posttoday

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

24 ธันวาคม 2556

เวลานี้ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่ากรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก อันเนื่องจากปริมาณรถ น้ำเสีย

โดย...โยธิน อยู่จงดี

เวลานี้ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่ากรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดเมืองหนึ่งของโลก อันเนื่องจากปริมาณรถ น้ำเสีย และพื้นที่สีเขียวที่ลดจำนวนลงจนไม่เพียงพอกับความต้องการของชาว กทม. แต่เราจะรู้ได้อย่างไรละว่าตอนนี้สุขภาพของกรุงเทพฯ เขาเจ็บป่วยถึงขั้นไหนแล้ว

สวนสาธารณะวัดสุขภาพกรุงเทพฯ

ยามสายของวันที่ 15 ธ.ค. ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายร้อยคนไปใช้บริการที่สวนลุมพินี บ้างก็รำไทเก๊ก บ้างรำไทย วิ่ง ปั่นจักรยาน ถ่ายชุดแต่งงาน แต่มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่เขารวมตัวกันถือแว่นขยายและกระดาษโน้ตมีรายชื่อสิ่งมีชีวิต เมื่อเข้าไปใกล้ๆ ถึงได้รู้ว่าพวกเขากำลังทำการสำรวจสุขภาพของกรุงเทพฯ กันอยู่

พาให้เราสงสัยกันว่ากรุงเทพฯ สามารถตรวจสุขภาพกันได้ด้วยหรือ คำตอบก็คือ ตรวจได้สิ เพียงแค่เราต้องรู้ว่าโลกกลมๆ ใบนี้ทุกอย่างล้วนเชื่อมถึงกันอย่างเป็นลูกโซ่

อรยา สูตะบุตร แกนนำกลุ่มบิ๊กทรีโปรเจค หนึ่งในผู้ผลักดันโครงการ Bangkok Wild Watch @ Lumpini 2013 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 บอกกับเราว่า การสำรวจสุขภาพของกรุงเทพฯ นั้น ก็คือการศึกษาระบบนิเวศที่มีผลเชื่อมโยงถึงกัน ในเมืองใหญ่ทุกเมืองจำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียว เพื่อเป็นปอดสำหรับคนกรุงเทพฯ ทั้งหมด

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

 

พื้นที่สีเขียวตรงนี้ก็คือพื้นที่สวนสาธารณะนั่นเอง ในประเทศที่เจริญแล้วเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาคารมากไปกว่าการสร้างพื้นที่สีเขียว ดังนั้นในทุกชุมชนที่อยู่อาศัยจะมีสวนสาธารณะใกล้ๆ ทุกจุด เพื่อเป็นที่พักผ่อน และเป็นปอดฟอกอากาศให้พวกเขาได้หายใจ

ทีนี้ในตัวพื้นที่สีเขียวก็จะมีระบบนิเวศภายในที่ทำให้สัตว์ ต้นไม้ ไลเคน หรือสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อาศัยอยู่อย่างเกื้อหนุน ซึ่งระบบนิเวศภายในที่เราไม่เคยใส่ใจ หรือแค่มองผ่านเวลารถติดทุกวันจะเป็นตัวชี้วัดภาพรวมสุขภาพของเมืองในแต่ละส่วนได้ ซึ่งเราจำเป็นต้องการอาสาสมัครมาช่วยกันสำรวจพื้นที่ของสวนทั้งหมดเพื่อเก็บเป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้

สำหรับกรุงเทพมหานคร ส่วนที่เป็นย่านใจกลางเมืองซึ่งเป็นสวนที่มีขนาดใหญ่พอก็คือ สวนลุมพินี ซึ่งวันนี้กลายเป็นสวนสาธารณะที่มีคิวจัดกิจกรรมแน่นที่สุด ถึงขนาดที่ว่าเวลาประมาณ 6 โมงเช้าของทุกวัน จะมีคนมาวิ่งมากมายราวกับเดินตลาดนัดย่อมๆ บางคนถึงขนาดต้องมารอสวนเปิดตอนตี 4 กันเลยทีเดียว

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

 

เปิดผลตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

การตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ ที่สวนลุมพินีที่ผ่านมา จะตรวจทั้งหมด 6 อย่างก็คือ

1.นก นกเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติได้ดีที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะนกจะอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ในปีนี้พบว่ามีปริมาณนกที่ลดลง โดยเฉพาะนกที่กินซาก ซึ่งทีมงานสำรวจสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นเพราะจำนวนสัตว์กินซากมีปริมาณลดลงไปด้วย คงเหลือแต่นกที่กินเมล็ดพืช และแมลงที่ยังคงจำนวนใกล้เคียงของเดิม

2.พรรณไม้ สำหรับต้นไม้ที่ทำการสำรวจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก เพราะเป็นพื้นที่สวนที่มีการปลูกต้นไม้ทดแทนอยู่แล้ว โดยส่วนใหญ่พื้นที่สวนลุมฯ กว่า 40 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นไม้ใหญ่อย่างประดู่ จามจุรี มะขาม ไทร พิกุล อินทนิล 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นหญ้าคลุมดิน อีก 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นน้ำ 15 เปอร์เซ็นต์ เป็นไม้ปาล์ม และที่เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นไม้ดอก จากพรรณไม้ทั้งหมด สภาพสวนลุมฯ จึงเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของกระรอก กระแต และนกมากที่สุด

3.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หลายคนเมื่อนึกถึงสวนลุมฯ จะนึกถึงตัวเงินตัวทอง ซึ่งผลการสำรวจในปีนี้พบว่าลดลง จึงส่งผลให้นกที่กินซากสัตว์ลดลงไปด้วย แต่ปรากฏเอเลี่ยนสปีชี เช่น เต่าบก หอยทากแอฟริกัน แมวที่มีคนแอบมาปล่อย ซึ่งสัตว์ล่าต่างถิ่นเหล่านี้จะมีผลต่อสัตว์เดิมที่มีอยู่และระบบนิเวศของสัตว์ทั้งหมด

4.ผีเสื้อ แมลง และแมงต่างๆ ยังคงมีความหลากหลายตามจำนวนของพรรณไม้ที่คงอยู่

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

5.สัตว์น้ำ และแพลงก์ตอน ในส่วนของน้ำและแพลงก์ตอนพบว่าคุณภาพน้ำในสวนลุมจัดว่าสะอาด เพราะทีมสำรวจพบปลาตะเพียนขาวและปลาคาร์ฟ (มีคนมาปล่อยเหมือนเดิม) เป็นปลาที่พบในแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น เพราะปลาพวกนี้ต้องว่ายน้ำเกือบตลอดเวลา น้ำจะต้องมีออกซิเจนมากพอให้ใช้ ส่วนปลาที่หายไปคือปลาบู่ใสที่พบเมื่อปีก่อน สันนิษฐานกันว่าจะถูกสัตว์ผู้ล่าหรือปลาต่างถิ่นจัดการไปเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งจำนวนปลาเข็มที่เป็นปลากินยุงก็ลดลง

6.ไลเคน สุดท้ายพระเอกของงานที่พลาดไม่ได้ก็คือ ไลเคน สาหร่ายและราที่ขึ้นพร้อมกันและอาศัยซึ่งกันและกัน ไลเคนมีสภาพไม่แตกต่างจากพืช แต่จะอาศัยแค่เกาะเปลือกไม้ หิน หรือกำแพงเพื่อขออาศัยอยู่ แต่สิ่งเดียวที่ไลเคนทำไม่ได้ก็คือความสามารถในการทนทานต่อมลพิษ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และสุดท้ายที่น่ากลัวก็คือสารพิษก่อมะเร็ง

ไลเคนก็แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทนทานมาก กลุ่มทนทาน และกลุ่มอากาศดี ซึ่งไม่เคยพบไลเคนอากาศดี เช่น ไลเคนผักกาดหน่อแท่ง และไลเคนผักกาดหน่อฟองเลย และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือไลเคนกลุ่มทนทาน อย่างไลเคนสาวน้อยกระโปรงบาน แป้งมณโฑ ก็มีจำนวนลดลงตามไปด้วย (สามารถศึกษาข้อมูลไลเคนเพิ่มเติมด้วยการดาวน์โหลดอีบุ๊ก “คู่มือนักสืบสายลม” ได้ที่เว็บไซต์มูลนิธิโลกสีเขียว www.greenworld.or.th)

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ

 

กรุงเทพฯ เมืองมลพิษ

ผลการตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ บอกกับเราว่า มลพิษภายนอกสวนกำลังรุกล้ำเข้าไปถึงใจกลางสวนสาธารณะ จนเวลานี้สวนลุมพินีที่เราคิดว่ามีอากาศบริสุทธิ์ยามเช้าให้เราได้หายใจนั้นไม่มีอีกแล้ว ซึ่งทีมงานสำรวจที่ประกอบไปด้วยนักวิชาการจากมูลนิธิโลกสีเขียว สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย กลุ่มวิจัยไลเคน มหาวิทยาลัยรามคำแหง และนักวิชาการจากภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ต่างลงความเห็นกันว่า น่าจะเกิดจากการเพิ่มจำนวนของรถยนต์ในกรุงเทพฯ และสภาพการจราจรที่ติดขัด ทำให้มลพิษสามารถเข้าถึงใจกลางสวนลุมพินีได้

นับว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างมาก หากเราไม่เร่งแก้ไขด้วยการเพิ่มสวนสาธารณะ ลดการใช้รถใช้ถนน หรือมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของคนกรุงเทพฯ เราอาจจะไม่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจกันอีกเลย

จับชีพจรตรวจสุขภาพกรุงเทพฯ