posttoday

ฉลาม จากผู้ล่าสู่ผู้ถูกล่าแห่งมหาสมุทร

05 มิถุนายน 2557

เมื่อพูดถึงนักล่าแห่งท้องทะเล เชื่อว่าทุกคนจะต้องนึกถึงฉลามเป็นอันดับแรก แต่ความจริงในเวลานี้ฉลามกลายเป็นผู้ถูกล่าจนน่าใจหาย

โดย...โยธิน อยู่จงดี

เมื่อพูดถึงนักล่าแห่งท้องทะเล เชื่อว่าทุกคนจะต้องนึกถึงฉลามเป็นอันดับแรก แต่ความจริงในเวลานี้ฉลามกลายเป็นผู้ถูกล่าจนน่าใจหาย เมื่อข้อมูลล่าสุดชี้ชัดว่าประชากรฉลามทั่วโลกหายไปมากกว่า 80% และยังคงลดจำนวนลงต่อเนื่องเรื่อยๆ ตราบเท่าที่มนุษย์ยังนิยมบริโภคเมนูหูฉลาม รวมทั้งการทำลายสภาพแวดล้อมทางทะเลที่ส่งผลให้อาหารของฉลามลดน้อยลงไปด้วย

หมายปองหนึ่งครีบแลกทั้งชีวิต

เนื่องในวันที่ 8 มิ.ย.ที่จะถึงนี้เป็นวันมหาสมุทรโลก วันที่เราทุกคนจะกลับมาทบทวนความสำคัญในการอนุรักษ์มหาสมุทร ว่า ในแต่ละปีนั้นเราทำลายและสร้างสรรค์อะไรกลับคืนสู่มหาสมุทรบ้าง ซึ่งในปีที่ผ่านมาความสำคัญของฉลามคือในระบบนิเวศวิทยาทางทะเล เขาอยู่ยอดบนสุดของห่วงโซ่อาหาร จึงมีความสำคัญมากในการเป็นตัวควบคุมประชากรปลาในทะเลเพื่อสร้างสมดุลในระบบ ทีนี้ที่เราจะวัดได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ จำนวนของฉลามก็สามารถเป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศทางทะเลในบริเวณต่างๆ หากบริเวณไหนมีระบบนิเวศที่ดี จำนวนฉลามก็จะเพิ่มมากขึ้นเพราะแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

แต่คราวนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่า ฉลามที่เคยเป็นผู้ล่าในท้องทะเลวันนี้เขากลับกลายเป็นผู้ถูกล่าเพียงเพื่อการบริโภคครีบหรือที่เราเรียกว่าหูฉลามเท่านั้น รศ.ดร.มาริสา จาตุพรพิพัฒน์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ สาขาชีววิทยา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นผู้ศึกษาและวิจัยเรื่องฉลามและคิดค้นหูฉลามเทียม เพื่อทดแทนการล่าฉลามเพียงเพื่อเอาครีบมารับประทาน อธิบายว่า การล่าฉลามจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ก็คือ การล่าเพื่อเอาครีบนำมาทำเป็นอาหาร จะเป็นการล่าด้วยการใช้อวนดัก ทำให้จับฉลามได้ในจำนวนมากในครั้งเดียว อีกส่วนก็คือการล่าเป็นกีฬา ก็จะใช้ปืนฉมวกในการล่า จะจับได้ครั้งละ 1 ตัว เพื่ออวดว่าสามารถล่าฉลามได้

ฉลาม จากผู้ล่าสู่ผู้ถูกล่าแห่งมหาสมุทร

หลังจากที่จับฉลามมาได้แล้ว ชาวประมงในประเทศแถบยุโรปก็จะตัดเอาเฉพาะครีบฉลามเก็บไว้ทำหูฉลาม และทิ้งร่างฉลามเป็นๆ ลงทะเลให้ตายลงอย่างช้าๆ เป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างไม่คุ้มค่า ไม่ต่างจากการฆ่าช้างเอางาเลย เพราะชาวยุโรปไม่นิยมบริโภคเนื้อฉลาม เพราะมีกลิ่นคาว เนื่องจากเป็นปลาที่กินเนื้อสัตว์อื่นเป็นอาหารนั่นเอง

จากการล่าฉลามในยุโรปย้อนกลับมาดูที่ประเทศไทย ชาวประมงไทยที่จับปลาฉลามได้นั้น เกือบจะเรียกได้ว่ากินทั้งตัว โดยเอาเนื้อปลาฉลามมาตากแห้งเพื่อเก็บไว้รับประทานได้นานๆ ส่วนหูฉลามนั้นเป็นเพียงผลิตภัณฑ์เสริมที่ได้จากการจับปลาฉลาม โดยจะมีคนมารับซื้อหูฉลามต่อไปผ่านกรรมวิธีที่ยุ่งยากและเป็นมลพิษเพื่อให้ได้หูฉลามส่งภัตตาคารอาหารจีน

แต่อันที่จริงแล้วจากงานวิจัยเรื่องหูฉลามนั้น บอกได้เลยว่า คุณค่าทางอาหารไม่ได้ดีไปกว่าอาหารชนิดอื่นๆ เพียงแต่เป็นค่านิยมว่าเป็นอาหารที่หามาได้ยาก ทำยาก และมีราคาแพง เป็นเมนูของคนที่มีฐานะดี แต่อันที่จริงแล้วหูฉลามมีส่วนประกอบที่สามารถหาได้ในอาหารอื่นๆ เช่น คอลลาเจน ที่เป็นส่วนประกอบของเส้นเอ็นในสัตว์ เราจึงสามารถสร้างหูฉลามเทียมได้โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความแตกต่างด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

ดั้งนั้น เราควรกลับมาคิดทบทวนเรื่องค่านิยมในการบริโภคหูฉลามว่าเป็นเพียงครีบปลาชนิดหนึ่งที่ไม่ได้มีคุณค่าทางอาหารสูงกว่าอาหารอื่นๆ อีกทั้งการล่าฉลามกลายเป็นปัญหาที่สร้างวิกฤตกับระบบนิเวศ อีกทั้งฉลามไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ทันต่อการล่าของมนุษย์ หากปล่อยไว้วันหนึ่งฉลามอาจถึงคราวสูญพันธุ์

ฉลาม จากผู้ล่าสู่ผู้ถูกล่าแห่งมหาสมุทร

 

ช่วยทะเลต้องเริ่มจากบนบก

ดร.อนัญญา เจริญพรพัทธ สาขาวิชาการประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง เสริมในเรื่องการอนุรักษ์ทะเลในวันมหาสมุทรโลก ว่า ไม่ว่าเราจะอนุรักษ์ทะเล ฉลาม ปะการัง หรือสิ่งแวดล้อมทางทะเลอื่นๆ หัวใจสำคัญคือต้องเริ่มการอนุรักษ์ตั้งแต่แผ่นดิน เพราะมลภาวะทุกอย่างเริ่มมาจากบนบก จากชายฝั่ง จากแม่น้ำที่ไหลลงสู่มหาสมุทร ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่เราปล่อยลงสู่แม่น้ำ ปล่อยลงดิน สิ่งเหล่านั้นมีผลต่อสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในมหาสมุทรทั้งสิ้น จึงไม่ใช่ว่าเราอยู่บนแผ่นดินที่ห่างไกลจากทะเลแล้วจะหมายความว่าเราไม่ได้มีส่วนในการทำลายมหาสมุทร

โดยเฉพาะชายฝั่งนั้น ถือว่าเป็นแหล่งอาหารและแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแนวปะการังที่สำคัญ โดยเฉพาะชายฝั่งเขตร้อน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นหัวใจของระบบนิเวศทางทะเลของโลกก็ว่าได้ เพราะชายฝั่งในแถบยุโรปนั้นจะมีช่วงฤดูหนาวที่เย็นจัดทำให้ชายฝั่งกลายเป็นน้ำแข็ง บริเวณนั้นจึงมีระบบนิเวศเฉพาะที่มีสัตว์น้ำจำนวนไม่มากนัก

แต่อย่างชายฝั่งเขตร้อนจะมีสภาพที่ค่อนข้างคงที่ จึงเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำหลากหลายพันธุ์ขนาดใหญ่ แต่ปัญหาที่ผ่านมาอย่างในส่วนของประเทศไทย พบการปล่อยสารเคมีลงสู่แม่น้ำ มีการพังทลายของหน้าดิน รวมทั้งน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ก็ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งของไทยหลายที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ผลที่ตามมาก็คือแหล่งอาหารของปลาลดลง ปลาหรือสัตว์น้ำบางชนิดไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้ ส่งผลให้จำนวนปลาลดลง ชาวประมงก็ขาดรายได้จากการหาปลา

รวมทั้งอาหารของฉลามก็จะลดลง จึงกลายเป็นว่าฉลามจะได้รับผลกระทบทั้งจากการล่าของมนุษย์และสภาพอาหารที่ขาดแคลนจากการทำลายสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ด้วย

ฉลาม จากผู้ล่าสู่ผู้ถูกล่าแห่งมหาสมุทร

 

ช่วยฉลามได้แค่บริโภคอย่างเพียงพอ

“วันมหาสมุทรโลกที่ผ่านมา แต่ละประเทศก็จะให้ความสำคัญในหัวข้อต่างๆ อย่างเรื่องรณรงค์ไม่ใช้อวนตาถี่จับปลา รณรงค์อนุรักษ์แนวปะการัง และล่าสุดในช่วงปีที่ผ่านมากระแสการอนุรักษ์ฉลามก็ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง เพราะฉลามยังคงถูกล่าอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ทั้งที่จริงแล้วฉลามคือนักล่าอันดับ 1 แห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่มีชีวิตรอดตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ ผ่านยุคน้ำแข็งอันโหดร้าย แต่กลับกลายเป็นว่าอาจสูญพันธุ์เพราะการล่าอย่างไม่รู้จักเพียงพอของมนุษย์ ดังนั้นการที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์ฉลามอย่างง่ายที่สุดก็คือรู้จักการบริโภคอย่างพอดี พอเพียง”

ธิราช รุ่งเรืองกนกกุล เล่าถึงวิกฤตของฉลามนักล่าแห่งท้องทะเลที่กลายเป็นผู้ถูกล่า ในฐานะศิลปินนักถ่ายภาพใต้น้ำผู้คร่ำหวอดและผู้จัดนิทรรศการศิลป์เพื่อทะเลไทย ที่ต้องการเล่าถึงความงามแห่งท้องทะเลที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ในวันที่ 5 มิ.ย.-15 ก.ค.นี้

ปัจจุบัน จากรายงานล่าสุดของกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ระบุว่า ในแต่ละปีมีปลาฉลามกว่า 180 สายพันธุ์ จำนวนกว่า 73 ล้านตัว ถูกฆ่าและเกือบทั้งหมดถูกส่งไปขายยังจีนแผ่นดินใหญ่ ในขณะที่บางสายพันธุ์จำนวนประชากรลดลงเหลือเพียง 11% เมื่อเทียบกับการสำรวจเมื่อปี 2543 วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์ท้องทะเลและฉลามให้เหมือนกับที่เราอนุรักษ์ป่าและเสือโคร่งให้อยู่คู่โลกที่เราเคยรู้จักและจะเป็นตลอดไปหรือยัง

ฉลาม จากผู้ล่าสู่ผู้ถูกล่าแห่งมหาสมุทร