posttoday

พญ.พรพรรณ กู้มานะชัย ยาปฏิชีวนะ อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น

12 ตุลาคม 2557

ฉบับนี้ แนะนำให้รู้จักกับ พญ.พรพรรณ กู้มานะชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

ฉบับนี้ แนะนำให้รู้จักกับ พญ.พรพรรณ กู้มานะชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และแพทย์จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อและอายุรศาสตร์เขตร้อน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์

ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจะมาแนะนำการใช้ "ยาปฏิชีวนะ" หรือ แอนตี้ไบโอติก (Antibiotic)เพื่อรักษา โรคติดเชื้อโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย

คุณหมอพรพรรณบอกว่า คนไทยส่วนใหญ่มักคิดว่า ยา ปฏิชีวนะจะทำให้โรคหายเร็ว ขึ้น เพราะจะไปรักษาอาการอักเสบ ทำให้ยาเป็นที่คุ้นเคยและผู้ป่วยมักซื้อยาหลายชนิดใช้เอง เช่น อะม็อกซีซิลลิน อ็อกเมนติน นอร์ฟล็อกซาซิน เป็นต้น อย่างไรก็ตามการใช้ไม่ถูกต้องจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ป่วย ได้แก่1.ต้องได้รับผลข้างเคียงจากยา เช่น คลื่นไส้อาเจียน ท้องเดิน เวียนศีรษะ2.รักษาโรคไม่หาย3.อาจเกิดการแพ้ยาที่ไม่จำเป็นต้องใช้4.เชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นซึ่งมีอยู่ได้ในร่างกายเป็นปกติดื้อต่อยาที่ใช้ และข้อสำคัญคือผู้ป่วยต้องจ่ายเงินค่ายาสิ้นเปลือง ทั้งที่ไม่มี ความจำเป็น

พญ.พรพรรณ บอกว่า กลุ่มโรค3กลุ่ม ที่ไม่จำเป็นและไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะ แต่มีอัตราการใช้ยาปฏิชีวนะสูงมาก ได้แก่1.ไข้หวัด เจ็บคอ2.ท้องเสีย3.แผลเลือดออก ซึ่งกว่า80%ไม่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และการรักษาควรเป็นไปตามอาการเท่านั้น เช่น ให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ กินยาลดน้ำมูก ลดไข้ เป็นต้น ส่วนท้องเสียและในกรณีแผลเลือดออก การดูแลรักษาแผลตามที่แพทย์นัดและป้องกันไม่ให้แผลโดนน้ำ

พญ.พรพรรณ กู้มานะชัย ยาปฏิชีวนะ อันตราย ถ้าใช้ไม่เป็น

 

ส่วนวิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ควรใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อแพทย์ ได้ทำการตรวจโดยละเอียดและให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว และผู้ป่วยจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งหากเคยมีประวัติแพ้ยา ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะมีทั้งแบบ รับประทานและแบบฉีด ซึ่งผู้ป่วยควรทำความเข้าใจ ตั้งแต่1.ต้องได้รับยา นานเท่าไร2.ต้องรับประทานยาอย่างไร ก่อนหรือหลังอาหาร3.มีข้อห้าม อย่างไรระหว่างใช้ยานี้ และ4.ยาที่จะได้รับมีผลข้างเคียงอย่างไรหากเกิด อาการใดขึ้นที่ควรต้องรีบมาพบแพทย์ เป็นต้น โดยเมื่อใช้แล้วควรใช้ ต่อเนื่องจนครบ มิเช่นนั้นอาจเกิดอันตราย

ส่วนข้อควรระวังที่สำคัญ คือ อาการแพ้ยา หากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยา ได้แก่ ผื่นทุกชนิด ปากบวม ตาบวม แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงวี๊ด ควรรีบหยุดยา และพบแพทย์ทันทีโดยผู้ป่วยต้องนำยาที่รับประทานอยู่ทั้งหมดพร้อมซองหรือชื่อยาไปให้แพทย์ด้วย ไม่ควรนำไปแต่เม็ดยา หากเป็นยาฉีดก็ให้นำใบนัด ฉีดยาซึ่งจะมีชื่อยาไปให้แพทย์ด้วย