posttoday

รู้จักเอชไอวีให้มากขึ้น

07 ธันวาคม 2556

ผ่านพ้นวันเอดส์โลก วันที่ 1 ธ.ค. ไปหนึ่งสัปดาห์ ฉบับนี้แนะนำให้รู้จักกับ พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล

โดย...สุภชาติ เล็บนาค

ผ่านพ้นวันเอดส์โลก วันที่ 1 ธ.ค. ไปหนึ่งสัปดาห์ ฉบับนี้แนะนำให้รู้จักกับ พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล จากสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่จะมาบอกว่าการรักษาโรคเอชไอวีขณะนี้มีความคืบหน้าไปถึงไหน

ทั้งนี้ เอชไอวีเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดภูมิคุ้มกันบกพร่องในคน ส่วนโรคเอดส์ หมายถึงกลุ่มอาการของภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่ได้เป็นแต่กำเนิด ปัจจุบันนี้การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกและประเทศไทย จากรายงานขององค์การอนามัยโลกคาดว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคน เมื่อสิ้นปี 2555 โดยในประเทศไทยมีรายงานผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบ 6 แสนคน และเสียชีวิตประมาณ 3 หมื่นคน

“การติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์เป็นโรคที่รักษาได้แต่ไม่หายขาด เป็นโรคติดต่อเรื้อรังเหมือนโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน แต่สองโรคหลังนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อ ทางหลักของการติดต่อที่พบมากที่สุดในประเทศไทยคือ ทางเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การสักและจากมารดาสู่ทารก หลังจากได้รับเชื้อเอชไอวีในช่วงแรกผู้ป่วยอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลยก็ได้ ผู้ติดเชื้อครึ่งหนึ่งอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเองแม้ไม่ได้รับการรักษาและจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อที่ไม่มีอาการ แต่เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการแบ่งตัวตลอดเวลาจึงทำให้เม็ดเลือดขาวซีดีสี่ ซึ่งมีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคลดต่ำลงไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะมีอาการ เช่น น้ำหนักลด ฝ้าขาวในปาก ท้องเสียเรื้อรังหรือมีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา และระยะสุดท้ายคือ เอดส์ ซึ่งเป็นระยะที่เม็ดเลือดขาวซีดีสี่ต่ำมาก และหรือมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแทรกซ้อน เช่น วัณโรคหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา” พญ.ศศิโสภิณ ระบุ

รู้จักเอชไอวีให้มากขึ้น

 

นอกจากการให้ยาเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อฉวยโอกาสในผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ภูมิคุ้มกันต่ำมากแล้ว หัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือ การรักษาด้วยยาต้านเอชไอวี การใช้ยาอย่างน้อย 3 ชนิดรวมกันเป็นสูตรยาที่เหมาะสมและถูกต้อง จะนำไปสู่การรักษาการติดเชื้อเอชไอวีที่ควบคุมได้คือ ไม่สามารถตรวจพบไวรัสในเลือด ทำให้มีภูมิคุ้มกันดีขึ้นหรือจำนวนเม็ดเลือดขาวซีดีสี่สูงขึ้น มีอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อฉวยโอกาสลดลง อัตราตายลดลงและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากยังไม่มียาต้านเอชไอวีชนิดใดที่สามารถรักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาดหรือยับยั้งการดำเนินของโรคได้นานตลอดไป ดังนั้น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจึงต้องกินยาทุกวันตลอดชีวิต ส่วนวิธีรักษาที่เป็นไปได้ในอนาคตมี 2 อย่าง คือ 1.การรักษาเร็วตั้งแต่ที่มีการติดเชื้อใหม่ๆ แต่ปัญหาคือผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ เมื่อมีอาการหรือติดเชื้อมานานแล้ว และ 2.การปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป