posttoday

เรื่องวุ่นๆบนโลกออนไลน์ปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องเรียนรู้

10 ธันวาคม 2556

ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยามเกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองแต่ละที เราจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ น่าสนใจอุบัติขึ้นมากมาย ทั้งดีและร้าย

โดย...อินทรชัย พาณิชกุล

ในยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก ยามเกิดวิกฤตการณ์บ้านเมืองแต่ละที เราจะเห็นปรากฏการณ์ใหม่ๆ น่าสนใจอุบัติขึ้นมากมาย ทั้งดีและร้าย น่าเอาเยี่ยงอย่างและไม่ควรปฏิบัติตามอย่างยิ่ง ซึ่งล้วนเป็นกรณีศึกษาอันล้ำค่าทั้งสิ้น ทว่าปัญหาอยู่ที่ว่าคนไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง

ข่าวจริงข่าวมั่ว จะให้ชัวร์ต้องเช็กก่อนแชร์

คนไทยเคยได้รับบทเรียนสำคัญจากการใช้โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มาแล้วในช่วงบ้านเมืองวิกฤต ทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองปี 2553 และน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นอกจากความรวดเร็วฉับไวนาทีต่อนาที ข่าวจริงข่าวลวงที่ปลิวว่อนไปทั่วอาจสร้างความสับสน ตื่นกลัว นำไปสู่ความวุ่นวายได้หากใช้อย่างขาดสติและรู้ไม่เท่าทันพอ

ท่ามกลางกระแสก่นด่า “ข่าวฟรีทีวีตายแล้ว” หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะบริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย เมื่อคืนวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา จะเห็นว่าสื่อหลายสำนักรายงานข่าวคลาดเคลื่อน แถมยังมีรายงานจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่จริงถูกผู้คนในโซเชียลเน็ตเวิร์กนำมาแชร์กันอย่างครึกโครม ความรุนแรงบานปลายจากท้องถนนขยายผลมาบนโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ นักวิชาการณ์ด้านสื่อออนไลน์ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวอิศราเกี่ยวกับความเป็นห่วงเป็นใยต่อการแชร์ข่าวบนโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า

“ต้องดูว่าข้อมูลที่แชร์ไปนั้นมีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ นอกจากนี้ยังต้องเน้นในเรื่องของระยะเวลา เพราะบางทีเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเก่าแล้ว เมื่อแชร์ไปอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ขณะเดียวกันก็ต้องระวังข้อความที่เป็น ‘Hate Speech’ ที่จะยิ่งเพิ่มความจงเกลียดจงชังของแต่ละฝ่าย

ข้อแนะนำคือ ถ้าเห็นว่ามีการแชร์ภาพที่ไม่ถูกต้อง หรือพบว่าข่าวนี้ข้อมูลผิดพลาด ก็ควรจะต้องช่วยกันเตือนด้วยความสุภาพ เพราะช่วงนี้เข้าใจว่าใช้อารมณ์เป็นใหญ่ ปัญหาการเสพสื่อด้านเดียวโดยไม่ฟังรอบด้านอาจแก้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีชุดข้อมูล หรือความเชื่อบางอย่างฝังหัวอยู่ แต่ต้องเข้าใจว่าเราอาจจะมีข้อมูลที่ไม่เห็นด้วย หรือไม่เชื่อก็ได้ จึงจำเป็นต้องฟังข้อมูลอีกด้านด้วย นำมาคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจน

เรื่องวุ่นๆบนโลกออนไลน์ปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องเรียนรู้

ขณะที่นักข่าวพลเมือง หรือนักข่าวที่ใส่ความเห็นในการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กอาจจะมีความเห็นได้ แต่ต้องมีข้อมูลข้อเท็จจริงมากกว่าความคิดเห็น เรื่องของระยะ และสถานที่ในการรายงาน หรือภาพถ่ายควรรายงานให้ชัดเจน ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกก็ต้องพยายามที่จะแยกให้ได้ว่าส่วนไหนคือข้อมูลหรือส่วนไหนเป็นความคิดเห็น”

ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ตบท้ายว่าการเสพข่าวสารการเมืองในช่วงนี้ อย่าเชื่อข่าวลือต้องตรวจสอบก่อน ควรอ่านข่าวสารให้หลากหลาย และเน้นการเสพข่าวสารจากเว็บข่าวเป็นหลัก เพราะเว็บข่าวเป็นมืออาชีพจะมีการกลั่นกรองมากกว่าเว็บอื่นๆ ที่มีการรายงานข่าวทั่วๆ ไป

“ก่อนที่จะแชร์ส่งต่อควรตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ใจเสียก่อน ผู้เสพข่าวก็ควรตรวจสอบโดยใช้หลัก ‘กาลามสูตร’ ต่อสิ่งที่ตัวเองสงสัย เมื่อกระจายข่าวไปแล้วพบภายหลังว่าไม่ถูกต้อง ควรรีบลบ ชี้แจง และขอโทษต่อการกระทำนั้น”

สงครามบนโลกออนไลน์ ... โน่นสีใคร นั่นสีมึง นี่สีกู

“บ้านเมืองยามนี้ผู้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน” ประโยคดังกล่าวยิ่งฟังยิ่งตอกย้ำให้เจ็บลึก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความจริงที่เกิดขึ้นมายาวนาน ผู้คนแบ่งสีแบ่งขั้ว แตกแยกออกเป็นฝักฝ่าย การต่อสู้อันดุเดือดในสภา ขยายมาเป็นการต่อสู้บนท้องถนน หนีไม่พ้นมาซัดกันต่อในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ต่างเจ็บเนื้อเจ็บตัวกันทุกฝ่าย แม้กระทั่งผู้รักสันติที่เลือกยืนอยู่ตรงกลาง

“เป็นช่วงเวลาที่เขียนอะไรก็โดนด่า ดุจัง” สเตตัสโดนใจนี้ เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย. อันเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังแหลมคม จากเฟซบุ๊ก Suharit Siamwalla ของสุหฤท สยามวาลา ดีเจ และนักธุรกิจคนดัง

บางครั้งบางหนใครบางคนก็ยอมโดนด่า เพื่อออกมาเตือนสติเพื่อนร่วมชาติด้วยความปรารถนาดี ล่าสุด หนุ่ยอำพล ลำพูน นักร้องนำวงไมโคร ออกเรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @Righthandrock ใจความว่าเห็นต่างแต่ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู

นั่นพวกข้า นั่นพวกเอ็ง ไทยฆ่าไทยไม่มีใครชนะ ทุกครั้งที่ปะทะใครเป็นคนนำใครเป็นคนตาย พอเสียทีได้ไหม เดินไปด้วยกันดีกว่า ไทยแพ้มามากเกินแล้ว เห็นต่างไม่เป็นไร ไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรูเสมอไป ยังไงก็อาศัยในแผ่นดินไทยด้วยกัน และยังไงก็คงหนีความเป็นไทยด้วยกันไม่พ้นอยู่ดี

เรื่องวุ่นๆบนโลกออนไลน์ปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องเรียนรู้

 ขณะที่ วิสูตร แสงอรุณเลิศ นักคิดนักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Wisoot Sangarunlert เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.อย่างอัดอั้นตันใจว่า

นี่คือโพสต์สุดท้ายที่ทุกคนจะได้เห็นจากผม หลังจากที่ผมได้พิจารณาไตร่ตรองดีแล้วว่า การใช้ fb ร่วมกับคนที่ไม่รู้จักเราจริงๆ นั้นมันแย่แค่ไหน fb เหมือนบ้านหลังนึง มันทั้งส่วนตัวและสาธารณะ แล้วแต่เราจะกั้นกำแพงสูงแค่ไหน ที่ผ่านมา ผมโดนถล่มจากคนที่ไม่เคยรู้จักกันในโลกจริง ไม่ว่าจะเป็นข้อหาครอบครัวผมคงแตกแยกถึงโพสต์แบบนี้ เรื่อยไปจนถึงผมเป็นเสื้อแดง ไม่รักชาติ จ้องล้มเจ้า บางคนไม่ได้เป็นแม้แต่ friend ผม (เพราะผมตั้ง Public ในการโพสต์ทุกครั้ง) แต่ก็ยังไม่วายมาแวะถล่มผมแล้วจากไป บางคนถล่มแล้วปิด fb หนีไปเลยก็มี

บอกตรงๆ ผมไม่ค่อยเข้าใจ ถ้าเดินผ่านบ้านใคร ดูแล้วเราไม่ชอบ ทำไมต้องถุยน้ำลายเข้ามาในรั้วแค่เดินผ่านก็น่าจะพอ หลังจากนั้นผมก็ตั้งกำแพงสูงขึ้น ให้โพสต์เหลือแต่เพื่อนที่เห็นโพสต์ของผม แต่มันก็ไม่ช่วยอะไรอยู่ดี ผมผิดเองที่รับเพื่อนไม่เลือกหน้าเป็นพันคน สุดท้ายก็ยังไม่วายโดนถล่มจากคนที่ไม่เคยเจอกันจริงๆ

คำถามก็คือ แล้ว fb มันจะยังมีประโยชน์อะไร? ในเมื่อมันทำให้ผมมานั่งทุกข์กับคำของใครไม่รู้ แทนที่จะมีความสุขกับชีวิต กับลูกเมีย จริงๆ เราไม่ต้องมีเพื่อนเยอะขนาดนั้นก็ได้ แต่ความผิดมันก็ไม่ได้อยู่ที่พวกเขาเหล่านั้น มันอยู่ที่กำแพงผมยังต่ำไป ใครคิดจะถ่มน้ำลายเข้ามาในบ้านก็เลยทำได้ หลังจากนี้โพสต์ส่วนใหญ่ของผมจะเห็นได้เฉพาะ “เพื่อนสนิท” เท่านั้น และเพื่อไม่ให้เรื่องเยอะว่าแล้วใครคือเพื่อนสนิท? เพื่อนสนิทในนิยามของผมก็คือ คนที่เคยเจอกันในโลกจริง รู้มิติอื่นๆ ของกันและกัน ไม่ใช่โลกแบนๆ ในจอ fb

Unfriend อาวุธที่ทรงพลังยิ่งกว่ากระสุนปืน

ไม่ต้องแปลกใจถ้าช่วงนี้คนไทยจะ Unfriend หรือลบเป็นเพื่อนออกจากเฟซบุ๊กมากเป็นพิเศษ ชนิดที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เห็นแล้วคงเกาหัวแกรกๆ

การอันเฟรนด์กันนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ จากผลการสำรวจของ คริสโตเฟอร์ ไซโบนา นักศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยโคโลราโด เดนเวอร์ บิซิเนส สคูล สหรัฐอเมริกา พบว่า มีผู้คนราว 40% บอกว่า พวกเขาจะหลีกเลี่ยงการพบปะพูดคุยกับคนที่ลบเขาออกจากการเป็นเพื่อนบนเฟซบุ๊ก

โดยไซโบนา อธิบายว่า ผู้คนชอบคิดว่าเครือข่ายสังคมออนไลน์เป็นเรื่องสนุก แต่ความจริงแล้ว สิ่งที่คุณทำบนโลกออนไลน์มันสามารถเกิดผลกระทบตามมาบนโลกแห่งความเป็นจริงได้ เพราะผลกระทบที่เกิดกับผู้ที่ถูกตะเพิดออกจากสังคมของเพื่อนคือ การเคารพในตัวเองน้อยลง ความรู้สึกไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง และสูญเสียการควบคุมไป ที่สำคัญคือ คนคนนั้นจะรู้สึกอารมณ์เสียอย่างมากหลังจากถูกเพื่อนอันเฟรนด์

บางคนอันเฟรนด์ไปด้วยเหตุผลที่ว่าไม่อยากถกเถียงกับคนที่มีความเห็นไม่ตรงกัน เลี่ยงการปะทะ บางคนอันเฟรนด์เพื่อนไป แต่ยังเชื่อว่าในโลกความจริงยังคุยกันได้ คำถามต่อมาคือจะมีสักกี่คนที่แยกแยะออกระหว่างโลกออนไลน์กับโลกความจริง โดยปราศจากอคติ

เรื่องวุ่นๆบนโลกออนไลน์ปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องเรียนรู้

นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวไว้อย่างน่าคิดว่า

สถานการณ์การเมืองแบบนี้ ถ้าบนหน้า Facebook ของคุณไม่มีโพสต์ที่เนื้อหาขัดหูขัดตาของคนที่มีความเห็นแตกต่างปรากฏอยู่เลย แสดงว่าคุณเริ่มพูดคุยและเลือกคบแต่เฉพาะกับกลุ่มคนที่คิดเห็นเหมือนกัน พอเป็นแบบนี้ คุณก็จะยิ่งรับฟังข้อคิด ข้อมูล และจะเห็นด้วยไปกับเพื่อนๆ ที่คิดอะไรเหมือนๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆ และก็อาจไม่ฟัง (เพราะไม่มีโอกาสฟัง) และไม่เข้าใจคนที่คิดต่างมากขึ้นไปเรื่อยๆ

ปรากฏการณ์นี้ เรียกว่า Group polarization ซึ่งอาจนำไปสู่การแบ่งขั้วที่รุนแรง และมันเกิดขึ้นได้เพราะขาดการสื่อสารข้ามกลุ่ม เพราะฉะนั้น ขอให้ถือเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามีความเห็นต่างปรากฏบนเฟซบุ๊กของเรา (และถ้าจะให้ดีก็อ่านและทำความเข้าใจไปด้วย)

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ มีความเห็นต่อความเป็นเพื่อน ทั้งในโลกจริงและโลกเสมือน ซึ่งเขียนไว้บนสเตตัสเฟซบุ๊ก Vanchai Tantivitayapitak ว่า

“เพื่อนก็คือเพื่อน เวลาเราร้องไห้ คนที่ปลอบเราคือเพื่อน ไม่ใช่นักการเมือง เวลาเราอยากกินเหล้า เราอยากกินกับเพื่อนรู้ใจ ไม่ใช่นักการเมือง เวลาเราอยากระบายความรู้สึก เราอยากคุยกับเพื่อน ไม่ใช่นักการเมือง เวลาเราไม่มีใคร เราอยากเจอเพื่อน ไม่ใช่นักการเมือง อย่าให้ความเชื่อทางการเมืองมาทำลายความสัมพันธ์ หรือ unfriend กันเลย เพราะความเชื่อทางการเมืองเป็นมายา แต่มิตรภาพเป็นของจริง”

ถึงบรรทัดนี้ หวังว่าผู้อ่านจะฉุกคิดอะไรได้บ้าง

ใกล้จะบ้าเพราะเสพโซเชียลมากไป ฟังทางนี้

เว็บไซต์SocialBakersเว็บไซต์จัดอันดับและเก็บสถิติต่างๆ บนโซเชียลมีเดีย ระบุว่า กรุงเทพฯ ติดอันดับ 1 เมืองที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 12.8 ล้านบัญชี แถมผู้คนจำนวนกว่าครึ่งยอมรับว่าเล่นเฟซบุ๊กทุกวัน ยิ่งช่วงสถานการณ์บ้านเมืองวุ่นวาย เผชิญกับวิกฤต เป็นเรื่องธรรมดาที่หลายคนจะนั่งเฝ้าจอรอเสพข่าวสารข้อเท็จจริง ท้ายที่สุดก็เกิดอาการเครียด กังวล และฟุ้งซ่าน คล้ายใกล้บ้า

นพ.พีรพล ภัทรนุธาพร จิตแพทย์ แนะนำว่า การป้องกันไม่ให้เสพข้อมูลข่าวสารจนเครียดมากเกินไปนัก ผู้เสพสื่อจึงควรจะมีปริมาณการเสพสื่อที่เหมาะสมและมีสติ คือ ติดตามข่าวสารอย่างไม่ตื่นตระหนก ไม่มาก และไม่ถี่จนเกินไป ที่สำคัญคอยสังเกตตัวเองด้วยว่า มีภาวะเครียดมากน้อยแค่ไหน“ควรสังเกตอยู่เสมอ ถ้าเริ่มมีอาการเครียดจากการเสพสื่อมากไป เช่นหงุดหงิดง่าย หดหู่ซึมเศร้า คิดเรื่องเดิมวนเวียนซ้ำๆ มีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว หายใจไม่อิ่ม นอนไม่หลับ จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต หรือ การทำงานก็ให้หยุดรับข่าวสารซักพัก หรือ ถ้าจำเป็นต้องติดตามก็แค่รอดูสรุปข่าวสั้นๆ

ไม่ควรนั่งติดหน้าจอคอยเช็กตลอดเวลา ไม่ควรนั่งดูภาพข่าวที่มีความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา หลีกเลี่ยงการปะทะคารมกับคนที่คิดแตกต่างในระหว่างที่ตัวเราเองเริ่มมีภาวะเครียดเปลี่ยนความสนใจไปเรื่องอื่น พยายามหาสิ่งที่ผ่อนคลายทำ”

เรื่องวุ่นๆบนโลกออนไลน์ปรากฏการณ์ใหม่ที่คนไทยต้องเรียนรู้

ตามให้ทันกับ"ศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย"

เพจเฟซบุ๊กชื่อ“พจนานุกรมศัพท์การเมืองไทยร่วมสมัย”กำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม มียอดไลค์ทะลุ 7.2 หมื่นเข้าไปแล้ว ที่นี่รวบรวมวาทกรรม ศัพท์แสงทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาให้ความหมายอย่างน่าทึ่ง ... มีศัพท์ใดบ้างที่รู้ไว้ไม่ตกเทรนด์

โลกสวย : ลักษณะที่มองโลกเชิงอุดมคติ หรืออ้างเหตุผลในแง่ดีเพียงด้านเดียวมาใช้เป็นพื้นฐานของความคิด พฤติกรรม การตอบสนอง หรือการตัดสินเหตุการณ์ต่างๆ โดยไม่คำนึงถึงแง่มุมหรือความเป็นไปได้อื่นๆ ผู้ที่มีลักษณะเช่นว่านี้มักถูกวิจารณ์ว่า พยายามหลอกหรือปิดกั้นตนเองจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือเพื่อสร้างเสริมภาพลักษณ์ของตนให้ดีขึ้น

ไทยเฉย : บุคคลผู้ซึ่งสงวนท่าที นิ่งเฉย หรือไม่แสดงจุดยืนว่าสนับสนุนฝ่ายใดในปรากฏการณ์ทางการเมืองเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันเนื่องมาจากเหตุผลที่เป็นไปได้นานัปการ จนเป็นเหตุให้ถูกตราหน้าโดยผู้อื่นว่าเฉยชาต่อความฉิบหายของชาติบ้านเมือง

มวลมหาประชาชน : คณะบุคคล หรือฝูงชนที่โดยมากประกอบด้วยชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองด้วยวิธีการต่างๆ โดยอ้างว่ามีผู้สนับสนุนจำนวนมหาศาล และครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ หากแต่ปฏิเสธกระบวนตามการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกตั้งที่วัดชัยชนะด้วยจำนวนเสียงของผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนทั่วประเทศ.

อารยะขัดขืน : วิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปฏิเสธหรือต่อต้านกฎหมาย คำสั่ง หรือการกระทำใดๆ ของรัฐบาลโดยสงบหรือในแนวทางของอารยชน

ซูเปอร์ดีล : ข้อตกลง หรือการเจรจาต่อรอง ระหว่างผู้ทรงอิทธิพลรายใหญ่ของประเทศ เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ทางการเมืองครั้งสำคัญ

นิรโทษกรรมสุดซอย : ความพยายามที่จะออกกฎหมายเพื่อลบล้างให้การกระทำหรือการแสดงออกทางการเมือง นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2549 ไม่ถือเป็นความผิด โดยครอบคลุมบุคคลต่างๆ ทั้งหมด นับตั้งแต่ผู้ร่วมชุมนุม แกนนำ ไปจนถึงผู้นำที่มีอำนาจตัดสินใจหรือสั่งการให้กระทำการใดๆ แม้จะมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการตัดสินใจนั้นก็ตาม

เซตซีโร่ล้างไพ่ : หรือตั้งค่าให้เป็นศูนย์เพื่อเริ่มต้นใหม่ โดยนัยหมายถึงลบล้างความผิดของผู้กระทำผิดทุกคน ที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมาให้หมดสิ้นไป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการทางการเมืองที่ปราศจากความขัดแย้งใหม่อีกครั้ง โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบและสูญเสียจากความขัดแย้งนั้นจะต้องยอมเสียสละฯลฯ