่อาศัยในนั้น 20 กว่าครอบครัวเหมือนที่ฮานอย “เพียงแต่ที่นี่มีเสน่ห์ตรงที่พวกเขายึดถือการเกิดและการตายในที่เดียวกัน เกิดที่ไหนก็ให้ตายที่นั่น หมายความว่าเกิดในบ้านตรงนี้ก็ขอตายในบ้านตรงนี้ คงเป็นเพราะพวกเขาเป็นกะเหรี่ยงที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานบนเขา แล้วช่วยกันสร้างบ้านเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ความรักความผูกพัน ที่มีต่อกันจึงมีสูง”

ถึงอย่างไรสิ่งที่สล่าหนุ่มทั้งสามได้เรียนรู้จากบ้านหลังนี้อีกก็คือ การอยู่ร่วมกันโดยไม่มีฝากั้น แต่แบ่งครอบครัวด้วยเตาไฟ พงศธร บอกเล่าว่า พวกเขามีเส้นแบ่งโดยไม่ต้องมีกำแพง แต่เขารู้ระยะความเป็นส่วนตัวด้วยสามัญสำนึก เขามีความเห็นอกเห็นใจกัน อย่างทางเข้าบ้าน ทุกคนต้องเดินบนไม้อันนี้อันเดียวเท่านั้นเพื่อไม่ให้เกิดเสียงดังไปรบกวนคนอื่นพอเรารู้ตรงนี้เราก็มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีศิลปะ”

ท้ายสุด สล่าหนุ่มทั้งสามเผยจากใจว่า รูปแบบการออกแบบที่พวกเขาชื่นชอบเป็นพิเศษ คงเป็นความเรียบง่าย ธรรมดา ไม่ใหญ่โต แต่ทว่ามีความสวยงามจากภูมิปัญญา ที่เราทุกคนควรรักษาและต่อยอดต่อไปตราบนานเท่านาน

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21

 

ความหลงใหล และใจรักในงานไม้ วิถีสล่าศตวรรษที่ 21