posttoday

เรียนอะไรจึงจะรุ่ง

13 มกราคม 2557

หลังปีใหม่หมาดๆ มานี้ผู้เขียนมีโอกาสเจอะเจอเพื่อนฝูงหลายคนที่มีลูกหลายวัย คนที่แต่งงานก่อนคนอื่นหน่อยก็มีลูกโตจนจบปริญญาตรีแล้ว

โดย...รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย /ภาพ เอเอฟพี

หลังปีใหม่หมาดๆ มานี้ผู้เขียนมีโอกาสเจอะเจอเพื่อนฝูงหลายคนที่มีลูกหลายวัย คนที่แต่งงานก่อนคนอื่นหน่อยก็มีลูกโตจนจบปริญญาตรีแล้ว คนที่แต่งงานช้าหน่อยลูกก็เพิ่งจบ ม.6 กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย เวลาเจอะเจอกันคำถามที่มักได้รับอยู่บ่อยๆ ในฐานะเป็นอาจารย์สอนด้าน HRM (ที่ไม่ได้สอนวิชาแนะแนว) ก็คือ “จะให้ลูกฉันเรียนอะไรดีที่หางานง่ายๆ เงินเดือนดีๆ” ฟังคำถามแล้วอยากตอบว่า “ฉันก็กำลังหาอยู่เหมือนกันนะจ๊ะ...อิอิ” แต่เนื่องจากเห็นสีหน้าของเพื่อนๆ กำลังจริงจังไม่รับโจ๊กแน่ๆ เลยตอบด้วยความมั่นใจว่า “เรียนอะไรก็ได้ แต่ขอให้เก่งจริงในสาขานั้น” เพื่อนทำสีหน้าไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ จนผู้เขียนต้องยืนยันด้วยการอ้างอิงถึงผลสำรวจต่างๆ ที่แสดงว่า ณ กาลบัดนี้ประเทศไทยของเราก็เหมือนกับนานาประเทศทั่วโลก ที่ขาดแคลนแรงงานมีฝีมือและทักษะในทุกระดับการศึกษา เพราะฉะนั้นใครที่ไม่สามารถเรียนหนังสือจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี โท เอก หรือเอกหลายๆ ใบก็ไม่ต้องกังวล ถ้าไม่เชื่อก็ต้องตามมาอ่านคอลัมน์นี้กันต่อ

ผู้เขียนได้ติดตามตัวเลขอัตราคนว่างงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในช่วงเวลา 23 ปีที่ผ่านมา พบว่า ในบรรดาผู้ที่ไม่มีงานทำทั่วประเทศนั้น กลุ่มที่ไม่มีงานทำมากที่สุดในปี 2555 คือ กลุ่มที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี รองลงมา คือ ผู้ที่จบการศึกษาวิชาชีพชั้นสูง รองลงมาอีก คือ ผู้จบอาชีวศึกษา ไล่ลงมาเรื่อยจนถึงระดับต่ำสุด คือ กลุ่มที่จบประถมศึกษาและต่ำกว่า ส่วนในปี 2556 ที่ผ่านมา ในไตรมาส 2 กลุ่มที่ไม่มีงานทำมากที่สุด คือ กลุ่มที่จบวิชาชีพชั้นสูง อันดับสอง คือ กลุ่มจบปริญญาตรี ส่วนอันดับรองลงมาจนต่ำสุดเหมือนเดิม มีคำอธิบายจากผู้รู้หลายท่านถึงปรากฏการณ์ที่ผู้มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาและต่ำกว่าไม่ค่อยว่างงาน เพราะหลายคนกลับบ้านเกิดไปทำไร่ทำนา เพราะนโยบายประกันราคาข้าวและพืชผลบางอย่างดีขึ้น ส่วนเหตุผลที่บัณฑิตปริญญาตรีว่างงานมากกว่าเขาเพื่อนเป็นเพราะเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ ประการแรก บัณฑิตเลือกงานเพราะถือว่ามีปริญญา ประการที่สอง คือ นายจ้างเองก็เลือกพนักงาน ถึงมีปริญญาแต่ขาดคุณสมบัติไม่พร้อมจะทำงาน นายจ้างก็ไม่รับเพราะเงินเดือนแพง สู้จ้างคนที่มีวุฒิต่ำกว่าแต่หนักเอาเบาสู้พร้อมเรียนรู้พร้อมทำงานน่าจะคุ้มกว่า เพราะโดยทั่วไปแล้วผู้ที่เรียนสายวิชาชีพจะได้รับการฝึกหัดทักษะในการประกอบอาชีพโดยตรงมากกว่าผู้ที่ศึกษาหลักสูตรปริญญาที่เน้นภาคทฤษฎีมากกว่าภาคปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม การที่มีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่มีงานทำมากกว่ากลุ่มอื่นมิได้หมายความว่าตลาดไม่ต้องการแรงงานนะคะ ตลาดแรงงานทั้งในไทยและทั่วโลกขาดแรงงาน แต่ขาดเฉพาะคนเก่งค่ะ ขาดคนเก่งคนมีฝีมือทุกระดับ ปัจจุบันนี้แม้แต่จะหาแรงงานไม่มีฝีมือ (ไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาก่อน) มาทำงานบ้าน ทำงานก่อสร้างก็ยังหายากมากๆ จนต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติกันมาหลายปีแล้ว ส่วนในเรื่องของช่างมีฝีมือ เช่น ช่างไม้ ช่างไฟ ช่างประปา ตลอดจนแรงงานสายบริการ เช่น พนักงานเสิร์ฟ พนักงานขาย แคชเชียร์ ไล่เรียงสูงขึ้นมาจนถึงระดับบริหารในทุกสายงาน ขอบอกว่าขาดมันหมดเลย และเมื่อดูแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจโลก เศรฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจของไทยเอง เราก็ยังเห็นว่ายังมีการขยายการลงทุน มีการก่อสร้างดำเนินอยู่และต้องการแรงงานเสมอๆ (ซึ่งมีข้อยกเว้นในประเทศไทยที่สถานการณ์การเมืองร้อนระอุนะคะ งานนี้ไม่ขอฟันธง) ข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงที่พรรณนามาทั้งหมดนี้ บ่งชี้ว่า ถ้าใครมีความสามารถจริง ไม่ว่าจะอยู่ในสาขาอาชีพใด อยู่ในตำแหน่งงานระดับใดก็ยังมีงานรออยู่ค่ะ สังคมของเราเวลานี้เปิดกว้างขึ้น มีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายกว่าสมัยรุ่นคุณปู่คุณย่าที่ต้องการให้ลูกหลานเรียนแพทย์ วิศวะ บัญชี เพราะจบแล้วหางานง่าย เด็กรุ่นใหม่โชคดีกว่าคนรุ่นเก่าก่อนมากนัก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากนักว่าจะให้ลูกเรียนอะไรดี แต่สิ่งที่ควรใส่ใจ คือ ถ้าลูกเลือกจะเรียนด้านใดแล้ว เขาควรจะเลือกเรียนที่ไหนและกับใครมากกว่า นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความรู้และทักษะที่พร้อมจะทำงานด้วย เพราะความพร้อมที่จะทำงานเป็นสิ่งที่นายจ้างมองหามากกว่าวุฒิที่เป็นเพียงแผ่นกระดาษเสียอีก

สำหรับทักษะจำเป็นทั่วไปที่เป็นปัจจัยวัด “ความพร้อมในการทำงาน” (Job Readiness) สำหรับยุค AEC ที่เป็นยุคโกอินเตอร์สามารถจัดแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหรือระดับ คือ

ระดับแรก เป็นเรื่องของคุณสมบัติส่วนตัว (Personal Qualities) อันได้แก่ การมีความรับผิดชอบ เป็นคนที่รักในเกียรติในศักดิ์ศรี รับผิดชอบในการกระทำของตนเอง มีทักษะในการเข้าสังคม สมาคมกับคนได้ ไม่ใช่คนปิดตัวเองจนใครๆ เข้าหาไม่ติด บริหารตัวเองได้ เป็นคนมีระบบไม่เหลวไหล ไม่ต้องรอให้ใครมาสั่งงาน เป็นคนมองโลกในแง่ดี ยืดหยุ่นปรับตัวเก่งและท้ายสุดที่สำคัญมาก คือ มีความซื่อสัตย์ค่ะ เก่งแต่โกงไม่เอา

ระดับที่สอง คือ ทักษะในการปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ที่หมายถึงการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าตลอดจนคนรอบข้างได้ดีไม่มีปัญหาเข้าใจผิดหรือขัดแย้งบ่อยๆ การทำตัวเป็นสมาชิกทีมที่มีคุณภาพ และเมื่อถึงคราวตนเองต้องรับบทบาทผู้นำก็สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สอนงานคนอื่นเป็น บริการลูกค้าให้ได้รับความพึงพอใจได้ และทำงานกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมต่างเพศต่างความคิดได้

จะว่าไปคุณสมบัติหรือทักษะทั้งสองระดับที่นำเสนอมาดูจะสะท้อนถึงการมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) อยู่มากทีเดียว ซึ่งทักษะเหล่านี้เด็กไอคิวสูงหรือผู้ใหญ่ไอคิวสูงหลายคนไม่มีหรือมีน้อย ซึ่งมีผลทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควร ทั้งนี้การพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์กับทักษะความพร้อมในการทำงานเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองและครูบาอาจารย์ต้องใส่ใจอบรมฝึกฝนกันให้มากๆ อย่าไปเน้นเฉพาะวิชาการอย่างเดียว องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนของเราต้องการทรัพยากรบุคคลทุกระดับการศึกษาที่มีคุณภาพที่ผู้เชียนเชื่อว่า คนไทยเราสร้างได้ค่ะ

สุดท้ายนี้ขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์สักนิดนะคะ ใครอยากเป็นนักบริหาร HRM มืออาชีพที่พร้อมทำงานระดับอินเตอร์ ขณะนี้สถาบันบริหารธุรกิจบัณฑิต ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังเปิดรับสมัครนิสิตในหลักสูตรปริญญาโทและหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์อยู่นะคะ รับรองว่าเรียนยังไม่ทันจบหลักสูตรก็มีนายจ้างมาจองตัวกันแล้วค่ะ สนใจติดต่อสมัครเรียนได้ที่ http://www.sasin.edu/programs/hrm/admissions.html หรือโทร. 02-218-3850