posttoday

สามีจ๋าเข้าใจหน่อย ... เศร้าหลังคลอดเป็นกันทุกคน

15 กุมภาพันธ์ 2557

การเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่นั่นไม่ใช่เพราะผู้หญิง

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

การเปลี่ยนแปลงสภาวะอารมณ์มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่นั่นไม่ใช่เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่เจ้าอารมณ์ หงุดหงิดง่าย แปรปรวน หรืออะไรก็ตามแต่ตามที่ผู้ชายมักกล่าวโทษแก่เธอ

สาเหตุที่ผู้หญิงเป็นเช่นนั้นเกี่ยวโยงกับกายภาพและฮอร์โมนเป็นสำคัญ จากสถิติทั่วโลกชัดเจนว่าผู้หญิงจะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้า เกรี้ยวกราด อารมณ์สองขั้วมากกว่าผู้ชาย

ยิ่งผู้หญิงที่กำลังนับหนึ่งในบทบาท “แม่” ไม่แปลกที่จะวิตกกังวลทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นความพร้อมของตัวเอง ความพร้อมของครอบครัว รูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป หรืออะไรอีกมากมาย

เชื่อหรือไม่ว่า 85% ของผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรจะเกิดภาวะอารมณ์ “เศร้าหลังคลอด” (Postpartum Blues) ขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก โดยอาการจะแสดงออกให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น ร้องไห้ง่าย ย้ำคิดย้ำทำ ตำหนิตัวเอง หดหู่ แต่ภาวะดังกล่าวจะเป็นอยู่เพียงชั่วคราว และจะค่อยๆ ดีขึ้นได้เองในเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

ครอบครัว-สามี จำเป็นต้องเข้าใจ

แม้ว่าปัจจุบันจะยังหาคำอธิบายถึงสาเหตุการเกิดภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดได้อย่างชัดเจน แต่ส่วนใหญ่เชื่อไปในทิศทางเดียวกันว่าเป็นเพราะระดับฮอร์โมนเพศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วงหลังคลอด

ภาวะนี้จำเป็นต้องแยกออกจากจากโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด (Postpartum Depression) เนื่องจากโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอดนั้นเป็นโรคที่รุนแรงกว่าและส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงดูทารกอย่างมาก และมีผลต่อพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของทารก

สำหรับภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด จัดว่าเป็นปัญหาสุขภาพจิตจากปรับตัวที่ยังไม่ถึงขั้นจะจัดว่าป่วย แต่จะมีแค่อาการอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่ายขึ้น หงุดหงิด วิตกกังวลเล็กน้อย หรือนอนหลับยากขึ้นเท่านั้น โดยอาการจะเกิดขึ้นตั้งแต่วันแรกๆ หลังคลอด และจะสามารถดีขึ้น

ทว่า หากเป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอด ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้าอย่างมาก วิตกกังวลจนเกินเหตุ กลัวว่าจะเกิดอันตรายกับทารก หรือมีอาการย้ำคิดย้ำทำ บางรายถึงขั้นโทษตัวเอง หรือคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ ซึ่งอาการจะเริ่มเกิดช้ากว่าภาวะแรก โดยจะเกิดหลังจากคลอดไปแล้ว 2-4 สัปดาห์

อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดนั้นมีอาการไม่รุนแรงและสามารถดีขึ้นได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้ามารับประทาน เพียงแต่คนใกล้ชิดต้องเอาใจใส่ ปลอบโยน ประคับประคองจิตใจ แต่สำหรับโรคซึมเศร้าที่เกิดหลังคลอดนั้นไม่สามารถหายได้เอง การปลอบโยน และประคับประคองจิตใจจากคนรอบข้างยังจำเป็นแต่ควรต้องได้รับการรักษาโดยจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และจำเป็นต้องได้รับยาต้านเศร้าร่วมกับทำจิตบำบัด

วิธีการดูแลตัวเอง ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกัน มีเพียงการศึกษาถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เท่านั้น โดยพบว่า ถ้าผู้ป่วยเคยมีประวัติโรคซึมเศร้ามาก่อน เคยมีภาวะอารมณ์แปรปรวนในช่วงก่อนมีรอบเดือน เคยมีอารมณ์เศร้าในขณะตั้งครรภ์ หรือเคยมีภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอดในครรภ์ก่อนๆ ร่วมกับมีปัญหากับคู่สมรส และมีความเครียดในช่วงตั้งครรภ์ ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะนี้เพิ่มขึ้นมาก

แต่ที่สุดแล้ว หากรู้เท่าทันตัวเองรู้เท่าทันอาการ กล้าที่จะไปพบจิตแพทย์โดยยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยและเปิดใจยอมรับการรักษาบำบัด ภาวะอารมณ์เหล่านี้ก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาสาหัสอะไร