posttoday

สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ ก็อด ดริฟต์ เมืองไทย

29 ธันวาคม 2556

หากถามหามือหนึ่งของประเทศไทยด้านการแข่งรถดริฟต์ นักขับในวงการทุกคนล้วนชี้เป้าไปที่เขาคนนี้

โดย...โยธิน อยู่จงดี ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

หากถามหามือหนึ่งของประเทศไทยด้านการแข่งรถดริฟต์ นักขับในวงการทุกคนล้วนชี้เป้าไปที่เขาคนนี้ นนท์สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ แห่งทีมโอเวอร์ไดรฟ์ ผู้โลดแล่นอยู่ในสนามแข่งดริฟต์จนเป็นที่ยอมรับของวงการแข่งรถดริฟต์ทั้งในและนอกประเทศมากว่า 10 ปี คว้าแชมป์รายการ ดีวัน กรังด์ปรีซ์ ไทยแลนด์ 2013 และล่าสุดกับการคว้าแชมป์รายการเอ็มเอสซี ดริฟต์ ฮ่องกง โดยเอาชนะนักแข่งเจ้าถิ่นและนักแข่งดริฟต์ชาวญี่ปุ่นที่ถือเป็นต้นกำเนิดการแข่งรถดริฟต์ได้อีก 3 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นนักแข่งดริฟต์มือหนึ่งของโลก นั่นเป็นการการันตีความสามารถในระดับโลกเจ้าของฉายา ก็อด ดริฟต์เมืองไทยผู้นี้

เกิดมาเพื่อซิ่ง

“ผมชอบรถตั้งแต่สมัยเด็ก หัดขับรถจนถึงอายุที่สอบใบขับขี่ได้ ก็ขับรถไปเรียนหนังสือ ที่นั่นทำให้ผมได้เจอกลุ่มเพื่อนๆ ที่ขับรถแต่งด้วยกัน รายการแข่งรถรายการแรกของผมคือการแข่งแดรก (แข่งรถทางตรง) พอเรียนจบชั้น ม.6 ก็ขายรถแล้วไปเรียนต่อด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแฮมตัน ประเทศอังกฤษ ตอนนั้นตั้งใจไว้ว่าจะไม่แตะรถแข่งอีก แต่เผอิญไปเรียนที่นั่นแล้วเจอเพื่อนชาวอังกฤษกำลังเล่นแข่งรถดริฟต์กันอยู่ ด้วยความที่ชอบรถอยู่แล้ว ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งดริฟต์จากที่นั่นเอง

สรานนท์ พรพัฒนารักษ์ ก็อด ดริฟต์ เมืองไทย

 

เริ่มจากซื้อรถที่สามารถแข่งดริฟต์ได้ก็คือ นิสสันรุ่น 200sx ราคา 3,500 ปอนด์ แล้วก็เอาแต่งให้ล้อหลังเป็นลิมิเต็ดสลิป ก็สามารถดริฟต์ได้แล้ว เพราะรถรุ่นนี้พื้นฐานก็เป็นรถที่ขับเคลื่อนล้อหลังและก็มีกำลังแรงม้าพอสมควร เวลานั้นประมาณปี 2002 กระแสดริฟต์ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ ทั้งที่ไทยและอังกฤษ ผมก็เรียนไปด้วยเล่นไปด้วย จนปี 2006 เรียนจบกลับมาช่วยกิจการบริษัทของครอบครัว และนำเอารถดริฟต์กลับมาแข่งต่อที่เมืองไทย ในช่วงเวลาที่กระแสการขับดริฟต์กำลังเริ่มต้นพอดี” สรานนท์ เล่าเส้นทางช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักแข่งดริฟต์ให้เราฟัง

หลังจากนั้นเขาก็เริ่มสร้างทีมโอเวอร์ไดรฟ์ เพื่อลงแข่งในรายการต่างๆ จนเป็นที่รู้จักกันในวงการ ศึกษาเรียนรู้แนวคิดในการขับแบบใหม่ๆ และฝึกซ้อมจนช่ำชอง จนกระทั่งเกิดรายการแข่งขันดีวัน กรังด์ปรีซ์ ไทยแลนด์ รายการแข่งที่สร้างชื่อของสรานนท์ ให้เป็นที่รู้จักในวงการ

เล่าเรื่องการแข่งดริฟต์

การแข่งดริฟต์มีที่มาจากประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 10 กว่าปีก่อนจะแพร่ขยายในหมู่นักซิ่งรถชาวยุโรปและอเมริกา จนเกิดเป็นรายการแข่งรถที่มีผู้นิยมเข้าชมมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก การแข่งดริฟต์นับเป็นศิลปะการบังคับรถที่เสียการควบคุมให้อยู่ในการควบคุมวิ่งไปบนทางที่กำหนด

สรานนท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า กติกาหลักๆ ของการแข่งดริฟต์ก็คือ ให้รถ 2 คันวิ่งไปด้วยกัน คนหนึ่งนำอีกคันตาม แล้วคันนำจะต้องนำให้ไกลที่สุด ในขณะที่รถต้องอยู่ในการอาการดริฟต์ตลอดเวลาจะได้คะแนนสูง ส่วนคันตามก็ต้องตามให้ใกล้ที่สุดโดยรถต้องอยู่ในอาการดริฟต์เช่นกัน

คันตามก็ต้องตามให้ถึงขนาดเฉียดใกล้แตะได้นิดหน่อยได้แต่อย่าชนแรงมาก แค่แตะๆโดนๆ นิดหน่อยจะได้คะแนนสูงมาก แต่ถ้าชนแรงแล้วคันนำเกิดอาการเสียหลัก คันตามที่ชนจะเป็นฝ่ายแพ้ไป แต่ถ้าความผิดของการชนเกิดจากความจงใจของคันนำที่แกล้งให้ชน คันนำจะเป็นฝ่ายแพ้ หากแข่งรอบแรกผ่านอีกรอบจะสลับกันนำในกติกาเดิม แล้วเอาคะแนนทั้งสองรอบมารวมกัน

โดยแต่ละรายการก็มีการตัดสินที่แตกต่างกันออกไป ในรายการแข่งรถดริฟต์รายการใหญ่ของโลก มี 2 รายการก็คือ รายการ D1 กรังด์ปรีซ์ เจแปน และรายการฟอร์มูล่า ดริฟต์ ของอเมริกา

รายการของอเมริกานั้นจะใช้กำแพงสนามที่หนาและแข็งมาก รวมทั้งกำหนดจุดให้นักแข่งต้องทำการดริฟต์ให้ท้ายเฉียดกำแพงให้มากที่สุด ถึงขนาดแตะแต่รถอยู่ในอาการดริฟต์จะได้คะแนนสูง

สำหรับรายการดีวัน กรังด์ปรีซ์ เจแปน กำแพงจะใช้ฟองน้ำหนาเพื่อให้รถเสียหายน้อยที่สุด แต่จะไม่มีกำหนดจุดเอเป็กซ์ที่ชัดเจนเหมือนฟอร์มูล่า ดริฟต์ แต่จะเน้นให้นักแข่งเลือกการเข้าโค้งด้วยตัวเอง แต่กรรมการจะชอบการเข้าโค้งแรงๆ ท้ายสะบัดแรงๆ เฉียดกำแพงให้มากที่สุดและเอนเตอร์เทนคนดูให้มากที่สุด

ตั้งเป้าหมายในทุกสิ่ง

หัวใจของความสำเร็จในการเป็นนักแข่งดริฟต์ สรานนท์ เปิดเผยว่า คือการตั้งเป้าหมาย และค้นหาทางที่จะไปให้ถึงความฝันนั้น หากเราต้องการได้แชมป์เราก็ต้องดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ไปถึงจุดนั้น มีนักแข่งหลายคนเก่งแต่ไม่มีโอกาส ไม่มีเงิน ก็ต้องดูว่าเขาจะต้องทำอะไรถึงจะได้สิ่งนั้นมาเพื่อทำให้เป้าหมายสำเร็จ

“ผมลองพัฒนารถและเครื่องยนต์จนสู้เขาได้หมด ก็กลับมาพัฒนาตัวเรา และซุ่มฝึกซ้อมจนร่างกายเราฟิตพอ เพราะการดริฟต์เป็นการไฟลต์กับรถ มีสติสัมปชัญญะ ดังนั้นการฝึกซ้อมเป็นเรื่องสำคัญ

จุดอ่อนเราอยู่ตรงไหน ลงแข่งให้มาก การได้แข่งหลายๆ สนามในทุกทวีป ได้พูดคุยกับนักแข่งระดับท็อปของโลก ก็ได้แนวคิดใหม่ๆ มาพัฒนา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะบางอย่างที่เราลองด้วยตัวเองมันเสียเวลา แต่เรารับแนวคิดก็ทำให้เราพัฒนาได้เร็วกว่า” สรานนท์ ทิ้งท้ายสำหรับคนที่สนใจอยากจะเป็นนักขับดริฟต์ในอนาคต เรื่องแนวคิดและทัศนคติเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาฝีมือ ถ้าวันใดที่คุณคิดว่าเก่งที่สุด วันต่อมาคุณอาจจะพบว่าตัวเองอยู่ท้ายแถวไปแล้วก็ได้

สนใจค้นหาข้อมูลและผลการแข่งดริฟต์เพิ่มเติมได้ที่

www.facebook.com/pages/SaranonPornpatanarak

www.d1thailand.com

www.formuladriftasia.com