posttoday

เคล็ดลับความสำเร็จ เว็บฮอต DekD พื้นที่วัยรุ่น

12 เมษายน 2557

คุณเข้าใจผู้หญิงมากแค่ไหน? คุณเหมาะกับเรียนคณะอะไร? คุณเป็นใครในละครเรื่องนั้น เรื่องนี้?

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์, ธนพล บางยี่ขัน ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

คุณเข้าใจผู้หญิงมากแค่ไหน?

คุณเหมาะกับเรียนคณะอะไร?

คุณเป็นใครในละครเรื่องนั้น เรื่องนี้?

ตัวอย่าง Quiz คำถามที่กลายเป็น “กระแสนิยม” ในโซเชียลมีเดียแบบฉุดไม่อยู่ ยืนยันด้วยตัวเลขกว่า 2 แสนเกม ที่ผู้เล่นทางบ้านร่วมกันสร้างสรรค์ออกมา แถมอานิสงส์ความนิยมยังส่งผลให้เว็บไซต์ www.dekd.com ในฐานะผู้ริเริ่มเกมแนวนี้ ได้ถีบอันดับตัวเองจากที่ 4 เว็บไซต์ยอดนิยม ขึ้นมาเป็นอันดับ 3 ด้วยจำนวนยอดผู้ชมสูงถึงวันละ 9.5 ล้านเพจวิว

วโรรส โรจนะ COFounder & Marketing Director บริษัท เด็กดี อินเตอร์แอคทีฟ 1 ใน 4 ผู้ปลุกปั้นเว็บไซต์เด็กดีจนโด่งดังมายาวนานกว่า 14 ปีที่ผ่านมา ไล่เรียงให้ฟังว่า “เกมทายใจ” และ “เกมทดสอบ” ที่เป็นกระแสอยู่ในเวลานี้ เคยทำมาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่ขณะนั้น “ดังแบบเงียบๆ” มีคนเล่นประมาณเดือนละ 2 แสนครั้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ตรงที่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ทีมงานได้ปรับโปรแกรมให้สามารถเล่นและแชร์ผลลัพธ์ในเฟซบุ๊กได้ ควบคู่ไปกับให้ทีมงานคอลัมน์นิสต์ สร้างเกมทายใจออกมาเป็นตัวอย่าง พอเด็กเล่นแล้วก็อยากไปสร้างเอง จนช่วงเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว มีเกมทายใจเรื่องอาชีพ ความรัก ดารา ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมาพร้อมๆ กัน

“ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าจะดังขนาดนี้ แอพพลิเคชั่นนี้ไม่ได้ทำอะไรมา 4 ปี แต่มีคนเล่นตลอด มาปรับนิดเดียวทำ 2-3 วันเสร็จ สิ่งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยน เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ครบ แต่จุดทำให้เกิดกระแสจริงๆ คือ ทีมงานที่สร้างเกมทายใจ แต่ถ้าขาดแชร์ก็ไม่ทำให้เกิดกระแสบอกต่อและการทำต้องมีคอนเทนต์โดนใจ”

วโรรส เล่าว่า เฉลี่ยมีคนเล่นวันละ 2 แสนครั้ง เดือนหนึ่งตกประมาณ 20 ล้านครั้ง ก่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมาพีกสุดเดือน ธ.ค. ขยับเป็นเดือนละ 100 ล้านครั้ง เกมที่เล่นกันสูงสุดเฉลี่ยเล่นกันเกินเกมละ 5 แสนคน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเปิดให้ทำตั้งคำถามกันได้อย่างอิสระแต่ก็ต้องคอยตรวจสอบ เพราะบางคำถามก็ล่อแหลม ยิ่งตอนนี้ตั้งคำถามเสร็จแล้วยิงขึ้นหน้าจอได้เลย ดังนั้นต้องมีทีมงานคอยเฝ้าตลอด โดยมีระบบ คือ หน้าจอเดียวเห็นได้ทุกเกม หากมีรูปภาพ ถ้อยคำหยาบ ก็จะแบนออกไป ซึ่งพบมากในช่วงแรกๆ แต่มาระยะหลังน้อยลง

ชุมชนไซเบอร์

แหล่งปั้นนักเขียนหน้าใหม่

แม้เกมคำถาม เกมทายใจจะได้รับความนิยมล้นหลาม แต่ “นิยาย” ยังเป็นเซ็กชั่นที่ครองแชมป์มีผู้เข้าเยี่ยมชมมากที่สุดในเว็บไซต์เด็กดี ที่สำคัญตลอด 14 ปี ที่ผ่านมาพื้นที่ไซเบอร์แห่งนี้ปั้นนักเขียนมาหลายพันคน มีหนังสือนับหมื่นเล่มที่ถูกนำไปตีพิมพ์ เล่มแรกที่คนรู้จัก หนังสือของ ดร.ป๊อบ

“เจ็ดปีที่แล้ว เป็นยุคนิยายวัยรุ่นบูมมาก ในเด็กดีจะมี บก.มาคอยรีเฟซตลอด เพื่อแย่งนักเขียนกัน เคยถาม บก.ดังๆ ก็บอกเข้ามาดูทุกชั่วโมง เพื่อหานักเขียน หรือติดต่อไว้ก่อน เด็กก็จะมาลงทีละตอน ไม่ใช่ลงเล่มใหม่หมด เทคนิคการลงออนไลน์ง่ายๆ คือ ลงบ่อยๆ วันละตอน เพื่อให้มีความเคลื่อนไหวตลอดและมาคุย มาตอบปัญหาแฟนคลับ

มีทั้งเริ่มแต่งแล้วมาลงเว็บ หรือแต่งเสร็จค่อยเอามาลง แล้วแต่คน หน้าเก่าที่ดังแล้วกับมาเขียนก็ยังมีอยู่ อย่างน้อยมาตอบปัญหาแฟนคลับ เรื่องใหม่ออกก็เอาเรื่องใหม่พรีวิวให้ดูหมดเลย แล้วลบภายในวันเดียวก็มี เพื่อกันให้เแฟนติดตามจริงๆ ได้อ่าน มีหลายรูปแบบมาก”

วโรรส กล่าวว่า จุดเด่นของเว็บเด็กดีอยู่ตรงที่ หนึ่งเป็นที่แรก สอง เป็นคนที่เรียกว่าเป็นบริษัทเว็บ สามารถปรับฟังก์ชั่น ปรับเปลี่ยนได้ตลอด ตอนนี้สามารถอ่านในแอพพลิเคชั่นได้ อ่านบนมือถือสะดวกขึ้น หลังเปิดมาประมาณหนึ่งปี มีคนอ่านผ่านเว็บประมาณ 4 หมื่นคนต่อวัน

เคล็ดลับความสำเร็จ เว็บฮอต DekD พื้นที่วัยรุ่น

 

เทคโนโลยีอยู่ในสายเลือดวัยรุ่น

ในฐานะที่ทำงานอยู่กับเด็กมานานกว่า 14 ปี วโรรส มองว่า โดยพื้นฐานวัยรุ่นต้องการพื้นที่แสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ แต่ในยุคก่อนพื้นที่ไม่เยอะ ปัจจุบันพื้นที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การแสดงออกเปลี่ยนไป เช่น ปีที่แล้ววิดีโอฮิตมาก ก่อนหน้านั้นมียูทูบ โซเชียลแคม ก่อนเขียนบล็อก ปีที่แล้วมีอินสตาแกรม คลิป คัพเวอร์เพลง

“ผมว่าพื้นฐานในแก่นแท้ คือ ความคิดสร้างสรรค์ การแสดงออก แต่ว่าฟอร์แมตที่ออกมาขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี”

เขาอธิบายว่า ทุกอย่างเป็นดาบสองคม ช่วงแรกผู้ปกครองกลัวอินเทอร์เน็ตมาก ยุคต่อมากลัวโซเชียลมีเดีย แต่ว่าตอนนี้ทุกคนอยู่ในจุดเรียนรู้ร่วมกันหมด แน่นอนสัดส่วนเวลาที่ใช้กับโซเชียลมันจะเพิ่มขึ้น สัดส่วนเวลากับคนใกล้ชิดพ่อแม่น้อยลงอยู่แล้ว ทุกอย่างมันมีจุดพอดี ถ้าไม่พอดีก็อาจต้องเข้าหาลูกมากขึ้น เล่นโซเชียลกับลูก พยายามหาทางสอนเขาในรูปแบบที่เขารับ

“พ่อแม่เข้ามาเล่นในเว็บเด็กดีเยอะ มีมาตอบคำถามบ้าง ส่วนใหญ่จะมาดู เว็บเราพ่อแม่เข้าได้และสบายใจที่จะแนะนำให้ลูกเข้า”

สำหรับ “เทคโนโลยี” กับ “วัยรุ่น” วโรรส อธิบายว่า “เทคโนโลยีไม่ใช่เครื่องมือของเขา แล้วมันอยู่ในสายเลือด เมื่อก่อนจะใช้คอมพิวเตอร์ต้องไปอ่านหนังสือ โปรแกรมใหม่ออกมาต้องอ่านหนังสือ แต่เด็กยุคนี้พร้อมลองมันอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว ที่สำคัญเดี๋ยวนี้มันพัฒนาทุกด้านทั้งเทคโนโลยี อินฟราสตรักเจอร์และเด็ก”

เป้าหมายเว็บอันดับหนึ่งของวัยรุ่น

ในฐานะ Marketing Director วโรรส ยืนยันว่า ไม่ได้ตั้งเป้าเป็นเว็บไซต์อันดับ 1 หรือ 2 แต่ตั้งเป้าเป็นที่หนึ่งของวัยรุ่น ไม่ได้ตั้งเป้ากวาดทุกกลุ่ม เพราะเว็บ อันดับ 1 กับ 2 เป็นเว็บแมส ทว่าคู่แข่งของเว็บเด็กดี คือ เฟซบุ๊ก ไม่ได้แข่งกันในเชิงเนื้อหา แต่แข่งเรื่องเวลาที่เด็กใช้ (ไทม์แชริ่ง) เมื่อก่อนเด็กเข้าเด็กดีเป็นโฮมเพจ ปัจจุบันเว็บแรกอาจเป็นเฟซบุ๊ก

ความได้เปรียบของเว็บเด็กดีคือการเป็นบริษัททำเว็บไซต์ สามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้รวดเร็ว ง่ายๆ เกมทายใจจาก 20 ล้านเพจวิวเป็น 100 ล้านเพจวิว ถ้าไม่ใช่บริษัทเทคโนโลยีก็ทำยาก เว็บอาจล่ม แต่ของเราพอเห็นปุ๊บ สิ่งที่เราทำสัปดาห์แรก คือ หนึ่งปรับปรุงระบบแอดมินฯ ใหม่ ให้สามารถสแกนเรื่องง่ายขึ้น ไม่ต้องทำอะไรซับซ้อนมาก หน้าจอเดียวเห็นหมดทุกเกมที่เกิดใหม่ สองปรับปรุงให้คนเข้าใช้งานรับโหลด ไม่มีดาวน์ไทม์ อาจจะมีบ้าง 2-3 วันที่โหลดช้า แต่หลังจากนั้นสบาย ตรงนี้ถ้าเสียกระแสไปก็เสียเลย แต่เรามาได้ตลอด

วโรรส เล่าถึงแผนการปรับปรุงเว็บเด็กดีว่า ในส่วนเกมทายใจ เกมคำถาม จะพยายามออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้ได้เดือนละ 1-2 ฟีเจอร์ อย่างเช่นเดือนที่แล้วเพิ่มให้สามารถใส่รูปได้ และจะมีเกมใหม่ๆ ที่นำมาปัดฝุ่นให้แชร์ลงเฟซบุ๊กได้เพิ่มเติม 1-2 เกม แต่จะค่อยๆ ออก ไม่ออกมาเร็วเกินไปจนเด็กงง

จุดเด่นที่สำคัญของเว็บเด็กดี ซึ่ง วโรรส อยากแนะนำ คือ “โปรแกรมคำนวณแอดมิชชั่น” จากแต่ก่อนที่เด็กหรือผู้ปกครองแค่กรอกคะแนนแล้วเลือกคณะ โปรแกรมก็จะคำนวณให้เสร็จ จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ เพิ่มการเทียบคะแนนย้อนหลัง มีกราฟให้ดู ประเมินโอกาสติด แนะนำคณะใกล้เคียงที่โอกาสติดสูง เรียกได้ว่าเพิ่มฟังก์ชั่นทุกปี

เช่นเดียวกับโปรแกรมการค้นหาการรับตรงของแต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่งทางเว็บเด็กดีรวบรวมข้อมูลจากทุกที่และคอยอัพเดทอยู่ตลอดเวลา เพราะรายละเอียดแต่ละแห่งออกกันแทบทุกเดือนไล่กันไป ยิบย่อยทั้งหลักสูตรธรรมดาและอินเตอร์ ทันทีที่มีประกาศทางเว็บจะนำข่าวมาลง จากนั้นก็สามารถมาเสิร์ชหาได้ทันที ทุนศึกษาต่างประเทศ ซึ่ง วโรรส บอกว่า “น้องจะค้นพบทุนที่น้องไม่รู้ว่าจะมีอีกเยอะ อยากเรียนวิศวะ กดเสิร์ช จะบอกหมดเลยว่ามีทุนไหนบ้าง ประเทศไหน”

‘เชื่อตัวเองน้อยลง เชื่อเด็กมากขึ้น’

ย้อนไปเมื่อ 14 ปี ก่อนเด็ก ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบ 4 คน ช่วยกันปลุกปั้นเว็บไซต์ ที่เจาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นโดยเฉพาะและถือเป็นจุดเริ่มต้นของเวทีความคิดสร้างสรรค์ของเด็กวัยรุ่น

“เกิดจากความรู้สึกอยากลองทำเว็บ สมัยนั้นยังไม่มีเว็บสำหรับวัยรุ่น ก็ลองเซตอัพทำขึ้นมา มีบทความ มีเว็บบอร์ด สำหรับวัยรุ่นถามปัญหาด้วยกัน เพราะว่าวัยรุ่นถามเว็บอื่น คนที่เข้ามาอาจไม่เข้าใจ”

หลังเรียนจบมหาวิทยาลัย 3 คนในวันนั้นร่วมกันเปิดบริษัททำเว็บไซต์อย่างจริงจัง ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 60 คน โดยยังคงคอนเซปต์เว็บเพื่อวัยรุ่น แต่รูปแบบเนื้อหาปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพิ่มเนื้อหา บทความ ครอบคลุมหลายด้าน แอดมิชชั่น เรียนต่อต่างประเทศ สายอาชีพ ภาษา บันเทิง แฟชั่น หรือวิดีโอ เพื่อตอบโจทย์วัยรุ่นให้ครบ

ถามว่าทำไมเว็บเด็กดีถึงได้รับความสนใจต่อเนื่อง วโรรส ตอบว่า เป็นยุคๆ ตอนแรกเป็นเว็บบอร์ดโรงเรียนก็ดังแล้ว แล้วพอยุคที่สอง คือ นิยายออนไลน์ ก็เป็นที่รู้จัก จนมาถึงปัจจุบันที่พัฒนาเนื้อหามาเรื่อยๆ

“ตอนแรกก็มีไอเดียนำเว็บบอร์ดของแต่ละโรงเรียนมารวมกันไว้ที่เดียวให้ง่ายต่อการค้นหา เหมือนใครจะเข้าเว็บบอร์ดโรงเรียนไหนก็มาเว็บเด็กดีก่อนแล้วค่อยลิงก์ไป ต่อมายุคกระแสนิยายออนไลน์ก็มีนักเขียนมาแจ้งเกิดกับที่เว็บเด็กดีหลายคน จนมาถึงยุคแอดมิชชั่น ก็เน้นมาให้ข้อมูลตอบปัญหา เว็บเด็กดีน่าจะเป็นอันดับต้นๆ ที่เด็กให้ความสนใจ

วโรรส อธิบายโครงสร้างการทำงานว่า แบ่งเป็นโปรแกรมเมอร์และดีไซเนอร์ ซึ่งทั้งสองด้านนี้นอกจากพัฒนาเว็บไซต์แล้วยังพัฒนาโปรแกรมสำหรับกิจกรรมต่างๆ เพื่อซัพพอร์ตเว็บไซต์ โดยรายได้มาจากการขายโฆษณาที่โตขึ้นเรื่อยๆ หรือการจัดแคมเปญให้ลูกค้า

เคล็ดลับที่ทำให้เว็บได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 14 ปีที่ผ่านมา เพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองดีพอ ต้องปรับปรุงตลอดเวลาให้ทันตามความต้องการ ให้ทันตามคู่แข่ง และเทคโนโลยี และที่สำคัญต้องให้เด็กคิดเป็นศูนย์กลาง พยายามรับฟังเด็ก หลายอย่างเราไม่ชอบแต่เด็กชอบ หลายอย่างทีมงานคิดว่าเด็กชอบแต่ไม่ชอบ “ต้องเชื่อตัวเองน้อยลง เชื่อเด็กมากขึ้น”