posttoday

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข จากเด็กสลัมสู่เอ็นจีโอผู้รับใช้สังคม

25 มกราคม 2557

ปัญหาเด็กหาย เด็กถูกลักพาตัว เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว

โดย...วิทยา ปะระมะ

“ปัญหาเด็กหาย เด็กถูกลักพาตัว เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องไกลตัว เป็นสิ่งที่คุณเผลอแค่ 5 นาที ลูกคุณก็ไปแล้ว ไม่เคยมีพ่อแม่คนไหนคิดว่าลูกจะหาย ทุกรายบอกเหมือนกันหมดว่า ไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับตัวเอง”


นี่เป็นคำพูดเตือนใจของ เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ทำงานกว่า 10 ปี สะท้อนภาพปัญหาชัดเจนว่า ความเสี่ยงลักษณะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน อย่างกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั้งประเทศ คือ น้องการ์ตูน เด็กวัย 6 ขวบ ที่ถูกคนร้ายล่อลวงไปฆ่าข่มขืน จบท้ายด้วยบทสรุปแสนเศร้า เมื่อพบเพียงซากกะโหลก กระดูกสันหลัง และเศษผม 1 กระจุก กลับคืนไปให้ผู้เป็นพ่อแม่เท่านั้น


หากประมาทเลินเล่อแม้แต่นิดเดียวอาจต้องเสียใจไปตลอดชีวิต...

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข จากเด็กสลัมสู่เอ็นจีโอผู้รับใช้สังคม

 


วัยเด็กในสลัม


หากพูดถึงคนหาย เด็กหาย มูลนิธิกระจกเงาเป็นหน่วยงานองค์กรพัฒนาเอกชนอันดับต้นๆ ที่คนนึกถึง เนื่องจากจับประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2546 ภารกิจตั้งแต่รับแจ้งเหตุ ติดต่อประสานงาน ประชาสัมพันธ์กระจายข่าว ตลอดจนลงพื้นที่ติดตามค้นหา


แม้จะมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แต่ใครจะรู้บ้างว่าศูนย์ข้อมูลคนหายฯ นี้ อาศัยคนทำงานเพียงไม่กี่คน ด้วยลักษณะงานที่ต้องเจอกับภาวะกดดันทางอารมณ์ ต้องอุทิศเวลาให้กับงานจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว รวมทั้งการดำเนินงานที่ต้องอาศัยเงินอุดหนุนจากแหล่งทุนต่างๆ ทำให้บางช่วงบางเวลาเหลือคนทำงานแค่คนเดียวก็มี


เอกลักษณ์ เข้าร่วมกับมูลนิธิกระจกเงาตั้งแต่ปี 2547 และทำงานเกี่ยวกับการติดตามคนหายมาตลอด 10 ปี อะไรคือแรงบันดาลใจให้เขายืนหยัดมาได้จนทุกวันนี้?


“ผมอยู่ในสลัมมาตั้งแต่เด็ก เจอความลำบาก เห็นคนเดือดร้อนหาเช้ากินค่ำ เห็นคนไม่ได้เรียนหนังสือ เห็นปัญหาเยอะ คนที่ลำบากมันลำบากจริงๆ ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร คนจนเสียงมันเบา เข้าไม่ถึงอะไรสักอย่างเลย คนแก่เป็นอัมพาตก็นอนตายอยู่อย่างนั้น พอเราเรียนหนังสือก็เลยอยากทำงานที่ช่วยเหลือคน”


ชีวิตของเขา กล่าวได้ว่าต้องเจอความพลิกผันเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง เริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ครอบครัวจัดว่าพอมีฐานะ พ่อมีบ้านมีรถตู้ไว้วิ่งหาเงิน มีเงินเหลือพอจะซื้อหนังสือพิมพ์ได้วันละ 3 ฉบับ ซึ่งเอกลักษณ์ก็อาศัยอ่านหนังสือพิมพ์ต่อจากพ่อ ทำให้มีนิสัยติดการอ่านมาตั้งแต่เด็ก จนกระทั่งวันหนึ่งพ่อป่วยจนวิ่งรถไม่ได้ ครอบครัวพัง หมดเงินจนต้องย้ายไปอยู่ชุมชนแออัดในซอยทองหล่อ พ่อเปลี่ยนมาขับแท็กซี่ แม่ทำงานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด


“มันเป็นเรื่องประหลาดมากนะ ทองหล่อเป็นย่านคนรวย แต่คนไม่รู้ว่าแต่ละซอย ท้ายซอยมันเต็มไปด้วยสลัม เต็มไปด้วยคนที่ทำงานรับจ้างตามตึก พนักงานเสิร์ฟ รปภ. คนเข็นของไปขาย บ้านผมนะอยู่ท้ายสุดของสลัม เปิดไปคุณจะเห็นรั้วบ้านคนรวย เขาตีรั้วสูงใหญ่ปิดไม่ให้เห็นพวกเรา มองไปไกลๆ ก็เห็นคอนโดเต็มไปหมด”


ชีวิตในสลัมทำให้เห็นทุกอย่าง เห็นคนตีกัน ไม่มีเงิน ครอบครัวหย่าร้าง เด็กไม่เรียนหนังสือ เด็กติดยา เด็กออกโรงเรียนไปเป็นโจร ฯลฯ ทว่าอาจจะเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่เอกลักษณ์ไม่ได้เป็นคนในสลัมตั้งแต่เกิด ทำให้ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่สุงสิงกับใคร และรู้สึกแปลกแยก เวลาใส่ชุดนักเรียนไปเรียน เด็กรุ่นเดียวกันก็ไม่มีใครเรียน ใส่ชุด รด. ชุดนักศึกษาออกไปเรียนก็ไม่มีใครเรียน


“ถ้าเราเกิดตรงนี้ตั้งแต่ต้น เราจะมีเพื่อนในวัยเดียวกันเต็มไปหมดและอาจจะเดินตามพวกนี้ไป ระหว่างทางกลับเราไม่ได้เลี้ยวไปไหน เราเข้าบ้าน เดินออกจากปากซอยแล้วเข้าบ้านเลย ถ้าวันหนึ่งเราเลี้ยวออกจากเส้นทางไปนิดนึง มันก็คงมาไม่ถึงวันนี้นะ”


จุดเปลี่ยนอีกครั้งของเอกลักษณ์ อยู่ในช่วงมัธยมปลาย ซึ่งได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกุนนทีรุทธารามวิทยาคม ห้วยขวาง ซึ่งได้อยู่ห้อง 1 ซึ่งเป็นห้องคิงตั้งแต่ ม.4 ถึง ม.6 ความคิดในตอนนั้นก็มีความฝันเหมือนเด็กคนอื่นๆ คือ ต้องการสอบเอนทรานซ์ติดสถาบันดีๆ เรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ จบมาแล้วทำงานดีๆ มีเงิน หลุดจากความยากจน


“ตอนนั้นผมจน ลำบากมาก พ่อขับแท็กซี่ แม่เป็นแม่บ้านทำความสะอาดตามอาคาร รู้เลยว่าความจนมันเหนื่อย ตั้งแต่ ม.2 ทุกๆ ปิดเทอมผมจะไปทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟ พอเอาอาหารไปเสิร์ฟ หิวก็หิวนะ ยังคิดในใจว่าวันหนึ่งเราจะมีปัญญาได้กินอาหารแบบนี้มั้ย เห็นแป๊ะซะปลาช่อนทอด โอ้โห มันน่ากินมาก พอแขกกินเหลือนะ เด็กเสิร์ฟมารุมกินกันว่ารสชาติมันเป็นแบบนี้เหรอ”


เอกลักษณ์ เล่าต่อว่า พ่อแม่เขาก็คาดหวังว่าจบเรียนแล้วชีวิตจะสบายขึ้น ตอนนั้นเลยคิดอยากเป็นตำรวจ เพราะถ้ารับราชการ เวลาพ่อแม่ป่วยไข้ไม่สบายก็จะได้เบิกค่ายาได้


แต่แล้วหนังสือเล่มหนึ่งก็เปลี่ยนชีวิตเขาไปทั้งชีวิต เมื่อวันหนึ่งเอกลักษณ์ได้อ่านหนังสือเรื่อง “บนถนนคนนอนเปล” ของ พิษณุ ศุภ. ซึ่งอ่านแล้วรู้สึกว่าทำไมคนถึงให้คุณค่าใบปริญญาเยอะมาก รู้สึกว่าบางอย่างไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญาที่สูงเด่น ต้องไปแข่งขันกับใคร จึงเปลี่ยนจากการแข่งขันเป็นเรียนเพื่อไปทำในสิ่งที่น่าจะทำมากกว่า เขาเลยเป็นคนเดียวในห้องที่ไม่สอบเอนทรานซ์ แต่เลือกไปเรียนนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แทน เพราะอยากเป็นทนายความออกไปว่าความช่วยเหลือคนยากจน


อย่างไรก็ตาม ช่วงที่เรียนจบ ม.6 จะเข้าต่อมหาวิทยาลัยนั้น เงินจะไปจ่ายค่าสมัครก็ยังไม่มี ต้องไปทำงานร้านสะดวกซื้อ 1 เดือน เพื่อให้ได้เงิน 5,000 บาท เอาไปสมัครเรียน และเมื่อเข้าเรียนแล้วก็ต้องหางานพิเศษรับจ้างขายของ แจกใบปลิว ฯลฯ


ขณะเดียวกัน ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยก็กล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่บ่มเพาะขัดเกลาไปอีกขั้น ด้วยความที่อ่านหนังสือ 6 ตุลา 14 ตุลา ทำให้รู้สึกว่ากลิ่นอายกิจกรรมนักศึกษาเป็นสิ่งที่หอมหวนอบอวลมากด้วยอุดมการณ์ เอกลักษณ์ตัดสินใจเข้าร่วมทำกิจกรรมในชมรมปาฐกถาและโต้วาที ซึ่งแม้จะดูเหมือนเป็นชมรมการพูด แต่ก็เป็นชมรมที่เกิดมาจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เป็นการพูดในเชิงกระบอกเสียงให้กับสังคม


“มันได้วิธีคิดจากการทำกิจกรรมเยอะมาก ได้ฝึกวิธีการคิด เวลาจะออกค่าย เป้าหมายของค่ายคืออะไร มานั่งเถียงกันเป็นคืน ได้รู้จักกระบวนการทำงานวางแผน มีเรื่องให้เรียนรู้แก้ปัญหาตลอดเวลา”


จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งมาถึง เมื่อเขาได้อ่านนิยายเรื่อง “ปีศาจ” ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ เป็นเรื่องราวของทนายความที่ออกมาต่อสู้กับระบบทุนนิยม ตอกย้ำให้เอกลักษณ์ตั้งใจยึดตัวเอกในนิยายเป็นต้นแบบ เป็นทนายช่วยเหลือคน


จากทนายความสู่เอ็นจีโอ


หลังจากเข้าเรียนในปี 2544 ใช้เวลาอยู่ 3 ปีก็สำเร็จการศึกษา และออกมาทำงานเป็นเสมียนทนายความที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง แต่ทำได้แค่ 3 เดือน ก็รู้สึกว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คาดหวังไว้ จึงตัดสินใจลาออก


“กะว่าเป็นทนายความช่วยเหลือคน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ งานทนายความเป็นงานที่ต้องรับคดีในหลายแง่มุม คดีแรกที่ผมทำเป็นเรื่องของการข่มขืนกระทำชำเราเด็ก แล้วเราเป็นทนายฝ่ายจำเลย มันก็ต้องหาแง่มุมเพื่อผ่อนหนักเป็นเบา ก็เลยทำให้รู้สึกอึดอัด ตอนนั้นยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของผู้ต้องหาอะไรหรอก เข้าใจแค่ว่าทำไมต้องช่วยคนผิด มันต่อสู้ภายในจิตใจ สุดท้ายก็ตัดสินใจว่า คงอยู่ในพื้นที่แบบนั้นลำบาก ไม่ทำแล้วอาชีพนี้”


อีกเหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจลาออก คือ เรื่องของรายได้ เพราะงานในตอนนั้นไม่มีรายได้ เวลาไปศาลเห็นทนายคนอื่นขับรถก็คิดว่าหากทำไปเรื่อยๆ จนเติบโตก็จะเป็นแบบนั้นได้ เพียงแต่ต้องอดทนในระยะแรกไปก่อน แต่ด้วยความจนทำให้ทนไม่ไหว เพราะเมื่อเรียนจบมาแล้วแม่ก็อยากให้มีงานทำ มีรายได้จุนเจือ แต่ในความเป็นจริงถึงเรียนจบแล้ว แต่งตัวใส่สูทไปทำงาน แต่ก็ยังต้องขอเงินแม่อยู่เหมือนเดิม


“วันที่ผมเดินออกมา ผมบอกหัวหน้าสำนักงานว่าจะไปเป็นเอ็นจีโอ ผมโดนด่า โดนดูถูก ว่ามึงไปไม่รอดหรอก มึงรู้หรือเปล่าว่างานแบบนั้นชีวิตมึงจะจมอยู่กับสิ่งนั้น เงินเดือนค่าตอบแทนก็ไม่มากมายอะไร”


เมื่อออกมาแล้ว เอกลักษณ์หว่านใบสมัครไปตามมูลนิธิต่างๆ 11 แห่ง โดยไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าจะต้องทำเกี่ยวกับเรื่องอะไร มาเคาะประตูสมัครงานที่มูลนิธิกระจกเงา ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่ได้เปิดรับสมัคร แต่ก็ขอยื่นประวัติฝากไว้ก่อน จนผ่านไป 1 เดือน ทางมูลนิธิจึงเรียกไปคุยและตกลงให้ทำงานที่ศูนย์ข้อมูลคนหายฯ


ช่วงที่ทำงาน 3 เดือนแรก เอกลักษณ์ถึงกับคิดลาออก เพราะมาด้วยความคิดแบบโรแมนติก มองทุกอย่างโรแมนติก คิดว่านี่คือการได้ปลดปล่อย คือความดีงาม คือเสรีชน แต่การทำงานจริงกลับเป็นคนละเรื่อง


“มันไม่เห็นสนุกเหมือนตอนทำกิจกรรมเลย พอทำงานจริงๆ มันโรแมนติกไม่ได้เลยนะ ถ้ามีคนเอาเด็กมาขอทาน เด็กหาย คุณต้องช่วยเขา ไม่โรแมนติกซักเรื่อง ผมถามตัวเองว่ามันใช่หรือ วันที่มาเนี่ยมีโน่ตบุ๊ก ผมก็คิดว่า เฮ้ย เอ็นจีโอต้องมีโน้ตบุ๊กด้วยเหรอวะ ตอนนักศึกษาเราสะพายย่าม ใช้สมุดทำมือ ก็รู้สึกว่ามันต้องแบบนี้สิ พอมาถึงใช้โน้ตบุ๊ก อยู่ห้องแอร์ ทำไมไม่เซอร์อย่างที่คิด ความจริงมันไม่ใช่เลย มันคือโลกของการทำงาน ผมปรับตัวอยู่ระยะหนึ่ง พอผ่านช่วงนั้นไปก็ตั้งหลักได้รู้วิธีคิดแล้ว”


เวลาผ่านไปเพียง 2-3 ปี มูลนิธิกระจกเงาแตกงานออกไปเยอะ จากเรื่องคนหาย ไปงานเกี่ยวกับเด็กขอทาน แรงงานประมง ทำให้เอกลักษณ์ถูกเลื่อนให้เป็นหัวหน้างาน ทำให้มีอิสระในการคิด การแสดงจุดยืนมากขึ้น แต่กระนั้น เขาก็ยังอาศัยอยู่ในสลัมซอยทองหล่อ จนระยะต่อมาเริ่มมีเงินเก็บ มีเครดิตไปขอกู้ธนาคารผ่อนบ้าน จึงหลุดพ้นจากจุดนั้นมาได้


ขณะที่ชีวิตการทำงาน กล่าวได้ว่าเต็มไปด้วยความท้าทาย ด้วยความที่โครงการอยู่ด้วยเงินทุนจากแหล่งต่างๆ มีบางครั้งที่ถึงกับร้องไห้เมื่อเปิดบัญชีดูแล้วไม่มีเงิน ไม่มีคนสนับสนุน