posttoday

'สุภาภรณ์ มาลัยลอย' พลิกชีวิต สู่นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม

10 มกราคม 2558

จุดพลิกเปลี่ยนในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่การเปลี่ยนทางเดินในชีวิตของ “สุภาภรณ์ มาลัยลอย” หรือ “น้องหนู”

จุดพลิกเปลี่ยนในชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกัน  แต่การเปลี่ยนทางเดินในชีวิตของ “สุภาภรณ์ มาลัยลอย” หรือ “น้องหนู”ถือว่าไม่ธรรมดา จากจุดเริ่มต้นที่ตั้งใจเข้ามาเรียนในคณะบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยความตั้งใจที่อยากจะเป็นนักบัญชีการเงิน จะได้หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว หวังให้ชีวิตที่มีพื้นเพเป็นชาวนาธรรมดาๆ ได้ดีขึ้น

กลับกลายมาเป็นคนที่มาทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาด้านกฎหมายและมีแนวโน้มว่าเธอจะอยู่ในเส้นทางการทำงานด้านนี้ไปอีกนาน ตราบเท่าที่เธอมีแรงทำ ทั้งที่เส้นทางนี้เธอไม่ได้วางแผนไว้แต่แรก

แต่เธอกลับมาเดินบนถนนของงานด้านสิ่งแวดล้อมจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี แถมยังก้าวหน้าในงานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากพนักงานผู้ช่วยทนายลงพื้นที่ช่วยเก็บข้อมูลในแต่ละคดี ต่อมาก็ขยับมาเป็นผู้ประสานงานโครงการ กระทั่งปัจจุบันเธอเลื่อนมาเป็นผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)

ชีวิตของผู้หญิงธรรมดาในเส้นทางของงานด้านกฎหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและรักษาไว้ซึ่งสิทธิของชุมชนในการจัดการทรัพยากรถือว่าไม่ธรรมดาเลย อะไรที่ทำให้ชีวิตของเธอพลิกผัน และยังยั่งยืนในเส้นทางการทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมมาได้ถึง 10 กว่าปีและจะยืนหยัดจะทำต่อไปอีกนาน

'สุภาภรณ์ มาลัยลอย' พลิกชีวิต สู่นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม

 

เธอเล่าถึงจุดพลิกเปลี่ยนในชีวิตของเธอว่า จากลูกสาวชาวนาที่เดินเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยรามคำแหง แรกเริ่มก็มุ่งเรียนเพื่อความก้าวหน้าในชีวิตเช่นคนอื่นๆ แต่เมื่อมีโอกาสได้เข้าไปร่วมกิจกรรมนักศึกษากับ “ชมรมค่ายอาสาพัฒนา มหาวิทยาลัยรามคำแหง” พื้นที่แห่งการเรียนรู้โลกกว้าง ทำให้คิดถึงการตอบแทนคืนกลับให้สังคมส่วนรวม มิใช่เพียงเพื่อตัวเองเท่านั้น ซึ่งการทำกิจกรรมค่ายอาสาในพื้นที่ห่างไกลยังได้เรียนรู้ปัญหาหลากหลาย และอยากมีส่วนร่วมในการทำให้มันดีขึ้น

บวกกับเมื่อปี 2541 ได้มีโอกาสทำงานด้านบัญชี ซึ่งสามารถทำไปด้วยเรียนไปด้วยกับบริษัทกฎหมายมีสิทธิตามคำแนะนำของรุ่นพี่ ทำให้ได้เรียนรู้กฎหมายจากการเข้าไปช่วยทำข้อมูลในคดีต่างๆ ของบริษัทด้วย เช่น คดีด้านแรงงาน  การให้คำปรึกษาแก่สหภาพแรงงาน อบรมความรู้ด้านกฎหมายแก่ชุมชนแออัด ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือคดีผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งตอนนั้นแม้จะทำในตำแหน่งธุรการและการเงิน แต่ก็ได้เรียนรู้กระบวนการทางกฎหมายไปด้วย

ต่อมาในปี 2544 มีการก่อตั้ง “โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม” ซึ่งมาในปี 2556 ได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่หรือมลพิษจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งพี่ๆ ที่ร่วมโครงการตั้งแต่ต้นได้ชวนเธอมาช่วยงานด้านธุรการและการเงินในโครงการนี้

'สุภาภรณ์ มาลัยลอย' พลิกชีวิต สู่นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม

 

แต่เนื่องจากการทำงานที่ได้มีโอกาสลงสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่เกิดปัญหา ได้พูดคุยกับชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิดตัวเองอยู่บ่อยๆ ทำให้เริ่มสนุกกับการทำข้อมูลและคิดค้นหาทางออกในมิติทางกฎหมาย มากกว่าการนั่งโต๊ะทำงานเอกสารทางการเงินและธุรการ

“การเข้าไปเห็นชุมชนติดข้อจำกัดทางกฎหมาย ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเขาเองก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่เข้าใจ ไม่รู้จะใช้สิทธิ และขั้นตอนทางกฎหมายอย่างไร แต่เมื่อเราเข้าไปให้ความรู้กับเขา ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาก็รู้สิทธิ รู้ว่าจะเดินไปปกป้องสิทธิของตัวเองตามช่องทางกฎหมายได้อย่างไร จุดนี้เองที่ทำให้เห็นว่าบทบาทของ Enlaw และตัวเราเองก็มีประโยชน์ต่อผู้อื่น สามารถช่วยเติมเต็มในแง่มุมด้านกฎหมายให้คนช่วยกันลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ นี่คือจุดที่ทำให้อยากทำงานด้านนี้ต่อ แม้ว่าจะทำมาแล้วกว่า 13-14 ปีและมีความรู้สึกท้อบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะเลิกทำ” สุภาภรณ์เล่าบทสรุปการตัดสินใจ

เธอเล่าต่อไปว่า สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตัวเองสามารถมายืนอยู่ตรงนี้ได้ คือ การสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองในการทำงาน ทั้งการทำงานกับชุมชน การอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมาย การได้แลกเปลี่ยน เรียนรู้จากชุมชน รวมถึงการได้ทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ สื่อมวลชนด้านสิ่งแวดล้อม จนงานที่ทำสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้บ้าง แม้จะไม่ถึงขั้นแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด แต่มันก็นำไปสู่การแก้ปัญหา ทำให้สนุกกับงาน และยังไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนงานไปทำด้านอื่น เพราะคิดเสมอว่า “ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับชีวิต คือสิ่งเดียวกัน” ทุกคนควรให้ความสำคัญและมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ไม่ใช่การตัดสินใจของใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ทั้งนี้ หากพูดถึงการตื่นตัวในเรื่องสิทธิของคน จะเห็นว่าหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้ประชาชนตื่นตัวสนใจสิทธิชุมชนมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านอ้างกฎหมายในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบและใช้สิทธิของตัวเองมากขึ้น ซึ่งนี่เป็นอีกจุดเปลี่ยนที่ทำให้ Enlaw ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้ชาวบ้านได้ใช้สิทธิของตัวเองให้ถูกต้องขึ้น

หากรับฟังและยอมรับสิทธิของชุมชนในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดสรรทรัพยากรที่เขามีวิถีชีวิตอยู่ตรงนั้น อย่ามองว่าชุมชนขัดขวางการพัฒนา

เรื่องนี้หากยอมรับสิทธิของกันและกัน การพัฒนาของภาครัฐและชุมชนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่ให้รัฐตัดสินใจเอง อย่างการตั้งโรงงานก็ไม่ใช่จะดูเพียงการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่เป็นส่วนหนึ่งในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเท่านั้น เพราะหากให้ชุมชนมีส่วนร่วมจะเป็นเกราะป้องกันสิ่งแวดล้อมได้มากกว่า

ทางออกหรือสิ่งที่ควรทบทวนร่วมกันมันอาจจะอยู่ที่การหันมาให้คุณค่ากับทรัพยากรและเอาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นต้นทุนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ เพราะหากเทียบค่าภาคหลวงหรือเงินที่ภาครัฐได้รับมาจริงๆ เทียบกับต้นทุนที่ภาครัฐต้องจ่ายออกไปในภายหลังเพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมหรือกากอุตสาหกรรมหรือสารพิษจริงๆ แล้วอาจจะไม่คุ้มกัน เช่น กรณีเหมืองคิตตี้ที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมควบคุมมลพิษจ่ายเงินชดเชยให้ชาวบ้านหลายชีวิต ที่ได้รับสารตะกั่วตกค้าง และสั่งให้จัดทำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเทียบเงินค่าภาคหลวงกับเงินงบประมาณที่ใช้แก้ไขปัญหาแล้ว คิดว่าภาครัฐใช้เงินจัดการ
แก้ไขปัญหามากกว่ารายได้ที่เคยได้รับมาเยอะมาก

จากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาจึงคิดว่าการให้ชุมชนร่วมตัดสินใจในแต่ละโครงการที่จะลงไปในพื้นที่น่าจะดีกว่าการแก้ไขปัญหาแบบรวมศูนย์  ซึ่งต้องตามล้างตามเช็ดกันทีหลัง มันไม่คุ้ม การหันหน้ามาคุยกันตามสิทธิที่พึงมีน่าจะดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และทำให้ชาวบ้านอยู่ร่วมกับโครงการพัฒนาได้อย่างมีความสุขกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

แต่เมื่อถามเธอเคยท้อกับงานที่ทำหรือไม่ เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่าเคยท้อบ้าง เพราะรายได้หรือผลตอบแทนมันไม่สูง ทำให้คำนึงถึงพ่อแม่ที่ต้องดูแล ซึ่งอาจจะทำได้ไม่ดีนักถ้ารายได้น้อย นึกอยากจะกลับไปทำบัญชีเหมือนกันเพราะรายได้อาจจะดีกว่า แต่ในที่สุดก็พยายามจัดการการเงินให้อยู่ได้อยู่แบบพอเพียง และพยายามหากำลังใจในยามท้อ ด้วยการคิดว่าถึงเราจะทุกข์ แต่มีคนที่ทุกข์กว่า และยิ่งเราได้เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยเขาได้ มันก็ทำให้เรามีความสุขได้ และพยายามที่จะสร้างนักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ให้งานด้านนี้เดินต่อไป มันจึงไม่มีวันไหนที่อยากจะเลิกทำงานด้านนี้เลย

ก่อนจบการสนทนาเธอแอบกระซิบว่า จากนี้ไปหวังว่ากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะการบังคับใช้กฎหมายแต่ละเรื่องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและแบ่งอำนาจบังคับใช้ในหลายองค์กร จะถูกปรับให้ดีขึ้น เช่น การเปิดหรือดูแลตัวโรงงานสักแห่ง หากจะดูเพียงพื้นที่สี่เหลี่ยมของโรงงาน ก็ต้องขึ้นกับกรมโรงงาน แต่ถ้ามีมลพิษออกมาข้างนอกโรงงานกฎหมายจะไปอยู่ภายใต้อีกหน่วยงาน  หรือถ้าลึกลงไปใต้ดินของโรงงานแห่งนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็จะไปขึ้นกับการบาดาล กรมทรัพยากรแต่ถ้าเกิดไปเกี่ยวข้องกับแม่น้ำกฎหมายก็ไปขึ้นกับกรมชลประทาน เป็นต้น หวังว่าต่อไปเมื่อมีคนรุ่นใหม่
เข้ามาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น จะมีการหาแนวทางบูรณาการร่วมกันได้