posttoday

ชาลี เลิศโภคานนท์ สตันต์แมนไทยอนาคตไกล

25 ตุลาคม 2557

“อาชีพสตันต์แมนคืออาชีพที่ผมรัก ถึงหลายครั้งผู้ชมจะลืมไปว่า ถ้าไม่มีพวกผมในฐานะสตันต์แมนคงไม่มีหนังแอ็กชั่นมันๆ ส่งตรงถึงหน้าจอ”

“อาชีพสตันต์แมนคืออาชีพที่ผมรัก ถึงหลายครั้งผู้ชมจะลืมไปว่า ถ้าไม่มีพวกผมในฐานะสตันต์แมนคงไม่มีหนังแอ็กชั่นมันๆ ส่งตรงถึงหน้าจอ” นี่คือความรู้สึกจากใจที่พรั่งพรูออกมาจากปากของ ชาลี เลิศโภคานนท์ สตันต์แมนชื่อดังชาวไทยที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งทั้งในระดับฮอลลีวู้ดและบอลลีวู้ด สะท้อนถึงอาชีพที่เขารักและไม่คิดจะเดินจากไป
ตราบเมื่อร่างกายยังไม่เซย์โนกับสิ่งที่ทำอยู่

1 ชั่วโมงเต็ม ที่ได้มีโอกาสพูดคุยทุกเรื่องราวของชาลีตั้งแต่เริ่มฝันอยากจะเป็นสตันต์แมน ต้องผ่านสารพัดบททดสอบ ตั้งแต่การฝึกซ้อม การพิสูจน์ตัวเองให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับ การฝ่าฟันเพื่อเข้าสู่วงการบันเทิง ต้องยอมรับว่าชีวิตคนเราไม่ง่ายเลย และแน่นอนว่า แม้วันนี้เขาจะมาถึงในจุดที่เคยฝัน แต่สำหรับชาลีเส้นทางที่เลือกนี้ยังทอดยาวไปอีกไกล

แหกคุกความคิด หันหลังให้คำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’

เมื่อเร็วๆ นี้ ชาลีได้รับเลือกจากไทเกอร์เบียร์ ให้เป็นตัวแทนคนไทยสะท้อน “ความกล้า” ที่ก้าวออกจากกรอบชีวิตในแบบเดิมๆ สู่การกำหนดเส้นทางชีวิตที่มีความใฝ่ฝัน ภายใต้แคมเปญ “UNCAGE” ปลดปล่อยความกล้าออกตามล่าตัวตนของคุณ เขาบอกว่า เป็นงานที่เขาภูมิใจมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่เขาได้เผยโฉมหน้าให้ผู้ชมเห็น ได้มีชื่อของ “ชาลี” ในฐานะนักแสดงนำ

“ปกติผมเป็นสตันต์ ผู้ชมจะเห็นหน้าแค่ 2-3 วินาที แต่เรื่องนี้ผู้ชมจะได้เห็นหน้าผมเต็มๆ ได้เห็นว่าผมทำอะไร ผมคิดว่าเป็นความฝันของสตันต์แมนทุกคน ที่วันหนึ่งอยากสวมบทเป็นแอ็กชั่นฮีโร่เหมือนกับเฉินหลงหรือบรูซลี”

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ ชาลียอมรับว่า ไม่ง่ายเลย เพราะแรกเริ่มเขาเรียนบริหารธุรกิจตามใจคุณพ่อคุณแม่ที่อยากเห็นลูกมีอนาคตที่มั่นคง แต่สำหรับเด็กชายชาลี ในวัย 13 ปี กลับมีความฝันที่แน่วแน่มาตลอดว่า อยากแสดงหนังแบบฮีโร่ในใจ อย่างราชานักบู๊เฉินหลง ดังนั้นสิ่งที่เขาทำได้คือหาเวลาว่างไปเรียนศิลปะการต่อสู้

“ถามว่า ตอนไปเรียนศิลปะการต่อสู้ ผมรู้สึกว่า ตัวเอง มีพรสวรรค์กว่าคนอื่นมั้ย ไม่เลย ผมทำอะไรไม่ได้หลายอย่างมีคนที่เก่งกว่าผมเยอะมาก แต่ผมไม่ท้อ เพราะถ้าคนอื่นทำได้ ผมก็ต้องทำให้ได้”


หลังจากเรียนศิลปะการต่อสู้แล้ว ชาลีเริ่มคิดว่า ถ้าวันหนึ่ง ได้มีโอกาสทำงานกับเฉินหลง เขาต้องพูดภาษาจีนให้ได้ จึงตัดสินใจบินไปเรียนภาษาจีนที่ปักกิ่งอยู่ 8 เดือน จนเกิดโรคซาร์สระบาด จึงกลับมาที่สหรัฐอเมริกามาเรียนต่อจนจบปริญญาตรี ระหว่างหางานทำ ชาลีเลือกเดินทางมายังประเทศไทยเพราะญาติที่เมืองไทยบอกว่ารู้จักคนทำหนัง

“ผมมาแบบมีหวัง เข้าใจว่าเขามีเส้นทางจะพาผมเข้าวงการได้ แต่ปรากฏมาจริง เขารู้จักนะ แต่รู้จักว่าบริษัทที่ทำหนังอยู่ที่ไหน ไม่ได้รู้จักใคร ไม่มีเส้นสาย ช่วงนั้นผมอยู่เมืองไทยแบบไม่มีงานทำประมาณ 6 เดือน จนไปรู้จักกับสตันต์แมนชาวอังกฤษที่ได้ร่วมแสดงในหนังเรื่อง ต้มยำกุ้งทางอินเทอร์เน็ต ปรากฏคุยกันถูกคอ เลยชวนกันมาซ้อมกังฟู

“วันหนึ่งเขาชวนผมไปปาร์ตี้ ผมก็ไป เลยมีโอกาสได้เจอพี่จา พนม (ทัชชกร ยีรัมย์) และทีมสตันต์ของหนังเรื่อง ต้มยำกุ้ง ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของผมในวงการบันเทิง”

หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนชวนไปออกงานโชว์ต่างๆ ชาลีบอกว่า เขาเลือกที่จะคว้าโอกาสที่เข้ามา เขายอมไปแสดงในผับ ไปแคสงานโฆษณา จนในที่สุดความพยายามของเขาเป็นผล ได้รับเลือกให้เป็นสตันต์แมนในหนังโฆษณาชิ้นแรก

ชาลี เลิศโภคานนท์ สตันต์แมนไทยอนาคตไกล

 

“จากที่ผมเคยเรียนแต่เตะ ต่อย พอมาทำงานจริง ต้องขึ้นสลิง กระโดดจากตึกเป็นสิบชั้น ผมได้ประสบการณ์ใหม่ๆ เยอะมาก ยอมรับนะว่ามีกลัวบ้าง ถึงทีมงานจะลองอุปกรณ์ให้ดูว่าปลอดภัย แต่สำหรับผมทุกอย่างไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าปลอดภัย 100% เขาคงใช้นักแสดงจริงแสดงแล้ว”

เรื่องบาดเจ็บจากการแสดง ชาลีบอกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ประสบการณ์จะสอนให้เราระวังตัวมากขึ้น สำหรับสตันต์ใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้าวงการ จะยอมทำทุกอย่างที่ผู้กำกับสั่ง ซึ่งชาลียอมรับว่า เขาเองก็เคยเป็นแบบนั้น เพราะกลัวว่าถ้าเรื่องมากจะไม่ได้งาน

“บทเรียนในอดีตของผมถ้ามองย้อนไป ผมโทษตัวเองนะที่ยอมเล่นตามที่ผู้กำกับสั่ง โดยไม่คำนึงถึงตัวเอง หลังจากผ่านเหตุการณ์นั้นมา โชคดีที่ไม่เป็นอะไรมาก ผมเตือนตัวเองเสมอว่า นี่คือชีวิตของเรา ถ้าไม่มั่นใจ อย่าเสี่ยงเพราะแค่ความผิดพลาดนิดเดียว หมายถึงชีวิต อย่าประมาณตัวเองสูงเกินไป ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ อย่าทำ ถ้าผู้กำกับรับไม่ได้จะขอเปลี่ยนตัว ก็ให้คิดว่ายังมีงานต่อไป”

ก้าวข้ามความกลัวดึงความกล้าออกมา

ณ วันนี้ ชื่อของชาลี อยู่ในแถวหน้าของสตันต์แมนดาวรุ่ง แต่สำหรับชาลี เขายังไม่ใช่สตันต์ที่เก่งกาจและมีหลายอย่างที่เขายังอยากเรียนรู้

“เชื่อมั้ยว่า 7 ปีมาแล้ว ที่ผมเดินทางเส้นทางที่ผมรัก แต่ทุกครั้งที่คุยโทรศัพท์กับคุณพ่อ ท่านยังถามว่า เมื่อไหร่จะกลับมาหางานทำ เพราะเขาไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก ยิ่งเห็น
เราแสดง ก็คิดว่ามันเสี่ยง แต่ในความกังวลของคุณพ่อคุณแม่ผมรู้ว่าลึกๆ ท่านก็แอบภูมิใจ ชอบเอาผลงานผมไปอวดเพื่อนๆ ยิ่งหลังๆ ผมเริ่มมาทำทีมของตัวเอง มีงานที่มั่นคง คุณพ่อคุณแม่ก็ยังห่วงแต่น้อยลง”

ในอนาคตผมหวังให้ทีมที่ผมทำเป็นทีมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมสตันต์แมนไทยที่ได้มาตรฐานฮอลลีวู้ด และเมื่อผมมีความรู้มากพอก็อยากเปิดสถาบันสอนการเป็นสตันต์แมนที่ได้มาตรฐาน แต่วันนี้ยังไม่ถึงเวลา เพราะผมเองก็ยังเป็นนักเรียนที่ต้องหาความรู้ไปเรื่อยๆ

“อาชีพสตันต์แมนต้องเรียนรู้ไม่สิ้นสุด ไม่มีกำหนดอายุ 60-70ก็เล่นได้ ถ้าร่างกายยังไม่ได้ปฏิเสธ ผมรู้จักสตันต์แมนคนหนึ่งอายุ 50 ปี แต่ตีลังกาเก่งกว่าผม ที่สำคัญอาชีพนี้ไม่ได้มีเฉพาะคนหนุ่ม สังเกตหนังฮอลลีวู้ด บางครั้งตัวละครมีอายุต้องเข้าฉากโดนรถชนมีคิวบู๊ เพื่อความสมจริงเขาก็ต้องเลือกสตันต์แมนที่อายุใกล้เคียงกับตัวละครถามว่าทุกวันนี้ ร่างกายผมประท้วงบ้างหรือยัง ผมว่ามีแค่บ่นๆ แต่ถ้าใจเราสู้ ร่างกายก็ฟัง”

อย่างไรก็ตาม ชาลีทิ้งท้ายอย่างน่าสนใจถึงอาชีพที่เขารักว่า บางครั้งก็น้อยใจเหมือนกัน อย่างรางวัลออสการ์ก็ไม่มีรางวัลสำหรับสตันต์แมน ผู้ชมที่ชื่นชอบหนังแอ็กชั่น ก็ให้ความสำคัญแต่นักแสดงหลักๆ แต่ในความเป็นจริงถ้าไม่มีสตันต์แมน คงไม่มีหนังแอ็กชั่นดีๆออกมา

“ยกตัวอย่างหนังของพี่จา ถ้าไม่มีสตันต์แมนมาให้พี่จาถีบหน้า รับเข่า พี่จาเล่นคนเดียว หนังก็คงไม่ได้อรรถรส แต่ถึงจะน้อยใจ ผมก็ยังมีความสุขที่จะทำตามฝันต่อไป ถึงจะเห็นผมในหนังแป๊บเดียว แต่อย่างน้อยผมก็รู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมในหนังที่หลายๆ คนชื่นชอบ”

ก่อนจากกัน ชาลีสารภาพแบบซื่อๆ ว่า ทุกวันนี้ถ้าไม่เป็นสตันต์แมน ผมก็ยังหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้จริงๆ ว่า ผมจะไปทำงานอะไร