posttoday

สนามแห่งความคิด 'โชค บูลกุล'

15 พฤศจิกายน 2557

นอกจากจะเป็นผู้บริหารอาณาจักรกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัยแล้ว ปัจจุบัน ‘ดร.โชค บูลกุล’ ยังมีสถานะทางสังคม

นอกจากจะเป็นผู้บริหารอาณาจักรกลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัยแล้ว ปัจจุบัน ‘ดร.โชค บูลกุล’ ยังมีสถานะทางสังคมในด้านอื่นๆ ทั้ง กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคมจิตวิทยา ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ Clinical Professor ของสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ และกรรมการ
บริษัทเอกชนอีก 2 แห่ง

รวมถึงอีกหนึ่งบทบาทสำคัญ ในฐานะคุณพ่อมาดคาวบอยของ ‘น้องปราบ’ ลูกชายวัย 9 ขวบ

ด้วยภาระหน้าที่และความรับผิดชอบที่ล้นมือในแต่ละวัน ทำให้ผู้บริหารหนุ่มใหญ่ “คุณโชค” ในวัย 47 ปี  เลือกให้ “บ้าน” ในย่านถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งอยู่บริเวณใกล้กับร้านสเต็คเฮ้าส์ฟาร์มโชคชัย รังสิต ให้เป็นสถานที่โปรดปรานที่สุด ด้วยสามารถทำสิ่งที่รักได้พร้อมๆ กัน ทั้งการคิดงาน เล่นกีฬา และเวลาที่ให้กับครอบครัว

จากรูปแบบการทำงานที่ค่อนข้างรัดตัว ทำให้ผู้บริหารหนุ่มต้องจัดสรรเวลาในการคิดงานมากกว่าสถานที่ โดยเฉพาะในช่วงที่จะต้อง“คิดกลยุทธ์บริหาร”

แต่ถ้าจะหาว่าสถานที่หรือมุมที่โปรดปรานจริงๆ ส่วนใหญ่น่าจะเป็นที่ที่สะดวกมากกว่าเพราะไม่ชอบนั่งทำงานในห้องหรือโต๊ะทำงานอยู่กับที่ เพราะทำให้คิดงานไม่ออก

“งานของผมไม่ได้อยู่ที่ออฟฟิศ จัดโครงสร้างให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ซึ่งไม่จำกัดการทำงานแค่ที่ทำงาน ไม่ต้องประชุมกันบ่อยเกินไป ประชุมมากไปรับงานไม่ทัน Out Come เกิดการทำงานย่อมไม่มีประสิทธิภาพ” คุณโชค กล่าวเรียบๆ พร้อมขยายความต่ออีกว่า

ด้วยคนเรามีสองประเภท คือ คนจำพวกนักคิด ที่คิดทุกอย่างออกมาเป็นหลักการ เช่น หมอหรือนักกฎหมาย กับอีกประเภทที่ต่างจากนักคิดคนละฝั่ง คือคนจำพวกฉลาดทำ ซึ่งผมจะวาดภาพสิ่งที่อยากทำออกมาในหัวก่อนแล้วถึงย้อนไปเป็นหลักการเพื่อให้คนในองค์กรสามารถต่อภาพและลงมือทำได้ งานจะไม่ใช่สิ่งที่น่าเบื่อ แต่กลับมีความสุขที่ได้ทำเพราะมองว่าเป็นงานที่แค่อยากทำให้ใหญ่ขึ้น ผลกำไรเยอะขึ้น

แต่งานคือประติมากรรมที่อยากทำให้ออกมาดีที่สุด มีคุณค่าที่สุด ต้องคิดแบบบริษัทได้ พนักงานได้เมื่อพนักงานในบริษัทเติบโต บริษัทก็จะเติบโตขึ้นไปด้วยกัน

สำหรับการแบ่งเวลาระหว่างงาน ครอบครัว และการเล่นไตรกีฬา (วิ่ง ว่ายน้ำ และขี่จักรยาน) นั้นซึ่งทุกอย่างลงตัวโดยไม่ได้พยายามอะไรมากเพราะหลังจากทำงานเสร็จ เวลานั้นก็จะเป็นเวลาของครอบครัว ซึ่งมักจะใช้เวลาเล่นกีฬาร่วมกัน ซึ่งเป็นสามสิ่งที่รักและสามารถทำร่วมกันได้

ส่วนแง่คิดที่ได้ในแบบฉบับของซีอีโอบนหลังอานม้า  คือ “โลกจะจดจำเฉพาะผู้นำที่มาในช่วงวิกฤตเพียงเท่านั้น มีใครบ้างที่อยากจดจำผู้นำที่มาในยุครุ่งเรือง” “คุณค่าของงานเกิดจากคุณค่าของคนที่ทำงาน” “คนบ้ากับคนอัจฉริยะ...บางทีมันก็แยกกันไม่ออก”

ขณะที่ความสำเร็จคือความไม่ประมาท ความผิดพลาดต้องเป็นประสบการณ์...เพราะการจะทำอะไรให้ได้ดีอย่างง่ายดายโดยไม่รู้สึกว่าฝืนธรรมชาติก็เพราะเราเกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้น...แต่ต้องอย่าลืมมองหา “แรงบันดาลใจ” เพราะนั่นคือสิ่งที่ขับเอาความเป็นอัจฉริยภาพของตัวเราที่ซ่อนอยู่ข้างในให้เกิดการปะทุออกมา

รวมถึงการเรียนคือการจำกัดสิ่งที่คิดว่าความคิดสร้างสรรค์ การเรียนก็เพื่อให้เราทำเป็น แต่ถ้าอยากจะเก่ง ต้องเป็นเพราะการมีแรงบันดาลใจที่อยากจะลงมือทำ แต่ต้องอย่าลืมว่าประสบการณ์ก็คือสิ่งที่เราได้ในสิ่งที่ไม่ต้องการ

ขณะเดียวกัน มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่จะต้องอยู่กันเป็นฝูง ในความหมายของพระพุทธองค์นั้น คือ ความสันโดษ จงลองฝึกตาบอด ฝึกหูหนวก ปิดมือถือเสียบ้างแล้วจะรู้จักคำว่าสันโดษเอง...จากนั้นถึงจะเข้าใจความหมายของคำว่า  “ความพอดีและความพอเพียง” แต่หากอยากจะหลุดพ้น ต้องมีวินัยและอุตสาหะอีกด้วย

ดังนั้น เวลาในการตกผลึกคิดงาน จึงมักจะเป็นช่วงที่ไม่ใช่เวลาปกติ อย่างส่วนตัวจะเป็นคนเข้านอนแต่หัวค่ำ แต่ถ้าต้องมีงานที่ต้องคิด อย่างงานนโยบายหรือกลยุทธ์ คุณโชคมักจะตื่นขึ้นมาเพื่อขบคิดงานในตอน 5 ทุ่ม เที่ยงคืน ตีหนึ่ง หรือตีสอง

ด้วยช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นเวลาที่เงียบมาก ซึ่งช่วงเวลานี้แหละจะเป็นเวลาที่ดีในการคิดงานออกมา และอีกเวลาหนึ่งคือการได้นั่งอยู่ในรถเงียบๆ ขณะเดินทางไปฟาร์มโชคชัยที่ปากช่อง โคราช หรือไปยังสถานที่ต่างๆ แล้วได้ฟังเสียงล้อรถบดกับถนนไปด้วย นี่ก็จะเป็นช่วงเวลาที่คิดงานออกได้เป็นอย่างดี...ที่ประกอบเป็นท่วงทำนองให้สนามแห่งความคิดโลดแล่น