posttoday

‘กานต์ ตระกูลฮุน’ เอสซีจี 100 ปี มีดีที่คน

03 พฤษภาคม 2557

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ถือเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศไทย

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย หรือเอสซีจี ถือเป็นองค์กรชั้นแนวหน้าของประเทศไทยที่บริหารงานให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมกับการขยายธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้เคยเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 แต่จากการปรับตัวให้รับกับสถานการณ์ โดยการน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารงาน ทำให้องค์กรขนาดใหญ่อย่างเอสซีจีปรับตัวผ่านวิกฤตได้อย่างทันท่วงที

ปัจจุบัน เอสซีจีดำเนิน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจกระดาษ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจการลงทุน ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมและการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้นำองค์กรที่ถือว่าเป็นผลผลิตของเอสซีจีอย่างแท้จริง เพราะได้ทำงานที่เอสซีจีเป็นที่แรกและที่เดียว เป็นพนักงานมาจากการโครงการเชิญชวนนิสิต นักศึกษาให้มาสมัครงานผ่านระบบพัฒนาบุคลากร เขามีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งถึง 10 ครั้ง ในเวลา 22 ปี จนกระทั่งเข้าสู่เบอร์หนึ่งของเอสซีจี ถือว่าเป็นตัวอย่างของกระบวนการพัฒนาบุคคลที่สมบูรณ์ที่สุด

“ผมผูกพันกับเอสซีจีมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะบ้านอยู่แถวบางซื่อ ใกล้ๆ กับสำนักงานใหญ่ สมัยเด็กๆ ตกเย็นก็มาเล่นแถวนี้ เติบโตขึ้นก็ใฝ่ฝันที่จะทำงานที่นี่ ตอนเรียนอยู่ปีสอง ผมมาขอฝึกงานที่นี่ เป็นนิสิตปี 2 จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คนเดียว เพราะตอนนั้นเขารับนิสิตปี 3 ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมถึงยอมรับผม” กานต์เล่าปูมหลัง

‘กานต์ ตระกูลฮุน’ เอสซีจี 100 ปี มีดีที่คน

 

หลังจากเสร็จการฝึกงานเสร็จ เอสซีจีก็มาเปิดรับคนเข้าทำงาน โดยที่กานต์ก็รีบสมัครทันที และมุ่งมั่นมาที่นี่เพียงแห่งเดียว ในที่สุดเขาก็ได้เข้ามาทำงานที่เอสซีจี จากเด็กฝึกงานจนกลายเป็นพนักงาน และก้าวขึ้นสู่กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตอนอายุ 50 ปี เมื่อปี 2545 ก่อนจะเกษียนอายุในปี 2558 ซึ่งเขามีบทบาทสำคัญในการนำเอสซีจีสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้ก้าวเข้าสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม รวมไปถึงการปรับภาพลักษณ์ใหม่หรือการรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่ เปลี่ยนจากปูนซิเมนต์ไทยเป็นเอสซีจี เพื่อรองรับทิศทางใหม่ขององค์กร ซึ่งเป็นทิศทางที่เอสซีจีก้าวไปสู่องค์กรชั้นนำเริ่มตั้งแต่ระดับภูมิภาคอาเซียน ก่อนที่จะไปสู่ระดับเอเชียและไต่ไปสู่ระดับโลก

ก้าวย่างของเอสซีจีสู่การเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นั้นมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยมีคีย์อยู่ที่การวิจัย พัฒนา สู่ความยั่งยืน กานต์ขยายความว่า ตลอดระยะเวลา 100 ปีของเอสซีจี ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการสร้างสรรค์สินค้า และการบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยใช้การวิจัยและพัฒนาเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรม เน้นให้เกิดแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการวิจัยและพัฒนาเพื่อกระตุ้นให้เกิดเครือข่ายเชื่อมโยงการทำงานของนักวิจัยให้เข้าหาความต้องการของผู้บริโภค ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มและสามารถสร้างเม็ดเงินกลับคืนจากต้นทุนในงานวิจัยเพื่อต่อยอดความยั่งยืนของธุรกิจต่อไป

‘กานต์ ตระกูลฮุน’ เอสซีจี 100 ปี มีดีที่คน

 

จากกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เอสซีจีใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนากว่า 1,430 ล้านบาท 1 ใน 4 ใช้เพื่อสร้างความร่วมมือและเครือข่ายด้านการวิจัยกับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยทั้งภายในและต่างประเทศ และมีเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า เอสซีจีจะมีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาประมาณ 1,600 คน โดยมีนักวิจัยระดับปริญญาเอกกว่า 170 คน ใช้งบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนากว่า 5,600 ล้านบาท จากพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมดกว่า 4.9 หมื่นคน แบ่งเป็นในไทย 3.4 หมื่นคน และอยู่ในอาเซียน 1.5 หมื่นคน

กานต์ย้ำว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพียง 0.2% ของตัวเลขจีดีพี ทั้งประเทศมีนักวิจัยเพียง 9.5 คนในอัตราส่วน 1 หมื่นคน โดยมีเพียง 20% ของนักวิจัยทั้งหมดที่อยู่ในภาคธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาได้มีเป้าหมายในการใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็น 2% ของตัวเลขจีดีพี แต่ก็ต้องการให้รัฐบาลใช้เงินลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มเป็น 3% ของจีดีพี มีอัตราส่วนนักวิจัย 30 คนต่อ 1 หมื่นคน และที่สำคัญควรอยู่ในภาคธุรกิจ 80% ซึ่งเน้นที่การวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ นำงานวิจัยจากห้องทดลองมาปรับ ผลิต และสร้างสรรค์เป็นสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

ในอีก 2030 ปีข้างหน้า ธุรกิจไทยต้องเน้นการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีความแตกต่าง มีคุณภาพสูง พร้อมทั้งการสร้างแบรนด์ควบคู่กันไป ซึ่งประเทศไทยควรจะตั้งเป้าหมายให้เป็น Branded High Value Added Products Country โดยสินค้าและบริการต้องมีมูลค่าเพิ่มและมีความแตกต่าง รวมถึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

‘กานต์ ตระกูลฮุน’ เอสซีจี 100 ปี มีดีที่คน

 

บนเส้นทางในการก้าวเดินของเอสซีจี แม้จะอยู่บนเส้นทางของนวัตกรรม แต่คุณลักษณะสำคัญของคนเอสซีจี จะถูกปลูกฝังเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ที่ถือเป็นดีเอ็นเอของบุคลากรที่ตกทอดมาหลายทศวรรษ คืออุดมการณ์ 4 หรือ Core Value เริ่มจากต้องตั้งมั่นในความเป็นธรรม มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ เชื่อมั่นในคุณค่าของคน และถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม การทำงานต้องซื่อสัตย์สุจริต เพราะทุกครั้งที่มีการปฐมนิเทศพนักงานใหม่ จะต้องหว่านเมล็ดพันธุ์ทางความคิด ปลูกฝังค่านิยมที่ดี ที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่คัดสรรกิ่งพันธุ์ที่เหมาะสม ตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นน้องใหม่ขององค์กร

“เอสซีจีเติบโตมาได้เพราะให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เป็นทั้งคนเก่งและดี พร้อมวางรากฐานการบริหารจัดการงานบุคคลอย่างทุ่มเท จริงจังและใส่ใจ โดยได้ก่อตั้งฝ่ายการบุคคลกลาง ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานการบุคคลกลาง เพื่อสร้างรากฐานความคิดด้านการบริการจัดการทรัพยากรบุคคล มีการจัดตั้งคณะกรรมการบุคคลมาใช้ในการบริหารงาน จัดทำคู่มือบุคคล พัฒนาหลักสูตรการพัฒนาพนักงาน สร้างระบบการหมุนเวียนพนักงาน เพื่อให้เกิดทักษะรอบด้าน มีระบบพี่สอนน้อง เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาดูแลลูกน้องตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน สอนงานและดูแลการทำงาน และมีการประเมินติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้สร้างวัฒนธรรม “Open and Challenge” เพื่อสร้างความกล้าในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น กล้าที่จะตัดสินใจ เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดองค์กรนวัตกรรมอย่างจริงจังและยั่งยืน” กานต์กล่าว

การที่จะก้าวไปสู่ระดับอาเซียน เอเชียและระดับโลก จะเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่หากคนของเอสซีจีไม่พร้อม ซึ่งคุณภาพวันนี้อาจจะทำงานยากกว่าคนอื่น 10 เท่า แต่เมื่อยอมลำบาก ไม่กดบีบคู่ค้า ไม่จ่ายใต้โต๊ะ นั่นจะทำให้การลงทุนของเอสซีจีมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน