posttoday

ณิชา พีชวณิชย์ กับการเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก

11 พฤษภาคม 2557

วันนี้เรามี ดิ ไอดอล ที่มีทั้งความน่าสนใจ น่าศึกษาเรื่องราวชีวิต น่านำไปเป็นต้นแบบทางความคิด

โดย...ตุลย์ จตุรภัทร ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

วันนี้เรามี ดิ ไอดอล ที่มีทั้งความน่าสนใจ น่าศึกษาเรื่องราวชีวิต น่านำไปเป็นต้นแบบทางความคิดและการศึกษา แถมยังน่ารักอีกต่างหาก เธอคือนักแต่งนิทานที่มีทั้งผลงานนิทานสำหรับเด็กและวรรณกรรมเยาวชน ระดับได้รับรางวัลการันตี

เธอคือ “ณิชา พีชวณิชย์” ผู้จบปริญญาตรีสาขาวรรณกรรมสำหรับเด็ก มศว ประสานมิตร ปริญญาโทสาขาภาษาศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการและนักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก และเป็นนักเขียนอิสระ

“ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัย ก็เขียนงานหลากหลายสไตล์ แต่ไม่เคยเขียนนิทานสำหรับเด็ก เพราะคิดว่าเส้นทางนี้มันอยู่ยาก แถมนิทานในบ้านเราส่วนมากก็แปลมาจากเมืองนอก เลยคิดว่าถ้าเขียนนิทานสำหรับเด็กจริงๆ คงอดตายแน่ๆ แต่วันหนึ่ง ได้ไปร่วมฟังบรรยายของนักเล่านิทานจากญี่ปุ่น ความรู้สึกในใจมันอบอุ่นเหมือนได้กลับบ้าน มันเหมือนกับว่า นี่แหละคือสิ่งที่เราหลงใหล มันน่าเสียดายที่เราจะทิ้งไปโดยที่ยังไม่ได้ลองทำ ประจวบเหมาะที่สำนักพิมพ์ห้องเรียนประกาศรับสมัครกอง บก. แล้วเรารู้สึกว่าสำนักพิมพ์นี้มีอะไรบางอย่างที่ตรงกับเรา ก็เลยตัดสินใจสมัครดู แล้วก็ได้เริ่มต้นสู่เส้นทางการแต่งนิทานสำหรับเด็กแบบเต็มตัวจากที่นี่ค่ะ”

ณิชา พีชวณิชย์ กับการเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก

 

ณิชา เผยว่า การเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก จุดเริ่มต้นต้องเริ่มจากใจรักเป็นอันดับแรก เพราะเส้นทางนี้ไม่ได้ทำให้เราร่ำรวยอะไร ถ้าจุดเริ่มต้นไม่ใช่ทำด้วยความรัก เดินต่อไปอาจจะเบื่อซะก่อน

“ที่เหลือก็คือลงมือทำจริงๆ เขียนจริงๆ แล้วลองนำเสนอสำนักพิมพ์ดู ตรงนี้อาจจะยากหน่อย เพราะสำนักพิมพ์ที่รับพิจารณาหนังสือนิทานคนไทยอาจจะไม่มีเยอะนัก อย่างที่บอกคือ ส่วนมากจะเป็นหนังสือแปล แต่ถ้าเรามีของ ก็น่าจะมีโอกาสนะคะ หรือถ้าเอาให้ชัวร์ๆ เราอาจเริ่มจากโครงการประกวดต้นฉบับที่สำนักพิมพ์ใหญ่ๆ จัดขึ้น ก็เป็นหนทางที่ดีเหมือนกัน”

สิ่งสำคัญของการเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็กนั้น ณิชา เผยด้วยรอยยิ้มว่า ต้องเป็นคนที่มีทัศนคติที่ดีต่อโลก ต่อชีวิต และไม่รังเกียจความเป็นเด็กในตัวเอง

ณิชา พีชวณิชย์ กับการเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก

 

“บางคนชอบคิดว่าโตแล้ว อย่าเล่นของเล่น อย่ามีความสุขกับการ์ตูน อย่ากินขนม แต่เชื่อเถอะว่าจริงๆ แล้วเรามีความเป็นเด็กอยู่ในตัวเองทั้งนั้น อย่าไปรังเกียจมัน และที่สำคัญต้องเคารพเด็กค่ะ คือเราต้องคิดเสมอว่าสิ่งที่เราทำต้องเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเด็กจริงๆ ถ้าไม่ดี อย่าทำ”

สำหรับเคล็ดลับการแต่งนิทานสำหรับเด็กให้สนุกตื่นตาตื่นใจ ณิชา เผยว่า ให้ลองคิดว่าเรากำลังทำหนังสั้นหรือหนังโฆษณาสักเรื่อง

“สมมติว่าเรามีพื้นที่อยู่ 36 หน้า เราจะสื่อเรื่องที่เราต้องการยังไงให้คนอ่านเข้าใจและจดจำได้ในข้อจำกัดเท่านี้ และเนื้อหานิทานก็ไม่น่าจะเป็นการเล่าไปเรื่อยๆ แล้วจบแบบงงๆ มันน่าจะมีการเกริ่นเข้าเรื่อง มีจุดไคลแมกซ์ มีบทสรุปจบ ตัวละครแต่ละตัวต้องสัมผัสได้ เราอาจจะกำหนดไว้ก่อนเลยว่า เด็กคนนี้อายุเท่าไหร่ พ่อแม่ทำงานอะไร เป็นคนนิสัย บุคลิกยังไง เพื่อที่เราจะเขียนเรื่องของเขาได้อย่างสมบูรณ์”

หากมีเด็กและเยาวชนสนใจอยากเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก ณิชา ก็ได้ให้คำแนะนำไว้ว่า ต้องอ่านนิทานเยอะๆ คิด วิเคราะห์นิทานที่เราอ่านว่าเขาต้องการสื่ออะไร และใช้วิธีไหนในการสื่อ

ณิชา พีชวณิชย์ กับการเป็นนักแต่งนิทานสำหรับเด็ก

 

“นิทานบางเล่มสื่อเรื่องยากๆ อย่างความตาย เรื่องปัญหาสังคม แต่ทำออกมาแล้วอ่อนโยน ตลก น่ารัก บางเล่มแฝงสัญลักษณ์ เด็กอ่านก็ได้อะไรไปในระดับหนึ่ง แต่ถ้าผู้ใหญ่อ่านจะเห็นอะไรบางอย่างที่คนเขียนซ่อนไว้ เราต้องอ่านเป็น ต้องรู้ และที่สำคัญมากคือ เราต้องรู้จิตวิทยาพัฒนาการเด็ก ต้องรู้ว่าแต่ละวัยรับอะไรได้มากน้อยแค่ไหน รู้เรื่องการพิมพ์ เพื่อที่เราจะได้กำหนดหน้าได้ตามเงื่อนไขของการพิมพ์ ไม่อย่างนั้นก็จบเลย เขียนออกมาสนุกแต่พิมพ์ไม่ได้ และถ้าจะให้ดีกว่านี้เราต้องวาดรูปเป็นบ้าง เพราะเราก็ต้องสื่อสารให้คนวาดเข้าใจได้ คือหนังสือนิทานที่น่าสนใจส่วนมากภาพมักจะเล่าเรื่องไปด้วยกันกับเนื้อหา ดังนั้น การคิดนิทานต้องคิดทั้งภาพและเนื้อหาพร้อมๆ กัน เราจึงต้องบอกได้ว่าหน้านี้เราจินตนาการภาพว่าเป็นยังไง อารมณ์เป็นแบบไหน หรือไม่ก็วาดเองได้เลยจะเจ๋งสุด ต้องเป็นคนที่คิดเยอะ คิดรอบคอบ เพราะถ้าเราพลาดให้ข้อมูลเด็กผิด หรือใส่อะไรที่ไม่ดีลงไปในนิทานโดยไม่ได้ตั้งใจ มันจะมีผลต่อเด็กมาก เราต้องไม่ลืมว่าเด็กยังไม่มีวิจารณญาณเท่าผู้ใหญ่และช่างสังเกตมากด้วย เด็กอาจมองเห็นอะไรในสิ่งที่ผู้ใหญ่มองข้ามไป เราจึงต้องระวังให้เยอะๆ”

รางวัลแห่งความภาคภูมิใจของ ณิชา

1 วรรณกรรมเยาวชน เรื่อง เด็กชายผู้ไม่รู้ที่มาของตนเอง : “วรรณกรรมเยาวชนเรื่องนี้ได้รับรางวัลชมเชยจากรักลูก อวอร์ด และรางวัลหนังสือแนะนำจาก เซเว่น บุ๊ค อวอร์ด ค่ะ”

2 หนังสือสำหรับเด็กอายุ 611 ปี (บันเทิงคดี) เรื่อง ตุ๊กตาแห่งความทรงจำ : “หนังสือเรื่องนี้ได้รับรางวัลดีเด่นประจำปี 2557 จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานค่ะ หนังสือนิทานเรื่องนี้ต้องการบอกสื่อให้เด็กเล็กได้เข้าใจว่า คุณค่าของบางสิ่งเราต้องตัดสินมันจากภายใน ไม่ใช่แค่มองว่าเป็นของราคาแพง ของสวยงามเท่านั้น”