posttoday

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

15 มีนาคม 2557

คำที่ใครหลายคนได้กล่าวไว้ ถึงวงจรของตระกูลธุรกิจที่ว่า รุ่นแรก บุกเบิก รุ่นสอง สร้างอาณาจักร

โดย...เจียรนัย อุตะมะ วราภรณ์ เทียนเงิน และ ดวงใจ จิตต์มงคล

คำที่ใครหลายคนได้กล่าวไว้ ถึงวงจรของตระกูลธุรกิจที่ว่า รุ่นแรก บุกเบิก รุ่นสอง สร้างอาณาจักร จนถึงรุ่นสาม ธุรกิจพังทลาย คงใช้ไม่ได้กับทายาทธุรกิจต่อไปนี้ ที่ใช้ความได้เปรียบจากการสร้างอาณาจักรในรุ่นปู่และบิดาให้กลายเป็นข้อได้เปรียบทะยานไปข้างหน้าได้ดีกว่าคู่แข่ง

ทายาทธุรกิจข้าว

“พงศ์อธิป เหล่าธรรมทัศน์” ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท ยูนิเกรน มาร์เก็ตติ้ง (1999) ทายาทรุ่นที่สามของธุรกิจโรงสีข้าว ที่เข้ามาต่อยอดข้าวกระสอบและธุรกิจส่งออกข้าวรุ่นบิดา เป็นข้าวถุงขายลูกค้าระดับบนภายใต้แบรนด์ขายในประเทศชื่อ ธรรม และแบรนด์คัลเจอร์ส่งออกต่างประเทศ

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

ชายหนุ่มวัย 36 ปี ในวัยเด็กเติบโตมากับธุรกิจข้าวที่เชียงราย ปีนกองข้าว กระสอบข้าวเล่นมาตั้งแต่เล็ก ข้าวเปรียบเสมือนวิถีชีวิตของเขา

ธุรกิจโรงสีข้าวของ “เหล่าธรรมทัศน์” เริ่มมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ ปี 2492 ที่มีโรงสีข้าว 3 โรง ที่ อ.เมือง แม่จัน และพาน จ.เชียงราย

ต่อมารุ่นบิดาและอา คือ วิฑิต และ ปนิธิ ได้ตั้งบริษัท ยูนิเกรน เมื่อปี 2531 เพื่อส่งออกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวคุณภาพดีไปยังต่างประเทศ โดยมี ยูนิเกรน มาร์เก็ตติ้ง (1999) ดำเนินการผลิต ปรับปรุง คัดคุณภาพ บรรจุ และจัดจำหน่ายในประเทศ โดยมีโรงงานและคลังสินค้า 2 แห่งที่พุทธมณฑลสาย 5 ในแบรนด์ข้าวกระสอบตรางู เจาะลูกค้าระดับบนเช่นกัน

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

บิดาของเขารับหน้าที่ดูแลโรงสีข้าวที่เชียงราย ขณะที่อา ปนิธิ ดูแลการผลิตและการขายที่พุทธมณฑล

“พงศ์อธิป” เป็นบุตรชายคนโตของ วิฑิต มีน้องชายอีก 2 คน เขาจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ การเงิน จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมิชิแกน ทำงานที่มหาวิทยาลัยสักพัก ได้กลับเมืองไทยมาเป็นนักวิเคราะห์ระบบบริษัทที่ปรึกษาระบบไอทีหลายปี ก่อนที่จะมาช่วยบิดาและคุณอาดำเนินธุรกิจประมาณปี 2545-2546

จุดขายของข้าวธรรมคือ การเป็นข้าวล้านนาที่มีความนิ่มมากกว่าข้าวอีสาน เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ที่มากกว่า โดยเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2554 จนกระทั่งบัดนี้รายได้จากการขายข้าวของเขาได้เกินเป้าหมายปีละมากกว่า 200 ล้านบาท

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

“เราเริ่มต้นธุรกิจช้ากว่ารายใหญ่ข้าวถุงทั้งหมดในประเทศไทย หนำซ้ำเงินก็น้อยกว่า ต้องคิดเยอะเป็นปีกว่าจะผลักดันแบรนด์ของตัวเองออกมา”

แบรนด์ธรรม เปิดตัวด้วยข้าวถุงเล็กๆ เพื่อทำบุญ ใส่บาตร และชุดข้าว “ของขวัญ” รายแรกในประเทศ เจาะตลาดลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าให้แก่กันในโอกาสพิเศษต่างๆ เป็นธุรกิจใหม่ที่น่าจับตามองสำหรับวงการข้าวไทย

ปี 2556 ขยายสู่ตลาดต่างประเทศด้วยข้าวถุงแบรนด์คัลเจอร์ เจาะลูกค้าระดับบน

ปี 2557 ออกผลิตภัณฑ์ข้าวถุงหอมมะลิและข้าวเหนียวที่ไม่ใช้สารเคมี ด้วยขนาด 500 กรัม

ปัจจุบันข้าวถุงแบรนด์ธรรมวางขายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าปลีกทันสมัยที่คุ้นชื่อทั้งหมด 90% แล้ว

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

ตลาดรวมข้าวถุงในประเทศมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท มีการเติบโตสูงถึงปีละ 5-10% เทียบตลาดรวมข้าวในช่องทางค้าส่งในประเทศมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท ที่ตลาดไม่มีการเติบโต เมื่อเปรียบเทียบระหว่างตลาดรวมข้าวถุงในประเทศกับตลาดค้าส่งข้าวนั้น มีความแตกต่างกันถึง 10 เท่า แบรนด์ข้าวถุงยังสามารถเติบโตได้ต่อไป เพราะตลาดยังมีขนาดเล็ก

เคล็ดลับทายาท

1.มีความลุ่มหลงในธุรกิจที่ตัวเองทำเพื่อพัฒนาธุรกิจให้ก้าวหน้าไปได้

2.ต้องกล้าทำเรื่องใหม่ๆ เพราะภายในครอบครัวมีความคิดต่างระหว่างรุ่น

3.ขยายธุรกิจที่ตัวเองถนัด คือเจาะลูกค้าระดับบน ทำให้มีความมั่นใจ

4.มีความพอเพียง อย่าทำอะไรเกินกำลัง ถ้างบน้อย ต้องคิดให้มาก

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

คู่แฝดผจญภัย

ณัฐภณ วุฒิกานากร หรือ เอ และ ณกรณ์ วุฒิกานากร หรือ บี ผู้จัดการบ้านผางามรีสอร์ท อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ฝาแฝดวัยเกือบ 40 ปีที่เข้ามาช่วยพ่อแม่ดำเนินธุรกิจ

บ้านผางามรีสอร์ท มีรีสอร์ทที่เน้นนักท่องเที่ยวที่ชอบผจญภัยและสร้างทีมบิลดิ้งหลากหลายรูปแบบ แม้กระทั่งเทศกาลวาเลนไทน์เมื่อเดือน ก.พ.ของทุกปี ยังมีวิวาห์ผจญภัยสำหรับคู่แต่งงานที่รักการผจญภัย จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเป็นเพียงโฮมสเตย์หลังเดียวบนพื้นที่ 1 ไร่ กลายมาเป็นรีสอร์ทระดับ 3 ดาวครึ่ง 43 ห้อง รองรับลูกค้าได้ 200 คนขึ้นไป

เอ จบปริญญาตรีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ด้านการตลาด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนบี จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

รีสอร์ทนี้เดิมเป็นบ้านร้างเก่าๆ ที่ครอบครัวซื้อไว้และปรับปรุงให้เป็นบ้านพักได้ ต่อมาเมื่อ ผวจ.ปราจีนบุรี ส่งเสริมให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวคือ ล่องแก่งหินเพิง และที่พักอยู่ใกล้หน้าผา ในงานอะเมซิ่งไทยแลนด์ ก็มีคนมาขอใช้เป็นที่พักเมื่อมาล่องแก่ง จึงพัฒนาให้เป็นรีสอร์ท โดยเริ่มจากบ้านหลังเดียวและกางเต็นท์ ขยายเป็น 10 ห้อง เป็นอาคารติดกับอีก 6 ห้อง

จากนั้นได้ซื้อที่ดินเพิ่มจาก 1 ไร่ เป็น 20 ไร่ และ 60 กว่าไร่ในที่สุด

“เดิมคุณแม่เป็นคนจัดการทั้งหมด เพราะคุณพ่อยังทำงานประจำเป็นผู้จัดการบริษัท ไทยโทเร จึงแค่วางนโยบายให้คุณแม่ทำ พวกเราช่วยบ้างเพราะทำงานประจำ ต่อมากิจการขยายพ่อแม่ก็แก่ตัว พวกผมจึงต้องออกมาช่วย”

เอ เล่าว่า บิดาวางนโยบายขยายงานไว้ว่า บ้านพักต้องเป็นแนวราบกลืนกับแมกไม้ใกล้ธรรมชาติ ต้นไม้บัง กลมกลืน และขยายงานโดยใช้ทุนตัวเองและกู้ธนาคารเล็กน้อย

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

“ผมเชื่อว่าคนทำรีสอร์ทให้พัฒนาต้องปรับปรุงความสุขให้คนพัก และคนทำ ทำงานนี้ทำให้ใกล้ชิดครอบครัว โดยเมื่อรวมพนักงานทั้งหมดมี 60 คน”

เขาบอกว่า รีสอร์ทนี้เที่ยวได้ทุกฤดู ถ้าฤดูฝน มีทะเลหมอก ล่องแก่งสวย หน้าร้อนเทศกาลค่ายเด็กนานาชาติ มีโรงเรียนนานาชาติมาเข้าค่ายเยอะ

นอกจากนั้นมีค่ายผู้ใหญ่ เสาร์อาทิตย์จัดกิจกรรมทีมบิลดิ้ง สร้างความสามัคคี ผ่อนคลายในทีมทำงาน

เมื่อทั้งคู่จบแล้วได้ไปทำงานประจำเป็นมนุษย์เงินเดือน ก่อนลาออกมาช่วยพ่อแม่ทำธุรกิจรีสอร์ท

เอ จบแล้วไปเป็นพนักงานขาย บริษัท สยามยิปซั่ม ขายฝ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำได้ปีครึ่ง ก่อนออกมาช่วยบิดามารดาทำรีสอร์ท โดยปัจจุบันทั้งคู่อายุ 72 ปี และ 71 ปี ตามลำดับ

สำหรับ บี เมื่อจบแล้วได้ไปทำงานที่บริษัท เมโทร ซิสเต็มส์ เป็นวิศวกรระบบคอมพิวเตอร์ ทำได้สักพักได้ออกมาช่วยครอบครัวทำธุรกิจเช่นกัน โดยนำความถนัดด้านไอทีมาวางระบบธุรกิจด้วย

บ้านผางาม รีสอร์ท พัฒนาขึ้นตามลำดับ ทั้งบ้านพักและกิจกรรม เพราะความชอบผจญภัยของทั้งคู่

เมื่อบีจะแต่งงานปี 2549 อยากจัดวิวาห์ผจญภัย มีการยิงธนูแห่งรัก เพราะบีชอบ และมีบอลลูนดอกไม้ เพราะผมชอบ

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

เมื่อทางจังหวัดมาเห็น หลังจากนั้นมีงานจัดงานวิวาห์ผจญภัยขึ้นทุกปี ถือเป็นงานประจำจังหวัดเรียกนักท่องเที่ยว มีสำนักข่าวต่างประเทศสนใจนำเสนอข่าวมากมาย ทั้งรอยเตอร์ส เอพี และอีพีเอ เป็นต้น สร้างสีสันให้จังหวัด

ปี 2550 เริ่มมีคู่วิวาห์เพิ่ม โดยเราคัดเลือก 3 คู่แต่งงานมาจัดงานวิวาห์ผจญภัยตามที่เราจะสามารถดูแลได้ หลังจากนั้น 4 คู่ บางปี 6-7 คู่ กลายเป็นอะเมซิ่งโรมานซ์

ปัจจุบันทั้งคู่รับหน้าที่เป็นผู้นำทีมบิลดิ้ง เรียกว่าเป็นหน่วยบุก นำทีมทำกิจกรรม นอกจากนั้นเอยังสามารถทำตามความฝันของตัวเองคือ ออกพ็อกเกตบุ๊กท่องเที่ยวชื่อมาเก๊าสามมิติ เป็นหนังสือท่องเที่ยวไอทีเล่มแรกของโลก วางขายเมื่อเดือน มี.ค. 2556 ที่ผ่านมา ด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 1 หมื่นเล่ม

เคล็ดลับทายาท

หลายคนคิดว่าหางานที่ชอบ แต่เราสามารถทำหน้าที่พร้อมกับสร้างสิ่งที่ชอบได้ คือ ทำงานกับครอบครัว มีคน มีความรัก สามารถสร้างฝันของตัวเองพร้อมๆ กับการทำหน้าที่ได้

เลือดใหม่...ธุรกิจทะยาน

 

คลื่นลูกที่สอง จิตรมาส

“วรรณัตดา ขอประเสริฐ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จิตรมาสเทรดดิ้ง ผู้ประกอบการธุรกิจรับจัดเลี้ยง อาหารแช่แข็ง และอาหารกล่องสำเร็จรูป แบรนด์ “จิตรมาส” ทายาทรุ่นที่ 2 ที่เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเมื่อปี 2556 ต่อจากมารดา “รัชดา ขอประเสริฐ” ที่ก่อตั้งและบุกเบิกธุรกิจนี้มายาวนานถึง 32 ปีแล้ว

“วรรณัตดา” จบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เข้ามาทำงานกับบริษัทเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ที่เลือกทำงานบริษัทของคุณแม่เพราะเป็นคนชื่นชอบอาหารอยู่แล้ว มองว่าธุรกิจอาหารมีเสน่ห์ อยากสานต่อธุรกิจที่คุณแม่สร้างมาด้วยตัวเองทั้งหมด โดยเฉพาะเป็นคนแรกที่เริ่มทำธุรกิจอาหารแช่แข็งในประเทศไทย

“การเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ เป็นเรื่องยากและท้าทายที่สุด เพราะบริษัทมีพนักงานที่ทำงานมาตั้งแต่รุ่นก่อตั้งบริษัทและพนักงานใหม่ที่เข้ามาทำงานไม่นาน รวมแล้วกว่า 250 คน จึงต้องใช้หลักการบริหาร ปรับมุมมองของพนักงานทุกคนให้ไปในทิศทางเดียวกัน” วรรณัตดา กล่าว

แนวคิดการบริหารจะใช้ส่วนผสมของการบริหารแบบครอบครัวและเพิ่มแบบใหม่ในสไตล์ของตะวันตกเข้าไป ที่เรียกว่า แบบ อีส มีท เวสท์ (East meet West) เพื่อให้ทุกอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

พร้อมกันนี้ได้เข้าขยายธุรกิจใหม่ด้วยการทำธุรกิจร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ใช้ชื่อว่า “จิตรมาส เฮลตี้ มีล” เป็นร้านอาหารที่เน้นเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีแผนเปิดสาขาใหม่จำนวน 12 สาขาในปีนี้ ที่เป็นห้องแถว 1 ห้อง มุ่งเปิดในออฟฟิศและโรงพยาบาล

การขยายธุรกิจใหม่ เพราะกระแสของโลกกำลังก้าวไปสู่อาหารเพื่อสุขภาพ คนไทยและคนต่างประเทศให้ความสนใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับในตลาดของร้านอาหารยังไม่มีร้านอาหารในรูปแบบเดียวกับจิตรมาสมาก่อน โดยเมนูอาหารในร้าน อาทิ ข้าวขาหมูไขมันต่ำ ข้าวมันไก่ไขมันต่ำ ซุปคลายเครียด เป็นต้น

เธอเชื่อมั่นว่า การขยายธุรกิจใหม่จะทำให้ธุรกิจอาหารของจิตรมาสมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากปัจจุบัน ธุรกิจหลักมี 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการธุรกิจรับจัดเลี้ยง อาหารแช่แข็ง และอาหารกล่องสำเร็จรูป