posttoday

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

13 ธันวาคม 2557

วงการอวกาศกำลังก้าวสู่ยุคบุกเบิกดาวอังคารหลังยานอวกาศไร้คนขับโอไรออน(Orion)

วงการอวกาศกำลังก้าวสู่ยุคบุกเบิกดาวอังคารหลังยานอวกาศไร้คนขับโอไรออน(Orion) ถูกส่งไปทดสอบระบบนอกโลกและกลับมาสำเร็จเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหลังจากเมื่อ 45 ปีก่อนยานอพอลโล 11 ส่งคนไปดวงจันทร์ได้เป็นครั้งแรก ตามมาด้วยยานอพอลโล 16 ที่สามารถพาคนไปอยู่บนดวงจันทร์ได้นานถึง 71 ชม. 14 นาที

หนึ่งในตำนานแห่งยานอพอลโล 16 ที่ยังมีชีวิตอยู่ “ชาร์ลี ดุค” (CharlieDuke) ในวัย 79 ปี ได้เดินทางมายังประเทศไทยเนื่องในโอกาสเปิดนิทรรศการอวกาศ นาซ่า เอ ฮิวแมนแอดเวนเจอร์ หากไม่บอกว่าเขาเคยเป็นนักบินอวกาศ ชาร์ลี ดุค ในวันนี้ก็ดูเหมือนคุณตาใจดีที่มีนิทานก่อนนอนเล่าให้หลานฟังทุกคืน ซึ่งนิทานเรื่องนี้มีอยู่ว่า

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

บทที่ 1 นักบินอวกาศผู้เหยียบดวงจันทร์

ชาร์ลี ดุค เป็นชาวอเมริกัน เกิดในครอบครัวทหารทำให้เขามีแรงบันดาลใจอยากรับใช้ชาติตามบิดา ชาร์ลีจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ที่สถาบันวิทยาศาสตร์การเรือ กองทัพเรือสหรัฐ จากนั้นปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์อวกาศที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT - Massachusetts Institute of Technology) ในขณะที่ศึกษาในเอ็มไอทีนั้นเอง เขาได้รู้จักกับนักบินอวกาศ ผู้จุดประกายไฟในตัวเขาให้
มองเห็นว่าอะไรคือ สิ่งที่ตัวเองต้องการ

หลังจากนั้น ชาร์ลี ดุค ได้สมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการอพอลโล จนกระทั่งเขาอายุ 31 ปี หรือในปี 2509 เขาได้รับเลือกให้เข้าร่วมกลุ่มนักบินอวกาศชุดที่ 5 ของนาซ่า และเริ่มต้นด้วยการเป็นลูกเรือสนับสนุนนักบินอวกาศบนยานอพอลโล 10 เขามีส่วนเกี่ยวข้องกับยานอพอลโล 5 ลำ ได้แก่ อพอลโล 10, 11, 13, 16 และ 17 แต่ลำที่มีผลต่อชีวิตเขามากที่สุดคงหนีไม่พ้นยานที่ทำให้เขาสัมผัสดวงจันทร์ “อพอลโล 16”

ในปี 2515 ชาร์ลีได้รับหน้าที่เป็นนักบินบังคับการยานอพอลโล 16 มีเป้าหมายคือสำรวจดวงจันทร์ เขาและลูกเรือรวม 3 คน สามารถไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จและพวกเขาสามารถอยู่บนนั้นได้นาน 71 ชม. 14 นาที เมื่อกลับมาชื่อ ชาร์ลี ดุคก็ได้ถูกจารึกไว้ว่าเขาคือมนุษย์คนที่ 10 ที่ได้เดินบนพื้นผิวดวงจันทร์

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

บทที่ 2 โลกวิ่งขึ้นจากขอบดวงจันทร์

สิ่งแรกที่ชาร์ลีเห็นเมื่อมองกลับมายังโลกคือ ความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นสีฟ้าสีขาว หรือสีน้ำตาล มันช่างงดงามท่ามกลางความมืดมิดของอวกาศ และมันคือสีที่ทำให้สิ่งมีชีวิตบนโลกมีชีวิตอยู่ได้

“The most beautiful planet in the solar system.” เขาอธิบายความสวยงามของโลกในห้วงอวกาศ และพรรณนาถึงความสวยงามของท้องทะเล น้ำแข็ง และเมฆ เมื่อได้มองจากนอกโลก ชาร์ลียังบอกด้วยว่า ในระยะ 3 หมื่นกิโลเมตร จากโลกคือระยะที่จะมองเห็นภูมิศาสตร์ของโลกได้ชัดเจนที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาบ้านเกิด เทือกเขาร็อกกี้ เม็กซิโก แคนาดา และขั้วโลกเหนือแต่ความประทับใจใดๆ ก็ไม่เทียบเท่าขณะที่เขาอยู่บนด้านมืดของดวงจันทร์และมองไปยังโลก ภาพโลกสีฟ้าค่อยๆ เคลื่อนขึ้นพ้นขอบดวงจันทร์เป็นภาพที่เขาไม่สามารถลบออกจากความทรงจำ

ในทางกลับกัน เมื่อเขากลับมาสู่โลกอีกครั้ง ตอนนั้นเขาคิดอะไร ชาร์ลี ตอบว่า เขา “ไม่คิดอะไรเลย นอกเสียจากจดจ่ออยู่กับภารกิจ” นั่นเพราะภารกิจครั้งนั้นจะสำเร็จโดยสมบูรณ์เมื่อทุกคนกลับสู่พื้นโลกอย่างปลอดภัย

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

บทที่ 3 ชาร์ลี ดุุค ผู้ซุกซน

นักบินอวกาศบนยานอพอลโล 16 ได้กำเนิดโอลิมปิกบนดวงจันทร์ หรือ MoonOlympic ซึ่งเกือบทำให้ ชาร์ลี ดุค ไม่มีตั๋วกลับมายังโลก เขาเล่าว่า หลังจากทำภารกิจบนดวงจันทร์เสร็จสิ้น เขาและเพื่อนได้คิดสนุกเล่นโอลิมปิกบนดวงจันทร์ โดยเขาเลือกที่จะกระโดดสูง แต่ใครจะคาดคิดว่าการกระโดดบนอวกาศเกือบฆ่าชีวิต

“ตอนนั้นหัวใจเต้นรัวมาก เพราะถ้าไม่หมุนตัวไปทางขวาไม่ทันก็อาจตายไปแล้ว” ชาร์ลีเล่านาทีชีวิตให้ฟัง  และอธิบายว่า นั่นเพราะอุปกรณ์ช่วยชีวิตทั้งหมดอยู่ทางด้านหลัง ถ้าเขาล้มแล้วทำให้เครื่องเสียหายก็จะตายในอวกาศได้ทันที และหลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น การเล่นโอลิมปิกบนดวงจันทร์ก็กลายเป็นข้อห้ามเด็ดขาดของนักบินอวกาศ เขาเองก็ยังจำความกลัวในวินาทีนั้นได้ดี

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

บทที่ 4 เงินอวกาศ

ชาร์ลี ดุค ให้ข้อมูลว่า เมื่อปีก่อนโรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) ได้ทำการวิจัยพบว่า “โครงการอพอลโลได้สร้างผลกำไรมากถึง 80 เท่า จากเงินที่ลงทุนไป” เพื่อเป็นการยืนยันในข้อสงสัย จะดีกว่าหรือไม่ หากนำเงินจำนวนมหาศาลในโครงการสำรวจอวกาศมาพัฒนาโลกที่มนุษย์อยู่

เขายังกล่าวด้วยว่า โครงการอพอลโลทำให้คน 4 แสนคน มีงานที่ดีทำและยังเป็นการสร้างความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์แก่คนเหล่านั้นได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ประเด็นสำคัญคือ มันเป็นต้นกำเนิดการ “ปฏิวัติเทคโนโลยี” เขายกตัวอย่างสมาร์ทโฟนที่ได้พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีในยานอวกาศ ทำให้ทุกวันนี้เรามีโทรศัพท์มือถือที่มีหน่วยความจำมากกว่าคอมพิวเตอร์ในยานอพอลโลมากถึง 2 แสนเท่า ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติการสื่อสาร ปฏิวัติคอมพิวเตอร์ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ พัฒนาอุตสาหกรรม และพัฒนาเศรษฐกิจของโลก

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

อีกตัวอย่างล่าสุด ยานอวกาศไร้คนขับโอไรออนที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 291,200 ล้านบาทแม้จะเป็นเพียงการทดสอบระบบ แต่ก็เพื่อเป้าหมายในอนาคตที่จะนำคนขึ้นไปพร้อมยานได้ 6 คน เดินทางสำรวจดาวเคราะห์น้อยที่ใกล้โลกมากที่สุดในอีก 10 ปีข้างหน้า และจะไปไกลถึงดาวอังคารในปี 2573

เดิมทียานโอไรออนมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งมนุษย์อวกาศไปยังดวงจันทร์ในโครงการคอนสเตลเลชั่น แต่ต้องยุติไปในปี 2553 หลังประธานาธิบดี บารัก โอบามา สั่งยกเลิก และในปีถัดมา 2554 โอบามาได้ยุติโครงการกระสวยอวกาศของนาซ่าทั้งหมด ทำให้การปล่อยยานโอไรออนเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาเป็นฤกษ์งามที่ผู้นำสหรัฐจะไฟเขียวด้านการสำรวจอวกาศต่อไป

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

บทที่ 5 นักบิน นักบุญ

หลังจาก ชาร์ลี ดุค เกษียณตัวจากภารกิจนักบินอวกาศ เขาได้ทำธุรกิจส่วนตัวและเป็นประธานโครงการเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ ดุค มินิสทรีฟอร์ ไครส์ต (Duke Ministry for Christ) ซึ่งทำให้เขาเห็นการตีความความจริง 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง พระเจ้าเป็นผู้สร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหลายส่วนอีกด้าน วิทยาศาสตร์ให้มองไปที่ความจริง (Fact) ชาร์ลี ดุค กล่าวว่า “มันเป็นความแตกต่างของวิธีการมองความจริงบางอย่าง” ซึ่งทั้งสองอย่างไม่ใช่ความขัดแย้ง เขายกตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ หรือนักบินอวกาศจำนวนมากที่นับถือศาสนาคริสต์ นับถือพระเจ้า แสดงให้เห็นว่าความเชื่อและเหตุผลสามารถเคียงคู่กันไปได้โดยไม่มีความขัดแย้งใดๆ

ชาร์ลี ดุค ผู้เหยียบดวงจันทร์

 

ปัจฉิมบท ‘It depends on you.’ (ขึ้นอยู่กับตัวคุณเอง)

หากอยากเป็นนักบินอวกาศ สิ่งสำคัญประการแรก คือ แรงบันดาลใจ (Motivation) และความปรารถนา (Desire) ถ้ายึดมั่นในความตั้งใจแล้วมันจะแสดงออกมาให้เห็นเวลาคัดเลือก สอง คือความพร้อมด้านร่างกาย และสาม การศึกษาซึ่งความรู้พื้นฐานที่นักบินอวกาศต้องมีคือด้านวิศวกรรม แต่ดุคได้ย้ำไปที่ปัจจัยแรกเป็นพิเศษ เพราะมันคือแรงผลักดันที่ทำให้เขาก้าวสู่วงการอวกาศและได้นำตัวเองไปเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จสมความปรารถนา