posttoday

เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจสมาธิ

14 ตุลาคม 2557

เมื่อคนได้ทำสมาธิกันมากขึ้นแล้ว ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะแก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเกิดแก่คนอื่นๆ หมู่ คณะ สังคมประเทศชาติด้วย

โดย...วรธาร ทัดแก้ว / ภาพ จุลดิศ อ่อนละมุน

“เมื่อคนได้ทำสมาธิกันมากขึ้นแล้ว ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นไม่เฉพาะแก่ผู้เรียนเท่านั้น แต่ยังเกิดแก่คนอื่นๆ หมู่ คณะ สังคมประเทศชาติด้วย เพราะคนที่ทำสมาธิอยู่เสมอจะเป็นบุคคลที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม 3 ประการ คือ มีความรับผิดชอบสูง เป็นคนมีเหตุมีผล และมีความเมตตาประจำใจ”

ความตอนหนึ่งในโอวาทของ พระธรรมมงคลญาณ หรือหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ ที่ให้แก่มวลนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เข้าเรียน “วิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิต” ณ ห้อง 402 ตึกมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพิธีรับมอบศิษย์ เมื่อวันพุธที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

ฟังแล้วก็ขอยกมือสาธุ เห็นตามที่หลวงพ่อสอนอย่างยิ่ง เป็นเช่นนั้นจริงแล แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้หลายๆ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเปิดสอนหลักสูตรนี้ในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นหลวงพ่อเองผู้คิดค้นหลักสูตร ผู้นำวิชานี้มาเปิดสอน ตลอดคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ครูอาจารย์ผู้สอน ครูพี่เลี้ยง ชื่นใจไปตามกัน คือการได้เห็นคนรุ่นใหม่ในรั้วมหาวิทยาลัยหันมาสนใจเรื่องสมาธิแบบก้าวกระโดด สังเกตจากปีที่แล้วที่เปิดเป็นปีแรก มีนิสิตมาสมัครเรียน 205 คน แต่ปีนี้มีมาสมัครจำนวนหลักพัน แต่สามารถรับได้แค่ 462 คน ด้วยข้อจำกัดของห้องเรียน

เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจสมาธิ

 

อะไรทำให้เด็กอยากเรียนสมาธิ

รศ.ดร.วันชัย เทพรักษ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในอาจารย์สอนวิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิต กล่าวว่า น่าจะมาจากการพูดปากต่อปากจากรุ่นพี่ที่เรียนเมื่อปีที่แล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่าผู้เรียนเชื่อว่าวิชานี้จะเกิดประโยชน์ต่อตนเองในการใช้ชีวิตและเรียนหนังสือ ที่สำคัญเป็นวิชาที่จบในชั่วโมง สามารถบีบทุกอย่าง (เนื้อหา) ให้จบในชั่วโมงเรียนได้

“คิดว่ามีหลายส่วนที่เขาตัดสินใจเลือกนะ บางคนจากรุ่นพี่แนะนำ ว่าเป็นวิชาที่สามารถเรียนจบในชั่วโมง แต่เนื้อหาที่เรียนครบถ้วน มีทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ เรียนสัปดาห์ละ 1 วัน บางคนชอบเป็นส่วนตัว บางคนพ่อแม่อยากให้เรียนก็มี บางคนเห็นเพื่อนเรียนก็อยากเรียนมั่ง”

ด้าน ดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ กรรมการอำนวยการและรักษาการผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง และเป็นครูสอนสมาธิด้วย มองว่า ที่ผ่านมามีผลการวิจัยออกมาเยอะในเรื่องของสมาธิที่มีคุณประโยชน์มากมายหลายสถาน เช่น ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและคนอื่น ส่งผลดีต่อการพัฒนาตนเอง ทั้งในเรื่องของสติปัญญา ความรู้ความสามารถ การเรียน การทำงาน อาชีพ เป็นต้น จึงไม่แปลกที่เด็กสมัยนี้จะหันมาสนใจสมาธิ เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน ตลอดจนคนที่อยู่รอบตัว และสังคมประเทศชาติ

ขณะที่ ศุภนิดา บุศยพลากร นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ (อุตสาหการ) ชั้นปีที่ 4 จุฬาฯ เล่าว่า ที่เลือกเรียนวิชานี้ เพราะที่ผ่านมาเคยไปลองเดินจงกรมและปฏิบัติธรรม ณ สถานปฏิบัติธรรมมาหลายครั้ง แต่ยังไม่มีความรู้ในเรื่องของทฤษฎีและกระบวนการในการทำสมาธิชัดเจน และพอมหาวิทยาลัยเปิดสอนจึงเลือกเรียนโดยที่ไม่ต้องคิดเยอะ

“หนูเคยไปปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ เดินจงกรมที่สถานปฏิบัติธรรมแถวหัวลำโพงมาก่อน ได้ลงมือปฏิบัติแต่ก็ไม่รู้ว่าการปฏิบัตินั้นๆ ถูกต้องตามหลักจริงๆ หรือเปล่า เพราะก็รู้ว่าหลายที่ก็สอนไม่เหมือนกัน ดังนั้นพอมาเปิดสอนก็เลยสนใจอยากเรียน หลักสูตรนี้เปิดสอน 2 วัน คือ วันพุธ และพฤหัสบดี หนูจะเรียนทุกวันพุธ ตอนนี้ก็เรียนมา 6 อาทิตย์แล้ว ได้รู้เกี่ยวกับทฤษฎีมากขึ้น โดยอาจารย์สอนจะเปิดเทปเสียงบรรยายของหลวงพ่อวิริยังค์ให้ฟัง ได้ทำแบบฝึกหัดและได้ปฏิบัติตลอดทั้งนั่งสมาธิ เดินจงกรม กลับไปบ้านก็ยังทำด้วย”

ด้าน ธนวิชญ์ กรินทรากุล คณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 2 เล่าว่า เลือกวิชานี้เพราะเป็นวิชาที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตได้จริงทุกด้าน และมองว่าไม่ได้เรียนเหมือนวิชาทั่วๆ ไป เพราะเน้นปฏิบัติมากกว่า อย่างไรก็ตาม ในการเรียนช่วงแรกค่อนข้างมีปัญหา ไม่สามารถนั่งสมาธิได้เลย นั่ง 5 นาที 10 นาที รู้สึกว่านานมากและอึดอัด แต่พอเรียนไปเรื่อยก็เข้าที่เข้าทาง อาจารย์ให้นั่ง 15 นาที เดินจงกรม 15 นาที ตอนนี้ทำได้สบายๆ

เช่นเดียวกับ ณิชาบูล ชายหาด คณะวิทยาศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 เล่าว่า สนใจเรื่องสมาธิอยู่แล้ว ช่วงปิดเทอมเคยไปปฏิบัติทั้งที่วัดและสำนักปฏิบัติธรรมมาหลายครั้ง ก็ไม่รู้ลึกซึ้ง เพราะไม่ได้สอนละเอียดเหมือนกับหลักสูตรนี้ แต่หลังจากเรียนหลักสูตรนี้ก็รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างกับพัฒนาการการทำสมาธิของเรา

“ได้ความรู้เกี่ยวกับสมาธิมากมาย รวมถึงขั้นตอนการทำสมาธิที่สามารถทำได้ง่าย จากการฟังเทปบรรยายของพระอาจารย์หลวงพ่อ แล้วเวลาทำสมาธิคิวรู้สึกว่าตัวเองเข้าถึงความสงบได้เร็ว ทำแล้วรู้สึกสบาย จิตใจรู้สึกถึงความผ่อนคลาย และจะเห็นว่าตั้งแต่มาเรียนวิชานี้ รู้ได้เลยว่าเราได้อานิสงส์จากการเรียน เช่น จะช่วยในการอ่านหนังสือได้มาก คืออ่านแล้วสามารถจำได้ดีขึ้น และเข้าใจได้เร็วขึ้น เห็นผลจริง”

เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจสมาธิ

 

เกี่ยวกับวิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิต

รศ.ดร.วันชัย เล่าว่า เป็นวิชาเลือกในหมวดศึกษาทั่วไป ซึ่งในหมวดศึกษาทั่วไปนั้นมีหลายวิชาให้นิสิตเลือกลงทะเบียนเรียนอย่างน้อย 1 วิชา และวิชาสมาธิเพื่อพัฒนาชีวิตได้เปิดการเรียนการสอนเมื่อปีการศึกษา 2556 เทอมปลายเป็นครั้งแรก ความพิเศษของวิชานี้ไม่ได้สอนทฤษฎีอย่างเดียว แต่เน้นการปฏิบัติ เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิเป็นสำคัญ

“วิชานี้เป็นหลักสูตรที่พระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ได้ปรับปรุงใหม่จากหลักสูตรครูสมาธิของท่าน ซึ่งปกติหลักสูตรนี้จะเรียนทั้งหมด 6 เดือน เรียนทุกวันจันทร์ศุกร์ วันละ 2 ชั่วโมงครึ่ง แต่สำหรับนิสิตแล้วคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเรียนขนาดนั้น ท่านจึงปรับใหม่ให้เหมาะสม ย่อส่วนลงมาให้เหมาะสมกับเวลาเรียนของนิสิต แต่คงเนื้อหาครบถ้วนเหมือนหลักสูตร 6 เดือน”

สำหรับเวลาเรียน รศ.ดร.วันชัย เล่าว่า ปกติการเรียนการสอนของจุฬาฯ เทอมหนึ่งจะมี 16 ครั้ง แต่การเรียนการสอนในเทอมนี้จะมีทั้งหมด 12 ครั้ง โดยตัดช่วงแรกๆ กว่าที่นิสิตจะลงตัว รวมถึงสอบมิดเทอม (กลางภาค) สอบปลายภาค และยังมีการติวให้ 1 ครั้งก่อนสอบ ฉะนั้นการเรียนการสอนจะหายไป 4 ครั้ง ส่วนเนื้อหาหลักๆ จะมีอยู่ 4 เรื่อง คือ เรื่องสมาธิ เรื่องฌาน เรื่องญาณ และวิปัสสนา แต่ท่านจะเน้นสมาธิเป็นสำคัญ เฉพาะสมาธิจะใช้เวลาเรียนถึง 6 ครั้ง (วัน) ส่วนอีก 6 ครั้งก็แบ่งเป็นเรียนฌาน 2 ครั้ง ญาณ 2 ครั้ง วิปัสสนา 2 ครั้ง รวม 12 ครั้ง

ขณะที่วันทำการเรียน อาจารย์วันชัย บอกว่า เนื่องจากปีนี้มีนิสิตจากเกือบ 20 คณะ สมัครเรียนจำนวนมาก จึงแบ่งเป็น 2 วัน คือ เรียนวันพุธ และพฤหัสบดี นิสิตที่เรียนในวันพุธมีจำนวน 226 คน วันพฤหัสบดี 236 คน คณะที่เรียนมากสุด คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ 141 คน รองลงมา คณะวิทยาศาสตร์ 102 คน อันดับ 3 คณะแพทยศาสตร์ 69 คน

รูปแบบการเรียนการสอน

อาจารย์ดาวน้อย เล่าว่า ขั้นต้นจะให้สวดมนต์ เปิดเทปคำสอนของพระอาจารย์หลวงพ่อวิริยังค์ ประมาณ 45 นาที1 ชั่วโมง ซึ่งคำสอนของพระอาจารย์ถือเป็นเรื่องหลักที่นิสิตทุกคนต้องฟัง โดยมีหลักการว่าหลังจากฟังเทปแล้วจะให้นิสิตทำกรุ๊ปดิสคัตชั่น คือ แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 10 คน แต่ให้แต่ละคนสรุปเนื้อหาในสิ่งที่ได้ฟังมา โดยทางครูผู้สอนจะเป็นผู้ให้หัวข้อมา 1 หัวข้อ

“ขั้นตอนนี้เด็กๆ จะได้เพื่อนใหม่จากคณะและชั้นปีต่างๆ แต่ที่สำคัญพวกเขาแต่ละคนจะต้องสรุปใจความจากที่ฟังเทปตามโจทย์ที่อาจารย์สอนให้มาให้ได้ ฉะนั้นพวกเขาต้องตั้งใจฟัง ไม่อย่างนั้นก็เขียนไม่ได้ หลังจากนั้นก็ให้พักประมาณ 5 นาที พอจบ 5 นาที ก็เข้าห้องปฏิบัติ เดินจงกรม 20 นาที นั่งสมาธิ 20 นาที สุดท้ายก็สรุปบทเรียนโดยอาจารย์เป็นคนสรุป ซึ่งตอนที่อาจารย์สรุปบทเรียนตามที่หลวงพ่อสอน เด็กจะร้องอ๋อเลย เพราะเด็กๆ ผ่านการทำกรุ๊ปดิสคัตชั่นไปแล้ว เขาก็จะรู้ว่าเขาผิดหรือถูก”

อาจารย์สอนสมาธิ เล่าต่อว่า นอกจากนั้นจะให้ทำรีพอร์ตเขียนด้วยลายมือตัวเองอย่างน้อย 5 หน้ากระดาษ โดยทางอาจารย์จะตั้งหัวข้อให้และต้องส่งก่อนสัปดาห์สุดท้าย พร้อมกันนั้นก็จะให้ทำการบ้านทุกวันด้วยการนั่งสมาธิเดินและจงกรมที่บ้านวันละ 30 นาทีด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับสำนึกของนักเรียนเอง

พร้อมกับย้ำว่า การเรียนการสอนสมาธิตามแนวทางของพระอาจารย์วิริยังค์นี้ ไม่ได้มุ่งเน้นให้คนตัดกิเลสบรรลุธรรมวิเศษอะไร แต่เพื่อต้องการให้นำไปใช้ในในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเองและสังคมมากที่สุดเท่านั้น และเพียงแค่ต้องการให้คนที่เรียนสามารถกรองอารมณ์ทั้งหลาย และรู้จักควบคุมตัวเอง มีความรับผิดชอบ มีเหตุมีผล และมีเมตตาธรรมต่อกันเท่านั้น

เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจสมาธิ

 

ที่มาของการเปิดสอนที่จุฬาฯ

อาจารย์ดาวน้อย เล่าว่า การเปิดสอนหลักสูตรสมาธิที่จุฬาฯ มาจากความดำริของอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งเป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ที่จุฬาฯ ด้วย และเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของหลวงพ่อวิริยังค์ ที่มองว่าเรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญในโลกปัจจุบัน และต้องการให้การเผยแผ่สมาธิของหลวงพ่อเข้าสู่สถาบันการศึกษา

“อาจารย์คุยกับอธิการบดีของจุฬาฯ และขอเปิดเมื่อเทอมปลายของปีที่แล้ว โดยมีนิสิตสมัครเรียนถึง 205 คน ปีนี้เปิด 2 ห้อง เรียนวันพุธและพฤหัสบดี ตอนนี้ทราบว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งให้ความสนใจ เช่น ศิลปากร แต่ยังเปิดไม่ได้เนื่องจากไม่มีครูสอนสมาธิ แต่ถ้าบุคคลทั่วไปที่สนใจเรียนสามารถไปเรียนได้ที่โรงงานยาสูบ ที่ตอนนี้เพิ่งเปิดวันแรกไปเมื่อวันจันทร์ที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีคนเรียนจำนวนมาก น่าพอใจ” อาจารย์ดาวน้อย ทิ้งท้าย