posttoday

วิ่งมาราธอน กีฬาไม่จำกัดวัย

05 กรกฎาคม 2557

โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว /ภาพ สสส.

โดย...กองทรัพย์ ชาตินาเสียว /ภาพ สสส.

กระแสรักสุขภาพ ลดหุ่น ลดพุง กำลังพุ่งทะยาน คนหลายรุ่นหันมาออกกำลังกายมากขึ้น และการออกกำลังกายที่ง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดอีกชนิดหนึ่งก็เห็นจะเป็นการวิ่ง แต่สิ่งจำเป็นที่นักวิ่งต้องมีนอกจากการเลือกรองเท้าดีๆ สักคู่ นั่นก็คือ ใจที่กล้าลุกขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง

คนที่ลุกขึ้นมาวิ่งมาราธอนมีจุดประสงค์ 2 อย่างคือ วิ่งเพื่อซ่อม และวิ่งเพื่อสร้าง ประเภทแรกออกกำลังเพราะคำสั่งของคุณหมอ เนื่องจากมีโรคภัยที่ต้องบำบัด และประเภทที่ 2 คือการวิ่งเพื่อเสริมสร้างร่างกายให้มีกล้ามเนื้อและมวลกระดูก จากที่แข็งแรงอยู่แล้วให้แข็งแรงยิ่งขึ้นเพื่อมีชีวิตยืนยาวอย่างมีความสุข

คนโสดวิ่งเพื่อสร้าง

วรพล โสภณวุฒิกุล (เน็กซ์) อายุ 32 ปี อาจารย์พิเศษสอนภาษาจีน มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หนุ่มโสดที่กำลังจะปลดระวางความโสดในเร็วๆ นี้ เป็นหนึ่งในคนที่ลุกขึ้นมาวิ่งเพื่อสร้างสุขภาพที่ดี เขาบอกว่า เริ่มต้นวิ่งมาราธอนอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง รัก 7 ปี ดี 7 หน จุดประสงค์เพื่ออยากท้าทายความอดทนและก้าวข้ามกำแพงบางอย่าง จากที่วิ่งออกกำลังกายปกติทุกเช้าระยะทาง 3 กิโลเมตร เขาก็เริ่มคิดอยากวิ่งให้ไกลขึ้น โดยเริ่มหาข้อมูลการวิ่งในอินเทอร์เน็ต จากนั้นก็ฝึกซ้อมเพื่อเข้าร่วมการวิ่งมาราธอน

“ปกติผมเป็นคนแข็งแรงอยู่แล้ว แต่จะอวบระยะสุดท้าย หลังจากได้ดูหนังก็มีแรงกระตุ้นอยากจะวิ่งมาราธอนดูบ้าง เป้าหมายอย่างหนึ่งที่ตั้งไว้ก็คือวิ่งเพื่อลดน้ำหนัก โดยผมจะวิ่งทุกเช้ารอบวังสวนจิตลดา ตอนเช้าๆ อากาศดี ช่วงเริ่มต้นจะว่าเหนื่อยก็เหนื่อย ระยะแรกจึงตั้งเป้าไว้ไม่มากเท่าไหร่ จากเคยวิ่ง 1 รอบ ก็ตั้งเป้าว่าค่อยๆ เพิ่มเป้าหมายเป็น 2 รอบ 3 รอบ ค่อยๆ เพิ่มไปเรื่อยๆ จนร่างกายปรับตัวได้เอง พอทำได้ก็มีแรงฮึด สนุกสำหรับวิ่งในรายการต่อๆ ไป”

วิ่งมาราธอน กีฬาไม่จำกัดวัย

 

 

วิธีการซ้อมของวรพลเมื่อกลายเป็นนักวิ่งเต็มตัว คือ จะซ้อมอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน วันละ 35 กิโลเมตร แต่หากมีรายการแข่งก็จะวิ่งให้นานขึ้น โดยเพิ่มระยะทางให้มากขึ้น อาจารย์หนุ่มบอกเพิ่มเติมอีกว่า “ความเปลี่ยนแปลงหลังจากวิ่งอย่างจริงจัง นอกจากรูปร่างที่เพรียวขึ้นแล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัดผมเครียดน้อยลง อารมณ์ดี ผ่อนคลาย เช่น เวลาเราทำงานมาหนักๆ เหนื่อยๆ ยิ่งการเป็นอาจารย์ต้องทำงานกับคนเยอะ ความเครียดก็เกิดง่าย แต่หลังจากวิ่งแล้ว ผมว่าอีคิวผมดีขึ้นมากเลยครับ”

วรพลมีข้อแนะนำสำหรับคนที่อยากเริ่มวิ่งว่า แค่คุณอยากอย่างเดียวยังไม่พอ แต่ต้องเริ่มวิ่งด้วย โดยตั้งเป้าหมายของตัวเองไว้ แล้วก็ค่อยๆ ไปให้ถึงเป้าหมาย “โดยส่วนตัวผมคิดว่าอายุไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการวิ่งเลย การวิ่งทำได้ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ เพราะผมเห็นนักวิ่งวัย 80 ปี ที่วิ่งเร็วกว่าผม ถึงเส้นชัยก่อนคนหนุ่มสาวก็มีไม่น้อย เพราะฉะนั้นผมว่าพลังใจและการฝึกซ้อมแบบสม่ำเสมอก็ทำให้เราถึงเส้นชัยได้ แต่ที่สำคัญอย่าไปแข่งกับคนอื่น แต่เราต้องแข่งกับตัวเอง”

นักวิ่งหน้าใหม่ 1.เลือกเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี สวมใส่สบาย

2.สถานที่วิ่งสำหรับคนเริ่มต้นวิ่ง สวนสาธารณะเป็นแหล่งจูงใจที่ทำให้คุณพบเพื่อนนักวิ่งด้วยกัน ที่สำคัญมีพื้นที่ราบเรียบ วิ่งได้นานและสบาย

3.คนวิ่งที่มีน้ำหนักมาก หรือเพิ่งจะเริ่มวิ่ง ควรเลือกรองเท้าที่รองรับน้ำหนักได้ดีเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ

4.ก่อนลงวิ่งในแต่ละรายการ ต้องดูว่ารายการที่จะวิ่งมีระยะทางเท่าใด และเป้าหมายของคุณเพื่ออะไร วิ่งเพื่อทำเวลาหรือวิ่งแค่ถึงเส้นชัย เพื่อกำหนดทิศทางการซ้อม

วิ่งมาราธอน กีฬาไม่จำกัดวัย

 

 

วัยเกษียณวิ่งเพื่อซ่อม

เนื่องจากร่างกายของคนเราเสื่อมถอยลงตามกาลเวลา การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับผู้สูงวัยเพื่อชดเชยร่างกายที่เสื่อมลง กระนั้นผู้คนจำนวนมากอาจหยุด หรือลดการออกกำลังกายลงเมื่ออายุมากขึ้น ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่สมบูรณ์พร้อมเหมือนเมื่อก่อน แต่กับบางคนยิ่งอายุมากขึ้นเท่าไหร่ หรือยิ่งร่างกายเสื่อมถอยลงเท่าไหร่ การออกกำลังกายก็ยิ่งจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น

สมจิตร วีระกาญจนพงศ์ อายุ 70 ปี เจ้าของธุรกิจส่วนตัวย่านบางรัก เป็นคนหนึ่งที่ไม่ยอมแพ้กับความเสื่อมของร่างกาย ลุงสมจิตรบอกว่า เริ่มวิ่งตอนอายุ 48 ปี จนถึงตอนนี้ก็ 20 กว่าปีแล้ว จุดเริ่มต้นของการวิ่ง คือ อยากเป็นแรงบันดาลใจให้หลานชายลดความอ้วน จึงต้องวิ่งเป็นเพื่อนเขา

“เราชวนหลานไปวิ่ง วิ่งรายการแรกเลยวิ่งถึงเส้นชัยก็เกือบตาย แต่หลังจากนั้นก็ซ้อมใหม่อยากเอาชนะตัวเอง วิ่งจนติดใจ วิ่งมาเรื่อยๆ จนได้มาเข้ากลุ่มเพื่อนสวนลุมฯ ซึ่งเป็นกลุ่มที่วิ่งประจำที่สวนลุมฯ มาเริ่มติดถ้วยตอนอายุ 61-62 ปี แล้วก็พออายุ 63 ปี ก็ได้รับบาดเจ็บ เป็นรองช้ำที่เท้า ออกสนามไม่ได้อยู่ 45 ปี แต่ระหว่างนี้ก็วิ่งออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เพิ่งกลับมาลงสนามตอนอายุ 69 ปี และกลับมาได้ถ้วยอีกครั้งตอนอายุ 70 ปี”

ลุงสมจิตร บอกว่า การวิ่งหากวิ่งถูกหลักและวิ่งอย่างพอดีก็จะไม่มีอาการบาดเจ็บ แต่การออกกำลังกายด้วยการวิ่งยังช่วยบรรเทาอาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุในบางโรคได้

วิ่งมาราธอน กีฬาไม่จำกัดวัย

 

“ตั้งแต่ผมวิ่งมา โรคอื่นๆ ที่ผู้สูงอายุเป็น ผมไม่เป็นนะ ยกเว้นรองช้ำที่ต้องรักษา ผมว่าต่อให้เป็นโรคหัวใจ คุณก็ออกกำลังกายได้ ออกกำลังกายเบาๆ เช่น มีคนออสเตรเลียคนหนึ่งเขาเป็นโรคหัวใจ เขาเริ่มจากวิ่งเบาๆ ตามคำสั่งคุณหมอ จนกลายเป็นนักวิ่งมาราธอนในเวลาต่อมาก็มี ตราบใดที่ยังเดินได้ คุณก็วิ่งได้ เริ่มต้นจากวิ่งไปช้าๆ ก่อน วิ่ง 20 ก้าว แล้วหยุดเดิน 20 ก้าว ทำสลับกันไปมา ค่อยๆ เพิ่มจำนวนก้าว ทำจนเราวิ่งได้ตลอด ต่อไปก็จะวิ่งระยะยาวได้ ถ้าคุณออกสนามครั้งหนึ่ง คุณก็จะติดใจ เพราะคุณจะได้เจอเพื่อนทุกระดับ คุณวิ่งเร็วหรือวิ่งช้า คุณก็จะมีเพื่อนในทุกระดับ ที่สำคัญจะมีความสุขใจและได้เจอเพื่อนใหม่”

แม้สังขารจะร่วงโรยไปตามวัย แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่เราควรรักษาไว้ ก็คือ จิตใจที่ยังคงมุ่งมั่นและกระตือรือร้นอยู่เสมอ อย่าให้อายุที่เพิ่มมากขึ้นมาเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกาย

ก่อนผู้สูงวัยไปวิ่ง 1.ต้องหาแรงบันดาลใจ อย่าบังคับฝืนใจตนเอง เพราะทัศนคติที่ดีจะช่วยให้วิ่งได้สม่ำเสมอ ไม่หมดไฟไปเสียก่อน 2.ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดก่อนเริ่มวิ่ง เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์ 3.เริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการเดินสลับวิ่งเบาๆ เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ 4.อบอุ่นร่างกายก่อนออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ครบทุกส่วนทั้งก่อนและหลังออกกำลังกาย