posttoday

ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ มะเร็งต่อมลูกหมาก ตรวจเร็ว หายได้

29 พฤศจิกายน 2557

ฉบับนี้แนะนำให้รู้จักกับ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์

ฉบับนี้แนะนำให้รู้จักกับ ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับอันตรายของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและนวัตกรรมการรักษาโรคแบบใหม่

ศ.นพ.บรรณกิจ บอกว่า ชายไทยที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป มีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในอัตราที่สูงขึ้น เนื่องจากโรคไม่มีการแสดงอาการให้เห็นในระยะแรกเริ่ม คิดว่าเป็นอาการธรรมดาของโรคผู้สูงอายุ เมื่อปล่อยเวลาล่วงเลยไปเรื่อยๆ ทำให้ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ จนยากที่จะรักษา โดยทุกๆ ปี ผู้ป่วยเพศชาย ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดนี้เพิ่มสูงขึ้นจนปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 4 ของโรคมะเร็งทั่วไป เนื่องจากไม่มีการตรวจและรักษาตั้งแต่เริ่ม ทั้งนี้การศึกษาพบว่า หากคัดกรองตั้งแต่แรกเริ่มอาจลดการเสียชีวิตได้ถึง 21% และสามารถลดผู้ป่วยระยะลุกลามได้ถึง 48.9%

ศ.นพ.บรรณกิจ กล่าวอีกว่า ชายวัยทองควรหมั่นสังเกตและเอาใจใส่ดูแลอาการผิดปกติกับต่อมลูกหมากของตัวเองหากมีความผิดปกติเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะตอนกลางคืนบ่อย  ปัสสาวะลำบากต้องเบ่งปัสสาวะไม่ค่อยหมด กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ ปวดเวลาปัสสาวะหรือมีเลือดปนออกมารวมทั้งไม่มีแรง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดหลัง ปวดกระดูก ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้อง เพราะมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ถ้าตรวจพบระยะเริ่มแรก โดยในปัจจุบันมะเร็งต่อมลูกหมาก มักตรวจพบในระยะรุนแรงหรือมีการลุกลามแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่นกระดูก ลำไส้ หรือระบบทางเดินอาหารแล้ว จึงอยากสร้างความตระหนักในพิษภัยใกล้ตัวของโรคร้ายชนิดนี้ เพื่อที่จะช่วยลดอัตราการตายและอุบัติการณ์ของโรคลงได้มากขึ้น

ส่วนวิธีรักษาแบ่งเป็น 2 แนวทางตามความรุนแรงของโรคคือ 1.การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่ 1-2 ขณะที่มะเร็งยังอยู่เฉพาะที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดแบบเปิดหน้าท้อง การฝังแร่รังสี การผ่าตัดโดยใช้กล้องหรือหุ่นยนต์  และ 2.การรักษาผู้ป่วยในระยะที่ 3-4 ซึ่งเป็นระยะที่มะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปยังกระดูก อวัยวะอื่นๆ และต่อมน้ำเหลืองแล้วนั้น การรักษาทำได้เพียงช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ซึ่งจะมียาบางชนิดที่ใช้ฉีดที่ช่วยประคับประคองรักษาโรคนี้ได้ ยิ่งในระยะที่ 4 การรักษาจะมุ่งแค่ประคับประคองได้ด้วยยา โดยจะควบคุมโรคได้ 2-3 ปี ก่อนผู้ป่วยจะเข้าสู่มะเร็งระยะสุดท้าย

ทั้งนี้ คุณหมอบรรณกิจ แนะนำให้รู้จักการตรวจด้วย  Prostate HealthIndex หรือ phi สำหรับเป็นนวัตกรรมคัดกรองผู้ป่วยสุ่มเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น