posttoday

ต้อหินป้องกันได้

15 เมษายน 2557

ผศ.พญ.วิษนี ตันติเสวี หัวหน้าหน่วยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง โรคต้อหินว่า

โดย...กันย์หยก ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

ผศ.พญ.วิษนี ตันติเสวี หัวหน้าหน่วยต้อหิน ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง โรคต้อหินว่า เป็นโรคที่เกิดจากภาวะเปลี่ยนแปลงของขั้วประสาทตา เกี่ยวข้องกับความดันตา หรือการสูญเสียลานสายตา เป็นโรคเรื้อรัง อาการแย่ลงเรื่อยๆ และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจังอาจทำให้ตาบอดได้ ถือเป็นภัยเงียบที่ทำให้เกิดภาวะสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวร สาเหตุเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ 1.จากประวัติของคนในครอบครัวเป็นต้อหินอยู่ก่อนแล้ว หรือยีนพันธุกรรมเหนี่ยวนำ รวมทั้งอายุที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มคนที่เป็นหลอดเลือดตีบ เบาหวาน ไมเกรน หยุดหายใจช่วงกลางคืน มีโอกาสที่จะเป็นต้อหินสูงกว่าคนทั่วไป 2.จากสาเหตุอื่นๆ อาทิ โรคทางตาบางชนิด คนไข้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์

จากสถิติพบว่า ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคต้อหินจำนวน 60 ล้านคนในปี พ.ศ. 2553 และคาดว่าจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินจำนวน 70 ล้านคนในปีพ.ศ. 2563 เท่ากับว่าจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินเพิ่มขึ้นปีละ 1 ล้านคน 10% ของผู้ป่วยโรคต้อหิน มีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็น จากการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยโรคต้อหิน 50-90% ไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคต้อหิน เพราะไม่เคยตรวจตา

สำหรับประเทศไทย จากสถิติอุบัติการของการเกิดโรคพบว่า คนไทยเป็นโรคต้อหิน 36% ของประชากรทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเกิดจากคนในครอบครัวเป็นต้อหินกันมาก่อน และแนวโน้มของการเกิดโรคนี้ในกลุ่มคนไทยจะเพิ่มสูงขึ้น กล่าวคือในปี ค.ศ. 2010 มีคนไทยเป็นต้อหินประมาณ 6 แสนคน คาดว่าในปี ค.ศ. 2020 จะมีคนไทยเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้นเป็น 7 แสนคน

ต้อหินไม่เหมือนต้อกระจกที่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนประสาทตาได้ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำการรักษา ผู้ป่วยโรคต้อหินอาจสูญเสียการมองเห็นชนิดถาวรได้ แต่หากตรวจพบได้ไว ก็สามารถรักษาเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียขั้วประสาทตาหรือลานสายตาได้

ในกลุ่มผู้ที่เป็นต้อหินนั้น การลดความดันตาเป็นวิธีที่ได้รับการพิสูจน์ และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าสามารถควบคุมโรคต้อหินได้ สำหรับวิธีการรักษาโรคต้อหินก็มีทั้งการใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาหยอด ยารับประทาน นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัดในกรณีการใช้ยาและการใช้แสงเลเซอร์ไม่ได้ผล การพบจักษุแพทย์ตรวจตาเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจหาโรคแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดปัญหาการสูญเสียการมองเห็นจากโรคต้อหินได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป, สายตาสั้นหรือยาวมากๆ , มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน, มีโรคประจำตัว อาทิ ไทรอยด์ เบาหวาน, ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ทั้งชนิดหยอด ยาฉีด และรับประทาน ติดต่อกันเป็นเวลานาน, เคยมีอุบัติเหตุทางตา หรือเคยผ่าตัดในลูกตามาก่อน”