posttoday

คู่หูงานวิจัยตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้

10 มกราคม 2558

คู่หูทำงานที่ต่างทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เป็นเรื่องที่อยู่ในเครื่องหมายคำถามเรื่อยมาว่า คนสองวัยต่างความคิด ต่างมุมมอง

คู่หูทำงานที่ต่างทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ เป็นเรื่องที่อยู่ในเครื่องหมายคำถามเรื่อยมาว่า คนสองวัยต่างความคิด ต่างมุมมอง จะทำงานประสานกันได้อย่างไร?  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการร่วมทำงานวิจัยเก็บข้อมูลจากพื้นที่มาใช้สำหรับงานวิชาการ

เคล็ดลับการร่วมงานระหว่าง ไกรยส ภัทราวาท ดอกเตอร์ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) และ กนิษฐา คุณาวิศรุต หรือ น้องนิด ผู้ช่วยบริหารงานโครงการ สสค.เป็นอีกมุมมองหนึ่งที่น่าสนใจ

ปกติแล้ว สสค.เป็นหน่วยงานที่ทำวิจัยด้านการศึกษาที่ใช้ “พื้นที่” เป็นฐานการทำงาน เริ่มจากการเข้าไปทำความเข้าใจกับเครือข่ายคนในพื้นที่ เพื่อสังเคราะห์ ปัญหา สาเหตุ ลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ให้ได้ข้อมูลที่ตรงที่สุด ก่อนออกแบบเครื่องมือ เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และสามารถใช้ได้จริงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

คู่หูงานวิจัยตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้

 

ไกรยส ภัทราวาทเราดูแลกันเหมือนพี่น้อง

ไกรยสเริ่มเล่ากระบวนการทำงานกับคู่หูให้ฟังว่า “เวลาทำงานวิจัยเรื่องอะไรก็ตาม ก่อนที่จะมอบหมายงานให้ ผมจะเอาเรื่องการเรียนรู้เป็นหลัก ไม่พยายามมองว่าน้องเรียนรุ่นไหนมาเรียนจบที่ไหนมากี่ปีแล้ว มีประสบการณ์การทำงานแค่ไหน  ด้วยแนวคิดที่มองว่า เราไม่สามารถกำหนดขนาดของกระถางเพื่อรองรับต้นไม้ที่จะโตได้ เราต้องมองเขาให้ค่อนข้างขาดว่า จะสามารถทำงานตอบโจทย์ที่ยาก
แค่ไหนได้

ผมจะให้ลายแทงในการทำงานไว้ก่อน โดยให้ข้อมูลว่างานที่จะเจอคืออะไร เช่น พรุ่งนี้ต้องไปเจอนายกเทศมนตรี ต้องไปเจอใครกี่คน ทำหน้าที่อะไร ให้ข้อมูลที่ไปทำงานได้ให้นำไปตีความเป็นเครื่องมือการทำงานของตัวเอง ผมมองว่าเครื่องมือการทำงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แน่นอนว่าการสั่งงานแบบนี้ต้องมาจากการรู้จักลักษณะนิสัยกันดีเพียงพอจนไว้วางใจกันได้

“หน้าที่ของผมคือคอยระวังคอยให้การสนับสนุนให้น้องสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการใช้ข้อมูลที่เหมาะสม ใช้ความรู้ที่มีไปใช้สื่อสารในการทำงานให้เกิดผลให้ได้ และหลังจากเสร็จงานหนึ่ง ก็จะให้งานที่ท้าทายกว่าครั้งก่อนเพราะผมเชื่อว่าคนเราจะพัฒนาได้ งานที่ทำไปจะกลายเป็นการให้พื้นที่ของโอกาสในการเติบโตขึ้น ในฐานะผู้บังคับบัญชา ถ้าเราเชื่อมั่นในตัวคนที่ทำงานให้เราตามที่ว่ามา ก็เท่ากับเราได้ทำงานกับคนที่เติบโตขึ้นทุกวัน และมีแนวโน้มว่าจะเก่งขึ้น แต่ถ้ามีอุปสรรคในการทำงานก็ต้องพร้อมที่จะเข้าไปช่วย ไม่ให้เขาเสียหน้าหรือรู้สึกไม่ดี เราดูแลกันเหมือนพี่เหมือนน้อง”

ไกรยสขยายต่ออีกว่า คนที่ทำงานเป็นคู่หูกัน ไม่ว่าจะกี่คน ต้องมีสายตาที่เห็นทุกคนเท่าเทียมกัน และเชื่อว่าเราจะต้องเติบโตในการงานที่ทำอยู่ได้ มีสิทธิที่จะเติบโต ต้องรู้จักเคารพซึ่งกันและกัน แม้จะเป็นผู้บังคับบัญชาหรืออาวุโสกว่า ความเคารพก็ควรจะมี เพราะมันเป็นสิ่งที่จะมาพร้อมกับความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

การปลูกฝังเรื่องนี้ระหว่างกันถือเป็นสินทรัพย์ที่ประเมินไม่ได้ เพราะเราไม่ได้สื่อสารหรืออยู่ด้วยกันตลอดเวลา หรือช่วยกันแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง แต่ความมั่นอกมั่นใจที่ได้มาจากบทพิสูจน์ผลงานที่ทำสำเร็จ จะเป็นสินทรัพย์ที่เราจะเห็นมันงอกเงยเป็นนวัตกรรมในการทำงาน ต่างจากวิธีการทำงานเดิมๆ ซึ่งมักจะใช้รับมือกับงานที่ยากขึ้นๆ หรือมีวิธีชนะอุปสรรค หรือสร้างการเรียนรู้ใหม่ๆ ไม่ได้ ผมไม่ชอบคนที่แค่มาทำงานตอน 9 โมงเช้า และรอเวลากลับบ้านตอน 5 โมงเย็น โดยไม่ใส่ใจการเติบโตของตัวเอง

คู่หูงานวิจัยตอบโจทย์กระบวนการเรียนรู้

 

เพราะนั่นคือการทำงานแบบยังไม่ได้ใช้ศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ ศักยภาพที่มีในวันนี้ ถ้าพรุ่งนี้มีเท่าเดิมก็เท่ากับเราแย่ลงแล้ว ต้องตอบตัวเองได้ว่า พรุ่งนี้ เดือนหน้าหรือปีหน้า จะเติบโตขึ้นได้อย่างไร

กนิษฐา คุณาวิศรุตมีอาจารย์เป็นแบบอย่าง

ขณะที่กนิษฐาเล่าการทำงานของเธอร่วมกับอาจารย์ไกรยส ว่า คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายในการวิจัยแต่ละครั้ง กำหนดกระบวนการทำงานร่วมกันตั้งแต่ต้น ซึ่งกรณีนี้จะช่วยให้มีความรับผิดชอบต่องานนั้นๆ เพราะทำร่วมกันมาตั้งแต่ต้น งานวิจัยที่อยากยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ คือเรื่อง “หลักประกันการศึกษา” ที่เริ่มนำร่องที่แรกที่จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เธอบอกว่าไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย เพราะเป็นพื้นที่ที่เดินทางได้ยากลำบาก

บางครั้งคู่หูทำงานอย่างอาจารย์ไม่สามารถลงพื้นที่ไปด้วยกันได้ ก็ต้องแยกกันทำงาน ตัวเธอก็จะลงไปประสานกับคนในพื้นที่แล้วมาถ่ายทอดพูดคุยกับอาจารย์โดยให้ข้อมูลทุกเรื่องผ่านไลน์ คู่หูงานวิจัยทั้งสองคนนี้มีแนวคิดเหมือนกันว่า ไม่ว่าจะทำอะไรต้องมีข้อมูลที่เท่ากัน เพื่อใช้ในการตัดสินใจทำงานที่เท่ากัน

“ตอนนี้นิดเพิ่งอายุ 25 ทำงานกับอาจารย์มา 3 ปี พบว่าสิ่งได้เรียนรู้จากอาจารย์คือจะไม่มีการสั่งงานแบบให้ไปทำตามนี้ ตามนั้น แต่จะให้โจทย์ที่ต้องเรียนรู้ไปกับกระบวนการทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้เราต้องคิดหรือไปออกแบบกระบวนการทำงานของเราเองขึ้นมาแล้วนำมาเล่าให้อาจารย์ฟังว่างานนี้มีแผนที่ทำอะไรบ้างซึ่งกรณีนี้นิดคิดว่าหากเป็นการสั่งการหรือสั่งงานเลยโดยตรงก็จะเป็นเหมือนการต่อต้านความคิดเรา ไม่ให้คิดนอกกรอบ กลายเป็นทำให้เราต้องรอให้สั่งก่อนถึงจะลงมือทำ ที่สุดก็จะกลายเป็นนิสัยที่ต้องคอยรอคำสั่งไปโดยไม่ขยับทำงานด้วยตัวเอง” เธอเล่าในฐานะเป็นคู่หูที่ไว้ใจกันได้

“นิดต้องลงพื้นที่กับอาจารย์ทุกครั้ง ตอนแรกอาจารย์จะเป็นเหมือนพี่เลี้ยงในสนาม ไปประสานเพื่อเก็บข้อมูล ต้องเจอคนในพื้นที่ นิดก็จะคอยดูว่าเวลาอาจารย์พูดคุยอธิบายว่าจะทำงานวิจัยอะไร ต้องทำอะไร ตอนหลัง เวลาลงพื้นที่โดยไม่มีอาจารย์จำวิธีการทำงานนั้นมาใช้กับตัวเอง เวลาเจอปัญหาอะไรที่ต่างจากที่เคยเรียนรู้จากอาจารย์ ก็ต้องปรับเทคนิคการประสานงานของตัวเองเพื่อแก้ปัญหาให้งานลุล่วงไปได้” นิดเล่าและสรุปสิ่งที่ได้จากกระบวนการทำงานให้ฟังว่า

วิธีการทำงานที่ต้องไปหากระบวนการทำงานเอง เป็นเรื่องที่ท้าทายตัวเอง ในการหาโอกาสในการเรียนรู้การทำงาน โอกาสในการเรียนรู้แบบนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ การเรียนรู้แบบนี้จะทำให้ตัวเธอเองเกิดทักษะที่ภาคภูมิใจในวิธีการที่ได้มา