posttoday

คุณคือคนที่เราต้องการ (หรือเปล่า)

06 พฤษภาคม 2557

ได้ยินเรื่องการสอบน้องใหม่ตัวล่าสุด “ยูเน็ต” หรือการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์

ได้ยินเรื่องการสอบน้องใหม่ตัวล่าสุด “ยูเน็ต” หรือการทดสอบตามมาตรฐานการอุดมศึกษา (University National Education Test) แล้วไม่ไหวจะเคลียร์ แอบเซ็งแทนน้องๆ เยาวชนของชาติ ที่ต้องสอบๆๆๆๆๆ ทั้งๆ ที่การสอบโอเน็ต (การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ ตัวคนจัดสอบเองคือสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ก็ต้องเรียกว่ายังไม่ “ผ่าน” ดี ทุกปีต้องมีขำมีฮากับข้อสอบแนวตลก ในขำมีเอือม สะท้อนความไม่ (น่า) เชื่อถือและความเซ็งเป็ดของผู้คนที่เกี่ยวข้อง

ผู้รับกระทบโดยตรงไม่พ้นน้องๆ นักศึกษาที่กำลังจะจบ ความคิดเห็นและคำอำนวยพร ว่อนไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในที่นี้คงไม่ต้องพูดอะไรกันมาก แต่จะบอกอะไรให้ ในฐานะพี่ที่จบมาก่อน น้องๆ ไม่ต้องเดือดร้อนหรือกลุ้มใจไป ผลสอบโอเน็ต ยูเน็ตอะไรนี่ มันสำคัญมากมั้ย ลองถามตัวเอง เพราะบริษัทที่รับสมัครงานนักศึกษาจบใหม่ เชื่อว่าไม่ได้สนแค่ผลสอบ เกรดจบออกมา 4 สวยหรูดูเพอร์เฟกต์ พอรับเข้าไปทำงานจริงๆ (บางคนจบปริญญาโท) แต่ทำงานไม่เป็น พูด (ภาษาคน) ไม่รู้เรื่อง มีเยอะ

ผลสอบเพียงอย่างเดียว ไม่ได้บอกถึงความเก่งและการทำงานเป็น แต่สิ่งที่จะบอกคือสิ่งที่เรียกว่า สมรรถนะ (Competency) หรือบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายในปัจเจกบุคคล ซึ่งผลักดันให้บุคคลนั้น สร้างผลการปฏิบัติงานที่ดีหรือตามเกณฑ์ที่กำหนดในงานที่รับผิดชอบ ล่าสุดวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับบริษัท ท็อปกัน บริษัทหางานและเว็บไซต์ Jobtopgun ทำวิจัยเรื่อง “ดนตรี กีฬา งานอดิเรก สามารถใช้วิเคราะห์ทักษะความสามารถในการทำงานได้หรือไม่?” เพื่อตอบโจทย์หลาย ๆ อย่างที่การสอบตอบให้ไม่ได้

คุณคือคนที่เราต้องการ (หรือเปล่า)

 ศ.ดร.ทัง จือหมิ่น คณบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และหัวหน้าทีมวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า โลกปัจจุบัน สิ่งที่ต้องมีไม่ใช่แค่ความรู้ แต่ต้องมีสมรรถนะความสามารถ ที่จะส่งให้ประสบผลสำเร็จสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป สมรรถนะความสามารถเหล่านี้ พึงฝึกได้จากกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา และงานอดิเรก

ดนตรี กีฬาและงานอดิเรก สร้างทักษะและความสามารถพิเศษต่าง ๆ ให้แก่ผู้เล่น การเรียนในต่างประเทศบังคับไม่ให้ผู้เรียนเรียนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่กำหนดให้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนร่วมไปด้วย บางแห่งกำหนดให้ทำถึง 5 กิจกรรมต่อ 1 ภาคการเรียน นั่นแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาในแง่ปัจเจก คนจะเลือกทำสิ่งที่ชอบและถนัด ขณะเดียวกันก็พัฒนาไปสู่จุดสูงสุดของสิ่งที่เลือก สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความเป็นคนคนหนึ่ง ที่จะประยุกต์หรือประมวลผลของสิ่งที่ทำได้สมบูรณ์กว่าคนที่เอาแต่เรียนอย่างเดียว

“งานวิจัยชิ้นนี้จะตอบโจทย์ว่า ทำไมบางครั้งคนที่เรียนได้เกรดเฉลี่ยสูง จึงทำงานสู้คนที่เรียนได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่าไม่ได้ ทำไมพนักงานที่เพิ่งรับเข้ามาใหม่ จึงมีความสามารถไม่ตรงกับงาน ทำไมการพัฒนาคนในองค์กร พนักงานไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้ตามเป้าหมาย หรือทำไมพ่อแม่ที่ส่งลูกเรียนพิเศษต่างๆ เช่น เปียโน เทนนิส ว่ายน้ำ ลูกๆ ของพวกเขาได้อะไรจากการเรียนทักษะพิเศษเหล่านี้ และมันตรงกับอนาคตหรือความมุ่งหวังของเด็กหรือไม่?”

ผศ.ดร.ธนพล วีราสา ผู้ร่วมทีมวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า 90% ของผู้ทดสอบ มีความสัมพันธ์กันระหว่างดนตรี กีฬาและงานอดิเรกกับทักษะความสามารถ โดยสูตรการคำนวณ Competency ประมวลจากข้อมูลในชุดสอบถามออนไลน์ 600 ข้อ งานอดิเรกดนตรีกีฬา 78 ชนิด ทักษะความสามารถ 60 ตัว และจากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถาม 20,260 คน คนคนหนึ่งอาจเล่นกีฬาหรือดนตรีมากกว่า 1 ชนิด ซึ่งก็จะได้ชุดคำตอบมาหนึ่งชุด จากนั้นจึงส่งแบบสอบถามอีกหนึ่งชุด เพื่อคัดกรองถึงทักษะที่ได้จากกีฬาหรือดนตรีชนิดนั้นๆ อีกชั้นหนึ่ง

คุณคือคนที่เราต้องการ (หรือเปล่า)

การออกแบบสอบถามประเมินจากพื้นฐานของการพัฒนาทักษะ ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบ 3 ข้อ

1.ความรู้ (Knowledge) คือสิ่งที่องค์กรต้องการให้ “รู้”

2.ทักษะ (Skill) คือสิ่งที่องค์กรต้องการให้ “ทำ” เช่น ทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะการบริหารสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่ต้องผ่านการเรียนรู้และฝึกฝน จนเกิดเป็นความชำนาญในการใช้งาน

3.อุปนิสัยหรือทัศนะคติ (Attitude) คือสิ่งที่องค์กรต้องการให้ “เป็น” เช่น ความใฝ่รู้ ความซื่อสัตย์ ความรักในองค์กร และความมุ่งมั่นในความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้จะอยู่ลึกลงไปในจิตใจ แต่ถ้าหากมีอยู่แล้ว จะเป็นพลังผลักดันให้มีพฤติกรรมที่องค์กรต้องการ

อยากรู้ใช่มั้ยว่า กีฬา ดนตรีหรืองานอดิเรกที่ตัวเองเล่น ส่งผลต่อทักษะอะไรบ้าง ผศ.ดร.ธนพลเล่าว่า แตกต่างกัน เช่น ฟุตบอล ฝึกทักษะด้านการทำงานเป็นระบบ 21.02% มีวินัย 17.67% กล้าตัดสินใจ 12.72% และเก่งในการวางแผน 11.48% เทนนิส ฝึกทักษะด้านการกล้าตัดสินใจ 21.95% อดทน 19.27% สุขุมเยือกเย็น 14.88% เรือใบ ช่วยฝึกการรับมือ (กับปัญหา) 23.08% กล้าตัดสินใจ 23.08% มีความยืดหยุ่นและปรับตัวเก่ง 19.23% เพราะฉะนั้นคนในกลุ่มนี้ ก็รับรองได้ในระดับหนึ่งว่าจะทำงานที่วางแผนได้ดี ทำงานเป็นระบบได้ ทำงานที่กล้าตัดสินใจได้ เป็นต้น

ด้านกีฬาขี่ม้า ผลจากงานวิจัยพบว่า คนที่ชอบขี่ม้า จะเป็นคนที่ชอบความท้าทาย 28% บุคลิกดี 24% มีวินัย 20% และเก่งในการควบคุม 20% นั่นหมายถึงว่า คนที่ชอบขี่ม้า จะสามารถทำงานที่ต้องใช้ความสามารถในการควบคุมดูแลได้ดี งานที่ต้องการบุคลิคและงานที่ท้าทายความสามารถ ส่วนคนชอบทำอาหารล่ะ พวกนี้มีความคิดสร้างสรรค์ 62.73% มีความกล้าในการลองผิดลองถูก 50.62% ใฝ่หาเทคนิคและความรู้ใหม่ๆ 49.38% รู้ความสำคัญก่อนหลัง 38.2% และมีความสามารถในการนำเสนอ 34.78% (ดูตารางประกอบ)

วิเชียร ชนาเทพาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ท็อปกัน เล่าว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยในปี 2550 คือจุดเริ่มต้นจากความรู้ว่า กีฬาพัฒนาคน จากส่วนตัวที่ได้ลองเล่นกีฬากอล์ฟ และพบว่ากีฬาฝึกฝนผู้เล่นกีฬา ทำให้รู้จักวางแผน รู้จักเรียนรู้ รู้จักปรับปรุงซึ่งนำมาใช้กับการทำงานได้ ต่อมาจึงได้ร่วมกับมหิดลเพื่อวิจัยถึงกิจกรรมส่งเสริมทักษะที่นำมาใช้ต่อยอดการทำงาน ซึ่งจากการวิจัย ยิ่งคุณเล่นหรือทำกิจกรรมหลายประเภท คุณก็ยิ่งมีโอกาสและทักษะความสามารถที่หลากหลาย นำไปประยุกต์ต่อยอดกับการงาน การพัฒนาตนเอง

คุณคือคนที่เราต้องการ (หรือเปล่า)

 

 

“สิ่งที่เราทำ คือสิ่งที่เราเป็น หรือมองในอีกมุมหนึ่ง เราอยากเป็นอะไร เราก็ควรจะทำสิ่งที่ก่อให้เกิดทักษะความสามารถที่เอื้อต่อการเป็นสิ่งนั้น”

วิเชียร กล่าวว่า ความรู้สำคัญ แต่ทักษะอื่นๆ ก็สำคัญไม่แพ้กัน ในการทำงานจึงต้องมีทั้งความรู้ ทักษะและทัศนคติที่จำเป็น เช่น ทักษะของความมีมนุษย์สัมพันธ์ การมีวินัย การทำงานเป็นระบบ การมีความคิดสร้างสรรค์ การไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจหรือไม่ยอมแพ้ง่ายๆ การเป็นนักวิเคราะห์ การเป็นตัวของตัวเอง ความฉลาดมีไหวพริบ การมองโลกในแง่ดี จิตใจดี มีพัฒนาการในตัวเองสูง รับมือกับปัญหาได้ ยืดหยุ่นสูง ปรับตัวเก่ง ฯลฯ

“งานอดิเรก ดนตรี หรือกีฬาที่คุณเล่น มันบอกอะไร มันบอกว่าคุณคือใคร คุณมีความพยายามมากพอที่จะเล่นหรือฝึกหรือมันจนเก่งมั้ย คุณมีวิสัยทัศน์ต่อการวางแผนหรือการเล่นในกีฬานั้นๆ หรือไม่ คุณมีความอดทนพอมั้ย ไม่ใช่ทนแดดทนฝน แต่ทนที่จะมือด้านนิ้วด้านเพราะกดคอร์ดกีตาร์ ไม่ละเลิกถอดใจไปง่ายๆ คุณมีความเยือกเย็นพอมั้ย คุณทำงานกับผู้อื่นได้หรือเปล่า เพราะอย่างน้อยถ้าคุณไม่ไล่ชกเพื่อนร่วมทีมเพราะเขาทำเสียแต้ม ผมก็ต้องถือว่าคุณทำงานร่วมกับผู้อื่นได้” วิเชียร เล่า

องค์ความรู้จากงานวิจัย ให้ประโยชน์แก่คน 3 กลุ่ม คือ ฝ่ายพัฒนาและทรัพยากรบุคคล (Trainer) ฝ่ายสรรหาและว่าจ้าง (HR) และประโยชน์ในแง่ปัจเจก (Individual) ทดสอบตัวเองถ้าอยากรู้ว่า เราเหมาะกับงานอะไร หรือจะพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการได้อย่างไร นอกจากนี้คือสถาบันการศึกษา ที่สามารถนำไปปรับใช้กับผู้เรียน ส่งเสริมการเรียนการสอน ทำให้เด็กมีความสามารถและสมรรถนะที่แข็งแกร่ง

ในวันที่ 8 พ.ค. ที่เซ็นทารา แกรนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ นี้ จะมีการเสนอผลงานวิจัย “ดนตรี กีฬา งานอดิเรก สามารถใช้วิเคราะห์ทักษะความสามารถในการทำงานได้หรือไม่?” ต่อสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชนผู้สนใจ ส่วนนักศึกษาและบุคคลทั่วไป สามารถเข้าไปทดสอบแบบสอบถาม วัดทักษะความสามารถในการทำงานจากงานดนตรี กีฬาและอดิเรกของตัวเองได้ที่ www.superresume.com

สุดท้ายก็อยากจะบอกน้องๆ พึงเตือนสติตน อัตตาหิ อัตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ซึ่งมันส์กว่าคิดแต่จะพึ่งใคร การสอบเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการวัดผล แต่มันไม่ได้วัดผลอะไรใครได้ 100% โลกนี้ยังมีอย่างอื่นอีกเยอะ ยังมีสิ่งที่สำคัญกว่าผลสอบอีกแยะ งานที่น้องต้องการเขาก็ไม่ได้ต้องการแค่ผลสอบของน้อง แต่เขาต้องการคนทำงานเป็น คนทำงานสนุก กล้าคิด กล้าฝัน กล้าทำ กล้าตัดสินใจ กล้าลุยปัญหา เวลาเกิดเรื่องไม่ตัวปลิวแบบตัวใครตัวมัน รับผิดชอบ เสนอทางออกเป็น พูดอ่านเขียนและสื่อสารเป็น ไม่ทะเลาะกับใครง่ายๆ ไม่ล้มเลิกความพยายามง่ายๆ

ไม่ต้องรอปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปตัวเองก่อน

ทำเดี๋ยวนี้ ได้เดี๋ยวนี้ และทำได้เลย

โชคดีนะ