posttoday

ธันย์ผู้ไม่แพ้เสียขาไม่ทำให้เสียกำลังใจ

01 พฤศจิกายน 2557

ทุกครั้งที่มีการสูญเสีย ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องมีความโศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น

ทุกครั้งที่มีการสูญเสีย ย่อมเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะต้องมีความโศกเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มีเด็กสาวหนึ่งคนที่ไม่เคยยี่หระกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียขาทั้งสองข้างของเธอ การเสียอวัยวะของเธอได้เกิดขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. 2554 จากเหตุการณ์ที่เป็นข่าวครึกโครมบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อต่างๆ ในขณะนั้น คือกรณีการพลัดตกรางรถไฟฟ้าของนักเรียนหญิงวัย 14 ปี ที่เดินทางไปศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมในประเทศสิงคโปร์ในช่วงฤดูร้อนเด็กสาวผู้นี้ได้เปลี่ยนความสูญเสียเป็นโอกาสของการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นกับเธอ

“น้องธันย์” ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ เด็กสาวผู้มีแนวคิดในด้านบวกให้กับชีวิตของเธอเสมอมา ตั้งแต่เธอได้เสียขาทั้งสองข้างไป 3 ปีจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เธอผู้มีหัวใจที่ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ การได้คิดบวกต่อทุกปัญหา

ตัดขาเพื่อก้าวไปข้างหน้า

“ตอนนี้ธันย์เรียนอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ชั้น ม.5 อุบัติเหตุที่ได้เกิดขึ้นบนสถานีรถไฟฟ้าในประเทศสิงคโปร์ ไม่ได้เคยเกิดขึ้นกับธันย์เพียงคนเดียว มันเกิดขึ้นกับคนอื่นอีกหลายคน แต่ละคนที่เคยตกลงไปในรางรถไฟของสถานีรถไฟฟ้าเสียชีวิตทั้งหมด ธันย์เป็นกรณีแรกที่สามารถรอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ลักษณะนี้ หลังจากนั้นมาก็ทำให้ธันย์ได้พบกับประสบการณ์ชีวิตที่แปลกใหม่มากมาย” สาวน้อยเริ่มสนทนาด้วยการแนะนำตัวอย่างเป็นกันเอง ก่อนที่จะเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

“ก่อนที่ธันย์จะตกลงไปในรางของรถไฟฟ้า มันเกิดขึ้นก่อนที่รถไฟฟ้าขบวนนั้นจะมาอีกประมาณ 3 วินาที มันเกิดขึ้นเร็วมาก หากเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยในขณะนั้นก็อาจได้รับอุบัติเหตุพร้อมกันทั้งคู่ แต่ธันย์ยังโชคดีที่ตอนตกลงไปมันตกไม่แรงมาก ลักษณะในตอนที่เราตกคือตัวของเราเองอยู่ติดกับริมของรางรถไฟฟ้า แต่ขาของเราเหยียดพาดไปกับราง ทำให้รถไฟฟ้าเหยียบผ่านไปแค่ขา ในตอนนั้นความคิดของธันย์ที่เข้ามาในหัวอย่างแรกเลย คือ เราคิดว่าเราจะบอกพ่อกับแม่ว่าอะไร แล้วเราจะไปเรียนหนังสืออย่างไร มีความรู้สึกอย่างเดียวคือกลัวพ่อกับแม่จะตำหนิ เนื่องจากเราเป็นเด็กที่ไม่เคยทำอะไรผิดมาก่อน แล้วเราคิดว่าเราไม่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ จึงเกิดอุบัติเหตุขึ้น เพราะก่อนที่จะเดินทางมาที่นี่ พ่อกับแม่ก็บอกกับเราว่าให้ดูแลตัวเองให้ดีๆ เลยทำให้ตอนนั้นเราคิดเรื่องแรกเลยว่าจะบอกกับพวกท่านว่าอะไร” น้องธันย์ ย้อนความหลัง

ธันย์ผู้ไม่แพ้เสียขาไม่ทำให้เสียกำลังใจ

 

จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ใช่ว่าเด็กสาวผู้นี้จะร้องไห้คร่ำครวญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้สติ แต่เธอกลับมีสติอย่างน่าประหลาดใจ เธอไม่ได้นอนรอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานี ทว่ากลับพยายามช่วยเหลือตัวเองจนสามารถทำให้เธอไม่ต้องสูญเสียอะไรไปมากกว่านี้ในเวลานั้น

“วินาทีที่ธันย์ประสบอุบัติเหตุ ธันย์ตั้งสติได้เร็ว คิดว่าถ้านั่งร้องไห้อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรสักอย่าง คงไม่มีใครสามารถมาช่วยเราได้ เพราะพ่อสอนเราเสมอว่าเราต้องรู้จักช่วยตัวเองก่อน ธันย์เลยคิดอย่างเดียวว่าเราต้องเอาชีวิตรอดให้ได้ ในที่สุดก็มีคนมาช่วยเรา ไม่ใช่ว่าเราไม่ร้องไห้นะ แต่น้ำตามันไหลออกมาเองเพราะความตกใจ เราไม่ได้ร้องไห้เพราะกลัวอะไร ตอนนั้นธันย์ยังไม่คิดอะไรเลย เราไม่รู้สึกว่าเศร้าหรือเสียใจคิดว่าเราจะต้องเดินให้ได้อย่างเดียว ตอนนั้นหมอบอกว่าขาทั้งสองข้างของธันย์ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ทำให้เราคิดว่าเราต้องตัดออกเพื่อการดำเนินชีวิตต่อไปข้างหน้า ธันย์คิดว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป เราสามารถปรับเปลี่ยนให้ชีวิตของเรามีความสุขได้ ธันย์จึงตัดสินใจบอกกับหมอว่าตัดขาทั้งสองข้างออก เพื่อทำให้เราสามารถเดินได้ เรามีสติจนถึงตอนที่ตัดสินใจบอกหมอว่า เราพร้อมที่จะผ่าตัดขาทั้งสองข้างทิ้ง”

หลังจากที่ทำการผ่าตัดขาทั้งสองข้าง น้องธันย์ต้องพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์นาน 3 เดือน เธอได้รับการดูแลรักษาที่ดีจากทางคณะแพทย์และพยาบาลที่โรงพยาบาลแห่งนั้น จนทำให้รู้สึกผ่อนคลายมาก การทำกายภาพบำบัดทำให้เธอฟื้นตัวจากอาการได้ค่อนข้างเร็ว เพราะนอกจากหมอกับพยาบาลแล้วเธอยังสนิทกับแม่บ้านที่โรงพยาบาล การรักษาตัวของน้องธันย์ในโรงพยาบาลจึงค่อนข้าง
จะสนุก เพราะเธอได้รู้จักกับผู้คนมากมาย ได้รับกำลังใจจากคนรอบข้างและเธอยังให้กำลังใจกับคนรอบข้างด้วย

นอกจากน้องธันย์จะฟื้นตัวเร็วจากอุบัติเหตุแล้ว สิ่งที่ทำให้น้องธันย์ปลื้มปีติหลังจากต้องเสียขาทั้งสองข้างไป ไม่ใช่เพียงแค่กำลังใจครอบครัว เพื่อนและคนในสังคมเท่านั้น เธอยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทำให้เธอรู้สึกว่า การเสียอะไรบางอย่างไป ทำให้เธอได้อะไรมากมายกลับคืนมาในชีวิต

ขาเทียมคู่แรกจากสมเด็จพระเทพฯ

“ขาเทียมคู่แรกเป็นขาเทียมที่ได้รับพระราชทานมาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จำได้ว่า ในตอนนั้นท่านเสด็จฯเยือนที่ประเทศสิงคโปร์ และทราบถึงข่าวการเกิดอุบัติเหตุของเรา พระองค์ท่านจึงให้ราชเลขาส่วนพระองค์มาถามถึงอาการของเรา และหลังจากที่กลับมาถึงประเทศไทย จึงได้มาทราบทีหลังว่า เราได้เป็นผู้ป่วยในพระราชานุเคราะห์ของพระองค์ท่านแล้ว โดยท่านได้ดูแลในเรื่องของการรักษาพยาบาล และด้านการศึกษา ทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งใจมากอย่างบอกไม่ถูก จำได้ว่าวินาทีแรกที่เราได้รับกระเช้าดอกไม้จากราชเลขาของพระองค์ท่านเป็นดอกทานตะวัน ธันย์คิดว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากที่เราเป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน เราเลยคิดว่า การเกิดอุบัติเหตุมันไม่ได้มีเฉพาะความเลวร้ายเท่านั้น แต่ยังทำให้เราได้รับโอกาสพิเศษที่มีน้อยคนนักที่จะได้รับกับโอกาสแบบนี้”

อุปสรรคที่ธันย์ต้องเจอในช่วงแรก คือ เรื่องการเดินทางเพราะต้องนั่งวีลแชร์และใช้ขาเทียม ทำให้เดินทางไม่สะดวก เนื่องจากเมื่อก่อนเป็นคนที่เดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง แต่กลับต้องนั่งรถส่วนตัวเพื่อไปไหนมาไหน การเดินทางจึงถือเป็นอุปสรรคพอสมควร และตอนที่กลับไปเรียนหนังสือมันส่งผลในเรื่องของการเดิน เพราะจะต้องเดินตลอดไม่มีทางลาดในการใช้วีลแชร์ จนรู้สึกว่ามันไม่ไหวเพราะเจ็บแผลมาก ยิ่งเดินมากยิ่งเป็นแผลมากกว่าเดิม ตั้งแต่ตอนนั้นจึงเริ่มทำกายภาพมากขึ้น ฝึกฝนตนเองให้สามารถเดินได้มากขึ้น เปลี่ยนจากอุปสรรคที่ทำให้ย่อท้อ มาเป็นแรงผลักดัน เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้เอง

“การนั่งวีลแชร์ในตอนแรกมันไม่ได้สะดวก เพราะเหมือนเราโดนจำกัดพื้นที่ ก่อนหน้าที่เราจะมาใช้วีลแชร์ เราเป็นคนที่ชอบทำอะไรเร็ว พอได้มานั่งรถเข็นทำให้เรารู้สึกว่ามันช้ามาก แต่ก็พอปรับเปลี่ยนได้ และเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้ถนัดมากขึ้น ไม่ว่ากวาดบ้าน ถูบ้าน ทำอาหาร ล้างจาน มันไม่ได้ยากอย่างที่คนอื่นคิด

...คนที่ใช้วีลแชร์เหมือนธันย์ ก็อยากบอกกับเขาว่า ชีวิตต้องดำเนินต่อไป ชีวิตยังมีวันพรุ่งนี้ เราต้องใช้ชีวิตในแบบที่เราเป็น เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปสนใจว่าเราเดินได้หรือไม่ได้ การที่เรานั่งวีลแชร์ก็ถือเป็นการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง มองในสิ่งที่เป็นปัจจุบันให้มากที่สุด ไม่ต้องไปมองอย่างที่คนอื่นมอง เราเป็นอย่างไรเราก็เป็นอย่างนั้นมันจะทำให้เรามีความสุขมากกว่าการที่เราไปมองและคิดอย่างคนอื่น”

เรื่องที่ทำให้รู้สึกแย่ที่สุดไม่ใช่เรื่องที่ธันย์ต้องเสียขา แต่เป็นเรื่องที่ศาลตัดสินให้แพ้คดีความ ครอบครัวธันย์ต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด ทางบริษัทรถไฟฟ้าใต้ดินที่สิงคโปร์ไม่ได้มีการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลเลย หน่วยงานของไทยเองก็ไม่ได้ช่วยเหลือ เจ้าหน้าที่สถานทูตไทยจัดการให้เพียงแค่ติดต่อมายังครอบครัวของธันย์ในตอนที่ได้เกิดอุบัติเหตุ ธันย์จึงค่อนข้างคาดหวังมากจากการยื่นหนังสือต่อ
นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา การยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ให้เธอเพียงคนเดียว แต่เป็นการช่วยเหลือทุกคนที่อาจเกิดอุบัติเหตุในต่างประเทศเช่นเธอ

“สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นหลังจากที่ยื่นหนังสือต่อท่านนายกฯ ธันย์อยากให้มีองค์กรทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศดูแลเยาวชนที่ไปเรียนในต่างประเทศ ธันย์คิดว่าควรมีองค์กรเพื่อดูแลเด็กเหล่านั้น หากเด็กเหล่านั้นประสบอุบัติเหตุ เพราะเด็กเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นทรัพยากรของชาติ เด็กที่ไปเรียนต่างประเทศในที่สุดแล้วเขาก็ต้องกลับมาพัฒนาประเทศ แต่ในประเทศเองกลับไม่มีองค์กรใดให้ความเอาใจใส่ ธันย์ว่าเราต้องมีองค์กรดูแลเรื่องนี้”

ปัญหาที่กังวลและกลัวที่สุด ธันย์บอกว่า “ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียขา หรือต้องนั่งวีลแชร์ แต่มันคือการสอบตก (หัวเราะ)เพราะธันย์คิดว่าการที่เราพยายามไปหลายครั้งแล้ว กลับทำไม่ได้ตามที่หวังมันทำให้รู้สึกแย่ เหมือนในกรณีที่เราต่อสู้เรื่องคดีในชั้นศาล เราพยายามต่อสู้มาหลายครั้ง เรากลับไม่ได้รับความเป็นธรรม ธันย์เลยรู้สึกว่าเรื่องแบบนี้แหละเป็นเรื่องที่ทำให้เราร้องไห้ได้ ธันย์มีความแปลกอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น ธันย์คิดว่าเรื่องที่แย่ที่สุดในความคิดของคนอื่นเป็นเรื่องเล็กมาก แต่เรื่องที่คนอื่นคิดว่าเป็นเรื่องเล็กเรากลับคิดว่ามันมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ในนั้น”

มุมมองใหม่-กำลังจากครอบครัว

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปมากธันย์ บอกว่า เราต้องมองไปข้างหน้า ไม่หันไปมองอดีต ไม่คิดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปมด้อยของชีวิต เราควรหาสิ่งใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับสิ่งที่เราเป็นอยู่ ถึงแม้เราจะขาดบางอย่างไป แต่ก็สามารถหาสิ่งใหม่มาทดแทนได้

“ชีวิตของธันย์เปลี่ยนแปลงไป ได้ทำอะไรใหม่ๆ มากขึ้นจากที่เป็นเด็กธรรมดากลายเป็นเด็กที่ได้รับโอกาสมากขึ้น ได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เช่น การได้ทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ได้เป็นวิทยากรในงานที่เป็นการให้แง่คิดด้านบวก ได้ช่วยเหลือคนอื่นโดยการได้ให้กำลังใจ การประสบอุบัติเหตุครั้งนั้นทำให้ธันย์ได้เปิดมุมมองใหม่ เปิดโลกทัศน์ใหม่ ธันย์ไม่เคยท้อกับการที่เราต้องมาเป็นแบบนี้ เราคิดว่าเราต้องยอมรับไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น กำลังใจของเราก็มาจากครอบครัว เพื่อน คนในสังคม

...สำคัญที่สุดคือเราต้องช่วยตัวเราเอง นับจากวันที่เราต้องเสียขาไป ธันย์ได้เรียนรู้หลายอย่าง ตั้งแต่จิตใจของคน เราได้รู้ถึงทัศนคติของคนที่มองคนพิการว่าเป็นอย่างไรทำให้เราได้รู้ความคิดของคนในแง่มุมต่างๆ หลังจากที่เราเกิดอุบัติเหตุเรากลับได้ทำในสิ่งที่เราไม่เคยทำ ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ดีที่เกิดขึ้น เพราะเราได้ช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ

...เราสามารถปรับเปลี่ยนเรื่องเศร้าภายนอกมาเป็นสิ่งที่เราสนุกกับมันได้ เราต้องทำให้ตัวเองมีความสุขก่อน แล้วคนรอบข้างก็จะมีความสุขไปด้วย จากนั้นความสุขจากคนรอบข้างก็จะกลับมาหาเรา

“น้องธันย์ผู้ไม่แพ้” ถือเป็นคำที่ทำให้ธันย์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข คำนี้มันสื่ออะไรได้หลายอย่าง เพราะแพ้เป็นความหมายที่กว้าง คำนี้จึงเป็นคำที่สามารถใช้บอกกับตัวเอง และเป็นคำที่สามารถบอกกับคนอื่นได้ ในฐานะที่เราเป็นสัญลักษณ์ของการให้กำลังใจในหลายๆ ที่ธันย์เลยบอกกับตัวเองเสมอว่า

“ถ้าหากเราแพ้ เราจะสามารถไปบอกกับคนที่เราไปให้กำลังใจเขาได้อย่างไร ถ้าหากว่าตัวเองยังแพ้อยู่เลย”