posttoday

อ่านก่อนดู ‘ทีวีดิจิตอล’

13 มีนาคม 2557

ใกล้วันที่ 1 เม.ย. ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.

โดย...โยธิน อยู่จงดี

ใกล้วันที่ 1 เม.ย. ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนดให้มีการออกอากาศในระบบทีวีดิจิตอลทั้ง 48 ช่อง แต่จนถึงวันนี้หลายคนยังงงๆ กันอยู่เลยว่า “ทีวีดิจิตอล” คืออะไร และพวกเราจะได้ดูระบบใหม่นี้กันมั้ย อย่างไร?

ทีวีเครื่องเก่าของเรา ‘โอ’ มั้ย

คำถามแรกที่อยู่ในหัวของคนติดจอตู้คือ ทีวีเครื่องเก่าที่มีอยู่ที่บ้านจะใช้ได้มั้ย? ทวี อุดมกิจโชติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถวิศวกรรม ผู้ผลิตอุปกรณ์เซตท็อปบ็อกซ์สำหรับการชมทีวีดิจิตอล อธิบายอย่างง่ายๆ ว่า ทีวีดิจิตอลเป็นเพียงการเปลี่ยนการออกอากาศจากระบบอะนาล็อกเป็นระบบดิจิตอล ที่มีการเข้ารหัสอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งทีวีเดิมที่เราใช้ก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นทีวีจอตู้ ทีวีแอลซีดี จะไม่สามารถรับชมทีวีดิจิตอลได้ เพราะไม่มีภาคถอดรหัสสัญญาณดิจิตอล ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะจูนโทรทัศน์อย่างไรก็คงไม่ติด

หากคุณต้องการรับชมทีวีดิจิตอลที่กำลังจะออกอากาศในวันที่ 1 เม.ย.นี้ สิ่งที่อยากให้ตรวจสอบเป็นอันดับแรกก็คือ ถ้าที่บ้านมีเสาหนวดกุ้ง ก้างปลา ให้ลองดูว่าสามารถเปิดช่องไทยพีบีเอสได้ชัดเจนหรือเปล่า ถ้าชมช่องไทยพีบีเอสได้ชัดเจน ปัญหาเรื่องเสาอากาศก็ตัดไป เพราะช่องไทยพีบีเอสออกอากาศในช่วงคลื่น UHF (UltraHigh Frequency) เป็นช่วงคลื่นเดียวกับที่ใช้ออกอากาศภาคพื้นในระบบดิจิตอลทั้ง 48 ช่อง

จากนั้นให้หาซื้ออุปกรณ์ที่เรียกว่า เซตท็อปบ็อกซ์ มาเป็นอุปกรณ์ถอดสัญญาณดิจิตอล อุปกรณ์นี้สามารถซื้อได้ตามร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือตามศูนย์การค้าแผนกขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปราคาจะอยู่ที่ประมาณพันกว่าบาท

อย่าลืมดูให้แน่ว่ามีสัญลักษณ์ “DVB T2” และสติ๊กเกอร์รับรองจาก กสทช. ซึ่งจะเป็นตัวรับประกันได้ว่า เซตท็อปบ็อกซ์ ที่ซื้อมานั้นสามารถชมทีวีดิจิตอลได้แน่นอน

อ่านก่อนดู ‘ทีวีดิจิตอล’

 

“ไม่แนะนำให้ซื้อเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ผ่านการรับรองจาก กสทช. แม้จะรับประกันว่าชมทีวีดิจิตอลในระบบ ‘DVB T2’ ได้เหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างกันออกไป ต่อมาให้ดูผู้ผลิตที่ดูน่าเชื่อถือซึ่งจะช่วยรับประกันการใช้งานและบริการหลังการขายได้อีกระดับหนึ่ง” ทวี ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกซื้อ เซตท็อปบ็อกซ์ ว่า เวลานี้นำเข้ามาจากต่างประเทศและไม่ได้รับการรับรองจาก กสทช. วางขายในราคาถูกเป็นจำนวนมาก หากซื้อหามาใช้อาจไม่สามารถชมทีวีดิจิตอลได้นะครับ

หลังจากนั้นก็มาเซตท็อปบ็อกซ์กัน เริ่มติดตั้งโดยนำสายอากาศเดิมที่เสียบตรงกับทีวีมาเสียบกับกล่องเซตท็อปบ็อกซ์ แล้วนำสายเอวี ขาว เหลือง แดง เชื่อมสัญญาณกล่องกับทีวี (กรณีที่ใช้ทีวีจอตู้) ขณะที่เครื่องรับโทรทัศน์ที่มีพอร์ต HDMI ให้เสียบสายเข้ากับกล่องเซตท็อปบ็อกซ์เท่านี้ก็สามารถชมทีวีดิจิตอลได้แล้ว โดยตัวกล่องจะทำการสแกนหาคลื่นให้อัตโนมัติหากรับสัญญาณได้ภาพจะออกมาคมชัดทันที ไม่มีปัญหาภาพเหลื่อม ภาพเลื่อน มีหิมะหรือฝุ่น ระหว่างการรับชมเหมือนกับระบบอะนาล็อกเดิมๆ แน่นอน แม้จะมีทีวีจอตู้ก้นใหญ่รุ่นเดิมๆ ที่มีความละเอียดของหน้าจอไม่มากนักก็ยังเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน

อย่างไรตาม ทวี เน้นย้ำว่าหัวใจของการรับชมจะอยู่ที่เสาอากาศเป็นหลัก หากเป็นเสาอากาศที่ติดตั้งภายนอกบ้านจะรับสัญญาณได้ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นคอนโดที่ไม่สามารถติดตั้งเสาอากาศภายนอกได้ก็มีเสาอากาศแบบติดตั้งภายใน ซึ่งแนะนำให้เป็นรุ่นที่มีบูสเตอร์ หรือตัวเพิ่มกำลังรับสัญญาณจะเหมาะสมที่สุด สำหรับการรับชมในผู้อาศัยในคอนโดมิเนียม

อยากได้ทีวีใหม่ (รับดิจิตอล) เลือกยังไง

นิพนธ์ วงษ์แสงอรุณศรี หัวหน้ากลุ่มผลิตภัณฑ์โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์และผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ แนะนำสำหรับคนที่สนใจจะซื้อทีวีใหม่ สำหรับการรับชมทีวีดิจิตอลนั้นไม่ยากเลย เพียงแค่หาทีวีที่มีสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานของ กสทช. เป็นสติ๊กเกอร์น้องดูดี หรือสอบถามจากพนักงานขาย เพื่อรับคำแนะนำก็สามารถเลือกซื้อทีวีรุ่นใหม่ที่มีอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณดิจิตอลได้สบายๆ

ข้อดีของการเลือกซื้อทีวีที่มีภาคถอดรหัสในตัวโดยไม่ต้องพึ่งเซตท็อปบ็อกซ์ ก็คือ ประหยัดพื้นที่ ซึ่งบางบ้านอาจจะมีกล่องรับชมเคเบิลนู่นนี่มากมายหลายกล่องอยู่แล้ว นอกจากนี้ยังประหยัดพอร์ตเชื่อมต่อสำหรับกับอุปกรณ์ความบันเทิงอื่นๆ ซึ่งราคาจะสูงกว่าเครื่องที่ไม่มีอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณดิจิตอลในตัวประมาณ 1,000-2,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่ได้โหดร้านแต่อย่างใด (หลายร้านค้ามีโปรฯ แบ่งจ่าย 0% อีกต่างหาก)

อ่านก่อนดู ‘ทีวีดิจิตอล’

 

นอกจากสติ๊กเกอร์น้องดูดีที่เหลือก็ไม่ต่างกับการเลือกซื้อทีวีทั่วไป โดยดูที่ขนาดหน้าจอให้เหมาะสมกับขนาดห้อง แต่ส่วนใหญ่แล้วทีวีที่มีสามารถดูทีวีดิจิตอลได้จะมีขนาดหน้าจอที่ตั้งแต่ 36 นิ้วขึ้นไป ต่อมาให้ดูความละเอียดของภาพอย่างน้อยๆ ภาพควรเป็นระบบ “Full HD” เพื่อสามารถรับชมรายการช่อง HD ได้เต็มประสิทธิภาพ

ต่อมาก็คือชนิดของจอภาพที่มีให้เลือกระหว่างแอลซีดี แอลอีดี และโอแอลอีดี ถ้าคุณซื้อมาเพื่อชมรายการข่าว รายการทั่วไปแอลซีดีก็น่าจะเพียงพอกับการใช้โดยรวม แต่ถ้าคุณต้องการชมการแข่งขันฟุตบอล ภาพยนตร์ หรือดูละครที่รอออกอากาศในระบบ HD จอภาพแบบโอแอลอีดีจะเหมาะสมที่สุดกับการลงทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่กังวลเรื่องการลงทุนเพิ่มในจุดนี้ เพราะมีความลังเลที่จะดูได้จริงหรือเปล่า หรือซื้อไปแล้วเกิด กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ทีวีดิจิตอลใหม่ เราไม่ต้องเปลี่ยนทีวีใหม่ทุก 15 ปีเหรอ ตรงนี้ต้องบอกว่าคุ้มค่าที่จะเปลี่ยนเหตุผลข้อแรก ก็คือหลังจากปล่อยให้มีออกอากาศสัญญาณดิจิตอล ระบบอะนาล็อกเดิมก็ยังออกอากาศอีกประมาณ 6 ปี หลังจากนั้นจะเป็นระบบดิจิตอลเต็มรูปแบบ จึงมั่นใจว่าในระยะ 6-15 ปี หลังจากนี้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบทีวีดิจิตอลที่ประเทศไทยเลือกใช้ระบบ “DVB T2” อย่างแน่นอน

หลังจาก 15 ปีที่ต้องประมูลรอบใหม่ก็เชื่อว่าจะใช้ระบบเดิม เพราะดูตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมาก่อนเราเป็น 10 ปี แม้จะออกอากาศคนละระบบกับเราแต่เขาก็ยังคงใช้ระบบเดิมจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีทีท่าจะเปลี่ยน จึงเชื่อว่าประเทศไทยเมื่อตัดสินใจแล้วก็น่าจะเป็นมาตรฐานที่ใช้กันยาวนานหลายสิบปี และที่สำคัญหลังเดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไปทีวีรุ่นใหม่ที่มีขนาด 32 นิ้วขึ้นไปจะสามารถดูทีวีดิจิตอลในตัวได้หมดแล้ว

ถึงอย่างไรเราก็ต้องชมทีวีดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต งานใครเปลี่ยนก่อนก็ได้ชมก่อน แค่เพิ่มอุปกรณ์ขึ้นมาอีกชิ้นเดียวเท่านั้นก็คือ เซตท็อปบ็อกซ์ สำหรับคนที่ใช้ทีวีระบบอะนาล็อก แถมยังมีแนวโน้มที่จะได้รับเงินอุดหนุนจาก กสทช. ที่ในการซื้อเครื่องเซตท็อปบ็อกซ์ ในเร็วๆ นี้ ส่วนคนที่กำลังซื้อทีวีใหม่ก็แค่มองหาเครื่องที่มีสติ๊กเกอร์น้องดูดี แต่คนที่หลังจากนี้สถานีโทรทัศน์จะต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อผลิตรายการคุณภาพออกมาให้เราได้ชมท่ามกลางตัวเลือกที่มีถึง 48 ช่อง ดูแล้วผู้บริโภคอย่างเราๆ มีแต่ได้กับได้ครับท่าน