posttoday

จับไมค์ร้องเพลง 2 วัย 2 สไตล์

15 กุมภาพันธ์ 2557

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ประโยคข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับเสียงเพลง

โดย...ณัฐจักร วงษ์ยิ้ม

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ประโยคข้างต้นชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับเสียงเพลง เสียงดนตรีมาอย่างช้านาน ปัจจุบันกิจกรรมยอดฮิตยามว่างของคนแต่ละวัย ทั้งวัยโสดและเกษียณจึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากการร้องเพลง

โสด : ปิดประตูปลดความทุกข์ชั่วคราว

“ฉันกำลังขอร้องอ้อนวอนเธออย่าไป ทิ้งตัวลงคุกเข่ากอดขาเธอเอาไว้” เสียงทุ้มทรงพลังของหนุ่มโสดแทรกผ่านประตูห้องสี่เหลี่ยมออกมาด้านนอก สำหรับวัยโสด การร้องเพลงเพื่อปลดปล่อยให้ร่างกายสูบฉีดความสนุกสนานเต็มที่ ไม่มีที่ใดเหมาะไปกว่าที่แห่งนี้อีกแล้ว “ห้องคาราโอเกะ”

นายปวิช ธรรมศุภวิชญ์ หนุ่มโสดจากรั้วมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เล่าให้ฟังว่า เรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ งานเยอะรู้สึกเครียด จึงต้องหาเวลามาผ่อนคลายสมองด้วยการร้องคาราโอเกะเพื่อปลดปล่อย เมื่อเครียดเมื่อไรพอได้มาร้องเพลงจะรู้สึกดีขึ้น สนุกสนานเฮฮา ส่วนใหญ่มาร้องกับเพื่อนๆ แต่มีบ้างที่ร้องคนเดียว จะได้อารมณ์เปลี่ยวไปอีกแบบ (หัวเราะ) ตัวเขาและกลุ่มเพื่อนมาร้องบ่อยมาก นอกเสียจากช่วงไหนที่งานหนักจริงๆ ถึงจะพักการร้องคาราโอเกะลงบ้าง

กิจกรรมยามว่างของหนุ่มโสดหน้ามนต์คนนี้ คือเล่นเกมและเล่นกีฬา (สนุกเกอร์) แต่ที่ชอบมากคือการร้องเพลง ร้องได้หลากหลายแนว ทั้งร็อก สากล หรือเพลงตลาดทั่วไป เพราะทางร้านคาราโอเกะจะมีเพลงเหล่านี้ให้เลือกเยอะ โดยร้องเต็มที่ไม่เกิน 2 ชั่วโมงเสียงก็ไม่ไหวแล้ว

“การร้องเพลงมีผลต่อจิตใจมาก คือทำให้ไม่เครียด เมื่อไม่เครียด เราจะมีแรงขับ เกิดแรงกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้เราคิด ทำอะไรได้มากขึ้น” หนุ่มโสดพูดด้วยแววตาเปี่ยมความสุข

ด้านสาวโสด น.ส.กรปภา กิตติสุวรรณมาลี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ บอกถึงเหตุผลที่ชอบร้องคาราโอเกะว่า ที่มาร้องเพราะเป็นการใช้เวลาว่างจากการเรียน เหมือนเป็นการปลดปล่อย คลายเครียด อีกอย่างคือเดินทางสะดวกอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติเป็นคนชื่นชอบการฟังเพลงร้องเพลงทุกแนวอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ที่มาร้องจะเป็นเพลงฮิตๆ ทั้งเพลงป๊อป สากล ร็อก หรือเพลงลูกทุ่งอย่างขอใจเธอแลกเบอร์โทรของหญิงลีก็ร้อง

จับไมค์ร้องเพลง 2 วัย 2 สไตล์

 

“ตอนแรกที่ว่างระหว่างเรียน ไม่มีอะไรทำ รู้สึกเครียดๆ พอเห็นป้ายราคาร้านคาราโอเกะสนนราคาไม่แพงจึงลองเข้ามาร้องดู ปรากฏว่าชอบ หลังจากนั้นเมื่อมีเวลาว่างก็มาร้องอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะร้องกับเพื่อนๆ เพราะได้ความสนุกสนาน ผ่อนคลาย โดยเข้ามาร้องประมาณ 1-2 ชั่วโมง เฉลี่ยสัปดาห์หนึ่งมาร้องประมาณ 3 ครั้ง”

หลายคนมองว่าการร้องคาราโอเกะเป็นเรื่องไร้สาระ มานั่งตะโกนโหวกเหวกเสียงดังกันทำไม ในเมื่อมีวิธีคลายเครียดอีกตั้งมากมาย หารู้ไม่ว่านอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว การร้องคาราโอเกะยังมีประโยชน์หลายอย่างที่ถูกมองข้าม

น.ส.ชุติมน มาลีแก้ว นักศึกษาธุรกิจบัณฑิตย์ ใบหน้าเปื้อนยิ้ม เล่าว่า เมื่อมีเวลาว่างจะอ่านหนังสือ เล่มเกมบนมือถือ แต่ชอบร้องเพลงเป็นที่สุด เพราะนอกจากการร้องเพลงจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยบริหารกรามและเสียง และบางครั้งก็มีเต้นด้วย ถือว่าเป็นความสนุกสนานที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ที่สำคัญคำศัพท์ต่างๆ ในเนื้อเพลงที่เราได้อ่านระหว่างขยับปากร้อง จะช่วยฝึกทักษะการเรียนรู้ด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ เพิ่มทักษะการอ่านให้กับเราไปในตัวด้วย

การร้องคาราโอเกะของหนุ่มสาววัยโสดก็เพื่อปิดประตูกั้นความเคร่งเครียดไม่ให้ย่างกรายเข้ามา และเปิดรับความสุข สนุกสนานครึกครื้นเข้ามาแทนที่ เสมือนหลีกหนีโลกแห่งความจริงที่ต้องเผชิญเป็นการชั่วคราว แม้เมื่อหมดชั่วโมงต้องพบกับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ชวนปวดหัว เขาก็ยินดีจะจ้องหน้ากับมันอีกครั้งและหวังว่าจะผ่านไปได้ด้วยดี

เกษียณ : เติมเต็มความสุขที่ขาดหาย

“โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใครเมื่อในอดีต และโปรดอย่าถามว่าอดีตฉันเคยรักใคร” เนื้อเพลงเก่าคลาสสิกพอๆ กับผู้ขับร้องบนเวทีดังขึ้น ตามด้วยเสียงปรบมือพอเป็นพิธีของผู้ฟัง

ณ ศูนย์อาหารของห้างดิ โอลด์ สยาม พลาซ่า ศูนย์การค้าเก่าแก่ย่านเจริญกรุง มีพื้นที่เล็กๆ เหมือนกรุเพลงเก่าสำหรับวัยเกษียณผู้หลงใหลในบทเพลง มารวมตัวกันเพื่อสร้างความสุข เติมเต็มส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตให้สมบูรณ์มากขึ้น

จับไมค์ร้องเพลง 2 วัย 2 สไตล์

 

นายวิโรจน์ แซ่โง้ว ลุงวัยเกษียณ อายุ 67 ปี เล่าว่า หลังจากไม่ได้ทำงานก็มีเวลาว่างเยอะ ไม่ได้ไปไหน จึงมานั่งฟังเพลง ร้องเพลงที่ดิ โอลด์ สยาม พลาซ่าแห่งนี้ ปกติมาเกือบทุกวันเพราะได้บรรยากาศที่ดี จิบน้ำ ดื่มกาแฟ ฟังเพลง คลายเครียดได้ รู้สึกมีความสุข โดยส่วนตัวหลงใหลเสน่ห์ของเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก เพราะชอบฟังเสียงที่ไพเราะน่าฟัง เพลงที่ชอบคือเพลงลูกกรุง โดยเฉพาะเพลงดาวของ สุเทพ วงศ์คำแหง ถือเป็นเพลงโปรดที่ลุงใช้ขึ้นเวทีเป็นประจำ

ระหว่างนั่งฟังดนตรีและพูดคุยกับวัยเกษียณหลายท่าน เสียงเพลงแสนไพเราะจับใจของแม่บ้านวัย 52 ปี ใจทิพย์ ประชาศักดิ์ ผ่านเข้าหูมิตรรักแฟนเพลงผมสองสีไปหลายบทเพลง เมื่อลงจากเวที แม่บ้านวัยเกษียณให้สัมภาษณ์ว่า “มาสัปดาห์ละ 4-5 วัน โดยขึ้นร้องสลับกับคนอื่นเป็นประจำ เนื่องจากอยู่ใกล้ๆ จึงแวะมา เราชอบเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุงเก่าๆ นอกจากมาที่นี่ก็มีไปออกกำลังกายตามสวนสาธารณะบ้าง ตอนแรกก็มากินข้าว เห็นมีดนตรีสด มีร้องเพลงกันจึงชอบ โดยที่เห็นส่วนใหญ่จะมีแต่ผู้สูงอายุมานั่งกิน ดื่ม ฟังเพลง ร้องเพลงกัน”

ขณะเดียวกัน นายปรีชา เมธาเสถียร คุณลุงวัย 66 ปี เลือกจับจองโต๊ะด้านหน้า สลับขึ้นลงบนเวที เล่าให้ฟังว่า เคยทำธุรกิจส่วนตัวกับที่บ้าน ปัจจุบันเลิกทำแล้ว จึงมาที่นี่เกือบทุกวันแล้วแต่สะดวก เหตุที่มาร้องเพลงที่นี่เพราะชื่นชอบเพลงลูกกรุง โดยเฉพาะเพลงของสุนทราภรณ์

“ประโยชน์ที่ได้คือทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง ถ้าไม่ได้ร้องเพลงสักสัปดาห์จะรู้สึกเหนื่อย เหมือนเป็นการทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยหัวใจของการร้องเพลงจะอยู่ที่จังหวะ แต่ละคำที่เปล่งออกมาต้องตรงจังหวะ นอกจากนี้ การถ่ายทอดอารมณ์ร่วมไปกับเพลง จะทำให้เพลงน่าฟังมากขึ้น เท่ากับว่าเราได้ฝึกทั้งอารมณ์และจังหวะ ทำให้เรามีอารมณ์ที่ดี สุขภาพร่างกายแข็งแรง อายุยืน”

ลุงปรีชา เล่าต่อว่า นานมาแล้วมาเที่ยวดิ โอลด์ สยาม เห็นมีร้องเพลงกับดนตรีสด จึงไปฝึกร้องให้ดีแล้วขึ้นร้องกับเขาบ้าง ปัจจุบันตนก็ยังเรียนร้องเพลงของสุนทราภรณ์การดนตรี เรียนมากว่าครึ่งปีแล้ว เคยไปประกวดเวทีต่างๆ ก็ได้รางวัลมามากมาย เช่น รางวัลจากผ่องศรี วรนุช ราชินีลูกทุ่งไทย ดีกรีศิลปินแห่งชาติปี 2535 และจากรวงทอง ทองลั่นทม ศิลปินแห่งชาติปี 2539 นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสไปพบปะครูเพลงเก่งๆ อีกมากมาย

ด้าน นายโสพัส ใจแกล้วกล้า อายุ 64 ปี เกษียณราชการมาแล้ว 4 ปี บอกว่า ปัจจุบันยังทำงานพวกเขียนแบบอยู่บ้าง แล้วได้คลุกคลีอยู่กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ อีกทั้งชอบร้องเพลงอยู่แล้วแต่เป็นเพลงเก่า เวลาไปร้องคาราโอเกะกับน้องๆ วัยรุ่น พอร้องเพลงเก่าๆ น้องก็นั่งงงกันใหญ่ หลังจากจึงเริ่มฝึกร้องเพลงที่คาบเกี่ยวระหว่างรุ่นเรากับวัยรุ่น อย่างเพลงคนสุดท้าย ทั้งวัยโสดวัยเกษียณต่างรู้จักกันดี

“นั่งฟังเพลงไป ทำงานไป บางครั้งเครียดๆ ก็ได้ระบาย ได้ร้องสักเพลงสองเพลง กลับมานั่งเขียนแบบใหม่สมองก็ปลอดโปร่ง คิดงานได้ดีขึ้นอีก ส่วนตัวชอบเพลงหลายสไตล์ ทั้งไทยเดิม สตริง การร้องเพลงทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น ได้สังคมเพื่อนฝูง ที่สำคัญคือผ่อนคลาย ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดีขึ้น แต่ก่อนไม่มีร้องเพลงแค่มานั่งกินข้าวเสร็จก็กลับ แต่พอมีดนตรีก็อยู่นาน รู้สึกดีขึ้นเยอะ”

สำหรับวัยเกษียณความทุกข์ในอดีตได้ถูกปิดตายไปแล้ว เหลือเพียงอนาคตในบั้นปลายที่หลายคนเลือกเปิดรับความสุขด้วยการร้องเพลง เพราะนอกจากจะช่วยให้ตัวเองมีสุขภาพจิตดี ร่างกายแข็งแรง ยังสามารถสร้างจังหวะแห่งความสุนทรีย์ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย