posttoday

เรียนรู้อาการวัยทองจากศาสตร์แพทย์จีน

21 มิถุนายน 2557

วัยทอง จะเกิดขึ้นในผู้ชายช่วงอายุ 40-70 ปี และในผู้หญิงอายุ 45-59 ปี หรือสตรีที่ผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ไปแล้ว

โดย...แพทย์จีนธนภร ตันสกุล คลินิกหัวเฉียวแพทย์จีน

วัยทอง จะเกิดขึ้นในผู้ชายช่วงอายุ 40-70 ปี และในผู้หญิงอายุ 45-59 ปี หรือสตรีที่ผ่าตัดมดลูกหรือรังไข่ไปแล้ว หรือสตรีที่อายุยังไม่ถึงวัยหมดประจำเดือนแต่มีอาการร้อนวูบวาบเหมือนวัยทอง มีภาวะประจำเดือนไม่มาหรือมาน้อยมากแต่อย่าเพิ่งตกใจกันนะคะ เพราะไม่ได้จะมีอาการวัยทองกันทุกคน บางคนมีอาการบางคนไม่มีอาการแต่จะพบในคุณผู้ชายมากกว่าผู้หญิง แต่คุณผู้ชายส่วนใหญ่มักจะไม่รู้ตัว

วัยทอง มีอาการหลัก คือร้อนวูบวาบและเหงื่อออกง่ายหรืออาการเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาวสลับกันสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือคนข้างๆ รู้สึกหนาวหรือเฉยๆ แต่เราจะรู้สึกร้อนและมีเหงื่อออกร่วมด้วย บางครั้งเหงื่อออกมากโดยไม่รู้สาเหตุเดินนิดหน่อยก็เหงื่อออกท่วมตัวแล้ว และที่ขาดไม่ได้เลยคืออาการหงุดหงิดวิตกกังวล ซึมเศร้า จู้จี้ขี้บ่นมากขึ้นกว่าเดิม อ่อนเพลียไม่มีแรงเวียนศีรษะ ใจสั่น แน่นหน้าอก มีเสียงในหูนอนไม่หลับ ปวดเมื่อยตามตัว ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน และที่คุณผู้หญิงสามารถสังเกตได้ง่ายๆ เลยก็คือประจำเดือนเริ่มมาบ้างไม่มาบ้างหรือมาเดือนละสองครั้งหรือกะปริดกะปรอยไม่หยุด

ตามหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีนได้กล่าวถึงสาเหตุของอาการวัยทองไว้ว่า ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงอายุก่อนหรือหลังอายุ 49 ปี ผู้ชายในช่วงอายุ 64 ปี การทำงานของลมปราณไตเริ่มเสื่อมถอยลง เส้นลมปราณชงและเส้นลมปราณเหรินพร่องหรืออ่อนแอลง (เส้นลมปราณที่เกี่ยวกับการควบคุมการเจริญเติบโตทางเพศ) จึงทำให้ในผู้หญิงเริ่มมีรอบเดือนผิดปกติหรือหมดประจำเดือนการเจริญเติบโตทางเพศเริ่มลดลงหรือหมดไป (ทางแพทย์แผนปัจจุบันกล่าวได้ว่าไม่มีการผลิตฮอร์โมนเพศ) หรือนอกจากนี้ยังมีสาเหตุภายนอกอื่นๆ เช่น พยาธิวิทยาของผู้หญิงหรือคุณผู้ชายแต่ละคนโรคประจำตัวบางโรคการใช้ชีวิตประจำวันการกินสภาวะทางอารมณ์และสภาวะแวดล้อมที่อยู่ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หยินหยางในร่างกายไม่สมดุล จึงเป็นตัวกำหนดว่าอาการวัยทองจะเกิดได้เร็วหรือช้าอีกด้วย ซึ่งแบ่งสาเหตุออกเป็น 3 ประเภทดังนี้

1.การพร่องของไตอินหรือการเสื่อมถอยของไตที่ควบคุมสารน้ำ

คนที่ร่างกายอ่อนแอที่มีอินของร่างกายพร่องสารน้ำในร่างกายและเลือดลดน้อยลงรวมถึงมีอารมณ์หดหู่วิตกกังวลนอนไม่หลับ ส่งผลกระทบต่อสารน้ำหยินในร่างกายการคลอดบุตร หรือการมีเพศสัมพันธ์มากเกินไปส่งผลกระทบต่อสารก่อเกิดเลือดในร่างกายได้ หรือมีภาวะเสียเลือดจำนวนมากไตอินโดนทำลายเลือดไปเลี้ยงอวัยวะในร่างกายไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบหรือเกิดอาการวัยทองนั่นเอง

ลักษณะอาการของการพร่องของไตอินคือมีการอาการเวียนศีรษะ มีเสียงในหู ปวดเอว แขนขาไม่มีแรงร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก หงุดหงิด นอนไม่หลับ ฝันมาก ปากคอแห้งหรือมีอาการคันบริเวณผิวหนัง เป็นต้น ในผู้หญิงพบมีภาวะประจำเดือนมาน้อยมากหรือมามากเกินไปและมีสีแดงสด

2.การพร่องของไตหยางหรือการเสื่อมถอยของไตที่ควบคุมพลังความร้อน

คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงเมื่อพลังของไตหยางไม่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็นมากเกินไป ทำให้พลังไฟของไตหยางถูกทำลาย จึงส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกาย ทำให้ขาดพลังงานความร้อนจนส่งผลให้เกินอาการวัยทองขึ้นได้

ลักษณะอาการของการพร่องของไตหยาง คือเวียนศีรษะ หูมีเสียง กลัวหนาว แขนขาเย็น ปวดเอวปวดเข่า มีอาการท้องน้อยเย็น และปวดหน่วงที่บริเวณท้องน้อย ฉี่บ่อยหรือกลั้นไม่อยู่ สีหน้าดำคล้ำ ในผู้หญิงจะมีภาวะตกขาวมีปริมาณมาก หรือภาวะประจำเดือนไม่ปกติบางครั้งมามากบางครั้งมาน้อย เป็นต้น

3.การพร่องของไตอินและหยางหรือการเสื่อมถอยของไตที่ควบคุมสารน้ำและพลังความร้อน

ไต คือ อวัยวะที่มีทั้งอินและหยางเป็นจุดกำเนิดของพลังอินและพลังหยาง ในร่างกายของคนเรา อินและหยาง ล้วนมีการทำงานที่ส่งเสริมกันและกัน ถ้าอินโดนทำลายหรืออ่อนแอลงจะส่งผลกระทบต่อการทำงานหยาง เช่นเดียวกับถ้าหยางโดนทำลายหรือ่อนแอลง ก็จะส่งผลกระทบต่ออินเช่นกัน ดังนั้นถ้าพลังอินและพลังหยางไม่เพียงพอก็ไม่สามารถหล่อเลี้ยงและให้พลังงานแก่อวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ จึงทำให้เกิดอาการวัยทองได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะอาการเด่นของการพร่องของไตอินและไตหยาง คือ มีอาการบางครั้งกลัวหนาวมาก บางครั้งเหงื่อออกมาก ร้อนวูบวาบ มีอาการปวดเอว แขนขาไม่มีแรง เวียนศีรษะ หูมีเสียง หงุดหงิดวิตกกังวล เป็นต้น

การรักษาทางแพทย์แผนจีนมีทั้งรับประทานยาสมุนไพรจีน หรือการรักษาโดยการฝังเข็ม เพื่อเน้นการปรับสมดุลหยินหยางในร่างกาย บำรุงไตหยินและหยางเป็นหลัก เมื่อไตหยินและไตหยางสมดุลอาการวัยทองจะลดลงเป็นลำดับนั่นเอง

นักโภชนาบำบัดทางการแพทย์แผนจีนได้แนะนำอาหารที่ช่วยลดอาการวัยทองไว้หลายชนิด แต่จะขอแนะนำอาหารที่สามารถพบและหาซื้อได้ง่ายในประเทศไทย เช่น

1.เห็ดหูหนูขาว

เห็ดหูหนูสีขาวมีวิตามินหลากหลายชนิดมีสารคอลลาเจน กรดอะมิโน และมีสารต้านอนุมูลอิสระทางทฤษฎีแพทย์แผนจีนได้กล่าวว่า เห็ดหูหนูขาวนั้นมีประโยชน์ในการบำรุงรักษาปอด ช่วยลดอาการไอเรื้อรัง เสริมสร้างสารน้ำ เพิ่มพลังลมปราณ และสามารถบำรุงเลือด บำรุงสมอง และหัวใจให้แข็งแรงได้ ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ป่วยวัยทองที่มีลักษณะของปอดและไตหยินพร่อง มีอาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ปากแห้ง คอแห้งเป็นหลัก

2.เม็ดบัว

เม็ดบัวมีรสหวาน ฝาด มีฤทธิ์เป็นกลาง สรรพคุณ คือ เสริมสร้างพลังลมปราณของไต หล่อเลี้ยงลมปราณของหัวใจ บำรุงลมปราณของม้าม จึงเหมาะกับผู้ป่วยวัยทองที่มีอาการหงุดหงิด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ฝันมาก ร่างกายอ่อนแอไม่มีแรง เป็นต้น

3.เก๋ากี้

เก๋ากี้ มีรสหวาน ฤทธิ์เป็นกลาง ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นมีสรรพคุณในการบำรุงตับและไต ที่ประเทศจีนมักพบคนชราหรือเด็กนักเรียนนำเก๋ากี้แช่น้ำร้อนพกใส่กระติกไปเรียนหรือไปทำงาน เพื่อดื่มบำรุงกำลัง แทนที่การดื่มชาหรือกาแฟ เป็นวิธีการบำรุงแบบง่ายๆ ที่มีประโยชน์ สะดวก และสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ป่วยวัยทองที่มีลักษณะตับและไตหยินเสื่อมถอย มีอาการร้อนวูบวาบ เวียนศีรษะ ตาลาย ปวดเอวปวดขา ร่างกายไม่มีแรง เป็นต้น

นอกจากนี้แล้ว ผู้ป่วยวัยทองที่พบได้ส่วนใหญ่มีอาการของไตอินพร่อง มีอาการร้อนเป็นหลัก สามารถรับประทาน งาดำ ตับหมู หัวใจหมู โสมอเมริกา ตังกุย รากบัว ผักและผลไม้สด เป็นต้น เพื่อเพิ่มพลังความร้อนให้แก่ไต เป็นอาหารลดอาการวัยทองได้เป็นอย่างดี

ผู้ป่วยที่มีอาการวัยทองควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด เผ็ดจัด มันจัด งดสูบบุหรี่ งดดื่มแอลกอฮอล์ ชาและกาแฟ เป็นต้น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไม่หักโหมจนเกินไป พร้อมทั้งรักษาสภาวะทางอารมณ์ให้เป็นปกติร่วมด้วย เพื่อลดอาการวัยทองได้อย่างเห็นผลและชัดเจนยิ่งขึ้น

จากข้างต้นแล้ว อาการวัยทองเกิดจากหลักการง่ายๆ คือ ความไม่สมดุลของอินและหยางในร่างกายเป็นหลัก ดังนั้น คนเราจะห่างไกลจากอาการวัยทองและแข็งแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคใดๆ ก็ตาม สามารถยึดหลักทฤษฎีแพทย์แผนจีน โดยวิธีรักษาความสมดุลของทั้งภายในร่างกายและจิตใจควบคู่กันไป จึงจะสามารถป้องกันและบรรเทาอาการป่วยของโรคต่างๆ ได้เป็นอย่างดี มีประสิทธิภาพและยั่งยืน