posttoday

ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี นาฬิกามิได้มีไว้แค่บอกเวลา

16 พฤศจิกายน 2557

พูดถึงของสะสมของผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องประดับ หรือของสวยๆ งามๆ หรือนาฬิกาแฟชั่น

พูดถึงของสะสมของผู้หญิงส่วนใหญ่ก็จะเป็นเครื่องประดับ หรือของสวยๆ งามๆ หรือนาฬิกาแฟชั่น ดังนั้นวันนี้เราจะพามาชมนาฬิกาวินเทจของสะสมของ ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี หรือ ดร.จิ๋ว นักวิจัยมืออาชีพ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยจิตอาสาช่วยทำวิจัยโครงการจิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ ให้กับสาวิกาสิกขาลัย ที่เสถียรธรรมสถาน

ตอนแรกเห็นภาพของสะสม นึกว่าน่าจะเป็นของผู้ชาย แต่เมื่อได้สัมผัสหยิบจับมาชมเรือนแล้วเรือนเล่าพร้อมกับได้ฟังข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละเรือนจากเธอแล้ว พูดได้เลยว่าเป็นของสะสมของผู้หญิงที่ดูแล้วไม่ธรรมดาเลย ทั้งสวยงามและทรงคุณค่า โดยเรือนที่เก่าที่สุดอายุประมาณ 100 ปี และอยู่ในสภาพที่รักษาไว้อย่างดีมาก

ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี นาฬิกามิได้มีไว้แค่บอกเวลา

 

ถามถึงมุมมองในการสะสม ดร.จิ๋ว ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า ในความหมายของเธอนาฬิกามิใช่แค่เครื่องบอกเวลา แต่หมายถึงวินัย ความตรงต่อเวลา และการบริหารจัดการเวลา แต่อีกมุมมองที่ลึกซึ้งกว่านั้น เธอมองว่าเป็นศิลปะที่ประณีตทรงคุณค่าประกอบกับเทคนิคการผลิตที่พิถีพิถัน คือความตั้งใจและทุ่มเทของผู้สร้างที่จะให้นาฬิกาแต่ละเรือนเป็นผลงานชิ้นเอก

ดร.จิ๋ว เล่าที่มาของการสะสมให้ฟังว่า ชอบนาฬิกามาตั้งแต่เด็กๆ เพราะเมื่อก่อนที่บ้านจะมีนาฬิกาโบราณตั้งพื้นเรือนใหญ่เหมือนหอนาฬิกา โดยเสียงตีบอกเวลา และเสียงนาฬิกาเวลาที่เข็มกำลังเดินเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดใจให้รู้สึกชอบเป็นพิเศษ เป็นเสียงที่ฟังแล้วทำให้จิตใจมีการตื่นรู้อยู่ตลอด และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดสะสมในเวลาต่อมา

ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี นาฬิกามิได้มีไว้แค่บอกเวลา

 

“จิ๋วเริ่มสะสมจริงจังมาได้ประมาณ 20 ปี นาฬิกาที่สะสมจะเป็นพวกวินเทจมือ 2 กับพวกลิมิเต็ด เอดิชั่น ที่ผลิตในโอกาสสำคัญๆ ลักษณะของการสะสมจะค่อยๆ เก็บทีละชิ้น ซื้อมาขายไปบ้าง แต่ข้อดีของการสะสมนาฬิกาวินเทจคือกำไรทันทีที่ซื้อคือ ‘กำไรใช้’ ได้ใส่นาฬิกาที่ถูกใจ และสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ในราคาที่ซื้อมา หรือได้ราคามากกว่าที่ซื้อ”

ในการสะสมสิ่งหนึ่งที่เธอทำเมื่อได้ครอบครองนาฬิกาเรือนนั้นๆ ก็คือตั้งชื่อให้นาฬิกา ซึ่งเรือนแรกเธอตั้งชื่อว่า “ม้าดำ” เป็น Omega รุ่น Seamaster ผลิตปี 1947 นับอายุก็ร่วมๆ 70 ปี จากนั้นม้าน้ำก็พาเพื่อนมาเป็น “ม้าชมพู” ซึ่งเธอชอบในความเรียบเนี้ยบ และคอลเลกชั่น Seamaster นี้มีอยู่ 3 เรือน

ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี นาฬิกามิได้มีไว้แค่บอกเวลา

 

สำหรับเรือนที่เป็นพระเอกในดวงใจเธอ คือ Rolex รุ่น Prince ผลิตปี 1928 ถึงวันนี้เจ้าชายก็อายุราวๆ 90 ปี แต่อยู่ในสภาพที่ดีมาก ถ้าเป็นคนก็คงเปรียบได้ว่ายังดูหนุ่มกว่าวัย เป็นนาฬิกาเรือนสี่เหลี่ยม 2 หน้าปัดที่ขายดีที่สุด เป็น Chronometric ที่มีความแม่นยำมาก แต่ที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้เธอก็คงจะเป็นแบรนด์ที่นาซ่าสั่งซื้อไปใช้ในโครงการอวกาศ

“ในปี 1964 นาซ่าได้สั่งซื้อนาฬิกา ซึ่งเชื่อว่ามีความเที่ยงตรงที่สุดขึ้นไปใช้ในโครงการอวกาศ Gemini และ Apollo ของนาซ่า แบรนด์ที่สะสมที่อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยก็จะมี Rolex, Omega, Hamilton และ Gruen ซึ่ง Hamilton และ Gruen ตอนที่ซื้อไม่ทราบที่มาว่าดังถึงขนาดไปอยู่บนอวกาศ แต่ซื้อเพราะชอบตรงความเรียบที่มีความโค้งมน อย่าง Hamilton เรือนสีน้ำตาลแดง ชอบตรงที่สีแปลกดี สีหน้าปัดกับสายหนังเป็นสีเดียวกันสีเหมือนกันเป๊ะ ดูเนียนลงตัว”

ดอกเตอร์นักวิจัยยังมีนาฬิกา Vulcain ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ประธานาธิบดีสหรัฐใช้กันหลายคน แต่น่าเสียดายว่ารุ่นที่เธอครอบครองไม่ใช่รุ่นที่ประธานาธิบดีใส่ คงมีหลงมาถึงมือเธอแค่รุ่นเล็กอายุประมาณ 70 ปี แต่ถ้าเปรียบอายุคนก็วัยชรา ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่พูดถึง “VC : Vercheron Constatin” คงไม่ได้เพราะเป็นนาฬิกาที่นักสะสมแทบไม่พลาด ราคาสูงพอๆ กับ Rolex บางรุ่นก็สูงกว่า

“Vercheron Constatin ได้ชื่อว่าเป็นนาฬิกาที่ความสมบูรณ์แบบมาก ทั้งด้านเทคนิคการผลิต ความงาม และความสมบูรณ์ในการประกอบขึ้นรูป ตัวเรือนบางเฉียบ ที่ชอบสุดของเรือนนี้คือ หน้าปัดที่แกะลายกิโยเช่ ละเอียดเหมือนกลีบดอกไม้ ลายชัดเจน เนี้ยบเฉียบขาดจริงๆ” เจ้าของร่ายถึงความเนี้ยบของ VC

ทว่าในบรรดานาฬิกาที่สะสมมาทั้งหมด เรือนเก่าแก่สุดเธอยกให้กับ Omega หูกระทะ สายหนัง ที่ถอดเปลี่ยนตัวเรือนได้ 3 แบบ ชุดนี้อายุคงราวๆ 100 ปี เปิดดูเครื่องด้านหลังได้ กลไกภายในละเอียดมาก ถ้าจะมองย้อนไปวัยรุ่นสมัยนี้ก็กลับมานิยมแฟชั่นแบบนี้อีกครั้ง

ดร.อรณัฏฐ์ นครศรี นาฬิกามิได้มีไว้แค่บอกเวลา

 

“แต่แนวที่ชอบส่วนใหญ่จะเป็นแบบเรียบแต่เนี้ยบทุกรายละเอียด กับนาฬิกาที่แกะลายกิโยเช่สวยๆ ทว่าโดยรวมจะชอบทรงเหลี่ยมแต่หายาก มี GP: Girard-Perregaux หนึ่งในของหายาก ทั้งรูปทรง และแบรนด์นี้ เป็นแบรนด์เก่าแก่ตั้งแต่ปี 1791 สายน่าจะเป็น Stering Silver เพราะมันวาวมาก การแกะลายหน้าปัดและลายที่สายละเอียดประณีตมาก การทอลายคล้ายงานทองสุโขทัยบ้านเรา ดูจากขนาดข้อมือก็น่าจะเป็นนาฬิกาผู้ชาย แต่มีตัวเรือนบางมาก

นาฬิกาที่มีแกะลายกิโยเช่สวยๆ อีก 2 เรือน ที่มีคือ Oris Big Crown Pointer Date รุ่น Commander เรือนนี้ใส่บ่อยมาก อายุประมาณ 40 ปี สายนาฬิกาปรับไม่ได้ ส่วนใหญ่นาฬิกาที่มีจะเป็นบอยไซส์ หรือเป็นนาฬิกาผู้ชายที่ไซส์เล็กหน่อย ตอนที่ได้มาเรือนนี้ต้องให้ช่างผ่าสายแล้วประกอบใหม่ เพราะสุดข้อต่อแล้วไม่มีข้อต่อให้ตัด เรียกว่าถ้าอ้วนขึ้นอดใส่”

ไม่เพียงแค่นี้ เธอยังมี Oris Big Crown Pointer Date อีกเรือนเป็น 2 กษัตริย์ Thailand Limited Edition เป็นเลขไทย ผลิตในปี 2005 มีเพียง 555 เรือน ผลิตขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี บริษัท โทคาเดโรไทม์ ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทย อีกเรือนคือซากุระเป็นนาฬิกาลิมิเต็ด ที่ผลิตในปี 2005 ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 120 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

“รุ่นนี้ผลิตออกมา 850 เรือนเท่านั้น ตอนแรกจิ๋วอยากได้รุ่นของผู้ชายหน้าดำมากกว่า สวยดี แต่ติดตรงที่เรือนใหญ่เกินไป เลยต้องเลือกแบบผู้หญิงหวานๆ บ้าง หน้าชมพูสายขาว”

ในปี 2548 น่าจะเป็นปีที่เธอซื้อนาฬิกาเยอะที่สุด ลิมิเต็ดเรือนสุดท้ายที่ซื้อคือที่ระลึก 100 ปี พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นนาฬิกา 2 กษัตริย์หน้าสีส้ม เป็นรูปพระที่นั่งมารีราชรัตนบัลลังก์ ผลิต 490 เรือน หลังจากนั้นเธอก็พักยาวเพราะเรียนต่อ ขณะเดียวกันได้ทยอยขายบ้าง คงเก็บไว้แต่เรือนที่ชอบประมาณ 20 เรือน แต่เรือนที่เป็นไฮไลต์ใหม่สุดและดีใจมากที่ได้คือ Orient Star

“Orient Star นี้ เป็นนาฬิกาเลขไทย รุ่นลิมิเต็ด ครบรอบเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผลิตในปี 2550 เพียง 900 เรือน ที่ได้มาเป็นเรือนที่ 767 ลุ้นมาก ไม่คิดว่าจะได้ เพราะออกมาสักระยะหนึ่งแล้ว โทรเช็กคนขายพยายามหามาให้จนได้ สุดท้ายก็ได้เป็นเจ้าของ วันที่ของมาส่งมีแต่คนแซวว่าตาโตเท่าไข่ห่าน ดีใจออกนอกหน้ามาก เป็นอีกเรือนที่ใส่บ่อยมาก”

ดร.จิ๋ว เล่าให้ฟังว่า นาฬิกาวินเทจของสะสมที่แม้จะเป็นสิ่งที่รักและถูกใจต่อไปก็คงเป็นสมบัติให้ลูก ถ้าลูกไม่ชอบก็ขายไป แต่ถ้าเปรียบเทียบสัดส่วนกำไรก็นับว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน เป็นมุมมองในการเก็บเงินรูปแบบหนึ่งที่ได้กำไรมากกว่าฝากธนาคารแต่ต้องรู้จักเลือกให้เป็นเท่านั้นเอง แต่สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าได้ตลอดคือความสุข

“เวลาเครียดๆ หรือต้องการสมาธิ ก็จะนั่งเช็ดทำความสะอาดนาฬิกา ทุกซอกทุกมุม ชื่นชมความงามไปเรื่อยๆ ก็ได้สมาธิไปอีกแบบหนึ่ง แต่ต้องค่อยๆ เช็ดทำความสะอาดเบาถ้าแรงไปอาจะเป็นรอยได้”