posttoday

คุณหญิงสุชาดา หญิงแกร่งแห่งจุฬาฯ

20 ธันวาคม 2557

หญิงแกร่งแห่งแวดวงการศึกษา “คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์” อดีตอธิการบดีหญิงคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หญิงแกร่งแห่งแวดวงการศึกษา  “คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์” อดีตอธิการบดีหญิงคนแรกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสภาจุฬาฯ คนปัจจุบันผู้นี้  ตกเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบทบาทอีกด้าน ในฐานะภริยา  ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ทั้งคู่ถือเป็นอธิการบดีจุฬาฯ คู่แรกที่โดดเด่นในขณะนี้

การเป็นนายกสภาจุฬาฯ หญิงคนแรก ย่อมเกิดความท้าทายในตัว โดยเฉพาะความสามารถที่จะผลักดันให้สถาบันการศึกษาชั้นนำแห่งนี้ไปสู่ทิศทางที่เหมาะสมในสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  คุณหญิงสุชาดา ยอมรับว่า ความคาดหวังในการปฏิบัติภารกิจในฐานะผู้หญิงที่เป็นผู้นำองค์กรย่อมมีขึ้น ไม่ว่าจากผู้หญิงด้วยกันเองหรือผู้ชาย ที่ต้องคาดหวังกับการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการทำงานบนความกดดัน แต่ก็ไม่เคยคิดหวั่นแม้แต่น้อย

“ความเป็นผู้หญิงมีส่วนทำให้เราสามารถจะทำอะไรได้หลายอย่าง ที่ผู้ชายทำแล้วอาจจะดูทื่อๆ เช่น บางครั้งอาจจะท้าทาย ชวนตี แต่พอเป็นผู้หญิง เขาคงจะไม่มาต่อยตีกับเรา หลายครั้งพูดอะไรแรงๆ ออกไป
เขาโกรธ แต่พอเห็นหน้าไม่รู้จะทำอย่างไร ท้าชกก็ไม่ได้ ถ้าเป็นผู้ชายละก็เกิดเรื่องไปแล้ว” อดีตอธิการบดี เปรยถ้อยคำและรอยยิ้ม

“ผู้หญิงมีมุมมอง วิธีการต่างจากผู้ชาย มองออกว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน นอกจากนั้นในส่วนของวิธีการก็ไม่สื่อสารไปทื่อๆ แต่มีศิลปะในการพูด สร้างความสบายใจ แทนที่จะพูดให้คนไม่สบายใจ นิสัยส่วนตัวดิฉันไม่ใช่ผู้หญิงที่หวาน แต่เป็นคนเอางานเป็นหลัก หลายคนไม่ค่อยรู้สึกว่าเราเป็นสตรี น่ารัก แต่เราเน้นเอาหลักการนำ แม้จะเป็นผู้หญิง แต่มีสมอง มีความตั้งใจจะทำงาน  ถ้าหากหลักถูกต้อง ไม่ยอมหลบไปไหนแน่ แต่ต้องฟังคน ไม่ใช่จะเอาโน่นนี่  เพราะจะต้องวิเคราะห์เป็นเหตุผลก่อนจึงตัดสินใจ”

ความผูกพันในฐานะอดีตนิสิตจุฬาฯ และการทำหน้าที่อธิการบดีในช่วงที่ผ่านมา ย่อมเป็นส่วนผสานบันดาลใจให้เกิดความรักและศรัทธาในสภาบันแห่งนี้ คุณหญิงสุชาดา อธิบายว่า ประสบการณ์ในรั้วจามจุรี มีส่วนสำคัญที่ทำให้ดิฉันก้าวมายังจุดนี้ เพราะความซาบซึ้งและเข้าใจในเป้าหมายของจุฬาฯ เป็นอย่างดี ส่วนตัวตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่า คุณภาพของสถาบันดีขึ้นหรือไม่ ภายใต้การวางยุทธศาสตร์ของสภาจุฬาฯ เมื่อได้คำตอบนั้น ก็จะนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย ท้ายที่สุดคือการออกแบบวิธีการที่จะไปสู่การปฏิบัติ

การศึกษามากกว่าใบปริญญา

ขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า จุฬาฯ ไม่สามารถหยุดนิ่งอยู่กับความสำเร็จในอดีตได้ ฉะนั้นการผลักดันให้จุฬาฯ ทะยานสู่เป้าหมายของการเป็นสถาบันที่สร้างคนดี คนเก่ง ให้กับสังคมไทย จึงต้องขับเคลื่อนต่อไป คุณหญิงสุชาดา เผยวิสัยทัศน์ว่า จะต้องสร้างบัณฑิตรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่อยู่กับการเรียนแบบในอดีต คือ เรียนแล้วไม่ต้องหาความรู้ใหม่เพิ่มเติม หากหยุดนิ่งอย่างนั้น โลกจะก้าวนำเรา เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การเรียนการสอนจะใช้วิธีการเดิมไม่ได้

“ยุทธศาสตร์ของจุฬาฯ ในมุมกว้าง ยังคงมุ่งสู่การเป็นสถาบันการศึกษาระดับต้น ที่สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้น คือ ปลุกระดมบุคลากร นิสิต และคณาจารย์ของจุฬาฯ ให้เข้าใจว่าการขับเคลื่อนสถาบันจะต้องมาจากการมีส่วนร่วม ไม่ต้องรอให้ใครบอกว่าจะต้องอะไร”

นายกสภาจุฬาฯ บอกว่า จะต้องพัฒนากลไกปลูกฝังให้เด็กเกิดความเข้าใจในสังคม ไม่ใช่แค่ใบปริญญา รู้ว่าประเทศไทยมีความหลากหลาย ซึ่งเราจะต้องช่วยกันพัฒนาประเทศให้ดีขึ้น ไม่ใช่วันหนึ่งเติบโตเป็นผู้มีบารมี ไปฉวยเอาผลประโยชน์ โดยไม่คำนึงผลที่จะตามมาว่า จะต้องมีคนจ่ายสิ่งที่เราหยิบฉวยไป ซึ่งไม่ใช่ใคร นอกจากคนไทยตาดำๆ ที่จะต้องมาจ่ายตรงนี้ ฉะนั้นจะต้องปลูกฝังคุณธรรมให้อยู่ในสมองนิสิตเหล่านี้ เพราะเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสที่จะดีก็มาก ไม่ดีก็มีเช่นกัน

บริบทของสังคมไทยที่เหลื่อมทับระหว่างสังคมยุคเก่าและสังคมสมัยใหม่ กระบวนทัศน์ที่อยู่ในบุคคลแต่ละวัยย่อมแตกต่าง “ครู” ผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ที่เติบโตจากยุคหนึ่งแต่ต้องสื่อสารกับ “นิสิต” อีกยุคหนึ่ง จึงไม่อาจหลีกหนีความย้อนแย้งดังกล่าว กระบวนการใดเล่าที่องค์ความรู้ที่สั่งสมของคนรุ่นก่อน ที่จะขัดเกลานิสิตให้เป็นคนดี คนเก่ง ของประเทศไทย ซึ่งคุณหญิงสุชาดาเจาะกลยุทธ์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ว่า จะต้องกล่อมเกลานิสิตด้วยกระบวนการที่เรียกว่า “จิตสังคม” (Social Mild) ให้นิสิตเกิดความรู้สึกเป็นสมาชิกหนึ่งในสังคม มีหน้าที่สร้างสังคมที่ดี ไม่ทำร้ายประเทศชาติ

“ไม่ว่าบัณฑิตของเราจะไปอยู่ในองค์กรไหน จะต้องตระหนักให้ได้ว่า สังคมจะต้องเติบโตไปพร้อมกับเรา ไม่ใช่คิดแต่ได้ฉันคนเดียว เอาตัวรอด กอบโกยผลประโยชน์ แล้วปล่อยให้สังคมเป็นผู้จ่าย สมการสมดุลเสมอ ถ้าคุณเอามามาก ก็จะต้องมีคนจ่ายมาก แต่ในอีกแง่หนึ่งถ้าสังคมได้ เราจะอยู่รอด จะต้องสร้างความคิดนี้ ว่ามันใช่”

“ฉันอยากจะชนะ อยากได้กำไรเยอะ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่กำไรที่ได้ต้องยุติธรรม ไม่ใช่ลูกค้าเราเสียหาย เหมือนการกอบโกยผลประโยชน์ แล้วปล่อยให้สังคมแย่ รวมถึงการมอมเมาประชาชนให้เชื่อในสิ่งไร้สาระ หลงกับดัก วัตถุนิยม โจทย์ยาก คือจะทำอย่างไรให้นิสิตจุฬาฯ สังคม และประเทศไทยดีไปพร้อมๆ กัน แต่หากทำได้สังคมเราก็จะก้าวหน้า ทุกฝ่ายเติบโตไปพร้อมๆ กัน”

คุณหญิงสุชาดา  หญิงแกร่งแห่งจุฬาฯ

 

เด็กในเมืองน่าสงสาร ใช้ชีวิตในสังคมออนไลน์

 บทบาทสำคัญของคุณหญิงสุชาดา ไม่จำกัดเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาในรั้วจุฬาฯ เพียงเท่านั้น หากแต่อดีตที่ผ่านมายังได้เป็นกำลังหลักปรับปรุงระบบการศึกษาหลายครั้ง โดยเฉพาะการทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2550ซึ่งมีส่วนปรับทิศทางการศึกษาไทยในครั้งนั้น  ขณะเดียวกัน กระแสปฏิรูปวันนี้กำลังร้อนแรง มี “ศ.เทียนฉาย กีระนันทน์”ทำหน้าที่หัวเรือใหญ่ในการปฏิรูป

“การศึกษาในภาพรวมของประเทศไทยวิกฤตมาก หากพิจารณาจากผลสัมฤทธิ์ที่ออกมา แต่ไม่ใช่การพิจารณาจากการจัดลำดับโดยสถาบันต่างๆ ตรงนั้นไม่สนเลย แต่เรากลับติดกับตรงนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ควรดูผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนมากกว่า แต่มองดูสิ ตอนนี้เด็กของเรามองมีความสุขไหม ทั้งที่เราฝากอนาคตประเทศไว้ในมือของเขา หากไม่สามารถเตรียมคนที่ดีได้ ไม่ต้องหวังจะไปแข่งกับต่างชาติ คนเท่านั้นที่จะเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ใหม่ ถ้าคนไม่เก่ง ไม่เข้มเข็ง โดยเฉพาะเชิงคุณธรรม จริยธรรม”

“โดยเฉพาะชีวิตเด็กในเมืองน่าสงสาร บ้านอยู่ที่หนึ่ง แต่ต้องไปเรียนไกล ยกตัวอย่างใกล้ๆ ตรงโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ  เช้ามาถึงโรงเรียน พ่อแม่จับเขย่าๆ ป้อนข้าว จนหนึ่งทุ่มกลับมารับ ถามว่าคุณภาพชีวิตของเด็กจะเป็นอย่างไร เล่นเกม แชต ไลน์ นี่คือคุณภาพชีวิตเด็กที่มองเห็น เรายังไม่ได้สร้างคนที่จะไปสู้กับโลกยุคหน้า  ความแกร่งในอารมณ์หรือวุฒิภาวะมีหรือไม่”

“ทุกคนลุ่มหลง สับสน โกงก็ได้ ขอบ้างสิ ฟังแล้วใจมันเลือดไหล พูดตรงๆ เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะมันเห็นใช่ไหม ว่าผู้ใหญ่ทำ เช่นเดียวกับการพูดถึงความปรองดอง ที่จะทำบนพื้นฐานของการหมักหมมมานาน  มันไม่ได้ จะต้องสอนให้เด็กเข้าใจว่า อะไรคือความถูกต้อง กาลเทศะ รู้ถูกผิด”

คุณหญิงสุชาดา วิเคราะห์ยุทธศาสตร์ที่จะแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาปัจจุบัน ว่า ระบบการศึกษาไทย สร้างกระบวนทัศน์ที่บิดเบี้ยวให้กับนักศึกษาอย่างมาก นอกจากนั้นยังมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างหลายครั้ง จนไม่สามารถหาแก่นสารได้ ซึ่งยุทธศาสตร์สำคัญที่จะแก้ไขปัญหานี้ คือ การคืนครูกลับสู่ห้องเรียน ไม่ใช่ให้ครูระดับมัธยมศึกษาและครูระดับประถมศึกษา ทำงานวิจัยแข่งขันกัน เช่นเดียวกับอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัย ครูจะต้องอยู่กับผู้เรียนให้มากที่สุด เพราะหน้าที่ของครูอย่างตรงจุดนั้น ครูเองเข้าใจผิดในหลักของ Child Center ปล่อยผู้เรียน แล้วตนเองก็มาทำวิจัย นั่นคือความผิดพลาด เพราะหน้าที่ของครูคือพัฒนาทักษะของผู้เรียนและสร้างเสริมความรู้ให้สอดคล้องกับวัย

ในขณะที่สังคมคาดโทษว่าครูคือต้นเหตุสำคัญของระบบการศึกษาที่ล้มเหลว แต่ในทัศนะของคุณหญิงสุชาดา กลับมองว่า ไม่สามารถคาดโทษหรือปฏิรูปเฉพาะวงการครู แต่จะต้องขับเคลื่อนทุกภาคส่วนไปพร้อมกัน แต่ในส่วนของครูนั้นจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดการเมือง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หรือเขตการศึกษา เช่น การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังจำเป็นจะต้องใช้ทุนทรัพย์ เพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งที่ต้องการ สถานการณ์อย่างนี้มันน่าเศร้า

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการปฏิรูปการศึกษาจะยากลำบากเท่าไหร่ แต่เราจะต้องมีหวัง เพราะหากสิ้นหวัง ก็ไม่ต้องทำอะไรอีกแล้ว แต่ต้องลุกขึ้นมาทำ ไม่ใช่รอให้ สปช. ครม. กระทรวงศึกษาฯ ทำ เพราะถ้าเราช้า แล้วปล่อยให้เป็น อย่างนั้นไม่มีความหวัง จบแต่นาทีแรก รักประเทศไทยมากๆ ไม่ต้องไปรักคนอื่นมาก ถ้าไม่มีประเทศ เราจะไม่มีศักดิ์ศรีอยู่ในโลกนี้เลย นี่ไทยแลนด์ของฉัน นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ” อดีตอธิการบดีจุฬาฯ ทิ้งท้าย