posttoday

‘วรรณเพ็ญ’ สาวน้อยไทยหัวใจ ‘โรบ็อต’

08 มีนาคม 2557

วรรณเพ็ญ แซ่เปี่ยน หรือน้องฟาง สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 24 ปี พ่วงดีกรีวิศกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า

โดย...ดวงใจ จิตต์มงคล

วรรณเพ็ญ แซ่เปี่ยน หรือน้องฟาง สาวน้อยมหัศจรรย์วัย 24 ปี พ่วงดีกรีวิศกรรมศาสตร์บัณฑิต สาขาไฟฟ้า จากรั้วสีชมพู จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มาพร้อมกับแนวคิดสุดน่าทึ่งคือ อยากเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ประเทศไทยที่เป็นแรงบันดาลใจให้สาวน้อยคนเก่ง หันมาพุ่งความสนใจพัฒนาหุ่นยนต์ฝีมือคนไทยในเชิงธุรกิจภายใต้ชื่อ “แมสคอต โรบ็อต”

เธอ เล่าว่า แนวคิดธุรกิจดังกล่าวถูกต่อยอดมาจากเมื่อครั้งที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ โดยรวมกลุ่มเป็นทีมกับเพื่อนๆ ส่งผลงานเข้าประกวดหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ ซึ่งในครั้งนั้นถือว่าสร้างประสบการณ์ครั้งสำคัญที่นำมาสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ในรูปแบบเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน พร้อมกับได้กลุ่มเพื่อนๆ ที่มีความเชี่ยวชาญกันคนละด้านมาลงขันเปิดธุรกิจ เพื่อสร้างฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตร่วมกัน

สำหรับไอเดียการพัฒนาหุ่นยนต์ “แมสคอต โรบ็อต นั้น” มาจากการเห็นปัญหาของผู้สวมใส่ชุดสัตว์สัญลักษณ์นำโชค หรือแมสคอต ที่มาออกกิจกรรมการตลาด (อีเวนต์) ตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไป ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ และมักพบข้อจำกัดในการสวมใส่ชุดแมสคอต ซึ่งสวมได้ไม่นานก็จะต้องถอดออกเพื่อให้ผู้สวมใส่ข้างในที่เป็น “คนจริงๆ” ได้พักสูดอากาศหายใจ

ด้วยข้อจำกัดนี้จะทำให้ “แมสคอต” ขาดความต่อเนื่องในการช่วยสร้างสีสัน และความสนุกให้ในแต่ละงานอีเวนต์

จากปัญหาดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้เธอและหุ้นส่วนทางธุรกิจเห็นเป็นโอกาสในการทำตลาดหุ่นยนต์แมสคอต ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มโปรแกรมหุ่นยนต์แมสคอต โรบ็อต ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอีเวนต์ หรือการประชาสัมพันธ์จากการออกบูธกิจกรรมการตลาดของเจ้าของงานต่างๆ ทั่วไป

“เราได้พัฒนาหุ่นยนต์แมสคอต โรบ็อต ขึ้นมา ให้สามารถพูดประชาสัมพันธ์สินค้า หรืองานอีเวนต์ตามข้อมูลที่ได้รับมาจากเจ้าของงาน ซึ่งตัวแมสคอตเองยังสามารถเดินไปมาได้ทั่วงานอีกด้วย หุ่นยนต์ตัวนี้จะเข้ามาช่วยสร้างสีสันให้กับงาน ที่แตกต่างไปจากการใช้แมสคอตปกติทั่วไป” น้องฟาง บอกถึงจุดเด่น

ทว่า ก่อนที่จะนำแมสคอต โรบ็อต มาอยู่ในรูปแบบธุรกิจได้ในปัจจุบันนั้น เธอยกเครดิตให้กับการเข้าร่วมในโครงการ “Samart Innovation Awards” หรือโครงการเถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้เกิดนักคิดนักพัฒนารุ่นใหม่ เพื่อสร้างโอกาสและการต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการที่ร่วมมือระหว่างบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งจากการเข้าร่วมโครงการในปีที่ผ่านมานั้น ทำให้ได้ความรู้นำไปพัฒนาสู่การทำตลาดผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่จับต้องได้ในโลกแห่งความจริง

สำหรับหุ่นยนต์ต้นแบบที่เธอและทีมงานส่งเข้าประกวดผ่านโครงการดังกล่าวในปีก่อน ใช้ชื่อว่า “ลุกมี” LookME พาหนะอัจฉริยะสารพัดประโยชน์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงาน รวมถึงค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทต้องปิดตัวลงไป เนื่องจากไม่สามารถรับภาระค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น และไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอที่จะซื้อระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศที่มีราคาสูงได้

ขณะที่พาหนะอัจฉริยะสารพัดประโยชน์นี้ สามารถรองรับการใช้งานได้หลากหลาย ในราคาที่เอื้อมถึงได้และคุ้มค่าต่อการลงทุน โดยผลิตภัณฑ์ที่ทางทีมพัฒนาขึ้นมาได้มีการทดลองใช้งานในสภาพแวดล้อมจริง จึงสามารถรับประกันได้ว่าคุณภาพไม่ด้อยไปกว่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างแน่นอน หรือจะกล่าวได้อีกทางว่า “ผลิตภัณฑ์ฝีมือคนไทย ราคาถูก คุณภาพพรีเมียม”

ทั้งนี้ ยังได้วางจุดเด่นใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีให้พาหนะสามารถระบุตำแหน่งและสร้างแผนที่ของสิ่งแวดล้อมขึ้นแบบ Real Time สามารถสร้าง Path Planning ซึ่งเป็นกระบวนการวางแผนเส้นทางการเคลื่อนที่จากจุดที่อยู่ปัจจุบันไปยังปลายทางได้อย่างแม่นยำ

รวมถึงระบบประมวลผลที่สามารถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง และ Optimization เส้นทางเพื่อประหยัดเวลาและพลังงาน สามารถใช้งานได้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมการผลิตและขนส่ง อุตสาหกรรมภาคบริการ อุตสาหกรรมสื่อ โฆษณา อุตสาหกรรมการเกษตร เป็นต้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ลดต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าแรงที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบโดยรวม สามารถทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย หรือยากต่อการเข้าถึงของมนุษย์ได้

อย่างไรก็ตาม ในตอนแรกเธอคิดเพียงแค่ว่าจะพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อนำมาให้บริการเท่านั้น ยังไม่มี “บิซิเนส โมเดล” หรือแผนธุรกิจแต่อย่างใด จากต้นทุนในการผลิตหุ่นยนต์ 1 ตัว อยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งจากการนำหลักของการตลาดและธุรกิจมาปรับใช้ทำให้รู้ว่าหากจะผลิตขึ้นมา เพื่อทำตลาดทันทีเลยนั้นค่อนข้างยากในด้านการขาย แต่หากอยู่ในรูปแบบของการเช่าบริการจะมีความคุ้มค่ามากกว่า ซึ่งปัจจุบันคิดค่าบริการต่อครั้งอยู่ที่ 11.5 หมื่นบาทต่อ 1 งาน ขึ้นอยู่กับสัญญาระหว่างผู้ว่าจ้างในแต่ละงานหรือขนาดของสถานที่

สำหรับหลักการทำงานหุ่นยนต์แมสคอต โรบ็อต ดังกล่าว ทีมงานบริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มขึ้นมาจากไฟเบอร์กลาส พร้อมเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์คำสั่งการใช้งานต่างๆ เอาไว้ ทั้งการจดจำแผนที่ภายในการจัดงาน ข้อมูลที่ต้องใช้ เป็นต้น ที่สามารถนำแฟลตฟอร์มดังกล่าว เข้าไปติดตั้งเพื่อใช้งานและนำชุดแมสคอตชุดสัตว์ต่างๆ อย่าง หมี นก กระต่าย ฯลฯ มาสวมทับเพื่อนำไปใช้งานได้เลยทันที

น้องฟาง ยังได้ย้อนไปถึงผลงานหุ่นยนต์ที่เธอและเพื่อนๆ ได้ฝากฝีมือไว้ก่อนหน้านี้คือ หุ่นยนต์พนักงานต้อนรับในร้านอาหารเอ็มเคสุกี้ ที่สร้างความฮือฮาในวงการร้านอาหารมาแล้ว จนมาถึงหุ่นยนต์รุ่นล่าสุดแมสคอต โรบ็อต ในปัจจุบัน ที่ยังอยู่ระหว่างการเพิ่มลูกเล่นและการใช้งานด้านใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ตามความต้องการของตลาด

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมโรงงานประเภทต่างๆ ที่ในอนาคตอาจต้องมีการนำหุ่นยนต์เข้าไปใช้งานทดแทนแรงงานคน ทั้งเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในชีวิต เช่นเดียวกับแนวโน้มที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นประเทศต้นแบบด้านการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์

พร้อมกล่าวทิ้งท้ายถึงอนาคตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ไทย ว่ายังมีทั้งโอกาสและการเติบโตจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมโรงงานที่หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในอนาคตหากได้รับการส่งเสริม โดยเฉพาะด้านทุนอุดหนุนวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับเธอ ที่ต่อยอดความคิดจากโลกจินตนาการให้ออกมาสู่โลกธุรกิจหุ่นยนต์เพื่องานบริการได้จริง