posttoday

อันตรายจากแสงสีฟ้าในจอคอมพ์

14 ตุลาคม 2557

แสงสีฟ้า มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้แสง เช่น การเชื่อมเหล็ก เป็นต้น

โดย...วรธาร ทัดแก้ว ภาพ ไม่มีเครดิต

แสงสีฟ้า มีอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ที่เราใช้งานในชีวิตประจำวัน ทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต โทรทัศน์ รวมถึงอาชีพที่ต้องใช้แสง เช่น การเชื่อมเหล็ก เป็นต้น สามารถทะลุทะลวงได้ถึงจอประสาทตา มีพลังทำลายกระจกตาหรือจอประสาทตาได้มากกว่าแสงสีอื่น ผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน หรือใช้อุปกรณ์ให้แสงสีฟ้าในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น เล่นสมาร์ทโฟนในที่มืด ปิดไฟดูโทรทัศน์ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงภัยจากแสงสีฟ้าทั้งสิ้น

รศ.นพ.นริศ กิจณรงค์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในงานเสวนาสุขภาพซึ่งจัดโดย Dr.Eyes Film by Vox เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนที่มีพฤติกรรมการใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะทำให้ตาแห้งและกะพริบตาน้อยลง เกิดการแสบตา การมองเห็นเริ่มผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่ชัด ปวดเบ้าตา กล้ามเนื้อตาอ่อนล้า เป็นอาการเริ่มต้นของโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรมและเป็นการกระตุ้นให้จอประสาทตาเสื่อมเร็วขึ้นด้วย

รศ.นพ.นริศ กล่าวต่อว่า วิธีป้องกันจอประสาทตาเสื่อมจากการใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน คือใส่แว่นตาที่ป้องกันแสงยูวี หรือลดความสว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพราะความสว่างหน้าจอที่มากปริมาณยูวีก็มากขึ้นด้วย อีกทางเลือกหนึ่งคือติดฟิล์มที่หน้าจออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ช่วยลดแสง UV400/UVA1 เป็นการป้องกันไม่ให้ดวงตาสัมผัสแสงเหล่านี้โดยตรง และควรพักสายตาทุก 12 ชั่วโมง ประมาณ 5 นาที

“การพักสายตาที่ดีที่สุดคือการนอน แต่ถ้าไม่สามารถนอนได้ ให้มองไปไกลๆ เพื่อลดการเพ่งของสายตาเป็นการบรรเทาความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อบริเวณรอบดวงตาได้ นอกจากนี้การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอและรับประทานอาหารประเภทผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้มจะช่วยบำรุงสายตาได้ อย่างไรก็ตามขอแนะนำว่า คนไทยในปัจจุบันมากกว่า 50% เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา จึงอยากแนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปตรวจสุขภาพตาทุกๆ 1-2 ปี เพื่อป้องกันการเกิดโรคตาต่างๆ เช่น ต้อหิน ต้อกระจก เป็นต้น”