posttoday

ของฟรีไม่มีในโลก

25 มกราคม 2557

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ [email protected]

โดย...นันทิยา วรเพชรายุทธ [email protected]

“โลกนี้ไม่มีของฟรี” อาจไม่ใช่ประโยคสวยหรูจากกวีเอกอย่างเช็กสเปียร์ หรือนักปรัชญาเมธีอย่างวอลแตร์ แต่ก็เป็นหนึ่งในประโยคที่ดิฉันชอบมากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ร่วมสมัยกับสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบันที่ค่อนข้างจะซับซ้อนขึ้นทุกวันๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่

ที่จริงแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาอย่างถึงที่สุดชนิดที่อาจไม่จำเป็นต้องหาคำมาอธิบายเลยว่า คนทั่วไปต่างก็ชอบของฟรีกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นของฟรีบนความ “เสน่หา” หรือมีจุดมุ่งหมายอำพราง

แต่ในขณะที่สถาบันครอบครัวลดขนาดกลายเป็นครอบครัวเดี่ยว ลูกหลานออกจากบ้านไปหางานทำในเมืองหลวง ตามเมืองใหญ่ หรือแม้แต่ในต่างประเทศ ผู้หญิงผู้ชายต่างครองความเป็นโสดกันมากขึ้น และทำให้เรากลายเป็น “คนแปลกหน้า” ของกันและกันในสังคมมากขึ้นนั้น คำถามก็คือ ของฟรีที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทนจะยังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน

เรื่องนี้ไม่ใช่การปลุกด้านมืดให้คนเห็นแก่ตัว แต่เพียงแค่อยากให้ตระหนักว่า ของทุกอย่างล้วนแล้วแต่มี “ต้นทุน” ซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ได้เรียนเศรษฐศาสตร์ก็น่าจะเข้าใจได้

แม้แต่ของฟรีจากความสิเน่หาที่ไม่ต้องการของตอบแทน ก็ยังมีต้นทุนมาจาก “ความรัก” หรือความชอบพอถูกคอกัน จนยอมที่จะแบ่งปันหรือใช้เงินของตัวเองหาซื้อของให้คนที่ชอบ

ทุกวันนี้สังคมเราซับซ้อนขึ้น การจะลงมือทำอะไรสักอย่างต้องมีแผน มีกลยุทธ์ ขนาดจะขอสาวแต่งงานยังต้องจ้างออร์แกไนเซอร์จัดฉากเตี๊ยมกันข้ามวันข้ามคืน

ก่อนจะเรียกร้องมองหาของฟรีกันง่ายๆ อย่างน้อยจึงควรรู้สักนิดว่า ของนั้นๆ มีต้นทุนอะไร มีเงื่อนไขหรือราคาค่างวดที่เราต้องจ่ายโดยที่ไม่ใช่ตัวเงินหรือไม่

พูดถึงราคาค่างวดเช่นนี้ก็ทำให้นึกถึงข่าวที่ประเทศจีน ลอยมาในหัวก่อนใครเพื่อน

เพราะแม้จะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจเศรษฐกิจเบอร์ 2 ในฐานะโรงงานผลิตของโลก แต่จีนกลับต้องแลกด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมอันแสนแพง เกิดหมอกควันพิษปกคลุมไปทั่วกรุงปักกิ่ง จนไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน ต้องเอาจอโปรเจกเตอร์มาฉายภาพพระอาทิตย์ขึ้นลงแก้ขัดไปพลางๆ แทน

ส่วนอเมริกาที่โยกฐานการผลิตไปจีนเพื่อหาแหล่งต้นทุนถูกและเลี่ยงการสร้างมลพิษในบ้านตัวเอง ก็ไม่รอดเมื่อหมอกควันพิษจากจีนเริ่มส่งผลกระทบไปไกลจนถึงแถบชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากพูดถึงสิ่งที่ให้กันด้วยความมีมิตรจิตมิตรใจไม่มีผลประโยชน์เคลือบแฝงแล้ว ของฟรีหรือที่เราเรียกกันอีกนามหนึ่งว่า “น้ำใจ” ก็จะนำไปสู่การหมุนเวียนแลกเปลี่ยนไมตรีต่อกัน กลายเป็นการ “ให้และรับ” หรือ Give and Take ที่มีค่ายิ่งกว่าสิ่งของที่ให้กันและกัน โดยเฉพาะหากได้รับมาจากคนที่ไม่รู้จัก และเรารู้จักหยิบยื่นน้ำใจหรือโอกาสส่งไม้ต่อไปให้กับคนอื่นๆ ในสังคม

ในต่างประเทศมักมีข่าวเกี่ยวกับของฟรีแบบแปลกๆ เกิดขึ้นเสมอ เช่น การให้อาหารเย็นแก่คนจรจัด 100 คน ในกรุงโรม อิตาลี การสั่งกาแฟเผื่อเอาไว้ตามคาเฟ่ในสหรัฐ เพื่อให้คนไร้บ้านได้ดับความโหยและได้ดื่มกาแฟอุ่นๆ ในหน้าหนาว นอกจากนี้ยังมีข่าวการให้เงินหรือของขวัญแก่คนแปลกหน้าอยู่เสมอๆ

ของฟรีอาจไม่มีจริงในโลก แต่น้ำใจย่อมมีให้กันได้เสมอ