posttoday

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

09 ธันวาคม 2557

แล้วเราก็มาอยู่ที่นี่...สามพราน จ.นครปฐม เดินทางจากกรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง สู่ดินแดนแห่งส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

แล้วเราก็มาอยู่ที่นี่...สามพราน จ.นครปฐม เดินทางจากกรุงเทพฯ 1 ชั่วโมง สู่ดินแดนแห่งส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวสวย หนึ่งในแหล่งเกษตรกรรมที่(เคย)ได้ชื่อว่าสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เกิดอะไรขึ้นกับแหล่งแห่งที่อันเป็นตำนาน เพราะแม้วันนี้ส้มโอยังคงหวาน ข้าวสารยังคงขาว (และลูกสาวก็ยังคงสวย-ฮา) แต่ส้มโอ ข้าวเปลือก ข้าวสาร รวมทั้งพืชผักผลไม้อื่น ฝรั่ง ชมพู่ กล้วย มะพร้าว มะม่วง ฯลฯ กลายเป็นเจือเปื้อนไปด้วยสารเคมี ปุ๋ยยาสารพัด

แล้วเราก็มาอยู่ที่นี่...สามพราน กับความพยายามที่จะกู้กลับ ฟื้นชื่อ อ.สามพราน ให้กลับไปเป็นแหล่งปลูกผักผลไม้คุณภาพ ย้อนกลับไปสู่เกษตรอินทรีย์ ย้อนกลับไปสู่วิถีชีวิตที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของทั้งผู้ปลูก ผู้ซื้อ และผู้บริโภค จะทำอย่างนั้นได้อย่างไร คำถามที่นำไปสู่จุดเริ่มต้น...สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

สามพรานโมเดล เริ่มต้นจากแนวคิดของอรุษ นวราช กรรมการผู้จัดการ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ ในฐานะประธานจัดงานวันสังคมสุขใจ ครั้งที่ 1 ที่ต้องการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ จากความต้องการอยากได้ผักผลไม้ที่เป็นอินทรีย์ นำมาให้บริการแก่ลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม ขณะนั้นเป็นปี 2553 เขาเพาะแปลงผักผลไม้แปลงเล็กๆ ขึ้นที่ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำของโรงแรมสามพรานฯ

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

การเริ่มต้นของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่เริ่มหันมาสนใจการทำเกษตรกรรมแบบวิถีอินทรีย์ แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้ ที่สำคัญคือขาดตลาดรองรับ โรงแรมซึ่งต้องการผักผลไม้อินทรีย์จำนวนมาก ได้รับซื้อไว้ทั้งหมด ถือเป็นจุดเริ่มต้นของความเชื่อมโยงและนำมาซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปลูกและผู้รับซื้อ ที่ต่อมามีบทบาทอย่างยิ่งต่อการกระเพื่อมไหวของเกษตรอินทรีย์วิถีแห่งสามพราน นครปฐม

“ช่วงแรกไม่มีใครอยากเปลี่ยน เพราะคิดว่าอินทรีย์ทำยาก ผลผลิตน้อย ไม่มีตลาด เราจึงคิดทำตลาดทางเลือก โดยพัฒนาพื้นที่ 2 ไร่ในโรงแรมเป็นตลาดสุขใจ ทุกสุดสัปดาห์ให้เกษตรกรนำผักผลไม้ปลอดสารมาจำหน่ายตรงแก่ผู้ซื้อ” อรุษเล่า

โรงแรมจัดหาผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือสุ่มตรวจคุณภาพพืชผักของเกษตรกร เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม กลไกที่สำคัญจริงๆ คือ การสร้างศรัทธาความเชื่อมั่น โดยตรวจตั้งแต่ต้นน้ำ พื้นที่เกษตรแปลงเพาะปลูก โดยทำงานร่วมกับหัวหน้ากลุ่มในพื้นที่ เพราะสุดท้ายแล้วก็คือระบบที่สามารถเชื่อใจได้ในความซื่อสัตย์ของกลุ่มเกษตรกรเอง ดูแลกันเองระหว่างเกษตรกร มูลนิธิใช้วิธีสร้าง “ฮีโร่” เกษตรกรในพื้นที่ ตัวจริงเสียงจริงทำจริง ทำเกษตรอินทรีย์แล้วได้ผล ได้เงิน ปลอดหนี้ วิธีนี้ชาวบ้านมาเอง เปลี่ยนจากเคมีมาทำอินทรีย์เพราะเห็นตัวอย่าง เห็นฮีโร่

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

 

“ปัจจุบันสามพรานมีเกษตรกรที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ IFORM จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. แล้ว 5 คน พวกนี้ล่ะครับคือฮีโร่ ชาวบ้านเห็นฮีโร่ของเขาทำเกษตรอินทรีย์แล้วปลดหนี้ได้ ขายของได้ ร่ำรวยขึ้นได้ เขาก็ตามกันมา อย่างที่บางช้าง ปีหน้าอาจจะมีตามมาทั้งตำบล รวม อ.สามพราน ทั้งหมดคาดว่าจะมีเกษตรกรอินทรีย์ที่ผ่าน มกท.ปีนี้อีก 30 คน และปี 2558 คาดจะมีเพิ่มอีก 60 คน” อรุษว่า

ตลาดซึ่งเป็นหัวใจที่เกษตรกรหวังพึ่ง สามพรานนับหนึ่งจากตลาดสุขใจ ซึ่งหวังจะนำร่องไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ในฐานะของตลาดทางเลือก ที่จะต่อยอดขยายผลในอนาคตไปยังเกษตรกรในพื้นที่รายอื่นๆ สร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรที่ยังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ หรือในรายที่ยังไม่กล้ากระโจนลงมาเต็มตัวในวิถีอินทรีย์เกษตร

ย้อนรอยเส้นทางสามพรานโมเดล 5 ปีที่ผ่านมา สู่บทเรียนรู้ที่มีคุณค่า ความสำเร็จได้มาจากการร่วมมือกันของเครือข่ายทุกภาคส่วน ท้องถิ่น ภาครัฐ เกษตรตำบล เกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด หน่วยงานสาธารณสุข รวมทั้งมหาวิทยาลัยที่ร่วมขับเคลื่อน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นอกจากนี้คือเอกชน แนวร่วมในฐานะผู้รับซื้อ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมสามพรานฯ เอง และธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้ตลาดสุขใจสัญจร เกษตรกรเดินทางมาขายเอง ชั่งกิโลเอง รับสตางค์เอง ตัดห่วงโซ่ตรงกลางพ่อค้าหน้าสวนออกไป

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

 

“เราทุกคนอยู่ในห่วงโซ่อาหาร ต้นน้ำคือเกษตรกร กลางน้ำคือพ่อค้าคนกลาง ปลายน้ำคือผู้บริโภค ต้นน้ำพัฒนาสู่เกษตรวิถีอินทรีย์แล้ว ตรงกลางล่ะ เราก็พยายามเชื่อมตรงนี้ พยายามทำห่วงโซ่ตรงนี้ให้สั้นที่สุด พ่อค้าคือเกษตรกรเอง วิธีนี้ผู้บริโภคก็ได้ เกษตรกรก็ได้”

การขายตรงให้ผู้บริโภค ตัดพ่อค้าคนกลางออกไป ตัดต้นทุนค่าโสหุ้ยออกไปหลายทอด คิดเป็นราคาก็ประหยัดสตางค์ในกระเป๋าผู้บริโภคได้โข เกษตรกรยิ้มได้ พอใจในราคาพออยู่พอกิน จากเดิมที่สินค้าอินทรีย์เมื่อขายผ่านคนกลาง หลายครั้งกลายเป็นสินค้าตกเกรด ขายได้ราคาต่ำ สินค้าที่ใช้เคมีขายได้ราคากว่า ทั้งที่ผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่มีใครอยากกินสารเคมี อีกเหตุผลหนึ่งที่พ่อค้าคนกลางกลายเป็นกลไกผลักดันให้มีการใช้เคมี เนื่องจากต้องการสินค้าสวยไร้ตำหนิ

อาจารย์ง่ายงาม ประจวบวัน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการเล่าว่า อันดับแรกมหาวิทยาลัยไม่ได้โฟกัสหรือจับจุดที่การเกษตรโดยตรง แต่จับหลักแรกที่วิธีสื่อสาร จะทำอย่างไรให้ทุกคนหันหน้ามาคุยกัน ทำอย่างไรให้คนที่อยู่ในวัฒนธรรมที่แตกต่างคุยกันได้ เกษตรกรพูดภาษาหนึ่ง นักวิชาการพูดภาษาหนึ่ง สามพรานโมเดลทุกคนหันหน้าเข้ามาคุยกัน บ่งบอกถึงความเป็นญาติพี่น้อง วิธีนี้ทำให้ทุกคนช่วยกันได้จากจุดที่ตัวยืนอยู่ จะพัฒนาอะไร ก็ช่วยกันแก้ปัญหา

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

“สามพรานโมเดลไม่ใช่เรื่องสั้นๆ ง่ายๆ เพราะมันมีความต่างระดับกันอยู่ ตั้งแต่เกษตรกรตัวเล็กๆ เกษตรตำบล นโยบายระดับชาติ ฉะนั้นก็จะเห็นเส้นแนวดิ่ง เราก็ต้องมาหาเส้นเชื่อมกันก่อน ดูว่ามีองค์ความรู้อะไรที่จะช่วยเหลือกัน องค์ความรู้ของแต่ละภาคส่วนนำมาร้อยเชื่อมจับคู่ สำคัญคือการหาบทบาทของแต่ละคนให้เจอก่อน เพราะเมื่อทุกคนเจอตำแหน่งและบทบาทหน้าที่ของตัวแล้ว ก็จะเชื่อมร้อยกับห่วงโซ่ทั้งหมดได้”

ประหยัด ปานเจริญ เกษตรกรกลุ่มบางช้าง เล่าว่า นาน 10 ปีที่ล้มลุกคลุกคลานระหว่างการทำเกษตรเคมีกับเกษตรอินทรีย์ ใจอยากทำอินทรีย์ แต่มีปัญหาการตลาด เพราะเกษตรอินทรีย์นั้นเมื่อส่งขายรวมกับเกษตรเคมี จะถูกตีเป็นของตกเกรด เกษตรเคมีขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท เกษตรอินทรีย์ได้ 7 บาท ก็หันกลับไปทำเคมีอีก พยายามผลักดันเรื่องนี้ในทุกเวที ไม่เคยประสบผล

“มาถึงวันนี้มีสังคมสุขใจ เราคิดว่างานนี้ถูกต้องแล้ว เพราะทำให้เกษตรกรอย่างพวกเรามีความสุข ความภูมิใจที่สุดคือตั้งแต่ชีวิตการทำเกษตรอายุ 50 กว่าปีแล้ว ไม่เคยเห็นว่าเกษตรกรคนไหนกำหนดราคาผลผลิตของตัวเองได้ แต่เรามาถึงจุดที่เกษตรกรเป็นผู้กำหนดราคาเอง คุยกันได้ว่า ราคานี้เกษตรกรอยู่ได้ไหม ผู้บริโภคอยู่ได้ไหม เราอยากให้ผู้บริโภคได้กินของดี ของถูก เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้”

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ

 

วาสนา กลิ่นพยอม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลยายชา เล่าว่า สามพรานโมเดลจะเป็นต้นแบบให้อำเภออื่นๆ และตำบลอื่นๆ สำคัญคือผู้นำต้องเข้มแข็ง เมื่อผู้นำเข้มแข็ง เกษตรกรก็ต้องเข้มแข็ง เชื่อมั่นในตัวของตัวเองว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ดี ณ วันนี้คือความภูมิใจ ที่เป็นต้นแบบแก่เพื่อนเกษตรกรด้วยกัน เกษตรอินทรีย์คือสิ่งที่ทำได้จริง ขายได้จริง ภาครัฐอย่าปล่อยให้เกษตรกรโดดเดี่ยว

ตกผลึกสู่แนวคิดโซ่อุปทานอินทรีย์สู่ความสมดุล ต่อยอดสู่ความสุขที่ยั่งยืน อรุษบอกว่า 5 ปีที่ผ่านมาไม่เหนื่อย ไม่ท้อ เพราะมีทีมที่ดี หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ก็เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ สำหรับชุมชนเกษตรกรอื่นๆ หากต้องการเดินหน้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ต้องมีตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภค ทำหน้าที่เชื่อมหรือเป็นแก่นกลางขึ้นมา ประสานแนวร่วมภาครัฐเอกชน ผนึกกำลังการรวมกลุ่มและการเรียนรู้ ต้องมองรอบตัว ใครที่จะนำได้ เช่น สหกรณ์ ฯลฯ เรียนรู้ร่วมกัน เดินไปด้วยกัน

แล้วเราก็มาอยู่ที่นี่...สามพราน ที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ที่เป็นผืนที่ดินจริงๆ ที่เกษตรกร (อินทรีย์) ยืนอยู่ได้ และยิ้มได้

สามพรานโมเดล จากโซ่อุปทานอินทรีย์ สู่สังคมสุขใจ