posttoday

หญิงแกร่ง วิศวกรเหมืองทอง

07 ธันวาคม 2556

มีสำนวนไทยที่ว่า... ช้างเผือกมักจะอยู่ในป่า... คงเป็นจริงอย่างที่สำนวนว่าไว้

โดย...เจียรนัย อุตะมะ

มีสำนวนไทยที่ว่า... ช้างเผือกมักจะอยู่ในป่า... คงเป็นจริงอย่างที่สำนวนว่าไว้

ที่เหมืองแร่ทองคำชาตรี ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส บริษัทร่วมทุนระหว่างออสเตรเลียกับไทย บนพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร กับ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ห่างจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ 280 กิโลเมตร มีวิศวกรสาวชาวเหมืองทองที่ใช้ชีวิตทำงานคลุกคลีตีโมงกับคนงานหนุ่มนับร้อยคนบนพื้นที่แห่งนี้เพื่อผลิตสินแร่ทองคำส่งออกขายฮ่องกงปีละ 5.7 ล้านตัน

ทำไมสาวหน้าตาดีอย่างพวกเธอจึงเลือกอาชีพนี้ที่ต้องทำงานกลางป่า ไร้ความศิวิไลซ์ ที่คนวัยหนุ่มสาวควรได้พบเจอ

หญิงแกร่ง วิศวกรเหมืองทอง

 

เลดี้สมาร์ท

“เสาวลักษณ์ ตันตระกูล” ในวัยกว่า 30 ปี ผู้จัดการฝ่ายวางแผน เล่าว่า ในฝ่ายของเธอมีวิศวกรรวมตัวเธอด้วย 6 คน เป็นชาย 3 และวิศวกรหญิง 3 คน มีหน้าที่ออกแบบบ่อเหมือง วางแผนและควบคุมผู้รับเหมา ทั้งงานเจาะและงานระเบิดเหมือง โดยภาระหน้าที่จะต้องออกพื้นที่หน้าเหมืองทุกวันเพื่อตรวจสอบหน้างาน และติดตามความคืบหน้า การแก้ปัญหาโดยผลัดกันลงไปดู

“ผู้รับเหมาจะรับผิดชอบงานหน้าเหมือง ซึ่งวิศวกรของบริษัทต้องเข้าไปควบคุมดูแลงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและต้นทุนที่บริษัทกำหนด โดยจะรับมอบหมายงานจากผู้บริหารว่าจะต้องจัดการเหมืองภายใต้ต้นทุนเท่าไร และนำต้นทุนนั้นมาออกแบบและจัดการเหมืองเพื่อวางแผนให้เป็นไปตามเป้าหมาย”

เธอจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเหมืองแร่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ทุนบริษัทเรียนจนจบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สาขาโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ชอบงานวิศวกรเพราะไม่ต้องนั่งโต๊ะ ชอบใช้ชีวิตในต่างจังหวัด ไม่ชอบอยู่กรุง เป็นคนชอบวางแผนเหมือนนำจิ๊กซอว์มาเชื่อมต่อ ชอบคิดอยู่ตลอดเวลา

เสาวลักษณ์ เป็นวิศวกรหญิงคนที่สองขององค์กร โดยวิศวกรหญิงคนแรก ปัจจุบันเป็นผู้บริหารระดับสูงไปแล้ว เธอจบเมื่อปี 2544 ช่วงนั้นเหมืองชาตรีเปิดได้ไม่ถึงปี เมื่อมาสมัครงานที่นี่ ช่วงนั้นเหมืองทองคำกำลังรุ่งเรือง ราคาทองได้ไต่ขึ้นไปทำสถิติสูงสุด

หญิงแกร่ง วิศวกรเหมืองทอง

 

“ตอนนั้นสัมภาษณ์งานกับผู้จัดการทั่วไป ที่เป็นคนออสเตรเลีย เขาเป็นผู้จัดการเหมือง ได้สัมภาษณ์โครงการวิจัยที่ทำก่อนจบ คือ การใช้แคลเซียมคลอไรด์ดับฝุ่นในเหมืองแทนน้ำเปล่าที่สามารถประหยัดค่าใช้จ่าย ถามจุดเด่น ก็บอกเขาไปว่าเป็นคนลุย และสามารถเริ่มงานได้ทันทีที่รับเข้าทำงาน จึงผ่านการสัมภาษณ์มาได้”

เธอได้รับการฝึกงานด้านวิศวกรเหมืองจากหัวหน้างานชาวออสเตรเลีย ที่ฝึกโหดกว่าการฝึกวิศวกรเหมืองทั่วไป โดยสามเดือนแรกให้ไปคลุกคลีใช้ชีวิตกับคนงานหน้าเหมือง เพื่อทำความคุ้นเคยกับทีมงานที่ต้องประสานงานด้วย อยู่ตั้งแต่เช้ายันเย็น ฝึกเจาะระเบิด อัดระเบิด (นำระเบิดลงหลุม) จากนั้นไปดูงานกับช่างรังวัด ฝ่ายธรณีวิทยา ทำทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหน้างาน กว่าจะได้เลื่อนระดับมาทำแผนงาน

เธอเพิ่งได้รับการเลื่อนขั้นเป็นผู้จัดการฝ่ายวางแผนเมื่อปีก่อน เพราะผู้จัดการฝ่ายที่เป็นรุ่นพี่ได้งานใหม่ที่เหมืองในลาวที่ให้ค่าจ้างที่ดีกว่า

“ยอมรับว่าผู้หญิงมีข้อจำกัดเรื่องการลุย เพราะอย่างที่ลาวซึ่งเป็นเหมืองเปิดใหม่ แต่ต้องไปนอนในแคมป์ในช่วงแรกที่ยังไม่มีอะไร ถ้าเป็นผู้ชายน่าจะลุยได้ง่ายกว่า จึงมีโอกาสเปลี่ยนงานสูงกว่า”

สำหรับที่พักของเธอนั้นเช่าบ้านอยู่ในตัวอำเภอ และชินกับการอยู่คนเดียว เลี้ยงหมาไว้เป็นเพื่อน เพราะเคยอยู่หอพักตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาเพราะบ้านเกิดอยู่ จ.สงขลา แต่ต้องไปเรียนที่หาดใหญ่

หญิงแกร่ง วิศวกรเหมืองทอง

 

เป้าหมายในชีวิตของเธอ คือ การมีธุรกิจส่วนตัว

“เสาวลักษณ์” ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ที่จะเรียนทางสายนี้ว่า เท่าที่สัมภาษณ์เด็กรุ่นใหม่ พบว่าไม่ค่อยมีความเป็นผู้นำ ที่เป็นเรื่องสำคัญของงานนี้ เนื่องจากต้องควบคุมดูแลผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ ดังนั้นสิ่งที่เด็กเหล่านี้ต้องมีคือ ความมั่นใจ ความรับผิดชอบ รู้จักตัวเอง และต้องเป็นภาษาอังกฤษ

“ความเป็นผู้นำ สำคัญกว่าเป็นคนเก่ง บางคนบอกทำโน่นทำนี่เป็น แต่เมื่อซักละเอียดแล้วตอบไม่ได้” เธอย้ำ

หญิงบู๊

สำหรับ “อรทัย พันธ์ชัยสงค์” วิศวกร วัย 27 ปี เธอทำงานที่นี่มากว่า 4 ปี ภายหลังเรียนจบปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์เหมืองแร่ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ไม่ชอบเรียนรู้แค่ตำรา ดังนั้นคณะนี้จึงเหมาะสมกับหญิงบู๊คนนี้มากที่สุด

เธอเล่าว่า มารดาเพิ่งรู้ว่าลูกสาวเรียนอะไรก็ในวันรับปริญญา เพราะจากบ้านที่ อ.ระโนด จ.สงขลา มาเรียนมัธยมที่ อ.เมือง ตั้งแต่เป็นวัยรุ่น พักคนเดียวที่หอพัก จึงค่อนข้างมั่นใจในตัวเอง

โครงการวิจัยของ “อรทัย” ก่อนจบคือ โครงการคัดขนาดทรายก่อสร้างด้วยอุปกรณ์ตัวเอง เป็นขนาด มีถังยาว เอาความดันแรงน้ำและคำนวณสูตรออกมา

หญิงแกร่ง วิศวกรเหมืองทอง

 

เรียนจบไปทำงานที่เหมืองทุ่งคำ บริษัท ทุ่งคา ฮาเบอร์ ที่ จ.เลย เรียนรู้กระบวนการโรงงานได้ 4 เดือน จึงมาสมัครเป็นวิศวกรที่เหมืองชาตรี คุณสมบัติพิเศษของเธอคือสามารถทำงานภายใต้แรงกดดันได้ มีความอดทน

“เคยทะเลาะกับผู้รับเหมา โดยเป็นวิศวกรใหม่ ถูกลองเชิง ใช้เวลานับปีกว่าจะปรับตัวเข้าหากันได้ ต้องคอยสังเกตรุ่นพี่ว่าเขาตอบคำถามผู้รับเหมาอย่างไร จึงได้รับความเชื่อถือ เรื่องแบบนี้ต้องใช้ประสบการณ์ในการประสานงาน”

วิศวกรรุ่นเธอนั้น ใช้เวลาฝึกหน้างานเพียง 1 เดือน ก่อนขึ้นมาวางแผนงานเพราะขาดคน แต่ก็ทรหดไม่แพ้รุ่นแรก

“ต้องห่อข้าวไปทานข้าวเช้า ข้าวเที่ยงกับคนงานหน้าเหมืองตั้งแต่ 7 โมงเช้า คุยกับเขานอกเวลางาน บางทีต้องดื่มเหล้า เป็นปกติของเด็กเรียนทางด้านนี้ ที่ดื่มเหล้าเป็นกันตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา เพื่อเข้ากับเขาให้ได้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้งานเดินไปได้อย่างราบรื่น”

อรทัย กล่าวว่า เชื่อว่าตัวเองมาไกลกว่าเพื่อนที่เรียนด้วยกันมาก จากการพูดคุยกันพบว่า เพื่อนหลายคนเบื่องาน ทำงานไม่ตรงสายงาน แต่เราตรงกันข้ามที่เรียนมาได้ใช้ทั้งหมด และองค์กรมีมาตรฐาน

เธอชอบบรรยากาศการทำงานที่เหมืองชาตรี ที่ทุกคนจะอยู่กันแบบพี่น้อง สามารถปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ตอนนี้เป้าหมายคือการเก็บเงิน สร้างตัว เพราะกำพร้าบิดาเสียมาตั้งแต่เด็ก ต้องส่งตัวเองเรียนมาตลอด

สาวหวาน

บุษยมาศ บุญวาที น้องใหม่วิศวกรสาวที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่นี่ได้เพียง 1 ปี 4 เดือน จบวิศวกรรมศาสตร์เหมืองแร่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะเรียนสายวิทย์มา เลือกเรียนด้านนี้เพราะสนุก ยิ่งได้ฝึกงานช่วงเรียนแล้วยิ่งชอบ

งานวิจัยของเธอก่อนเรียนจบคือ การใช้วัตถุระเบิดให้เหมาะสมกับหินแต่ละพื้นที่

เคยไปฝึกงานที่โรงปูน อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ทั้งระเบิด ทั้งเจาะระเบิด และย้ายมาเป็นวิศวกรเหมืองแร่ เพราะเชื่อว่าชีวิตจะได้มากกว่าการเจาะระเบิด นั่นคืองานวางแผน ไม่ใช่แค่ทำลาย แต่สามารถสร้างคืนได้ด้วย

งานของเหมืองแร่ที่นี่จะมีการวางแผนครบวงจรตั้งแต่ระเบิดเหมือง จนกระทั่งการสร้างภูเขาคืน

“มาอยู่ที่นี่ได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาหมด ไม่น่าเบื่อ ได้ใช้หมด ทั้งงานสำรวจ โยธา สร้างบ้าน คาน น้ำ ตอนเรียนไม่ค่อยเข้าใจเมื่อมาทำเรื่องปั๊มน้ำทำให้เข้าใจพื้นฐาน เหมืองลึกต้องใช้สเปกไหน อ่านแล้วเข้าใจ เข้าใจถนนต้องมีสโลบ หลายศาสตร์เข้ามาส่งเสริม เป็นการถ่ายระดับความรู้ หน้างานจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จากหน้าเหมือง มาวางแผนรายสัปดาห์ ตอนนี้มาดูแผนรายเดือน”

เมื่อต้องประสานงานและมีข้อโต้แย้งจากผู้รับเหมา เธอพยายามชี้แจงเพราะเชื่อว่ามองระยะยาวกว่าผู้รับเหมา รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เขาเห็นภาพอย่างที่ควรจะเห็น และปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ ให้เขารู้ว่าเราทำเพื่ออะไร